จาคะ/การบริจาค/การให้ทาน 5 ประการ

19383

จาคะ หรือ การบริจาค หรือ การให้ทาน หมายถึง การสละ แบ่งปันทรัพย์ภายนอก อันเป็นสิ่งที่จับต้องด้วยกายได้ ประกอบด้วยสิ่งของอันเป็นที่รัก และทรัพย์ภายใน อันเป็นสิ่งที่จับต้องด้วยกายไม่ได้ เป็นการสละที่ประกอบด้วยความเจตนา แสดงออกด้วยความห่วงใยซึ่งกันและกัน

ลักษณะของจาคะ/การบริจาค/การให้ทาน
ลักษณะของจาคะ คือ การสละหรือการบริจาคในสิ่งที่ตนมีทั้งในด้านทรัพย์สิน ความรู้ และอารมณ์ ทั้งที่ตนมีมากหรือมีเป็นส่วนน้อยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ลักษณะของการสละหรือบริจาค ได้แก่
1. การบริจาควัตถุ
การบริจาควัตถุ คือ การสละสิ่งของที่มีลักษณะที่เป็นรูปธรรม จับต้องต้องได้ อาทิ เงิน ทอง และข้าวปลาอาหาร เป็นต้น การสละซึ่งวัตถุ นั้น แบ่งเป็น 4 ลักษณะได้แก่
– การบริจาคเงินทองเพื่อแก่ผู้ยากไร้หรือการบริจาคเพื่อนำไปสร้างสิ่งต่างๆ เช่น วัดวาอาราม โรงเรียน ที่พักอาศัย เป็นต้น
– การบริจาคทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินทอง เช่น การบริจาคโฉนดที่ดินให้แก่วัดหรือใช้เพื่อเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นต้น
– การบริจาคข้าวปลาอาหารเพื่อเป็นสิ่งยังชีพ เช่น ข้าวสาร ปลา ถั่ว เป็นต้น
– การบริจาคยารักษาโรคที่ใช้สำหรับรักษาโรคต่างๆ เช่น ยารักษาไข้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น
– การบริจาคสิ่งของเครื่องใช้เพื่อการดำรงชีพ เช่น ถ้วยชาม หมอนมุ้ง เป็นต้น
– การบริจาคทรัพย์เพื่อใช้ในการสัญจรเดินทาง เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

2. การบริจาคความรู้
การบริจาคความรู้ คือ การอุทิศตนในการถ่ายทอด และให้ความรู้แก่ผู้ที่ไม่มีความรู้ ได้แก่
– การให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ อาทิ ให้คำปรึกษาในด้านกฏหมาย ให้คำปรึกษาในด้านสุขภาพ ให้คำปรึกษาในด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น
– การสอนหนังสือแก่ผู้ด้อยโอกาส

3. การบริจาคอวัยวะ
การบริจาคอวัยวะ คือ การบริจาคอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของตนให้แก่ผู้ที่มีอวัยวะบกพร่อง ซึ่งอาจบริจาคอวัยวะในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่หรือบริจาคอวัยวะหลังจากที่ตนเสียชีวิตไปแล้ว ได้แก่ การบริจาคดวงตา การบริจาคไต เป็นต้น

4. การบริจาค/สละทางด้านอารมณ์
การบริจาคทางด้านอารมณ์หรือเรียกให้เหมาะสม คือ การสละอารมณ์ ถือเป็นการสละอารมณ์ และความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งมีลักษณะที่เป็นนามธรรม โดยอารมณ์ของปุถุชนทั่วไป ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง โดยอารมณ์ 3 อย่างนี้ ถือเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ปุถุชนทั่วไปยังละไม่ได้ แต่สามารถลด และระงับอารมณ์เหล่านี้ได้หากมีการฝึกจิตด้วยธรรมต่างๆ อันจะนำมาซึ่งความสงบของจิตใจ และพร้อมที่จะระงับอารมณ์ความต้องการของตนได้ด้วยจิตที่ยินดี ดังนั้น ผู้ที่สามารถสละซึ่งอารมณ์เหล่านี้ได้ ย่อมแสดงถึงการลดความต้องการของตนได้ จึงถือเป็นการบริจาคหรือการให้อีกอย่างหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ นอกจากนั้น ผลดีที่ตามมาสู่ตนนอกเหนือจากจิตใจที่สงบขึ้น ได้แก่
– เป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ดี
– จิตมีสมาธิในการทำงาน และการประกอบอาชีพ
– เป็นผู้มีปัญญา และสามารถแก้ไขปัญหาได้ดี
– ผู้คนรอบข้างให้ความเคารพนับถือ
– ไม่มีศัตรู ไม่มีผู้ที่จะมาหวังร้าย
– ครอบครัวมีความอยู่เย็นเป็นสุข
– ฯลฯ

จาคะ5

ลักษณะของผู้ที่มีจาคะ
– เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา เเละเอื้ออาทรต่อความทุกข์ยากของผู้อื่น
– เป็นผู้มีจิตที่ยอมรับในสภาพของผู้อื่นๆ
– เป็นผู้ให้ในทรัพย์ บริวาร และกายบริจาคแก่ผู้อื่นด้วยจิตที่บริสุทธิ์
– เป็นผู้ไม่มีกิเลสอ่อนด้วยใจคอไม่คับเเคบ ไม่เห็นเเก่ตัว

ปัญจมหาจาคะ
จาคะ หรือ การสละ เป็นการกระทำของการให้ทานที่ต้องประกอบด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ด้วยการเสียสละทรัพย์ สละประโยชน์สุขส่วนตนให้แก้ผู้อื่นหรือเพื่อส่วนรวม หากผู้นั้นสามารถสละซึ่งประโยชน์ส่วนตัวได้แล้ว ผู้นั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะลดกิเลสอันเป็นความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวที่มีอยู่ในตนให้น้อยลง ทำให้เกิดบุญบารมีธรรม 3 ระดับ คือ ระดับบารมี ระดับอุปบารมี และระดับปรมัตถบารมี และสะสมบุญบารมีเพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญบารมีอื่นที่สูงกว่าเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานตามบารมีที่ตนจะบำเพ็ญได้

ประเภทของจาคะ ที่เป็นการสละหรือบริจาค แบ่งเป็น 5 ประการ ตามนัยแห่งปัญจมหาบริจาค คือ
1. การบริจาคทรัพย์
2. การบริจาคบุตรธิดา
3. การบริจาคภรรยา
ทั้งนี้ การบริจาคทั้ง 3 ประการขั้นต้น จัดอยู่ในขั้น บารมี
4. การบริจาคอวัยวะ จัดอยู่ในขั้น อุปบารมี
5. การบริจาคชีวิต จัดอยู่ในขั้น ปรมัตถบารมี

นอกจากนี้ จาคะ ทั้ง 5 ประการ สามารถขมวดเข้าได้เป็น 3 ประการ คือ
1. ทรัพย์บริจาค ประกอบด้วย การบริจาคทรัพย์
2. บริวารบริจาค ประกอบด้วย การบริจาคบุตรธิดา และ การบริจาคภรรยา
3. กายบริจาค ประกอบด้วย การบริจาคอวัยวะ และการบริจาคชีวิต

1. การบริจาคทรัพย์/การให้ทานทรัพย์ของพระโพธิสัตว์
การบริจาคทานหรือการบริจาคทรัพย์ ถือเป็นพุทธธรรมกรรมข้อหนึ่ง และเป็นข้อสำคัญที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญก่อนบารมีข้ออื่นๆ เพราะการบริจาคทานเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกสู่บำเพ็ญบารมีขั้นสูงขึ้น เช่น พระโพธิสัตว์ ครั้นเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร และพระชาติอื่นๆเพื่อบำเพ็ญจาคะกรรม ได้แก่

1. การบริจาคทรัพย์/การให้ทานทรัพย์
เมื่อครั้น พระนางผุสดีได้ลงมาจุติจากสวรรค์ที่ประสูติในตระกูลกษัตริย์ และได้ทรงสมรสกับพระเจ้าสัญชัยแห่งกรุงเชตุดร โดยขณะทรงออกทำประทักษิณพระนคร และเดินชมร้านค้าต่างๆ ก็ได้ประสูติพระเวสสันดรในท่ามกลางถนนของพ่อค้า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ พระเวสสันดร

เมื่อครั้น พระเวสสันดรเติบใหญ่ และได้ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้บริจาคพญาช้างปัจจัยนาคให้แก่พราหมณ์ 8 คน จนเป็นเหตุทำให้ชาวเมืองโกรธแค้น และขับไล่พระเวสสันดรให้ไปอยู่เขาวงกต และก่อนที่พระองค์จะเสด็จไป ก็ทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน และแม้นถึงคราวขณะกำลังเสด็จ พระองค์ก็ยังบริจาคราชรถพร้อมกับม้า อีกครั้ง

ดังนั้น การสละทรัพย์สิน และสัตว์บริวารให้แก่ผู้อื่นด้วยจิตที่บริสุทธิ์แล้ว ย่อมได้อานิสงส์ของการสละนั้น คือ สามารถที่จะละทิ้งความตระหนี่ในสิ่งของของตนได้

2. การบริจาคบุตรธิดา/การให้ทานบุตรธิดา
เมื่อครั้นพระเวสสันดร พร้อมด้วยพระมเหสี พระโอรส และพระธิดา ได้ออกไปบำเพ็ญตนเป็นนักพรตอยู่ในป่า เพื่อมุ่งบำเพ็ญพระโพธิญาณ โดยอยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์ชูชกซึ่งถูกภรรยาขอให้พราหมณ์ชูชกออกหาทาสหรือทาสีมาให้ โดยพราหมณ์ชูชกเองก็นึกถึงพระเวสสันดรที่พร้อมจะบริจาคในทุกสิ่งที่ทรงถูกขอ จึงได้เดินทางมาถึงที่ประทับของพระเวสสันดร แล้วได้ทูลขอบุตรธิดาทั้งสองของพระองค์ และพระองค์เองทรงได้พิจารณาแล้วจึงได้บริจาคบุตรทั้งสองแก่ชูชก โดยขณะบริจาคบุตรทั้งสองนั้น เป็นช่วงที่พระนางมัทรีเสด็จออกป่าเพื่อหาผลไม้ และกลับมาไม่ทัน เพราะเทพเทวดาแปลงกายเป็นเสือมาขวางทางเพื่อรั้งเวลาให้พระเวสสันดรบริจาคบุตรแก่พราหมณ์ชูชกก่อน

มัทรี

ครั้นเมื่อ พระเวสสันดรพิจารณาบริจาคบุตรทั้งสองให้แก่พราหมณ์ชูชกแล้ว พราหมณ์ชูชกก็เข้ามาฉุดกระชากบุตรทั้งสองของพระองค์ไป จนทำให้ความเศร้าโศกอย่างมีกำลังเกิดขึ้นกับพระองค์ และเป็นห่วงบุตรทั้งสองที่กลัวพราหมณ์ชูชกจะทำร้าย แต่กระนั้น พระองค์จึงทรงพิจารณาได้ว่า หากการบริจาคปิยบุตรทานแล้วทำให้ตนเองเป็นทุกข์ใจในภายหลัง ย่อมจะเกิดกุศลจากธรรมของการบริจาคอย่างแท้จริงไม่ แต่หากพิจารณาถึงด้วยความปีติยินดี ย่อมจะทำให้จิตมีความสุข และยินดีต่อการบริจาคอย่างแท้จริง

ดังนั้น การที่พระเวสสันดรบริจาคบุตรธิดาให้กับผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ปุถุชนทั่วไปทำได้อยาก เพราะบุตรธิดาเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของบิดามารดา เมื่อสามารถสละบุตรธิดาให้แก้ผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และปิติยินดีได้นั้น ย่อมเป็นการสละที่ได้อานิสงส์มากกว่าการบริจาคทรัพย์ทั้งปวง

