งา และน้ำมันงา

9011

งา เป็นเมล็ดธัญพืชที่มีประโยชน์มากมายทั้งในด้านโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ และความสวยความงาม มักนิยมใช้ประโยชน์ทั้งในรูปของการบริโภคเมล็ด และการสกัดเป็นน้ำมันงา

เมล็ดงาได้จากการเก็บเกี่ยวเมล็ดจากต้นงาในระยะเมล็ดแก่ แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ งาดำ งาขาว งาแดง และงาดำแดง มีประโยชน์ทางโภชนาการประกอบด้วยไขมันสูงถึงร้อยละ 52 โปรตีนร้อยละ 17-20 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 20 แคลเซียมร้อยละ 0.75 และฟอสฟอรัสร้อยละ 0.60 นอกจากนั้นยังประกอบด้วยแร่ธาตุอาหารอื่นๆ เช่น ธาตุเหล็ก โซเดียม โปแตสเซียม วิตามิน เอ และบี เมลามีน ไรโบปลาวิน และไนอาซีน

การใช้ประโยชน์จากงา
1. เมล็ดงา
โดยนำเมล็ดที่ผ่านการเก็บเกี่ยวจากต้นแก่ในระยะที่เมล็ดแก่แล้วมาตากแดด ทำความสะอาด และคัดแยกสิ่งปลอมปน เช่น กรวด ทราย เศษกิ่งไม้หรือใบไม้ออก ซึ่งจะได้เมล็ดงาที่พร้อมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

การใช้ประโยชน์จากเมล็ดงาโดยตรงที่นิยม ได้แก่ การรับประทานสด โดยผสมกับข้าวหรือเมล็ดธัญพืชอื่น รวมไปถึงการนำเมล็ดงามาคั่วเพื่อให้มีกลิ่นหอมรับประทานหรือทำเป็นส่วนประกอบของขนมของหวาน

สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน และมีภาวะในด้านกระดูกเสื่อม และกระดูกพรุน งาจะช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียมช่วยชะลอ และบรรเทาเกี่ยวกับโรคในระบบกระดูกได้ดี

เมล็ดงา

ต้นงา

ประโยชน์ของเมล็ดงาต่อร่างกาย
1. งา มีกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง โดยเฉพาะกรดไลโนเลอิคที่ร่างกายสามารถนำมาสร้างฮอร์โมนโฟร์สตาแกลนดิน-อี-วัน ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่างๆ เช่น การขยายตัวของหลอดเลือด การลดความดันโลหิต การป้องกันการเกิดเกล็ดเลือด การควบคุมการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่ให้มากเกินไป และการช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ทีเซลล์ ที่มีความสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย

2. งา ประกอบด้วยโปรตีนมากถึงร้อยละ 20 โดยจะประกอบด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง คือ กรดอะมิโนเมทไธโอนีน (Amino Methionine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องอาศัยการบริโภคจากอาหารในแต่ละวัน

3. งา มีแร่ธาตุอาหารมากกมาย ซึ่งโดยทั่วไปงาจะมีแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบประมาณร้อยละ 4.0-6.5 ที่สำคัญได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน ฟอสฟอรัส สังกะสี และโปแตสเซียม

4. งา อุดมด้วยวิตามินบี1 บี2 บี5 บี6 บี9 และวิตามินเอ นอกจากนั้นยังพบสารชนิดอื่น เช่น โคลีน ไบโอดิน ไอโนนิตอล

2. น้ำมันงา
เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดงา ซึ่งมักสกัดจากงาดำ เพราะให้น้ำมันในปริมาณมาก และมีคุณภาพมากกว่างาชนิดอื่น น้ำมันงามี 2 ชนิด คือ
– น้ำมันงาที่สกัดจากเมล็ดงาที่คั่วแล้ว โดยสังเกตุได้จากสีของน้ำมันงาที่มีลักษณะสีน้ำตาลใส มีกลิ่นหอม
– น้ำมันงาที่สกัดจากเมล็ดงาสด น้ำมันที่ได้จะมีเหลืองใสคล้ายกับน้ำมันพืชชนิดอื่น โดยมีสรรพคุณมากกว่าน้ำมันงาที่ได้จากเมล็ดคั่ว แต่จะไม่มีกลิ่นหอมเท่านั้น

โดยทั่วไปน้ำมันงาประกอบด้วยกรดโอเลอิคประมาณร้อยละ 37-50 กรดลิโนเลอิคประมาณร้อยละ 35-47 กรดไขมันอิ่มตัวประมาณร้อยละ 12-15

การใช้ประโยชน์จากน้ำมันงาสามารถนำไปใช้ในหลายด้านด้วยกัน อาทิ การนำมาเป็นน้ำมันประกอบอาหาร การใช้ในด้านความสวย ความงาม

เมล็ดงาจะประกอบด้วยน้ำมันงาประมาณ 35-60% ซึ่งน้ำมันงาที่ดีจะมีลักษณะ ดังนี้
1. ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง ที่สามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่ให้มากเกินไป
2. น้ำมันงาสามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่เหม็นหืน
3. น้ำมันงาไม่จับตัวเป็นก้อน
4. มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน

ประโยชน์จากน้ำมันงา
1. ในด้านความสวย ความงาม อาทิ การป้องกันผิวหนังแห้ง แตก การป้องกันผมแห้งแตกปลาย การใช้นวดบริเวณตามข้อ กระดูก เป็นต้น
2. น้ำมันงามีสารป้องกันการหืน สามารถเก็บไว้ได้นาน และนำมาประกอบอาหาร โดยไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
3. น้ำมันงาประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงจึงเหมาะสำหรับบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี
4. มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น กรดลิโนเลอิค และโอเลอิค ที่ช่วยในการเจริญเติบโต และสร้างความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง

ขั้นตอนการผลิตน้ำมันงา
1. ทำความสะอาด และการคัดแยกสิ่งปนเปื้อนออกจากเมล็ดงา และนำเมล็ดงามาตากแดดเพื่อไล่ความชื้น
2. นำเมล็ดงามาบดอัดด้วยเครื่องบีดอัดน้ำมัน จะได้น้ำมันงาออกมา
3. ทำการกรองน้ำมันงาด้วยตะแกรงหรือผ้าขาว
4. ทำการบรรจุขวด
5. กากเมล็ดงาที่เหลือสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ อาหารปลา รวมถึงสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก