โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)

14079

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หมายถึง โรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของข้อชนิดหนึ่งที่ไม่มีการอักเสบของข้อชนิดที่ีมีเยื่อบุข้อที่เกิดจากการเสื่อม และสึกหรอของผิวกระดูกอ่อนหุ้มข้อต่างๆ ตามกระบวนการสูงอายุตามวัยหรือเหตุจากปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของข้อ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ และความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อน้อยลง เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง เป็นต้น

โรคข้อเสื่อมจะพบมากในผู้สูงอายุในช่วง 50-60 ปี และพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า รวมถึงการแสดงอาการมักพบมีอาการที่รุนแรงกว่า อาการที่เป็นลักษณะเด่นของโรคนี้ คือ อาการข้อฝืดในตอนเช้า ปวดตามข้อ การเคลื่อนไหวของข้อไม่เต็มที่ และมักมีเสียงดังกรอบแกรบภายในข้อขณะเคลื่อนไหว

ชนิดข้อเสื่อม
1. ข้อเสื่อมปฐมภูมิ (primary osteoarthritis) หมายถึง โรคข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุอื่นๆ มักพบในผู้สูงอายุ และมักพบเป็นข้อเสื่อมบริเวณเฉพาะแห่งที่มีลักษณะข้อใหญ่ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อกระดูกสันหลัง หรืออาจพบในบริเวณที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง ขึ้นไป เช่น บริเวณข้อนิ้วมือส่วนต้น และส่วนปลาย เป็นต้น

2. ข้อเสื่อมทุติยภูมิ (secondary osteoarthritis) หมายถึง โรคข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้น เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการหักของผิวกระดูกข้อ มีภาวะข้อหลุด เกิดการทำลายไขกระดูกข้อ เกิดการตายของหัวกระดูก และการติดเชื้อภายในข้อ รวมไปถึงความผิดปกติของข้อตั้งแต่กำเนิด การเกิดข้ออักเสบต่างๆ และการเกิดโรคในระบบต่อมไร่ท่อ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดโรคกระดูกเสื่อมตามมาได้

ข้อเสื่อม

ลักษณะการเกิดโรค
โรคข้อเสื่อมเป็นความผิดปกติของข้อแบบ synovial และ diarthrodial ที่มีลักษณะเกิดการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ เกิดกระดูกงอกบริเวณขอบข้อ และเกิดพังผืดบริเวณเยื่อหุ้มข้อ รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวเคมีบริเวณข้อ

การเปลี่ยนแปลงระยะแรก มักเกิดเพียงบางส่วนของผิวกระดูกอ่อน โดยเฉพาะบริเวณที่รับน้ำหนักมาก ทำให้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขุ่น ผิวกระดูกขรุขระ และนิ่มลง  เกิดการแตกเป็นร่องลึกเมื่อเกิดการเสื่อมมาก บางรายอาจเกิดผิวกระดูกอ่อนมีการหลุดลอกออกเป็นชั้นๆ ซึ่งอาจหลุดออกจนถึงผิวกระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อน แต่ทั่วไป เมื่อผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวทำให้เกิดการเสียดสีของข้อ รวมถึงการรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มวลกระดูกใต้ชั้นกระดูกอ่อนมีการหนาตัว  และแข็งมากขึ้น หากมีอาการเกิดมาก มักทำให้เกิดพังผืดรอบกระดูกอ่อน กระดูกอ่อนเกิดการหนาตัวกลายเป็นกระดูกงอกที่ยื่นออกจากขอบของข้อ ทำให้แลดูข้อหนา และใหญ่ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของสาร และเนื้อเยื่อภายในข้อ เช่น น้ำ เส้นใยคอลาเจน และสารอินทรีย์ ซึ่งจะพบว่า มีปริมาณของน้ำเพิ่มขึ้น ขนาดเส้นใยคอลาเจนเล็กลง เส้นใยมีลักษณะหลวม ไม่ประสานกันแน่นเหมือนเดิม และปริมาณ proteoglycans มีปริมาณลดลง เกิดการเปราะ และแตกสลายง่าย

การเปลี่ยนแปลงเมตาบอลิซึม จะพบการสร้าง และการหลั่งกรด รวมถึงการแกนโปรตีน ซึ่งทำให้เซลล์กระดูกอ่อนเพิ่มมากขึ้น ปริมาณ collagenase เพิ่มขึ้น การสร้าง DNA เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณเซลล์กระดูกอ่อนเพิ่มขึ้น แต่กระบวนการสร้างเพื่อชดเชยสิ่งที่ถูกทำลายมักไม่ทันต่อการทำลายทำให้เกิดการเสื่อมของข้อกลายเป็นโรคข้อเสื่อมตามมา

โรคข้อเสื่อม นอกจากจะมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัยแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้มีการเสื่อมสภาพที่เร็วขึ้นกว่าปกติหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น ได้แก่

