กลาก และการรักษา

    25465

    โรคกลาก  (Ring Worm infection, Dermatophytosis) หมายถึง โรคเชื้อราที่เกิดบนผิวหนัง เส้นผม ขน และเล็บ มีสาเหตุมาจากเชื้อราในกลุ่มเดอมาโตไฟต์ (dermatophyte) ที่สามารถสร้างเอนไซม์เคอราติเนส (keratinase) สำหรับย่อยเคอราติน (keratin) ของผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า (stratum corneum) มาใช้ในการเจริญเติบโต

    การเล่นกับสุนัขหรือแมว การอาศัยในที่อากาศร้อน และอับชื้น การมีเหงื่อออกมาก การสวมเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่หนา และคับ  มือ และเท้าแช่น้ำนาน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้เกิดเชื้อกลากบนร่างกายได้ง่ายขึ้น โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายด้วยการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หมอน หวี เป็นต้น พบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย เช่น กลากตามลำตัว กลากที่ศีรษะ กลากที่เท้าหรือง่ามเท้า กลากที่เล็บ เป็นต้น

    เชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (dermatophyte) ที่เป็นสาเหตุของโรคกลากที่พบบ่อย ได้แก่ ทริโคไฟตอน รูบรัม ทริโคไฟตอน เมนทาโกรไฟต์ และ อีพิเดอโมไฟตอน ฟลอคโคซุม ตามลำดับ พบมากในผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย และเสื้อผ้า

    กลาก

    1. ทริโคไฟตอน รูบรัม
    เชื้อที่พบในคน ก่อโรคกลากตามตัว บริเวณรอยพับ ที่เท้า มือ เล็บ และผม พบระบาดทั่วโลก และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกลาก อาการที่เกิดจากเชื้อนี้ไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่่รีบรักษา เชื้อจึงคงอยู่ในคนได้นาน และติดต่อจากคนสู่คน นอกจากนี้ เชื้อยังที่มีความทนต่อภาวะแวดล้อมทั่วไป และยารักษาได้ดีมาก จึงอาการดื้อยาของเชื้อขึ้น ลักษณะด้านหลังโคโลนีมีสีแดง ซึ่งจะเกิดได้ดีเมื่อเลี้ยงบนวุ้นมันฝรั่ง (potato dextrose agar) หรือวุ้นแป้งข้าวโพด (cornmeal glucose agar)

    โคโลนีมีเจริญช้า มีสีขาวครีม ผิวหน้าโคโลนีเป็นชนิดมีขนอ่อนสร้างโคนิเดียไม่มาก โคนิเดียชนิดเล็ก รูปหยดน้ำตา (tear drop) ขนาด 3-5 x 2-3 ไมโครเมตร อยู่ข้างๆ สายรา พบได้ง่ายในพวกชนิดแกรนูลา (granular type) โคนิเดียขนาดใหญ่ รูปร่างยาว แคบ มีหลายเซลล์ ผนังเรียบ อาจมีปลายยื่นคล้ายดินสอ (pencil shape)

    คุณสมบัติพิเศษ เมื่อถ่ายเชื้อลงวุ้นมันฝรั่ง วุ้นแป้งข้าวโพดหรือวุ้นที่มีเปปโทน (peptone) ความเข้มข้นร้อยละ 1 โคโลนีจะมีสีแดงชัด การทดสอบยูรีเอสให้ผลลบภายในหนึ่งสัปดาห์

    2. ทริโคไฟตอน เมนทาโกรไฟต์
    พบได้ทั่วไปทั้งในคน และสัตว์ มักก่อโรคกลากตามตัว กลากในร่มผ้า กลากที่ศีรษะหนวด เครา มือ เท้าและเล็บทริโคไฟตอน เมนทาโกรไฟต์ ที่พบในผู้ป่วยชาวไทยมี 2 แบบ คือ สายพันธุ์เมนทาโกรไฟต์ (T. mentagrophytes var. mentagrophyte) มักพบในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคกลาก ซึ่งได้รับเชื้อจากดินหรือสัตว์มักมีการอักเสบรุนแรง ส่วนสายพันธุ์อินเตอดิจิเทต (T. mentagrophytes var. interdigitate) พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่เกิดจากสายพันธุ์เมนทาโกรไฟต์ เรื้อรัง เช่น ที่บริเวณซอกนิ้วเท้า ไม่มีความสามารถในการก่อโรคในคนปกติ เมื่อเชื้อผ่านเข้าสัตว์ทดลองจะกลายเป็นสายพันธุ์เมนทาโกรไฟต์ได้ ส่วนสายพันธุ์อินเตอดิจิเทต เมื่อถ่ายเชื้อในห้องปฏิบัติการหลาย ๆ ครั้งก็เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์เมนทาโกรไฟต์ ได้เช่นกัน

    ลักษณะโคโลนีเจริญช้า สีขาว ครีม ผิวหน้าโคโลนีจักเป็นชนิดแป้งหรือขนอ่อน ด้านหลัง
    โคโลนีมีสีเหลืองน้ำตาล มักพบแต่โคนิเดียขนาดเล็ก รูปกลมหรือรีอยู่เป็นกลุ่ม โคนิเดียขนาดใหญ่ไม่ค่อยพบ อาจพบสายราขดเกลียวและโคนิเดียป่องคุณสมบัติพิเศษของทริโคไฟตอน เมนทาโกรไฟต์ เมื่อถ่ายเชื้อลงในวุ้นมันฝรั่งหรือวุ้นแป้งข้าวโพด จะปรากฏโคโลนีสีขาว การทดสอบยูรีเอสให้ผลบวกภายในหนึ่งสัปดาห์ ถ้านำมาใส่ลงบนเส้นผมจะสามารถเจาะผมได้

    3. อีพิเดอโมไฟตอน ฟลอคโคซุม
    จัดเป็นเชื้อกลากที่พบในคน พบได้ทั่วไป ก่อโรคกลากตามตัว กลากในร่มผ้า กลากที่เท้าและเล็บ ไม่ก่อโรคที่ผม

    ลักษณะโคโลนีเจริญช้าผิวหน้าโคโลนีมักมีร่อง อาจพบเป็นชนิดเม็ด หรือปุย สีเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง ด้านหลังโคโลนีไม่มีสีหรือมีสีน้ำตาลเหลือง

    โคนิเดียขนาดใหญ่ประมาณ 20-40 x 7-12 ไมโครเมตร ปลายมนคล้ายใบขนุน (beaver tail shaped) ผนังเรียบภายในมีผนังกั้นแบ่งเป็น 1-4 เซลล์ มักอยู่เป็นกลุ่ม ไม่สร้างโคนิเดียขนาดเล็ก โคนิเดียป่องพบได้มาก โดยเฉพาะเมื่อโคโลนีแก่ โคนิเดียป่องรูปกลม ผนังหนาบางครั้งโคนิเดียขนาดใหญ่เปลี่ยนรูปเป็นโคนิเดียป่อง อาจพบสายราขดเกลียว สายรารูปไม้เทนนิส

    4. ไมโคลสปอรัม จิปเซียม (Microsporum gypseum)
    จัดเป็นเชื้อกลากที่อยู่ในดิน พบได้ทั่วไป ก่อโรคกลากที่ศีรษะ หนวด ลำตัว ในร่มผ้า และที่เท้า

    ลักษณะโคโลนีเจริญค่อนข้างเร็ว มีผิวหน้าโคโลนีชนิดแป้ง สีน้ำตาลอ่อน (cinnamon-buff
    to brown) เป็นผง ๆ ด้านหลังโคโลนีอาจไม่มีสีหรือมีสีได้หลายแบบ

    พบโคนิเดียขนาดใหญ่ได้มาก รูปกระสวย ผนังบาง ผิวไม่เรียบ ขนาดประมาณ 20-60 x 8-10 ไมโครเมตร ภายในแบ่ง 4-6 เซลล์ โคนิเดียขนาดเล็กรูปรีอยู่ข้าง ๆ สายรา

    ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคกลาก
    1. โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่เดิม เช่น เบาหวาน โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) โรคมะเร็ง
    ต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) โรคเอสแอลอี (systemic lupus erythematosus)
    2. เผ่าพันธุ์ เช่น คนผิวดำมีอุบัติการณ์ของโรคกลากที่ศีรษะมากกว่าคนผิวอื่น จากการศึกษาที่หมู่เกาะปาปัวนิวกีนี พบว่า การเกิดโรคกลากหนุมานน่าจะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อย
    3. เด็ก เนื่องจากต่อมไขมันยังเจริญไม่เต็มที่ อุบัติการณ์ของกลากที่ศีรษะในเด็กจึงพบได้บ่อย
    4. การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง เช่นรอยถลอกทำให้มีโอกาสเป็นโรคกลากได้ง่าย
    5. ภาวะอับชื้น เช่น ขาหนีบ รักแร้ ซอกนิ้วเท้า ใส่ถุงเท้ารองเท้า ลุยน้ำ

