พิษตะกั่ว

    12774

    สารตะกั่ว (Pb) เป็นแร่โลหะชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ มีลักษณะเป็นของแข็งสีเงินเทาหรือแกมน้ำเงิน พบได้ในดิน น้ำ แะแหล่งสายแร่ต่าง ในประเทศไทยพบมากในแถบภาคตะวันตกแถวจังหวัดกาญจนบุรี มีการนำมาใช้ประโยชน์มากในอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากมีจุดหลอมเหลวที่ไม่สูงประมาณ 327 องศา โดยเมื่อนำมาบัดกรีกับดีบุกจะมีจุดหลอมเหลวประมาณ 200 องศา ทั้งนี้ ตะกั่วมีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าได้ดีจึงนิยมนำมาใช้มากในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมทำสี และอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่

    การเข้าสู่ร่างกาย
    1. ทางการหายใจ
    โดยการสูดเอาไอตะกั่วขณะที่ตะกั่วได้รับความร้อนจนกลายเป็นไอจากการทำงานต่างๆ เช่น การหลอมตะกั่ว การบัดกรีตะกั่ว เป็นต้น

    2. ทางปาก
    สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเข้าสู่ทางระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับตะกั่วในเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

    3. ทางผิวหนัง
    ตะกั่วที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังจะเป็นตะกั่วที่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ที่ผสมอยู่ในน้ำมัน ซึ่งสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง ส่วนตะกั่วอนินทรีย์ที่เป็นตะกั่วบริสุทธิ์หรือตะกั่วในสารประกอบอื่นไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้

    ตะกั่ว

    เมื่อตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ตะกั่วจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และสะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ คือ เนื้อเยื่อแข็งจะสะสมที่ กระดูก ฟัน เล็บ และเส้นผม ส่วนเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก้ ไขกระดูก ระบบประสาท ตับ ม้าม ไต และอวัยวะภายในอื่นๆ ซึ่งจะพบการสะสมมากที่สุดที่กระดูก ตะกั่วบางส่วนสามารถถูกขับออกจากร่างกายได้ด้วยทางปัสสาวะ และอุจจาระ รวมถึงการขับออกทางเหงื่อ และน้ำนม

    อาการจากพิษตะกั่ว
    1. อาการในระบบทางเดินอาหาร
    อาการเริ่มต้นจะมีลักษณะของการเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องผูก จนถึงอาจมีอุจจาระร่วง แต่ที่สำคัญมักจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ในบางครั้งอาการนี้แพทย์อาจวินิจฉัยผิดว่ามาจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การปวดท้องจากท่อน้ำดี การปวดท้องจากอาการของไต การปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหาร บางรายอาจพบรอยสีดำของตะกั่วบริเวณเหงือก แต่ก็อาจเป็นรอยดำจากการสูบบุหรี่ได้เหมือนกัน

    2. อาการทางระบบประสาท
    ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อมือ และข้อเท้าห้อย

    3. อาการทางสมอง
    มักพบอาการทางสมองเกิดขึ้นในเด็ก ได้แก่ อาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม อารมณ์ เชื่องซึม และหากมีการสะสมของตะกั่วมากอาจทำให้เกิดอาการชัก และหมดสติได้

    4. อาการในระบบเลือด
    มักพบผู้ป่วยมีอาการของเลือดจาง อ่อนเพลีย และร่างกายซีด เนื่องจากตะกั่วไปขัดขวางการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ทำให้มีปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดลดลง

    5. อาการในระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ
    เมื่อตะกั่วเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อกระดูก และกล้ามเนื้อต่างๆ จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามข้อ และกระดูก ซึ่งมักพบอาการกรดูกผุ และหักง่ายตามมา อาการทางกล้ามเนื้อจะทำให้ผู้ป่วยเมื่อยล้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

     การวินิจฉัย
    แพทย์จะทำการวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยจากพิษตะกั่วในแนวทาง ดังนี้
    1. การซักประวัติในด้านต่างๆ อาทิ การทำงานที่อาจสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับโอกาสที่ตะกั่วจะเข้าสู่ร่างกาย
    2. วินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย เช่น เชื่องซึม อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องอย่างรุนแรง โดยไม่พบจากสาเหตุของโรคอื่น
    3. การตรวจระดับตะกั่วในเลือด ซึ่งจะให้ผลการวินิจฉัยแม่นยำที่สุด

    ระดับปริมาณตะกั่วที่สามารถแสดงอาการได้แบ่งเป็น
    – ระดับตะกั่วในเลือด เริ่มแสดงอาการเป็นพิษที่ 40 ไมโครกรัม/100 มิลลิลิตร
    – ระดับตะกั่วในปัสสาวะ เริ่มแสดงอาการเป็นพิษที่ 100 ไมโครกรัม/ลิตร

    การรักษา
    1. การรักษาตามอาการ เช่น ผู้ป่วยมีอาการสูญเสียน้ำมากจากการอาเจียนอาจทำการให้น้ำเกลือ อาการชัก อาจให้ยาระงับอาการชัก เป็นต้น
    2. การขับสารตะกั่วออกจากร่างกาย เช่น การถ่ายเลือด
    3. การรักษาด้วยการหยุด การหลีกเลี่ยงจากแหล่งของตะกั่วที่จะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกาย และอาศัยกระบวนการขับสารพิษออกจากร่างกายตามธรรมชาติจนระดับตะกั่วในเลือดลดลง

    การป้องกัน
    1. สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตะกั่วหรือมีอุปกรณ์ เครื่องจักรที่มีตะกั่ว ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต ด้วยการลดโอกาสที่ตะกั่วจะเข้าสู่ร่างกายของพนักงานเอง รวมถึงโอกาสที่ตะกั่วจะปนเปื้อนเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ในกกระบวนการผลิต ได้แก่
    – ลดเวลาการสัมผัสกับแหล่งสารพิษตะกั่ว จัดการทำงานเป็นกะ
    – ติดตั้งอุปกรณ์ดูดลมหรือไอพิษที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต
    – การสวมใส่ชุด และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หน้ากาก ผ้าปิดจมูก ถุงมือ ถุงเท้า เป็นต้น
    – การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีส่วนผสมหรือการปนเปื้อนของตะกั่ว
    – การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการที่ลดโอกาสของการปนเปื้อนของตะกั่วสู่ผลิตภัณฑ์

    2. ไม่ควรรับประทานอาหาร น้ำดื่ม จากแหล่งแร่หรือน้ำที่มาจากบริเวณไกล้เคียงของแหล่งแร่ต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำที่อยู่บริเวณใกล้เคียงของแหล่งแร่ที่มีการปนเปื้อนของตะกั่วอยู่