3. การบริจาคภรรยา/การให้ทานภรรยา
ครั้นเมื่อ พระนางมัทรีทรงทราบถึงการบริจาคบุตรให้แก่ชูชกแล้ว พระองค์ก็ทรงโทมนัสอย่างแรง แต่เมื่อพระเวสสันดรได้กล่าวเหตุผล และทรงปลอบให้พระนางมัทรีจนหายโศกเศร้าแล้ว พระนางจึงกล่าวอนุโมทนาต่อการบำเพียรครั้งนี้ของพระเวสสันดร และพร้อมที่จะสนับสนุนพระองค์ให้บรรลุถึงฝั่งแห่งพระโพธิญาณ

ครั้นเมื่อท้าวสักกเทวราชทรงทราบถึงการบริจาคบุตรของพระเวสสันดรแก่ชูชก จึงทรงเกรงว่าอาจจะมีผู้อื่นมาขอพระนางมัทรีไปจากพระเวสสันดรอีกเป็นแน่ จึงทรงแปลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรีก่อนเพื่อป้องกันผู้อื่นมาขอ

พระเวสสันดรเองที่เปี่ยมไปด้วยปิติแห่งการบริจาค จึงทรงมอบพระนางมัทรีให้แก่พราหมณ์ผู้นั้นด้วยจิตปิติในการบริจาค และพระนางมัทรีเองก็ทรงอนุโมทนาต่อการบริจาคนี้ของพระองค์

ดังนั้น การที่พระเวสสันดรบริจาคภรรยาของตนให้กับผู้อื่น นับว่าเป็นการสละที่ปุถุชนทั่วไปยากจะทำได้ เหมือนกับการการสละบุตรธิดาของตนเอง แสดงให้ถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ และปิติยินดีต่อการบริจาค และแสดงถึงจิตที่สามารถสละกิเลสแห่งกามคุณยิ่งด้วย เพราะภรรยานั้นเป็นคู่ชีวิต และเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างเราทั้งยามทุกข์หรือสุขเสมอ

4. การบริจาคอวัยวะ/การให้ทานอวัยวะ
การบริจาคอวัยวะ เป็นการบริจาคที่อยู่ในขั้นปรมัตถบารมี ที่เหนือกว่าการบริจาคทรัพย์สิน และบริวาร ซึ่งผู้บริจาคจะต้องมีจิตตั้งมั่นต่อการสละหรือบริจาคอย่างแรงกล้าจึงจะบริจาคได้ ดังความดำริของพระเวสสันดรเมื่อขณะทรงพระเยาว์ได้ 8 พรรษา ที่ทรงดำริว่า จะขอบริจาคทานด้วยอวัยวะทั้งที่เป็นดวงตา เลือดเนื้อ และร่างกายของพระองค์ให้แก่ผู้ที่มาขอบริจาค

ครั้น พระเจ้าสีวิ กษัตริย์แห่งกรุงอริฏฐะที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ทรงเสวยพระชาติมาเกิด ได้ทรงดำริถึงทานใดที่พระองค์ยังไม่ได้บริจาค ก็ทรงระลึกถึงดวงตาของพระองค์เอง พร้อมทรงได้ประกาศบริจาคดวงตาไปทั่วเมือง ครั้นเมื่อท้าวสักกะทรงทราบ จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ตาบอดมาขอรับบริจาคดวงตาของพระองค์ทันที และพระองค์เองทรงยินดีต่อการบริจาคดวงตาทั้งสองนั้นแก่พราหมณ์

ดังนั้น การที่พระเจ้าสีวิ บริจาคดวงตาของตนเองให้แก่พราหมณ์ได้ด้วยความยินดี ย่อมแสดงถึงจิตที่มุ่งมั่นต่อการบริจาคอย่างแรงกล้า เพราะอวัยวะของร่างกายในทุกปุถุชนย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนหวงแหน การสละอวัยวะของตนเองแก่ผู้อื่นได้ ย่อมเป็นการบำเพ็ญบริจาคบารมีในระดับที่สูงกว่าการบริจาคทรัพย์สิน และบริวาร

5. การบริจาคชีวิต/การให้ทานชีวิต
การบริจาคชีวิตให้แก่ผู้อื่นจัดเป็นทานขั้นสูงสุด คือ ปรมัตถบารมี เพราะการให้ชีวิต ท่านถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิตที่เกิดมาในหนึ่งชาติ หากผู้ใดไม่มีความอาลัย และยินดีต่อการบริจาคชีวิตของตนเพื่อปกป้องผู้อื่นแล้ว ย่อมเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ที่ครั้นเคยบริจาคชีวิตตนเองเพื่อผู้อื่นเช่นกัน

ในนิโครธมิคชาดก ครั้นพญาเนื้อชื่อ นิโครธ ที่เป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติมาเกิด พญาเนื้อนิโครธได้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องนางเนื้อท้องแก่ เพื่อไม่ให้พระราชายิงนางเนื้อจนทำให้พระราชาเลื่อมใส ในการเสียสละของพญาเนื้อนิโครธนี้ เป็นการเสียสละที่ปกป้องผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ในสสบัณฑิตชาดก ครั้นในพระชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยมาเกิดเป็น สสบัณฑิต(กระต่ายป่า) ทรงได้สละชีวิตด้วยการกระโดดเข้ากองไฟเพื่อเป็นอาหารให้แก่พราหมณ์ที่เป็นท้าวสักกะเเปลงกายมาขออาหาร

ดังนั้น การบริจาคชีวิตให้แก่ผู้อื่นจัดเป็นทานขั้นสูงสุด คือ ปรมัตถบารมี เพราะการให้ชีวิต ท่านถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิตที่เกิดมาในหนึ่งชาติ หากผู้ใดไม่มีความอาลัย และยินดีต่อการบริจาคชีวิตของตนเพื่อปกป้องผู้อื่นแล้ว ย่อมเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ที่ครั้นเคยบริจาคชีวิตตนเองเพื่อผู้อื่นเช่นกัน

ดังนั้น การสละตามนัยแห่งปัญจมหาบริจาค เป็นการสละทรัพย์ของตนทั้งภายใน และภายนอก อันเป็นทรัพย์ที่ปุถุชนพึงสละได้ยาก ได้แก่ การบริจาคทรัพย์สินเงินทองทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ การบริจาคบุตรธิดา การบริจาคภรรยา การบริจาคอวัยวะ และการบริจาคชีวิต ทั้ง 5 ประการนี้ เป็นการบำเพ็ญของบุคคลผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ต้องมีการบำเพ็ญทานบารมีที่เป็นขั้นแรกของการบำเพ็ญบารมีขั้นที่สูงกว่า

ทั้งนี้ ลักษณะการบริจาคหรือการให้ทาน จะต้องมาจากพื้นฐานของจิตที่บริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ และผู้รับ จึงจะเกิดบารมี และประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย โดยผู้ให้ต้องมีจิตที่ยินดีในการให้ ส่วนผู้รับต้องมีจิตประสงค์ที่จะรับด้วยเหตุแห่งตนเกิดความทุกข์ แต่หากผู้รับต้องการรับเพียงหวังซึ่งการได้มาแก่ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยจิตมิชอบ ย่อมทำให้กุศล และบารมีไม่เกิดแก่ผู้ให้อย่างแท้จริง ดังนั้นแล้ว ผู้ให้เองจะต้องพึงระลึก และใช้วิจารณญาณก่อนที่จะบริจาคหรือให้ทานใด และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการให้นั้นจะเกิดประโยชน์แก่ผู้รับ และแก่ตนแล้วจึงบริจาคหรือให้ด้วยความยินดี