    เชื้อกลากเข้าสู่ผิวหนังได้ 3 วิธี
    1. การได้รับเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นโรค เช่น การติดเชื้อไมโคลสปอรัม เคนีส (M. canis) ในสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมวจากการอุ้ม หรือการได้รับเชื้อทริโคไฟตอน เวอรูโคซัม (T. verrucosum) ในผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น ถึงแม้ว่าเชื้อกลากบางชนิดจะอาศัยอยู่บนดิน แต่การติดเชื้อจากดินโดยตรงนั้นพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่มักมีการแพร่กระจายมาสู่คนโดยการติดต่อผ่านสัตว์ที่ติดเชื้อจากดินที่นำมาใช้เพาะปลูก

    2. การได้รับเชื้อจากการใช้สิ่งของที่มีเชื้อ จากการศึกษา พบว่า เชื้อราที่หนังศีรษะ สามารถแพร่ติดเชื้อต่อไปยังผู้อื่นโดยการใช้อุปกรณ์การตัดผม หวี แปรง หมวก หมอนหรือที่นอนร่วมกัน ดังมีรายงานพบเชื้อกลาก จากหวี แปรงผม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และเสื้อผ้า

    3. การแพร่ของเชื้อจากผิวหนังไปสู่บริเวณอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการแกะเกาบริเวณที่เป็นโรค เช่น ในผู้ป่วยเชื้อราที่ฝ่าเท้าหรือเล็บ ซึ่งเชื้อราที่ติดอยู่บริเวณมือจากการแกะผื่นที่ฝ่าเท้าหรือเชื้อราที่เล็บมือจะสามารถติดต่อไปสู่ผิวหนังบริเวณอื่นได้จากการสัมผัสโดยตรง (autoinoculation)

    อาการ
    ลักษณะที่พบแบบชนิดเป็นวง เริ่มต้นเป็นตุ่มแดงเล็กๆ ขยายวงกว้างเป็นวงกลมเห็นเป็นขอบเขตชัดเจน ผิวจะแห้ง และอาจมีขุย บริเวณตรงกลางเห็นเป็นผิวหนังปกติ วงมีขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ อาจพบมีวงซ้อนหลายวงเนื่องจากวงขอบในส่วนที่เป็นก่อนหาย และบางครั้งพบเป็นก้อนแข็งบริเวณขุมขน หรือมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสเล็กๆ แล้วแตกได้

    เชื้อกลากสามารถทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ผิวหนังได้ทั่วไป รวมทั้งเส้นผม และเล็บ การอักเสบจะรุนแรงที่บริเวณของของผื่นโดยจะขยายออกเป็นบริเวณกว้าง ตรงกลางผื่นจะเหลือรอยโรคจาง ๆ อาการทางคลินิกอาจมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละบริเวณ ปฏิกิริยาของร่างการที่มีต่อเชื้อจะมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ และระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

    ชนิดโรคกลาก
    1. กลากที่ลำตัว (tinea corporis)
    ลักษณะผื่นมีได้หลายแบบแต่ที่พบบ่อยที่สุด คือผื่นมีลักษณะเป็นวง (annular) เริ่มจากเป็นตุ่มแดงแล้วค่อย ๆ ขยายลามออกเป็นวง ขอบเขตชัดเจนแดงนูนและมีสะเก็ดเป็นขุย เรียกว่า active border บริเวณผิวหนังตรงกลางผื่นเมื่อขยายออกแล้วจะเหลือรอยโรคเพียงเล็กน้อยจนเกือบปกติ (central clearing) เนื่องจากปฏิกิริยาภูมิต้านทานของผู้ป่วยที่พยายามกำจัดเชื้อออกจากร่ายกายขอบผื่นอาจมีตุ่มน้ำใสหรือเป็นหนองขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย บางครั้งผื่นอาจลามติดต่อกันเป็นหลายวง จนมีลักษณะเป็นวงแหวนซ้อนกัน มีอาการคันได้บ้าง

    กลากลำตัว

    2. กลากที่ขาหนีบ (tinea cruris)
    มักพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง โดยเฉพาะที่บริเวณหัวเหน่า ขาหนีบและก้นบางครั้งอาจลุกลามมาสู่บริเวณโคนขา มักมีอาการคันมาก ลักษณะอาการทางคลินิกมีได้ 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน (acute) มักมีลักษณะเป็นวงแดง มีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองบริเวณขอบ ไม่พบการ
    กระจายของผื่นเป็นจุด ๆ (satellite) เหมือนที่พบในเชื้อแคนดิดา ผู้ป่วยที่มีชนิดเรื้อรังจะมีผื่นแดงน้อยกว่าแบบเฉียบพลัน แต่พบลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาล มีขุยเล็กน้อย

    3. กลากที่ใบหน้า (tinea faciei)
    อุบัติการณ์ณ์พบได้น้อยเมื่อเทียบกับการติดเชื้อกลากบริเวณอื่น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณฝ่าเท้า ขาหนีบ หรือเล็บโดยการแกะเกา ลักษณะผื่นมักเป็นวงแดง มีขุยสะเก็ด มีขอบเขตชัดเจน หรือมีลักษณะคล้ายรูขุมขนอักเสบ (folliculitis like lesion)

    4. กลากที่ศีรษะ และเส้นผม (tinea capitis)
    เป็นเชื้อราที่พบได้บ่อยในเด็กเนื่องจากความแตกต่างขององค์ประกอบของไขมันบนหนังศีรษะ โดยโรคจะเกิดที่บริเวณศีรษะก่อนแล้วจึงเข้าไปในเส้นผม ลักษณะผื่นที่เกิดขึ้นมีได้
    แบบใหญ่คือ
    4.1 ชนิดไม่มีการอักเสบ (non inflammatory type)
    – กลากที่ศีรษะและเส้นผมชนิดเส้นผมสีเทา (gray patch ringworm) ผื่นมีขุยผมร่วง เส้นผมหัก มีสปอร์ของเชื้อราอยู่รอบ ๆ เส้นผม (ectothrix)ทำให้เห็นเส้นผมเป็นสีเทา
    – กลากที่ศีรษะและเส้นผมชนิดผมหัก (black dot ringworm) ผื่นผมร่วงมีขุยบาง ๆ ผมบางเส้นหักติดกับหนังศีรษะ เห็นเป็นจุดดำ ๆ เกิดเนื่องจากมีสปอร์ของเชื้อราจำนวนมากในเส้นผม (endothrix) ทำให้เส้นผมเปาะหักง่าย

    กลากที่ผม

    4.2 ชนิดมีการอักเสบ (inflammatory type) พบในรายที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อราดีผื่นมีลักษณะคล้ายรูขุมขนอักเสบ แต่ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีผื่นอักเสบเป็นก้อนบวมแดง มีหนอง และผมหลุดร่วง ถ้าไม่รีบรักษาจะมีรอยแผลเป็นตามมา (scarring alopecia, kerion type)

    5. กลากที่เล็บ (onychomycosis, tinea unguium)
    โรคติดเชื้อราที่เล็บ (onychomycosis) หมายถึง โรคเชื้อราที่เล็บซึ่งอาจเกิดจากเชื้อเดอมาโตไฟต์หรือเชื้อรากลุ่มอื่นก็ได้โรคติดเชื้อกลากที่เล็บ (tinea unguium) หมายถึง โรคเชื้อราที่เล็บที่เกิดจากเชื้อเดอมาโตไฟต์เท่านั้นโรคเชื้อราที่เล็บมักพบในผู้ใหญ่ ในเด็กพบน้อย เนื่องจากในเด็กเล็บจะงอกเร็วมากจนเชื้อราเจริญไม่ทันที่จะทำให้เกิดโรค สามารถแบ่งเชื้อราที่เล็บได้ตามบริเวณที่มีการติดเชื้อ

