สุขภาพจิต และโรคทางจิตเวช

12392

สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และความคิด ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบข้างเพื่อให้ดำรงชีวิตเป็นปกติสุข

สุขภาพจิตที่ดี จึงเป็นสภาวะที่บุคคลสามารถควบคุมสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และความคิดให้ปรับตัวเข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินชีวิตตามบทบาทหน้าที่ของตนในสังคมได้อย่างมีความสุข

ลักษณะผู้มีสุขภาพจิตที่ดี
1. มีสติปัญญา และมีความสามารถใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา และอุปสรรคในชีวิต ภายใต้ความถูกต้อง และความมีเหตุผล
2. มีอารมณ์มั่นคง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ และปัญหาที่เป็นอุปสรรค พร้อมแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
3. มีความสดชื่น เบิกบาน แจ่มใส ไม่เครียด ไม่มีความวิตกกังวลใจจนเกินไปมีอารมณ์ขันบ้างตามสมควร
4. มีความตั้งใจ และมุ่งมั่นในสิ่งที่คาดหวังหรือสิ่งที่ทำในปัจจุบัน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และปัญหา
5. มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และมั่นใจในสิ่งที่ตนเองกระทำภายใต้ความมีเหตุผล
6. มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่อ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก ภายใต้ความถูกต้อง และมีเหตุผล
7. กล้าเผชิญกับปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
8. รู้จักให้อภัย และเข้าใจผู้อื่น
9. รู้จักตัวเองในจุดเด่น จุดด้อย และพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์หรือสังคมได้เป็นอย่างดี
10. รู้จักแสดงความยินดีหรือชมเชยผู้อื่นอย่างจริงใจ

สุขภาพจิต

โรคทางจิตเวช

ปัญหาทางสุขภาพจิต ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคมให้มีความสุข ปัญหาทางสุขภาพจิตเหล่านี้จะแสดงอาการทั้งทางจิตใจ และทางร่างกาย หรือเรียกทางการแพทย์ว่า โรคทางจิตเวช

โรคทางจิตเวช เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติหรือความบกพร่องทางจิตใจ รวมไปถึงการผิดปกติของพฤติกรรมโดยธรรมชาติที่มีสาเหตุมากจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ได้แก่
1. พันธุกรรม และร่างกาย ที่เกิดจากการสืบสายเลือดของผู้ที่มีปัญหาทางจิต อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ รวมไปถึงความบกพร่องของร่างกายขณะกำเนิด

2. ความผิดปกติทางชีวเคมี ที่เกิดจากการได้รับสารเคมีหรือสารเสพติด รวมถึงปัจจัยที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆที่มีผลต่อการสร้าง การหลั่งของสารเคมีในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และสมอง สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตได้ง่าย

3. ปัจจัยทางด้านสังคม อันเกิดจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ รวมไปถึงภาวะแรงกดดันทางสังคมจากการใช้ชีวิต อาทิ การประสบอุบัติเหตุ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การถูกปฏิเสธจากสังคมหรือถูกซ้ำเติมในปมด้อยของตนจากสังคม เป็นต้น

4. ปัจจัยทางด้านปัญญา และจิตใจ ที่เกิดจากการขาดวิจารณญาณในการรับฟัง การพูด การกระทำ และการตัดสินใจต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงภาวะทางจิตใจที่ขาดความเข้มแข็ง แน่วแน่ และอ่อนไหวง่าย สิ่งเหล่านี้มีส่วนนำมาซึ่งกระบวนการทางจิตที่ผิดปกติได้ง่าย

โรคทางจิตเวช แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ได้แก่
1. โรคจิต (Psychosis)
เป็นโรคทางจิตที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคประสาท จากภาวะทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากคนทั่วไป แต่ผู้ป่วยเองจะไม่สามารถแยกแยะว่าพฤติกรรมของตนเองผิดแปลกไปจากคนทั่วไปจากภาวะการหลงผิดทางจิต โรคจิตเวชประเภทนี้แบ่งตามสาเหตุออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
1.1 โรคจิตที่เกิดจากความผิดปกติทางกาย และสารเคมี
– โรคสมองเสื่อมในวัยชรา (senile and presenile dementia)
– โรคจิตจากสุรา (alcoholic psychoses)
– โรคจิตชั่วคราวจากสาเหตุฝ่ายกาย (transient organic psychotic conditions)
– โรคจิตจากยา (drug psychoses)
1.2 โรคจิตอื่นๆที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ และจิตใจ
– โรคจิตเภท (schizophrenia)
– โรคจิตทางอารมณ์ (affective psychoses)
– โรคหลงผิด (Delusional Disorder)

2. โรคประสาท (Neurosis)
โรคประสาทถือเป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่งที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าโรคจิต อาการโดยมากจะเป็นเพียงสภาวะการแปรปรวนทางจิตใจ การวิตกกังวล ภายใต้การใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไป ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาขณะที่ผู้ป่วยเองสามารถรับรู้ จดจำ และเข้าใจในพฤติกรรมของตัวเองได้ แบ่งชนิดตามอาการของโรค ได้แก่
– โรควิตกกังวล (Anxiety Neurosis)
– หวาดกลัว (Phobic Neurosis)
– ย้ำคิดย้ำทำ (Obscessive Compulsive Neurosis)
– ซึมเศร้า (Depressive Neurosis)
– บุคลิกวิปลาส (Depersonalization)

3.  โรคปัญญาอ่อน (mental retardation)
โรคนี้เกิดขึ้นจากสภาวะระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าปกติตามวัยของคนทั่วไปที่ควรจะมี อันเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น พันธุกรรม สารเคมี  ภาวะของโรค และปัจจัยแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

การรักษาโรคทางจิตเวช
การรักษาโดยการใช้ยา
1. ยาต้านโรคจิต ( Antipsychotics , Neurolepticsor Major Tranquilizers )
2. ยาคลายกังวล และยาต้านความวิตกกังวล ( Antianxiety , Minor Tranquilizers )
3. ยาต้านความเศร้า และระงับอารมณ์เศร้า ( Antidepressants )
4. ยาควบคุมอารมณ์ ( Mood Stabilizing Drugs, antimanicdrug)
5. ยาป้องกัน และรักษาอาการข้างเคียงจากการใช้ยาต้านโรคจิต ( AnticholinergicDrugs , Antiparkinsonian Agents )
6. ยานอนหลับ ( Hypnotic Drug , Sedative Drugs , CNS-Depressants )
7. ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางอื่น ๆ ( Others CNS Drugs ) : DopaminergicD. , Anticonvuisants , CNS Stimulants เช่น Ritalin HCL)

การบำบัดทางกิจสังคม
1. จิตบำบัด (Psychotherapy)
2. การให้การปรึกษา (Counseling)
3. จิตศึกษา (Psycho-education)
4. กิจกรรมบำบัด
5. สิ่งแวดล้อมบำบัด