มะเร็งกระเพาะอาหาร ( Gastric Cancer)

13689

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งจากสถิติของกระทรวงสาธารณะสุข พบว่า พบมากในช่วงอายุ 40-45 ปีขึ้นไป แต่ถือเป็นโรคมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะ เริ่มแรก แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักตรวจพบในระยะที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งแล้วจึงมักมี อัตราการเสียชีวิตสูง

ตำแหน่งการเกิดโรค
มะเร็งกระเพาะอาหารสามารเกิดได้ในทุกส่วนในกระเพาะอาหาร โดยพบว่าเกิดมากสุดบริเวณ pylorus ประมาณร้อยละ 50 และบริเวณ body และ fundus พบประมาณร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือพบได้ทั่วบริเวณกระเพาะอาหาร โดยส่วนที่พบทั่วกระเพาะอาหารจะพบบริเวณส่วนโค้งเล็กประมาณร้อยละ 40 และบริเวณส่วนโค้งใหญ่ประมาณร้อยละ 17มะเร็งกระเพาะอาหาร

ชนิดของเซลล์มะเร็ง
มะเร็งกระเพาะอาหารที่พบบ่อย โดยกว่าร้อยละ 95 จะเป็นชนิด adenocarcinoma รองลงมาประมาณร้อยละ 4 จะเป็นชนิด lymphoma ส่วนชนิด leiomyosarcoma พบประมาณร้อยละ 1

การแบ่งระยะมะเร็งกระเพาะอาหาร ตามระบบ T.N.M และ A.J.CC
1. Primary Tumour (T)
– Tx : ประเมินในระยะแรกยังไม่ได้
– T0 : ไม่มีข้อชี้บ่งว่าเป็นมะเร็งระยะแรก
– Tis : เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก พบเซลล์มะเร็งอยู่ในชั้น epithelium และยังไม่แพร่กระจายไปยังชั้น lamina propria
– T1 : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังชั้น lamina propria หรือ submucosa
– T2 : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยัง muscularis propria หรือ submucosa
– T3 : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายทะลุชั้น serosa แต่ยังไม่แพร่สู่ส่วนที่อยู่ติดกัน
– T4 : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่ส่วนที่อยู่ติดกัน

2. Regional Lymph Nodes (N)
– Nx : ยังไม่สามารถประเมินการแพร่ของเซลล์มะเร็งสู่ต่อมน้ำเหลืองได้
– N0 : มีข้อชี้ชัดว่าเซลล์มะเร็งยังไปแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลือง
– N1 : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร โดยมีระยะห่างจากขอบ primary tumor ไม่เกิน 3 เซนติเมตร
– N2 : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร โดยมีระยะห่างจากขอบ primary tumor เกิน 3 เซนติเมตร และมีการแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหารด้านซ้าย รวมถึงตับ ม้าม และเส้นเลือดแดง

3. Distant Metastasis (M)
– Mx : ไม่สามารถประเมินการแพร่กระจายได้
– M0 : ไม่มีการแพร่กระจายสู่อวัยวะที่ไม่ได้อยู่ติดกัน
– M1 : มีการแพร่กระจายสู่อวัยวะที่ไม่ได้อยู่ติดกัน

สาเหตุของโรค
1. สาเหตุจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ
ไดแก่ อาหารที่มีดินประสิวปนเปื้อน อาหารรสจัดต่างๆ อาหารที่มีการติดเชื้อ อาหารหมักดองทีี่มีสารไนโตรซามีน อาหารปิ้งย่างไหม้ดำหรืออาหารที่มีการรมควัน อาหารที่ทอดด้วยความร้อนสูง อาหารที่มีรสจัดที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รวมไปถึงอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีก่อมะเร็งต่างๆ

2. สาเหตุจากการติดเชื้อโรค
ได้แก่ การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์พัลโลรัย (Helicobactor pylori) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง เป็นเชื้อโรคชนิดเดียวที่ทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหารได้  เมื่อติดเชื้อจะทำให้มีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารหรือมีแผลในกระเพาะอาหาร เชื้อสามารถอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานทำให้มีอาการเป็นๆ หาย ๆ จนเกิดเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในที่สุด

3. เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบบางชนิด
จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารตามมาได้ โดยเฉาะการดื่มแอลกอฮอล์จัดมักทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย รวมถึงสารพิษจากควันบุหรี่ที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น สารไฮโดรคาร์บอน นิโคติน และเบนซ์ไพริน เป็นสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารตามมาได้ง่าย

4. กรรมพันธุ์
การศึกษาพันธุกรรม และอณูพันธุกรรม (Molecule genetics) พบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ 2 ถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไป

5. รอยโรคในกระเพาะอาหาร
โรคในกระเพาะอาหารที่เกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน เช่น ติ่งเนื้องอก โรคแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) และกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (chronic gastritis) รวมถึงอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง (dyspepsia) ซึ่งคนเหล่านี้ที่มีอาการดังกล่าว ไม่เกิน 50% จะพบเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารตามมาด้วย

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมัก เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า จากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการกินอาหารรสจัด

อาการโรค
โดยทั่วไปมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการผิดปกติหรือ สังเกตได้ง่าย หากเมื่อมีการแพร่กระจาย และเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งจำนวนมากแล้วมักแสดงอาการให้เห็น เช่น อาการตัวเหลือง ต่อมน้ำเหลืองโต และไอเป็นเลือด เป็นต้น โดยทั่วไปมักพบอาการ ดังนี้

1. น้ำหนักลด ร่างกายซูบผอม ตัวซีดเหลือง อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ
2. มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง จุกท้อง มีอาการท้องบวม แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือบริเวณสะดือ และมักมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ในระยะแรกอาจเป็นๆหายๆคล้ายโรคในระบบกระเพาะอาหารทั่วไป แต่หากนานขึ้นมักมีอาการบ่อย และเรื้อรังผิดสังเกต และอาการโดยทั่วไปมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร
3. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนบ่อยครั้ง
4. หากสังเกตที่อุจจาระมักพบเป็นสีดำหรือมีเมือกเลือดปะปนออกมา
5. หากลองจับดูบริเวณท้องใต้ลิ้นปี่มักพบลักษณะเหมือนมีก้อนเนื้อแข็ง
6. มักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
7. มักมีอาการผิดปกติของตับ ปวดตับ อาการตัวเหลือง
8. อาการทางต่อมน้ำเหลือง มักพบต่อมน้ำเหลืองโต
9. อาการทางปอด มักพบอาการเจ็บที่หน้าอก ไอเรื้อรัง สะอึกบ่อย  บางรายอาจไอเป็นเลือด
10. รวมถึงอวัยวะข้างเคียงเมื่อเซลล์มะเร็งเกิดลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ

การวินิจฉัยโรค
1. ใช้วิธีเอกซเรย์ร่วมกับการกลืนแป้งแบเรียม
2. โดยการตรวจส่องด้วยกล้องเพื่อตรวจดูพื้นผิวของกระเพาะอาหาร และตัดชิ้นเนื้อนำมาตรวจสอบ
3. การตรวจด้วยรังสีเพื่อดูการกระจายของมะเร็งกระเพาะอาหาร

การรักษา
1. การรักษาด้วยการผ่าตัด ( Surgical Management) ถือเป็นวิธีการที่นิยม และดีที่สุดสำหรับโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยการผ่าตัดชิ้นเนื้อมะเร็งบริเวณที่เกิดออกให้หมดหรือออกเพียงบางส่วน เพื่อให้มีพื้นที่กระเพาะเหลืออยู่ แบ่งได้ ดังนี้
– Radical Subtotal Gastrectomy เป็นการผ่าตัดเซลล์มะเร็งออกให้พ้นทั้งขอบเขตบน และล่างของเซลล์มะเร็ง รวมถึงการตัดเอาบางส่วนออกด้วย เช่น ส่วนต้นของ duodenum เป็นต้น
– Total Gastrectomy ใช้ในกรณีที่การผ่าตัดด้วยวิธี Radical Subtotal ทำได้ยาก และอันตราย วิธีนี้มีผลข้างเคียง คือ เป็นโรคโลหิตจาก และภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12
– Palliative Resection เป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อยืดอายุคนไข้ให้นานขึ้น และปราศจากอาการทรมานต่างๆ เช่น อาการปวดจากการตกเลือด และกระเพาะทะลุ

2. การใช้เคมีบำบัด ซึ่งถือเป็นเพียงการบรรเทาเท่านั้น ที่มักใช้ร่วมกับวิธีการผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในรายที่เป็นมากเท่านั้น มี 3 รูปแบบคือ
– เพื่อการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
– ใช้หลังการผ่าตัดในกรณีที่มีเนื้องอกเหลืออยู่เพื่อยืดอายุการมีชีวิตของผู้ป่วย
– ใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเซลล์มะเร็งทำให้การผ่าตัด และการรักษาง่ายขึ้น

อาการข้างเคียงจากเคมีบำบัด ได้แก่
– ผมร่วง เนื่องจากสารเคมีเข้าทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์เส้นผม
– คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอวด ท้องเฟ้อ
– ปากแห้ง คอแห้ง
– ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลายทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย
– ผิวคล้ำง่าย เนื่องจากผิวมีความไวต่อแสง
– ผิวแห้งกร้าน ตกสะเก็ด และมีอาการคัน
– มีอาการแสบร้อนบริเวณผิวหนังที่มีเส้นเลือด

3. การใช้รังสีเทคนิคที่ฉายยังเซลล์มะเร็งเพื่อฆ่าหรือยับยั้งการแพร่กระจาย มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งอาจใช้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด เครื่องฉายรังสีที่ใช้ ได้แก่ เครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 เครื่องฉายรังสีเอกซ์เรย์พลังงานสูง เครื่องอิเล็กตรอนบีม และเครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้น ส่วนสารต้นกำเนิดรังสี ได้แก่ เรเดียม ไอโอดีน โคบอลท์ เป็นต้น การใช้รังสีมักมีผลข้างเคียง คือ วิงเวียนศรีษะ กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องร่วง และแน่นหน้าท้อง ทั้งนี้ อาการของผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับชนิดของรังสี ปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับรังสีเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในทางการแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจยืนยันผลหรือตรวจเฝ้าระวังเซลล์มะเร็งทุก 3-4 เป็นประจำในเวลา 2 ปี หลังการรักษา

การป้องกัน
1. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น อาหารหมักดองที่มีการปนเปื้อนสารไนโตรซามีน โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์หมัก เช่น ไส้กรอก ปลาส้ม เป็นต้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรทำให้สุกหรือผ่านความร้อนเสียก่อน

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดต่างๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารได้
3. ควรรับประทานอาหารประเภทผักหรือผลไม้ให้มากหรือเป็นประจำ แต่ควรระวังในเรื่องของการปนเปื้อนของสารเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช รวมถึงเชื้อรา และสารอัลฟาท็อกซินในอาหาร
4. ผู้ที่มีติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร และโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 หากมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
5. การผักผ่อน การออกกำลังกายถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และลดความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารตามมา