พิษตะขาบ และการแก้พิษ

34503

ตะขาบ (centipede) จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โธรพอด เป็นสัตว์กินเนื้อที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันมักหลบตามกองไม้ เศษใบไม้หรือตามเศษปะรักหักพังต่างๆ เหยื่อที่เป็นอาหารจะเป็นจำพวก จิ้งหรีด จิ้งจก และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ลำตัวมีลักษณะแบนยาว กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาวตั้งแต่ 3-15 เซนติเมตร ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้องเรียงต่อกัน 10 ถึงมากกว่า100 ปล้อง และมีขามากกว่า 30 คู่ ตามขนาดลำตัว และสายพันธุ์ที่พบ

ตะขาบสามารถมีอายุได้มากกว่า 5 ปี และมีการลอกคราบเหมือนสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป โดยทั่วไปเรามักไม่พบตะขาบในเวลากลางวัน นอกจากรังของมันจะถูกรบกวนหรือถูกทำลาย เช่น การรื้อกองดิน กองไม้ หรือมักพบได้บ่อยในกรณีน้ำท่วม บางคนหลงเข้าใจผิดว่าหากตะขาบตัวขาดแล้วจะตายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะถึงแม้ตัวจะถูกตัวขาดเป็น2 ท่อน แต่ส่วนหัวหรือส่วนหางก็สามารถเคลื่อนไหวได้ และอาจถูกต่อยหากเผอไปจับ

พิษตะขาบ

อาการของพิษ
โดยทั่วไปพิษของตะขาบไม่สามารถทำให้คนเราเสียชีวิตได้ แต่ทำให้เกิดอาการของพิษเล็กน้อยเท่านั้น ลักษณะของแผลที่ถูกตะขายต่อยจะมีลักษณะคล้ายเข็มแทง พิษของตะขาบประกอบด้วยสาร hydroxytryptamine หรือ cytolysin ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการปวด ชา อักเสบ และบวม แดง บริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบ และขาดเลือด จนถึงทำให้เนื้อเยื่อตายในที่สุดหากไม่ได้รับการถอนพิษออก

ทั้งนี้ หากเกิดการต่อยในเด็ก อาการของพิษจะมีลักษณะบวมแดง และปวดมากกว่าผู้ใหญ่ จนอาจทำให้เกิดอาการเป็นไข้ร่วมด้วย นอกจากนั้น ยังมีรายงานทางการแพทย์ที่พบผู้เสียชีวิตจากการนำตะขาบทั้งตัวมา ดองเหล้าดื่ม และทำให้เกิดการเสียชีวิต เพราะเป็นสาเหตุให้อวัยวะภายในได้รับพิษโดยตรง และเกิดการล้มเหลวของการทำงานบริเวณอวัยวะ และบริเวณไกล้เคียง ซึ่งเป็นภาวะการเสียชีวิตจากอวัยวะภายในได้รับพิษ

การปฐมพยาบาล และการถอนพิษ
หากโดนตะขาบต่อยให้รีบทำการปฐมพยาบาลขั้นต้น ดังนี้
1. ทำการล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาล้างแผล และประคบด้วยน้ำแข็ง
2. อาจใช้แก้ปวดรับประทาน โดยควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ในการกดประสาทรุนแรง
3. หากได้รับพิษมากหรือมีอาการปวดรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที

นอกจากนั้น มีรายงานการใช้สมุนไพรบางชนิดในการลดพิษ เช่น รางจืด น้ำมะนาว และยางมะละกอดิบที่สามารถลดพิษ และอาการปวดของพิษตะขาบได้

สำหรับรางจืดอาจใช้ใบหรือลำต้นบดหรือฝนให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยประคบบาดแผล รวมถึงการต้มน้ำด่ืม ส่วนน้ำมะนาวควรใช้มะนาวพันธุ์ที่ให้รสเปรี้ยวจัด เพราะฤทธิ์ของกรดจะสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสารพิษได้

ส่วนยางมะละกอเป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์สามารถทำปฏิกิริยากับพิษได้เช่นกันจึงนิยมนำมาถอน และบรรเทาอาการของพิษต่างๆ สำหรับการใช้ทั้งน้ำมะนาว และน้ำยางมะละกอให้ใช้ทาบริเวณแผลโดยตรงเท่านั้น

การป้องกันพิษตะขาบ
หลักการป้องกันพิษจากตะขาบที่สำคัญก็คือการระมัดระวังตัวจากตะขายนั่นเอง โดยเฉพาะการหยิบจับสิ่งของที่อยู่ในที่มิดมืด ในร่องในรูต่างๆ ที่อาจมีตะขาบอาศัยอยู่ รวมไปถึงการสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า หมวกหรือเครื่องสวมใส่ร่างกายต่างๆ ซึ่งต้องตรวจสอบก่อนทุกครั้งหากจะสวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์สวมใส่ที่เก็บทิ้งไว้นานๆ

ในช่วงหน้าฝนหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรต้องระวังในเรื่องสัตว์ที่มีพิษเป็นพิเศษ เพราะหากฝนตกหนักมักจะทำให้สัตว์มีพิษเหล่านี้หนีน้ำขึ้นหาที่สูงเพื่อหลบอาศัย โดยเฉพาะตามบ้านเรือนไกล้น้ำ ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง และสอดส่องเป็นพิเศษ