เจตคติ/ทัศนคติ

15788

เจตคติ หรือ ทัศนคติ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ภายใต้การใช้ปัญญาในการคิดพิจารณาเพื่อแสวงหาข้อมูล และข้อเท็จจริงในสิ่งนั้นๆ โดยปัญญานั้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากการเรียนรู้ในตำรา คำสอน และการลงมือปฏิบัติ

ความสำคัญของเจตคติ/ทัศนคติ
1. เจตคติ/ทัศนคติ เป็นปฏิสัมพันธ์ คือ เจตคติใช้เป็นฐานสำหรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคลและระหว่างบุคคลต่อสังคม เมื่อบุคคลมีความสัมพันธ์ติดต่อกับบุคคลอื่นเขาจะเรียนรู้ไปด้วยว่า เจตคติของผู้ที่ติดต่อด้วยนั้น เหมือนหรือแตกต่างไปจากเจตคติของเขาเองการประเมินเจตคติระหว่างกันในลักษณะนี้ ช่วยกำหนดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันกันในอนาคต นอกจากนี้ เจตคติยังเป็นฐานของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคมด้วย เช่น เจตคติที่บุคคลมีต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคม อาทิ การทำแท้ง จะทำให้เขามีแนวโน้มที่จะเลือก หรือไม่เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีนโยบายสนับสนุนการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในรัฐสภา

2. เจตคติ/ทัศนคติ เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
– การเลือกตั้ง มักมีสถาบันทางการศึกษาใช้แบบสอบถามในการสำรวจทัศนคติของผู้คนในการเลือกนักการเมือง หรือเลือกพรรค ซึ่งจะคาดเดาได้ว่า ใครจะได้รับเลือก พรรคใดจะได้รับเลือก
– ถูกนำไปใช้ในการสำรวจเจตคติต่องานว่า คนทำงานมีความพึงพอใจในงานหรือไม่ เพียงใด
– ใช้เป็นข้อมูลทำนายอัตราการเข้า-ออกของพนักงาน และการขาดงานได้เจตคติเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์บุคคล

เจตคติ

เงื่อนไขการเกิดเจตคติ/ทัศนคติ
1. กระบวนการเรียน
ผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ ย่อมมีกระบวนการที่จะแสวงหาความรู้ให้แก่ตนมากขึ้น ทั้งจากระบวนการเรียนรู้ในครอบครัว โรงเรียน มิตรสหาย และการสั่งสมความรู้ของตนเองจากสังคมรอบข้าง
2. ประสบการณ์ส่วนตัว
ประสบการณ์ส่วนตัว ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของบุคคล ซึ่งมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป นอกจากประสบการณ์ของคนจะสะสมขึ้นเรื่อยๆ และยังทำให้มีกระสวน(Pattern) เป็นของตัวเองด้วย ดังนั้น เจตคติบางอย่างจึงเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล แล้วแต่พัฒนาการและความเจริญเติบโตของคน ๆ นั้น
3. การเลียนแบบ
ผู้ที่มีความรู้น้อย และอยู่ในช่วงการเรียนรู้ มักจะสะสมประสบประการณ์จากการเลียนแบบ และค่อยๆใช้การพินิจต่อการเลียนแบบของตนเองว่าถูกหรือผิด ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียต่อตนเอง จนเป็นที่ชัดแจ้งแล้วค่อยนำไปปฏิบัติอยู่เป็นนิจ
4. อิทธิพลของกลุ่มสังคม
มนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคม และจำเป็นต้องมีสังคมในการดำเนินชีวิต การที่บุคคลจะมีเจตคติแบใด กลุ่มสังคมย่อมมีอิทธิพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กลุ่มเพื่อนฝูง และกลุ่มเครือญาติ เป็นต้น

ลักษณะของเจตคติ/ทัศนคติ
1. เจตคติ/ทัศนคติ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคิดด้วยการใช้ปัญญาในการพิจารณา จนนำมาซึ่งความรู้สึกในการตัดสินต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติตอบสนองออกมาในเวลาต่อมา
2. เจตคติ/ทัศนคติ ไม่คงตัวอยู่ตลอด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือ เมื่อเกิดเจตคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ย่อมมีตั้งอยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อผ่านไปสักเวลาหนึ่ง เจตคติที่มีต่อสิ่งนั้น อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางอื่น
3. เจตคติ/ทัศนคติ มีคุณสมบัติทำให้เกิดแรงจูงใจในการประเมินเพื่อที่จะเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ เจตคติ/ทัศนคติ ยังแบ่งออกเป็น 2 มิติ
1. ทิศทาง 2 อย่าง
– ทางด้านบวก ได้แก่ ความรู้สึก และการแสดงออกในทางที่ดีที่แสดงถึงความพึงพอใจ ความเห็นพ้อง ความยินดี
– ทางด้านลบ ได้แก่ ความรู้สึก และการแสดงออกในทางที่ไม่ดีที่แสดงถึงความไม่พอใจ ความไม่เห็นพ้อง ความไม่ยินดี
2. ความเข้มข้น มี 2 ขนาด
– ความเข้มข้นมาก คือ การมีความใส่ใจหรือความพิถีพิถันต่อสิ่งนั้นมาก เช่น บางคนชอบวางของเป็นระเบียบ ไม่ชอบสิ่งของที่รกรุงรัง
– ความเข้มข้นน้อย คือ การไม่ค่อยใส่ใจหรือให้ความพิถีพิถันต่อสิ่งนั้นมากนัก เช่น บางคนชอบชอบแต่งตัวแบบเรียบง่าย ไม่ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสวยงาม ไม่ชอบสวมเครื่องแต่งตัว

องค์ประกอบของเจตคติ/ทัศนคติ
1. พุทธปัญญา (การรู้แจ้ง) (Cognitive Component)
การรู้แจ้ง ได้แก่ การรู้ในเรื่องราวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแจ่มแจ้ง ว่าสิ่งนั้น เป็นอะไร มีความเป็นมาอย่างไร ประกอบด้วยอะไร ดีหรือชั่ว โดยใช้ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ในด้านต่างๆ
2. ความรู้สึก (Affective Component)
ความรู้สึก ถือเป็นสิ่งหนึ่งของอารมณ์ ซึ่งเป็นตัวสะท้อน และเร้าความคิดให้ไปสู่การกระทำของบุคคล ทั้งนี้ การกระทำอาจเกิดขึ้นในทางผลดีหรือผลร้าย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่คล้อยตามในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
3. การปฏิบัติ (Behavioral Component)
การปฏิบัติ ถือเป็นสิ่งสุดท้ายของกระบวนการ เพราะเมื่อจิตรู้คิด พิจารณาแล้วจนเกิดความรู้สึกต่อสิ่งนั้น และรู้สึกว่าอยากที่จะทำหรือปฏิบัติอย่างไรต่อสิ่งนั้น การปฏิบัตินี้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความนึกคิดหรือเจตคติที่มีต่อสิ่งนั้น

ดังนั้น องค์ประกอบทั้ง 3 นี้ มีความสัมพันธ์กัน และแยกกันไม่ออก คือ เมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบหรือต้องให้ครุ่นคิดต่อสิ่งนั้น กระบวนการจะเริ่มจากการใช้จิตพิจารณา และวิเคราะห์ต่อสิ่งนั้นด้วยการใช้ปัญญาโดยมีพื้นฐานมาจากความรู้ที่ตนมีจนรู้แจ้งในสิ่งนั้น เรียกว่า พุทธปัญญา เมื่อรู้ในสิ่งนั้นแล้วจึงทำให้เกิดความรู้สึกหรือมุมมองต่อสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร เรียกว่า ความรู้สึก และเมื่อรู้สึกต่อสิ่งนั้นแล้วจึงลงมือปฏิบัติด้วยกาย หรือ วาจา ทั้งในทางบวก และในทางลบ เรียกว่า การปฏิบัติ

เพิ่มเติมจาก พระมหาสว่าง จตฺตมโล (ถุนกระโทก), 2554 (1)

เอกสารอ้างอิง
g09