บัณฑิต และการคบบัณฑิต

27024

บัณฑิต หมายถึง ผู้มีความรู้ และรู้แจ้งในเหตุ และผล ที่พรั่งพร้อมด้วยการประพฤติทั้งทางกาย วาจา และใจในศีลธรรมอันดีงาม

การคบบัณฑิต หมายถึง การรู้จักเข้าไปหา สนทนา และปรึกษา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งทั้งทางโลก และทางธรรมอันได้มาจากคำสอนหรือข้อเสนอแนะ พร้อมนำสิ่งเหล่านั้นมายึดถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ และความเจริญ ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม

ประเภทของบัณฑิต
1. บัณฑิตเทียม คือ ผู้ที่มีความรู้ในศาสตร์อันเป็นอกุศลกรรม รวมถึงผู้ทำตนเปรียบเสมือนผู้รู้ เพราะรู้ไม่แจ่มแจ้งหรือเข้าใจผิด สำคัญผิดในความรู้ของตน ซึ่งพยายามถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจเหมือนกับตน บัณฑิตเหล่านี้ ถือว่ามิใช่บัณฑิตแท้ แต่แสดงออกภายนอกเหมือนเป็นบัณฑิตแท้ และมักมีนัยแอบแฝงต่อเจตนาการเป็นบัณฑิตเทียมนั้น จึงถือได้ว่าเป็นคนพาลอีกนัยหนึ่ง

2. บัณฑิตแท้ คือ ผู้ที่มีความรู้ในศาสตร์ที่เป็นกุศลกรรม อันพรั่งพร้อมด้วยความรู้แจ้งในทางโลก และทางธรรม พร้อมทั้งแสดงออกทั้งกาย วาจา และใจที่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม อันมุ่งหวังเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเอง ผู้อื่น และสังคม

ครูอาจารย์

ลักษณะของบัณฑิต 3 อย่าง
1. กายสุจริต คือ ผู้ที่ประพฤติชอบ ได้แก่ การรักษาศีลอยู่เป็นนิจ การให้ทานอยู่เป็นนิจ การประพฤติชอบด้วยสัมมาอาชีวะอยู่เป็นนิจ และการเจริญในธรรมเป็นนิจ เป็นต้น
2. วาจาสุจริต คือ ผู้ที่พูดจาชอบ ได้แก่ การใช้วาจาสุจริต และละเว้นจากวาจาทุจริตทั้งปวง อันประกอบด้วย การพูดโกหก การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น
3. มโนสุจริต คือ ผู้ที่คิดชอบ ได้แก่ การคิดด้วยสุจริต อาทิ การคิดสงสาร การคิดให้ทาน การคิดในคันรองคลองธรรม เป็นต้น และเว้นการคิดทุจริตทั้งปวง อันได้แก่ ละเว้นการคิดพยาบาท ละเว้นการคิดเบียดเบียน ละเว้นการคิดฉ้อโกง เป็นต้น

ลักษณะของบัณฑิตตามหลักกัลยาณมิตร 7 ประการ
1. ธัมมัญญุตา คือ รู้จักในธรรมอันประกอบขึ้นจากเหตุ และผลที่เชื่อถือได้ ทั้งสิ่งที่เป็นไปในทางโลก และทางธรรม
2. อัตถัญญุตา คือ รู้จักประโยชน์อันจะเกิดขึ้นจากกิจของเรา อันได้แก่ รู้จักเป้าหมาย และรู้จักผลลัพธ์อันที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และแก่สังคม
3. อัตตัญญุตา คือ รู้จักตนว่า ตนเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร อะไรถนัด อะไรไม่ถนัด เป็นต้น
4. มัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณหรือพอเพียงตามความจำเป็น โดยเฉพาะการประกอบอาชีพ
5. กาลัญญุตา คือ รู้จักกาลเวลาหรือกาลเทศะว่า เมื่อใดควรกล่าว เมื่อใดควรทำ เมื่อใดควรหยุด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะกาลที่เกิดขึ้น
6. ปริสัญญุตา คือ รู้จักถิ่นชุมชนที่ตนอาศัยหรือถิ่นชุมชนอื่นว่า มีระเบียบ มีขนบธรรมเนียม หรือจารีตที่ยึดถือปฏิบัติกันอย่างไร เพื่อตนจักได้ให้ความเคารพ และปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม
7. ปุคคลัญญุตา คือ รู้จักบุคคลที่แตกต่างกันตามปัจจัยทางสังคม เพื่อให้ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม

การสังเกตผู้เป็นบัณฑิต
1. รู้จักการให้ และช่วยเหลือ
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมมีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือสัตว์ และเพื่อมนุษย์เป็นนิจ ยามเห็นสัตว์ได้รับการทุกข์ทรมาน ย่อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ยามเห็นผู้คนเดือดร้อนหรือทุกข์ยาก ย่อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ทั้งการสงเคราะห์ด้วยอาหาร ข้าวของ หรือทรัพย์ที่ตนมี

2. ไม่ผูกจิตพยาบาท
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมมีจิตอันสงบ เมื่อยามถูกทำร้าย ถูกด่าว่า หรือถูกทำให้ต้องขุ่นเคืองในใจ ก็ย่อมสามารถเก็บความขมขื่นเหล่านั้นไว้ได้ และไม่ตอบโต้แต่อย่างใด อีกทั้ง ย่อมให้อภัยแก่ผู้อื่นได้เสมอ บุคคลเหล่านี้ ย่อมถือเป็นบัณฑิตโดยแท้ ด้วยการไม่ผู้จิตพยาบาท

3. ไม่หวังแต่ผลประโยชน์แก่ตน และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆจากผู้อื่นให้แก่ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกง การหลอกลวง การลักขโมย แต่จะมองเห็นถึงประโยชน์ที่ควรกระทำให้แก่ตนเอง และส่วนรวมด้วยการสุจริต

4. ไม่เอาแต่ตัวรอด
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อยามที่ตน และผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากร่วมกัน อาทิ แม้ในยามขาดแคลนข้าวปลาอาหาร ก็ย่อมแบ่งให้ผู้อื่นได้อยู่ได้กินดั่งเช่นที่ตนมีเช่นกัน หรือแม้ยามมีภัยอันตราย ก็ย่อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ไม่ยอมปล่อยให้ผู้อื่นต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมนั้นเพียงลำพัง

5. ยอมรับฟังความเห็นผู้อื่น
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเปิดใจกว้าง ยอมรับฟังข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ ไม่กล่าวในยามที่ผู้อื่นพูด แต่จะกล่าวตอบเมื่อผู้อื่นกล่าวจบ พร้อมนำคำกล่าวของผู้อื่นมาวิเคราะห์ในเหตุ และผล แต่หากมิใช่เรื่องถูก ก็มักกล่าวเหตุ และผลให้ฟัง คนเหล่านี้ ถือเป็นบัณฑิต เพราะรู้จักรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และรู้จักวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ผู้อื่นกล่าวถูกหรือผิด

6. ใจเย็น ไม่โกรธง่าย
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเป็นผู้มีความใจเย็น สุขุมรอบคอบ ไม่เป็นคนโกรธโมโหร้ายโดยง่าย ถึงแม้จะถูกกล่าวกว่า หรือทำร้ายให้เจ็บ ไม่เป็นผู้ตอบโต้ต่อสิ่งถูกกระทำโดยง่าย เพราะรู้จักคิดวิเคราะห์ถึงแนวทางในการตอบโต้ ว่าควรใช้แนวทางใด และผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร แล้วแนวทางใดจ้ะเหมาะสมที่สุด แล้วจึงโต้ตอบกับสิ่งเหล่านั้น

7. เว้นจาการดื่มสุรา และเที่ยวราตรี
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมละห่างจากสุราหรือการเที่ยวเตร่ยามราตรี เพราะมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มักนำมาซึ่งความเสื่อมในชื่อเสียง ความเสื่อมในทรัพย์ทั้งนั้น แต่ผู้ดื่มสุราบางคนก็ยังถือเป็นบัณฑิตได้ เพราะรู้จักประมาณในตน รู้จักควบคุมสติ และรู้จักกาลเวลาอันเหมาะสม

8. เป็นคนขยันทำกิน
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเป็นผู้ขยันทำมาหากิน ไม่เป็นคนขี้เกียจที่เที่ยวหาความสำราญเป็นนิจ บัณฑิตเหล่านี้ มักนอนแต่หัวค่ำหรือตามกาลอันสมควร และตื่นแต่เช้า เพื่อทำกิจอันสมควร

9. รู้จัก และรักษาระเบียบวินัย
ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมรู้จัก และเคารพในกฎระเบียบของบ้านเมือง สิ่งใดที่เป็นวินัยหรือกฎหมายย่อมปฏิบัติตาม ไม่ยอมฝ่าฝืนให้ตนเองผิด เพราะรู้จักว่าการฝ่าฝืนกฎระเบียบย่อมมีแต่ทำให้ตนเองเสื่อม และทำให้หมู่คณะแตกแยก

การแสดงออกถึงการเป็นบัณฑิต
1. เมื่อมิตรจากไปก็คิดถึง
2. เมื่อมิตรกลับมาก็ยินดี
3. ให้ความเป็นกันเองแบบฉันเพื่อน
4. ให้ความจริงใจในการคบหา
5. คบมิตรของมิตรของเราฝ่ายเดียว คือ ไม่คบมิตรที่เป็นศัตรูของเรา
6. ห้ามปรามหรือปกป้องผู้ที่หวังร้ายกับเรา
7. สรรเสริญ และยินดีต่อเราตามวาระโอกาสด้วยความจริงใจ
8. ไม่กล่าวความลับของเราแก่ผู้อื่น
9. ไม่ปิดบังเรื่องราวของเขาต่อเรา
10. ชี้แนะ และให้การปรึกษาต่อเราเป็นนิจ
11. เกื้อหนุน ส่งเสริม และสงเคราะห์เราตามวาระโอกาส

แนวทางการคบบัณฑิตตามมงคล 38 ประการ
1. อุปสังกมนะ คือ ไปมาหาสู่
2. ปยิรุปาสนะ คือ เข้าหาให้สนิทชิดชอบ
3. สัมปิยะ คือ รักใคร่ จริงใจ
4. ภัตติ คือ ภักดิ์ดี และชื่อตรง
5. สันทิฏฐิ คือ ร่วมคิด ร่วมปรึกษา
6. สัมภัตตะ คือ ร่วมกิน ร่วมกันอยู่
7. ทิฏฐานุคติ คือ ดำเนินตามแบบอย่าง

ขั้นการคบบัณฑิต
1. หมั่นเข้าไปพบปะ
2. หมั่นเข้าไปปรึกษา และสนทนาแลกเปลี่ยน
3. ฟังคำแนะนำ คำสอนด้วยความเคารพ
4. หมั่นจดบันทึก
5. หมั่นจดจำ และพิจารณาแยกแยะให้รู้แจ้ง
6. นำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปปฏิบัติ
7. หมั่นถ่ายทอดแก่ภรรยา บุตร ญาติมิตร และคนที่รู้จัก
8. หมั่นถ่ายทอดแก่คนเขลา คนพาลหรือผู้ไม่รู้

อานิสงส์การคบบัณฑิต
1. จิตใจผ่องใส ไม่มีเรื่องให้ขุ่นหมองใจ
2. เพิ่มปัญญา และเกิดความรู้ อันทำให้รู้ทันโลก
3. เป็นผู้ประพฤติชอบ เจรจาชอบ และนึกคิดชอบ อันนำพาชีวิตไปสู่ความสุข ความเจริญ
4. ได้รับการยกย่อง สรรเสริญในคุณงามความดี
5. เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
6. ไม่มีภัยอันตรายมากล้ำกลาย
7. มีญาติมิตร และบริวารที่จงรักษ์ภักดี
8. เป็นผู้มีชื่อเสียง และรู้จักแก่บุคคลอื่นอย่างกว้างขวาง
9. เมื่อตายไปแล้วย่อมจุติในภพภูมิอันประเสริฐ