1. อายุ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อม โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 85 จากผู้ป่วยทั้งหมด พบว่า อายุมีความสัมพันธ์เป็นอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงเซลล์กระดูกอ่อน ผู้ที่มีอายุมากมักพบอัตราการสร้าง และซ่อมแซมเซลล์น้อยกว่าอัตราการสลาย และการเสื่อมของเซลล์ เป็นผลทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมตามมา
2. เชื้อชาติ พบว่า ชนชาติที่มักเป็นโรคอ้วนหรือมีร่างกายใหญ่โต น้ำหนักมากมีผลต่อ
การเสื่อมของผิวหุ้มกระดูกที่เร็วกว่าคนผอม นอกจากนั้น
3. อาชีพ พบว่า อาชีพที่ยกของหนักหรือใช้งานอวัยวะบริเวณข้อต่างๆมีโอกาสสูงที่เกิดจะเกิดภาวะข้อเสื่อที่เร็วขึ้น
4. กรรมพันธุ์ โดยยีนของเพศหญิงที่มีผลต่อการเสื่อมของข้อกระดูกทำให้เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย
5. น้ำหนักร่างกาย ผู้ที่มีอายุมากขึ้นมักพบมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิงเมื่อหมดวัยประจำเดือน น้ำหนักที่มากขึ้นจะมีผลต่อการกดทับ และเพิ่มแรงกดบริเวณกระดูกอ่อนหุ้มข้อต่างๆทำให้เกิดการเสื่อมของข้อได้เร็ว
6. ความหนาแน่นของกระดูก พบว่าความหนาแน่นของกระดูกที่น้อยมีความสัมพันธ์กับโรคข้อเสื่อมที่ทำให้เกิดแรงเครียดที่ผิวกระดูกอ่อนหุ้มข้อ
7. ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยป้องกันการเสื่อของผิวกระดูกอ่อน หากฮอร์โมนมีปริมาณลดลงหรือมีน้อยจะทำให้เพิ่มอัตราการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนที่เร็วขึ้น
8. พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะพฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของข้อกระดูกที่มาก รวมถึงพฤติกรรมการหักนิ้ว หักข้อเวลาปวดหรือเพื่อทำให้เกิดเสียงดังมีส่วนทำให้เร่งการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนหุ้มข้อที่เร็วขึ้น
9. การประสบอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อ เช่น ข้อเข่าหลุด ข้อมือหัก เป็นต้น เป็นสาเหตุทำให้ผิวหุ้มกระดูกอ่อนถูกทำลายอย่างรุนแรงมีผลทำให้เกิดการเสื่อมที่ข้อที่เร็วขึ้น

ลักษณะการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนแบ่งเป็นระยะได้ ดังนี้
• ระยะหนึ่ง ผิวกระดูกอ่อนมีการสึกกร่อน และแตกเป็นเศษเล็กๆบริเวณช่องว่างระหว่างข้อ

• ระยะสอง มีการระคายเคืองของเยื่อบุข้อ การอักเสบของข้อมีผลทำให้เกิดการสร้าง และปล่อยเอ็นไซม์ไลโซไซม์ทำลายผิวกระดูกอ่อนที่เพิ่มขึ้น

• ระยะสาม เป็นระยะที่มีการซ่อมแซมผิวกระดูกอ่อนหุ้มข้อ โดยมีการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่บริเวณรอบข้อ ทำให้เพิ่มความหนา และจำนวนเซลล์กระดูกจนช่องว่างระหว่างข้อแคบลงทำให้มีการเคลื่อนไหวของข้อที่ลำบากมากขึ้น

• ระยะสี่ เป็นระยะที่มีรอยแหว่งของผิวข้อ ความสามารถในการซ่อมแซมผิวกระดูกอ่อนที่ถูกทำลายน้อยลง การสึกกร่อนเพิ่มขึ้น บวกกับการเนื้อกระดูกอ่อนมีการเสียดสีกันขณะเคลื่อนไหวจนทำให้เกิดอาการปวดที่ข้อเวลาเคลื่อนไหว

• ระยะห้า ข้อมีการทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะรูปร่างของข้อที่ผิดรูปจากการคดงอของกระดูกใหม่ทำให้ข้อมีลักษณะบวมหรือรูปร่างเปลี่ยนไป ระยะนี้มีอาการของข้อแข็งทำให้เคลื่อนไหวได้น้อยลง

ข้อเสื่อม1

อาการของโรค
1. อาการเจ็บปวด ในระยะแรกของการเสื่อมของข้อผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเล็กน้อย และอาการจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามวัย โดยเฉพาะเวลาที่มีการเคลื่อนไหวของข้อเป็นเวลานาน อาการปวดนี้จะบรรเทาลงเมื่อหยุดการเคลื่อนไหว ลักษณะจะเป็นๆหายๆ นอกจากนี้ อาการปวดมักมีส่วนมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย

2. อาการข้อติด และตึงที่ข้อ อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นมีผลต่อการเคลื่อนไหวที่น้อยลง ร่วมกับความหนาของกระดูก และการผิดรูปของข้อจนทำให้เกิดอาการข้อติดแข็ง อาการนี้จะพบมากหลังจากการตื่นนอนเนื่องจากไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อเป็นเวลานาน ทั้งนี้ อาการข้อติดแข็งจะเกิดในเวลาสั้นๆ ประมาณน้อยกว่า 1 ชั่วโมง เรียกภาวะนี้ว่า ปรากฏการณ์ติดแข็ง (Gelling หรือ Gel phenomenon)

3. อาการเสียงดังของข้อ (Crepitation) เซลล์กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่ที่มีลักษณะไม่เรียบ มีผิวขรุขระ เมื่อเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดการเสียดสีของผิวกระดูกเหล่านี้ ซึ่งมักจะได้ยินเสียงเมื่อมีการเคลื่อนไหวดังกรอบแกรบ และรู้สึกว่าข้อมีการเสียดสีกัน

4. อาการบวมที่ข้อ (Joint edema) ในระยะแรกจะไม่พบอาการบวมที่รุนแรง อาการบวมมักเกิดหลังจากการทำงานหนักหรือการรับน้ำหนักมากบริเวณข้อ และจะทุเลาลงเมื่อข้อไม่ได้รับภาระ อาการบวมนี้จะเกิดจากการหนาตัวของเซลล์กระดูกอ่อนที่ข้อที่เกิดขึ้นมาใหม่ และลุกลามเชื่อมติดกับเอ็นรอบๆข้อ รวมถึงการอักเสบของข้อร่วมด้วย

5. ภาวะน้ำท่วมข้อ (Joint effusion) ที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกในระยะเวลานานจนทำให้เซลล์กระดูกแตกตกค้างในช่องว่างระหว่างข้อจนทำให้เกิดการอักเสบของข้อตามมาพร้อมกับมีการสร้างน้ำไขข้อในปริมาณที่มากขึ้นจนทำให้มีอาการบวมอักเสบบริเวณข้อตามมา

6. อาการผิดรูปของข้อ (defromity) เป็นอาการที่เกิดในระยะสุดท้ายของโรค การผิดรูปของข้อนี้จะเกิดจากความหนาแน่น และการขยายตัวของกระดูกใต้กระดูกอ่อน ร่วมกับการดึงรั้ง และการหดตัวของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้เกิดความผิดปกติของข้อตามมา เช่น ข้อขยายใหญ่ เป็นต้น

ความรุนแรงของโรคข้อเสื่อมแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับ 1 มีการงอกของกระดูกใหม่จำนวนน้อย
ระดับ 2 มีการงอกของกระดูกใหม่จำนวนมาก และในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น
ระดับ 3 เกิดภาวะช่องว่างของข้อที่แคบลง
ระดับ 4 ช่องว่างระหว่างข้อมีขนาดแคบมากพร้อมกับการเสื่อมของเนื้อกระดูกใต้ผิวกระดูกอ่อน

การรักษา
โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้จากภาวะการเสื่อมของร่างกายตามวัยที่สูงอายุมากขึ้น แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคได้ ได้แก่
1. การรักษาด้วยการไม่ใช้ยา
เป็นการรักษาโรคกระดูกเสื่อมในทุกระยะ ส่วนใหญ่เป็นวิธีการรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อลดอาการบวม เพิ่มการเคลื่อนไหว และป้องกันการผิดรูปของข้อ เช่นการใช้ไม้เท้า การใช้เครื่องช่วยเดิน รวมถึงการนวด การให้ความร้อน ความเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด เป็นต้น

2. การรักษาด้วยการใช้ยา
– ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ยาแอสไพริน
– ยาระงับอาการปวดที่มีสารเสพย์ติด เช่น acetaminophen
– ยาทาบรรเทาอาการปวด เช่น ibuprofen diclofene
– ยาระงับอาการปวดที่ออกฤทธิ์ช้า เช่น glucosamine sulfate, chondroitin sulfate, hyaluronic acid เป็นต้น

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนจากการใช้ยา ได้แก่
– การล้างข้อ ด้วยการผ่าตัดเอาผิวกระดูกที่ขรุขระออกหรือเศษต่างๆที่อยู่ในข้อออกร่วมด้วยกับการซ่อมแซมผิวกระดูก
– การผ่าตัดเปลี่ยนจุดรับน้ำหนัก เพื่อลดอาหารปวด และสามารถทำกิจกรรมหนักๆได้เพิ่มขึ้น เช่น การวิ่ง การออกกำลังกายหรือยกของที่มีน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น
– การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เป็นการผ่าตัดที่ได้ผลที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก ภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อจะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานของข้อใกล้เคียงกับภาวะปกติ
– การผ่าตัดเชื่อมข้อ เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีมีการอักเสบหรือติดเชื้อรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นอันตรายต่อชีวิต