กิเลส และวิธีกำจัดกิเลส

34582

กิเลส หมายถึง เครื่องที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว มีจิตอันไม่บริสุทธิ์ และขัดขวางความความสงบทางจิตใจ ประกอบด้วยกิเลส 3 ประเภท คือ
1. โลภะกิเลส คือ กิเลสแห่งความโลภ
2. โทสะกิเลส คือ กิเลสแห่งความโกรธ
3. โมหะกิเลส คือ กิเลสแห่งความหลง

คำว่า “กิเลส” มาจากฐานศัพท์ภาษาบาลี คือ กิลิส แปลว่า ความเร่าร้อน หรือ การเบียดเบียน แปลโดยนัยแห่งธรรม หมายถึง เครื่องที่ทำให้จิตใจเร่าร้อนหรือเข้าเบียดเบียนจิตใจให้เศร้าหมอง

กิเลส

กิเลส 3 ประการ
1. โลภะกิเลส
โลภะกิเลส หมายถึง กิเลสที่ทำให้เกิดทะยานอยากในสิ่งต่างๆอันทวารทั้ง 5 สัมผัสได้ และความอยากในจิตของตนที่ปรุงแต่งขึ้น ซึ่งความอยากนี้เป็นเหตุให้จิตเกิดการดิ้นรน และแสวงหาเพื่อมาสนองต่อความอยากของตน ประกอบด้วย
1. กามโลภะ หมายถึง ความอยากในกาม คือ ความอยากที่จะสนองต่อทวารทั้ง 5 สัมผัสได้ คือ มีรูปสัมผัสด้วยตา มีเสียงสัมผัสด้วยหู มีกลิ่นสัมผัสด้วยจมูก มีรสสัมผัสด้วยลิ้น และกายสัมผัสด้วยการจับต้อง
2. ภวโลภะ หมายถึง ความอยากในภพ คือ อยากเป็นอย่างนี้ อยากมีอย่างนี้ เป็นรูปที่จิตตนปรุงแต่งขึ้น
3. วิภวโลภะ หมายถึง ความอยากในวิภพ คือ ไม่อยากเป็นอย่างนี้ ไม่อยากมีอย่างนี้ เป็นรูปที่จิตตนปรุงแต่งขึ้นเช่นกัน

อนึ่งท่านผู้รู้กล่าวว่า โลภะกิเลส นั้น ให้ความหมายเหมือนกับคำว่า ตัณหา และ ราคะ และสามคำนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน คือ เป็นความทะยานอยากแห่งจิต

กิเลสอื่นๆที่เป็นโลภะกิเลส
– รติ คือ ความยินดี
– อิจฉา คือ ความปรารถนา
– มหิจฉา คือ ความมักมาก
– ปาปิจฉา คือ ความปราถนาที่จะประพฤติผิดศีลธรรม
– ฯลฯ

การประพฤติที่เกิดตามโลภะ
1. กายกรรม 2 ทาง คือ
– อทินนาทาน ด้วยการลักทรัพย์
– กาเมสุมิจฉาจาร ด้วยการล่วงในกามต่อหญิงต้องห้าม และชายต้องห้าม
2. วจีกรรม 3 ทาง คือ
– มุสาวาท ด้วยการพูดโกหก ไม่เป็นความจริง
– ปิสุณวาท ด้วยการพูดส่อเสียดหรือพูดยุยงให้ผู้อื่นแตกสามัคคีกัน
– สัมผัปปลาปวาท ด้วยการพูดเพ้อเจ้อทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
3. มโนกรรม 2 ทาง คือ
– อภิชฌา ด้วยการคิดยินดีหรือพอใจในสิ่งต่างๆ
– มิจฉาทิฏฐิ ด้วยความเห็นผิดไปจากหลักแห่งเหตุ และผล

โลภะ คือ ความอยากนี้ มักมีโทษนัก เพราะเมื่อจิตมีความอยากแล้วก็มักที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาสนองต่อความอยากที่ตนมีให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การประพฤติอันผิดต่อศีลธรรมตามมา เช่น การปล้นจี้เพื่อขู่เอาทรัพย์จากผู้อื่น เป็นต้น

2. โทสะกิเลส
โทสะกิเลส หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเกิดความขุ่นเคือง เกิดความแค้นเคืองต่อสิ่งที่มากระทบต่อจิตนั้น ซึ่งจะนำไปสู่การระบายซึ่งโทสะออกมาเป็นพฤติกรรมอันรุนแรง

ประเภทของโทสะ
1. อสังขาริก คือ โทสะที่เกิดขึ้นเพราะตนเอง
2. สสังขาริก คือ โทสะที่มีผู้อื่นเป็นเหตุหรือยุยงให้เกิด

กิเลสอื่นๆที่เป็นโทสะกิเลส
– อรติ คือ เกิดการไม่ชอบ
– ปฏิฆะ คือ เกิดการขัดใจ
– โกธะ คือ เกิดการโกรธ
– พยาบาท คือ เกิดการอาฆาต
– ฯลฯ

การประพฤติตามโทสะ
1. กายกรรม 2 ทาง คือ
– ปาณาติบาต คือ ยังให้ชีวิตผู้อื่นดับ
– อทินนาทาน คือ ลักขโมยทรัพย์ของผู้อื่น
2. วจีกรรมมี 4 อย่าง คือ
– มุสาวาท ดังที่กล่าวข้างต้น
– ปิสุณวาท ดังที่กล่าวข้างต้น
– สัมผัปปลาปวาท ดังที่กล่าวข้างต้น
– ผรุสวาท คือ การกล่าวด้วยคำหยาบ
3. มโนกรรม คือ การเกิดความพยาบาท อาฆาตแค้นในจิตใจ

โทษของโทสะนี้ รุนแรงนัก เพราะหากเกิดโทสะโดยมิได้ควบคุมอารมณ์ให้อยู่แล้ว ก็ย่อมที่ระบายหรือแสดงออกซึ่งโทสะนั้นออกมาทางกาย คือ การทำร้าย การทุบตีข้าวของ ออกมาทางวาจา คือ การกล่าวคำหยาบที่ผู้อื่นฟังไม่รื่นหู เป็นต้น

3. โมหะกิเลส
โมหะกิเลส หมายถึง กิเลสที่ทำให้จิตใจเกิดความลุ่มหลงในสิ่งต่างๆทั้งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ด้วยทวารทั้ง 5 และเป็นนามธรรมที่จิตตนเองปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุที่มาจากความเขลาที่ปราศจากเหตุ และผล

ลักษณะของโมหะ
1. เกิดความมืดในจิตใจด้วยความไม่มีปัญญา
2. มีอารมณ์เป็นรส
3. มีความเห็นอันเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ประกอบขึ้นจาก
– วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย
– อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน

กิเลสอื่นๆที่เป็นโมหะกิเลส
– สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่ามีตัวตน ตัวตนนั้นมีความเที่ยง
– สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่นในการบำเพ็ญพรต
– ฯลฯ

โมหะกิเลสนี้ มีโทษนัก เพราะหากเกิดโมหะภายในจิตแล้ว มักจะทำให้ขาดอุเบกขา คือ การทำจิตไม่เป็นกลาง เห็นผิดเป็นชอบ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อันจะนำพาซึ่งอกุศลอื่นๆตามมา

นอกจากกิเลสทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ท่าผู้รู้อื่นยังได้บัญญัติกิเลสออกเป็น 10 ประการเพิ่มเติม

กิเลส 10 ประการ
1. กิเลสโทสะ ดังที่กล่าวข้างต้น
2. กิเลสโลภะ ดังที่กล่าวข้างต้น
3. กิเลสโมหะ ดังที่กล่าวข้างต้น
4. กิเลสมาน คือ กิเลสด้วยการถือในตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เห็นว่าตนดีกว่าผู้อื่น
5. กิเลสทิฏฐิ คือ กิเลสด้วยการเห็นผิดอันปราศจากปัญญาที่ไม่รู้ในเหตุ และผล
6. กิเลสวิจิกิจฉา คือ กิเลสด้วยการสงสัยในคำสอนของพระพุทธองค์
7. กิเลสถีน คือ กิเลสด้วยการหดหู่ท้อถอย
8. กิเลสอุทธัจจ คือ กิเลสด้วยจิตที่เกิดแต่ความฟุ้งซาน
9. กิเลสอหิริก คือ กิเลสด้วยการประพฤติที่ไม่ละอายต่อบาป
10. กิเลสอโนตตัปป คือ กิเลสด้วยการไม่เกรงกลัวต่อผลของการทำบาป

วิธีกำจัดกิเลส
วิธีกำจัดกิเลสที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ คือ การยังตนให้อยู่ในไตรสิกขา 3 คือ
1. ศีล คือ การรักษาศีล
2. สมาธิ คือ การตั้งจิตให้สงบ
3. ปัญญา คือ การยังจิตให้รู้แจ้ง