กระเพาะอาหาร และหน้าที่กระเพาะอาหาร

84566

กระเพาะอาหาร (Stomach) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหาร โดยจะตั้งเฉียงอยู่บริเวณตำแหน่งลิ้นปี่ และบริเวณสะดือ ครอบคลุมไปถึงบริเวณชายโครงซ้าย และใต้กระบังลม

รูปร่าง และลักษณะกระเพาะอาหาร
รูปร่าง ขนาด และตำแหน่งกระเพาะอาหารจะ เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณอาหารที่มีอยู่ภายในกระเพาะอาหาร ลักษณะรูปร่างของคน และตำแหน่ง ของร่างกาย ได้แก่
1. เมื่ออยู่ในท่ายืน กระเพาะอาหารจะเคลื่อนห้อยลงต่ำ แต่หากอยู่ในท่านอน กระเพาะอาหารจะเคลื่อนอยู่สูงขึ้น
2. คนอ้วนจะมีตำแหน่งของกระเพาะอาหารอยู่ตามขวาง แต่คนผอมกระเพาะอาหารจะอยู่ ตามยาว
3. เมื่อกระเพาะอาหารว่าง กระเพาะอาหารจะหดตัวลง ทำให้มีรูปร่างเหมือนเคียวหรือไส้กรอก ซึ่งจะมีขนาดความจุประมาณ 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่เมื่อกระเพาะอาหารได้รับอาหารเข้าไป กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารก็จะขยายตัวออกเพื่อรองรับอาหารให้จุได้มากขึ้น ซึ่งกระเพาะอาหารเมื่อขยายตัวจะสามารถจุอาหารได้มากถึง 2,000-3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือ 40-60 เท่า ของขนาดที่เป็นกระเพาะว่าง

กระเพาะอาหาร

เมื่ออาหารเคลื่อนตัวเข้าสู่กระเพาะอาหารจะเกิดลักษณะการคลายตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และทำให้ลดการตึงตัวของกระเพาะอาหารลง โดยแบ่งได้เป็น 2 ปฏิกิริยา คือ
1. Receptive relaxation หมายถึง การคลายตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารเพื่อรองรับอาหารที่จะเคลื่อนตัวลงมาจากหลอดอาหาร ปฏิกิริยานี้ จะถูกกระตุ้นจากช่องปาก และคอหอย โดยไม่ทำให้ความดันในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น
2. Adaptive relaxation หมายถึง การคลายตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารให้สามารถขยายหรือยืดพองออกได้มากขึ้นตามปริมาณอาหารที่เพิ่มขึ้น

กระเพาะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1. กระเพาะอาหารส่วนต้น (Fundus) เป็นกระพุ้งกระเพาะอาหารที่เชื่อมต่อของหลอดอาหาร โดยมากจะมีอากาศอยู่
2. กระเพาะอาหารส่วนกลาง (Body) เป็นพื้นที่กระเพาะอาหารที่อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารส่วนต้น และส่วนปลาย ถือเป็นส่วนที่มีพื้นที่มากที่สุด
3. กระเพาะอาหารส่วนปลาย (Pylorus) เป็นกระเพาะอาหารส่วนท้ายสุดที่เชื่อมต่อกับลำไส้เล็กตอนต้น

โครงสร้างกระเพาะอาหาร
1. ชั้นเยื่อเมือก (Mucosa) เป็นผนังกระเพาะอาหารที่บุอยู่ชั้นในสุด ประกอบด้วยต่อมสร้างน้ำย่อย และสารช่วยในการย่อย พร้อมรูเปิดของต่อม
2. ชั้นใต้เยื่อเมือก (Submucosa) เป็นผนังส่วนที่ถัดจากชั้นเยื่อเมือก ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) เป็นหลัก ทำหน้าที่ช่วยยึดระหว่างชั้นกล้ามเนื้อ และชั้นเยื่อเมือกไว้ด้วยกัน ซึ่งชั้นนี้จะมีเส้นประสาท หลอดเลือด และท่อน้ำเหลืองมาเลี้ยงจำนวนมาก
3. ชั้นกล้ามเนื้อ (Muscle layers) ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบที่เรียงตัวกัน 3 ชั้น คือ ชั้นในที่วางตัวในแนวเฉียง ชั้นกลางที่วางตัวเป็นวงล้อมรอบ และชั้นนอกที่วางตัวตามแนวยาวของกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อส่วนนี้ จะทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว การคลายตัว และการบีบรัดของกระเพาะอาหารในขณะที่มีการย่อยอาหาร
4. ชั้นนอก (Serosa) เป็นชั้นที่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มคลุมผิวนอกของชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และเชื่อมติดกับเยื่อแขวนกระเพาะ (Omentum) ทำหน้าที่ขับน้ำเมือกเคลือบกระเพาะอาหาร และช่วยทำให้อาหารลื่น และเคลื่อนไหวได้สะดวก

กระเพาะอาหาร1

หน้าที่ของกระเพาะอาหาร
1. รองรับอาหารอาหารที่เคลื่อนตัวมาจากหลอดอาหาร
2. พักอาหาร และเก็บสำรองอาหารให้เข้าสู่ร่างกายได้จำนวนมาก
3. หลั่งน้ำย่อยหรือเอนไซม์ สำหรับการย่อยอาหาร ได้แก่
– เอนไซม์เปปซิน (pepsin) ที่ทำงานร่วมกับกรดไฮโดรคลอริก สำหรับการย่อยโปรตีนจากพืช และสัตว์
– เอนไซม์เรนนิน (rennin) สำหรับการย่อยโปรตีนในน้ำนม
– เอนไซม์ไลเปส (lipase) สำหรับการย่อยไขมัน
4. สร้างเมือกเคลือบผนังกระเพาะอาหารสำหรับป้องกันความเป็นกรด-ด่างที่อาจทำลายหรือย่อยผนังกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารได้
5. เป็นส่วนแรกที่ช่วยในการคลุกเคล้าอาหารเพื่อการย่อยอาหาร ทั้งเชิงกลด้วยการบีบรัดตัว และเชิงเคมีจากปฏิกิริยาเคมีของกรดไฮโดรคลอริกร่วมกับเอนไซม์
6. ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารบางชนิดที่ดูดซึมได้ง่าย อาทิ แอลกอฮอล์ และน้ำ
6. เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลักอาหารให้เคลื่อนตัวเข้าสู่ลำไส้เล็ก ด้วยการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร
7. ช่วยกำจัดหรือลดจุลินทรีย์ก่อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
8. ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของกระเพาะอาหาร ได้แก่
– ฮอร์โมนแกสตริน ( gastrin ) ทำหน้าที่กระตุ้นการหลั่งเอนไซม์เปปซิน และกรดไฮโดรคลอริก
– ฮอร์โมนโคลีซิสโตไคนิน (Cholecystokinin) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ถุงน้ำดีหลั่งน้ำดี (ผลิตได้จากตับ) ออกมาเพื่อใช้ย่อยอาหารจำพวกไขมัน