    กลากที่เล็บ
    – โรคเชื้อราที่เล็บบริเวณปลายเล็บ (distal subungal onychomycosis) พบบ่อยที่สุด เชื้อจะเข้าทางปลายเล็บ ทำให้เกิดขุยหนาใต้เล็บ และตัวเล็บหลุดออกจากพื้นเล็บ
    – โรคเชื้อราที่เล็บบริเวณโคนเล็บ (proximal subungal onychomycosis) พบน้อยมาก โดยเชื้อจะเข้าทางโคนเล็บแล้วจึงทำให้เกิดขุยใต้โคนเล็บ มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    – โรคเชื้อราที่เล็บบริเวณตัวเล็บ (white superficial onychomycosis) เชื้อจะเข้าบนตัวเล็บโดยตรง ทำให้เห็นเป็นจุดขาวขอบเขตชัดเจนที่ตัวเล็บ เล็บจะยุ่ยและขรุขระ

    6. กลากที่มือ และเท้า (tinea manuum และtinea pedis)
    มักพบบ่อยในผู้ที่ประกอบอาชีพเปียกชื้น มือเท้าแฉะอับ โรคกลากที่มือมักมีความรุนแรง และเรื้อรังน้อยกว่าที่เท้า โดยรอยโรคอาจพบมีลักษณะได้หลายแบบเช่น เป็นแผ่นสีขาว ยุ่ยลอกที่ง่ามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า, มีตุ่มน้ำใสหรือมีลักษณะเป็นผื่นมีแผ่นหนามีสะเก็ดและมีขอบเขตชัดเจน

    การวินิจฉัย
    1.การตรวจโดยตรงด้วยกล้องจุลทรรศน์
    การตรวจโดยการย้อมน้ำยาด่าง หลักการทั่วไปคือการเลือกขูดผิวหนังที่บริเวณขอบของผื่น
    ที่มีขุยสะเก็ด (active border) โดยทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณผื่นด้วยสำลีชุบ 70% แอลกอฮอล์เสียก่อนแล้วจึงใช้ใบมีดเบอร์ 15 ขูดบริเวณสะเก็ด ยกเว้นกรณีตุ่มน้ำที่ฝ่าเท้าแนะนำให้ใช้กรรไกรเล็ก ๆ เลาะเอาผนังของตุ่มน้ำ (roof of vesicle) มาตรวจ โดนวางขุยสะเก็ดบนแผ่นสไลด์ ย้อมด้วยน้ำยาด่าง แล้วปิดด้วย cover slip ลนผ่านเปลวไฟ 3-4 ครั้ง นำไปดูกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายเลนส์วัตถุ 10 เท่า และ 40 เท่า

    ในรายที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเดอมาโตไฟต์จะพบโครงสร้างสายราแบบมีผนังกั้น (branching septate hyphae), อาโทรสปอร์ (arthrospore) จากสะเก็ดผิวหนัง ส่วนรายที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดอื่น (nondermatophyte) จะพบสายใยของเชื้อรามีสีน้ำตาล ผนังมีลักษณะไม่ขนานกัน ( irregular septate hyphae)

    2. การเพาะเลี้ยงเชื้อรา
    การนำสิ่งส่งตรวจมาเพาะบนอาหารเลี้ยงเชื้อในอุณหภูมิที่เหมาะสมจะช่วยแยกจีนัส (genus) และ สปีชี่ (species) ของเชื้อราได้อย่างชัดเจน อาหารเพาะเลี้ยงเชื้อราที่นิยมใช้สำหรับเดอมา
    โตไฟต์คือวุ้นชนิดพิเศษ (sabouraud dextrose agar; SDA) ที่ผสมไซโคลเฮกซาไมด์ (cycloheximide) และ คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดอื่นและแบคทีเรีย ตามลำดับ โดยนำมาเลี้ยงที่อุณหภูมิ 25-30ºC เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นราชนิดอื่น หรือยีสต์ จะใช้วุ้นผสมคลอแรมเฟนิคอลที่ไม่มีไซโคลเฮกซาไมด์ ซึ่งเชื้อมักเจริญเติบโตเร็วภายใน 3-7 วัน การแยกชนิดของเชื้อทำโดยการดูลักษณะภายนอกของโคโลนี บนอาหารเลี้ยงเชื้อดูโครงสร้าง รูปร่าง ขนาด และจำนวนของโคนิเดีย

    3. การทดสอบทางชีวเคมี
    กรณีที่ไม่สามารถแยกแยะชนิดของเชื้อราโดยการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการเพาะเลี้ยงเชื้อราได้ อาจนำวิธีทดสอบคุณสมบัติเฉพาะทางชีวเคมีของเชื้อราต่าง ๆ มาช่วยใน
    การวินิจฉัยแยกเชื้อ

    4. การตรวจพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อ
    การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาจะทำในรายที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยวิธีมาตราฐาน ทำโดยตัดชิ้นเนื้อบริเวณผื่นมาย้อมสีพิเศษพีเอเอส (periodic acid schiff ; PAS) หรือจีเอ็มเอส (gomorimethenamine silver; GMS) แล้วตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะพบผนังเชื้อราติดสีแดงหรือดำตามลำดับ

    การรักษา
    ปัจจุบันยาต้านเชื้อรามีอยู่หลายประเภท เมื่อแบ่งตามรูปแบบในการใช้ยา พบว่า มีแบบที่เป็น
    ยาทาภายนอก และยาที่ใช้เพื่อให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย อาจให้โดยวิธีรับประทานหรือฉีดเข้าทาหลอดเลือดดำ สำหรับการเลือกการให้ยาในรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ขอบเขตของการติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค ตำแหน่งของการติดเชื้อ โรคประจำตัวของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของยา ความสะดวกในการใช้ยา เป็นต้น โดยวิธีการรักษามาตรฐานของโรคกลากผิวหนัง ยกเว้นที่เล็บ ศีรษะ และเส้นผม คือการใช้ยาทาต้านเชื้อรา โดยจะทาบริเวณที่เป็นผื่นและผิวหนังรอบ ๆ ขอบห่างประมาณ 1-2 ซม. วันละ 2 ครั้งนาน 2-4 สัปดาห์

    โดยปกติการรักษาโรคกลากที่เท้าจะใช้ยาทาต้านเชื้อรา นานประมาณ 4 สัปดาห์ก็เพียงพอ
    ยกเว้นในกรณีที่เป็นโรคกลากที่เท้าชนิดแห้งเป็นสะเก็ดหรือมีโรคกลากที่เล็บร่วมด้วย จะให้ยาชนิดรับประทานเพื่อป้องกันโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำ

    ยาทาต้านเชื้อรา (topical antifungals)
    1. ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังกำพร้าหลุดออก (keratolytics) ยากลุ่มนี้จะทำให้
    ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าหลุดออกไป ใช้ได้ผลในการรักษาโรคกลากและเกลื้อน แต่ข้อเสียคือมีการระคายเคืองได้มาก จึงไม่นิยมใช้ ตัวอย่างเช่น 6% กรดเบนโซอิก (benzoic acid), 3% กรดซาลิไซลิค(salicylic acid), โพรพิลีนไกลคอล (propylene glycol)เป็นต้น

    2. ยากลุ่มยาฆ่าเชื้อ (antiseptic chemical compounds) ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างเช่น ไคลโอควินอล (clioquinol) เป็นต้น นิยมใช้รักษาเชื้อราบริเวณง่ามเท้า

    3. ยากลุ่มอิมิดาโซล (imidazoles) ยากลุ่มนี้จะลดการสร้างเออโกสเตอรอล (ergosterol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา โดยจะยับยั้งการทำงานของ
    เอนไซม์ลาโนสเตอรอล14 แอลฟา-ดีเมทิลเลส (lanosterol 14 alpha-demethylase) ทำให้ลาโนสเตอรอลไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเออโกสเตอรอลได้ จึงเกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (fungistatic) แต่ถ้าระดับเออโกสเตอรอลลดลงอย่างมาก คือ มากกว่า 90% จะทำให้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ (fungicidal) นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยจะยับยั้งกระบวนการอักเสบ (neutrophil chemotaxis and calmodulin activity) การสร้างลิวโคไทรอีน (leukotriene) และพรอสตาแกรนดิน (prostaglandin) รวมถึงลดการหลั่งฮีสตามีน (histamine) ได้ ข้อดีคือเป็นยาที่ได้ผลดีต่อเชื้อกลาก เกลื้อน แคนดิดา และเชื้อราอื่น ๆ อีกหลายชนิด ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ โคลทรัยมาโซล (clotrimazole) มัยโคนาโซล (miconazole) คีโตโคนาโซล (ketoconazole) และ อีโคนาโซล (econazole)

    4. ยากลุ่มอัลลิลเอมีน (allylamines) ยากลุ่มนี้จะลดการสร้างเออโกสเตอรอล โดยจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สควารีน อีปอกซิเดส (squaleneepoxidase) ทำให้เกิดการสะสมของสควารีนในเซลล์ นำไปสู่การตายของเซลล์ในที่สุด และยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยจะยับยั้งเอนไซม์ 5-ไลปอกซีจิเนส (5-lipoxygenase) ยากลุ่มนี้ใช้ได้ผลดีในการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อกลากและใช้เวลาในการรักษาสั้นกว่าพวกอิมิดาโซลเนื่องจากราคายาแพงกว่ากลุ่มอิมิดาโซล 3 เท่า ทำให้ในบางการศึกษาแนะนำให้เริ่มใช้ยากลุ่มอิมิดาโซลก่อนและใช้ยากลุ่มอัลลิลเอมีนในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาอิมิดาโซลได้  ข้อเสียคือไม่ค่อยได้ผลในการรักษาเกลื้อนและแคนดิดา ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ แนฟทีฟีน (naftifine) และเทอบีนาฟีน (terbinafine)

    5. ยากลุ่มโพลีอีน (polyenes) ยากลุ่มนี้สร้างมาจากเชื้อราพวกสเต็ปโตไมเซส (streptomyces) ออกฤทธิ์โดยยาจะจับกับเออโกสเตอรอล มีการจับแบบถาวรทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้เชื้อราไม่สามารถดูดซึมอาหารได้ เชื้อราจึงหยุดการเจริญเติบโต แต่ถ้าให้ยาในขนาดสูงจะสามารถมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ เช่นกัน

    ข้อเสียคือได้ผลดีต่อเชื้อแคนดิดาเท่านั้น ในโรคกลากเกลื้อนใช้ได้ผลไม่ดี ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ นิสแตติน (nystatin) และแอมโฟเทอริซิน บี (amphotericin B)

    6. ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น
    1. ไซโคลไพร็อกซ์ โอลามีน (ciclopiroxolamine) ออกฤทธิ์ยับยั้งโดยดูดซึมและสะสมของสารที่ใช้ในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยับยั้งการสร้างโพสตาแกรนดิน (prostaglandin) และลิวโคทรัยอีน (leukotriene) สามารถนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโตไฟต์แคนดิดา และเกลื้อน สามารถใช้รักษาโรคกลากที่เล็บได้ โดยใช้ยาในรูปแบบ 8% แลคเกอร์ (8% Ciclopirox nail lacquer) จะสามารถซึมผ่านแผ่นเล็บได้ เป็นทางเลือกสำหรับผู้เป็นเชื้อราที่เล็บแต่ไม่สามารถใช้ยารับประทานต้านเชื้อราได้ พบว่ามีการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ร้อยละ 21%

    2. โทลนาฟเตต (tolnaftate) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สควอรีน อีปอกซิเดส เหมือนกลุ่มอัลลิลเอมีน มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อกลากได้ แต่ใช้ไม่ได้ผลในในแคนดิดาและเกลื้อ อาการข้างเคียงที่พบได้ในกลุ่มยาทาต้านเชื้อรา ได้แก่ อาการแดง ผิวลอก คัน แสบร้อน ถ้ามีอาการระคายเคืองมากจะพบเป็นตุ่มพองน้ำได้ อาจพบเป็นผื่นลมพิษ และอาจพบการดื้อยาได้ ในปัจจุบันมีสมุนไพรไทยหลายชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา เช่น ข่า พลู เทียนบ้าน ชุมเห็ดเทศ
    ชุมเห็ดไทย ทองพันชั่ง น้อยหน่า บัวบก กระเทียม และขมิ้นชัน เป็นต้น

    การป้องกัน
    1. มั่นรักษาความสะอาดของร่างกายเสมอ ด้วยการอาบน้ำ ฟอกสบู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
    2. หลังการอาบน้ำหรือทำกิจกรรมที่เปียกน้ำควรเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง อย่าให้อับชื้น โดยเฉพาะตามรอยพับ และซอกต่างๆ
    3. มั่นทำความสะอาดที่นอน ซักเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเซ็ดตัวอย่างสม่ำเสมอ โและตากแดดให้แห้ง
    4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อับชื้นเป็นเวลานาน
    5. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับคนป่วยโรคกลาก เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น