โรคฉี่หนู อาการ และการรักษา

8912

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรงชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนเกลียวสว่าน มีชื่อว่า Leptospira โดยมักมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะในการช่วยแพร่กระจายของโรค ได้แก่ หนู สนัขจิ้งจอก กระรอก กระแต เป็นต้น

เชื้อโรคที่อยู่ในระยะพาหะจะเจริญเติบโตในกระแสเลือด อวัยวะภายใน โดยเฉพาะในส่วนของไต และเชื้อจะอยู่ติดกับสัตว์พาหะเหล่านั้นไปจนตลอดชีวิตของสัตว์พาหะ แต่การเกิดโรค และการแพร่ระบาดที่ทำให้คนไทยติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโรคนี้จะมีหนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ซึ่งมักพบปัญหาการแพร่ระบาด และการเจ็บป่วยของคนไทยในแถบชนบทของทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงหรือเกษตรกร ชาวนาที่ต้องทำงานในพื้นที่น้ำท่วมขัง

การแพร่กระจาย และการติดเชื้อ
เชื้อ Leptospira มักจะอาศัยในสัตว์พาหะเช่นหนูเป็นสำคัญ โดยมักพบในปัสสาวะของหนู ซึ่งเป็นที่มาของชื่อที่มักเรียกว่า โรคฉี่หนู นอกจากนั้น เชื้อโรคฉี่หนูยังพบในปัสสาวะของสัตว์อื่นๆ เช่น โค กระบือ สุกร และสุนัข

โรคฉี่หนู

การแพร่กระจายมักพบในแหล่งพื้นที่น้ำท่วมขังในลำคลอง พื้นที่นาหรือแหล่งที่มีน้ำท่วมขังต่างๆ ที่เกิดจากหนูที่ติดเชื้อปัสสาวะทิ้งไว้ ส่วนการติดเชื้อในคน มักพบการติดเชื้อที่เกิดจากการซอนไชของเชื้อเข้าสู่ร่างกายตามรอยแผล รอยถลอก ผิวหนังเปื่อยยุ่ย เนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุภายในปาก เยื่อบุภายในอวัยวะเพศ ด้วยการสัมผัสหรือการแช่ในน้ำที่มีเชื้อโรคชนิดนี้อยู่นานๆ นอกจากนั้นยังมีโอกาสติดเชื้อผ่านทางปากโดยการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของ เชื้อโรคชนิดนี้อยู่วงจรโรคฉี่หนูวงจรโรคฉี่หนูวงจรโรคฉี่หนู

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
1. ที่ที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมขังหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
2. ชาวนาหรือผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ที่มักสัมผัสกับน้ำในแหล่งน้ำ ห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ
3. คนงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับการขุดลอกท่อน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ
4. ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ฟาร์มสัตว์
5. นักท่องเที่ยวที่มักสัมผัสน้ำหรือลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

อาการที่สำคัญ
เมื่อติดเชื้อ เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจนานหลายสัปดาห์
ระยะแรก
1. มีไข้สูง ปวดหัว
2. มีอาการท้องเสียคลื่นไส้ อาเจียน
3. ไอเป็นเลือดหรือหายใจลำบาก
4. มีอาการปวดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณโคนขา และน่อง
5. มักพบอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ตาแดง เลือดออกเป็นจุดตามเพดานปาก ซึ่งจะแสดงอาการใน 3-7 วัน
6. ตัวเหลือง ตาเหลือง ทำให้คิดว่าเป็นโรคชนิดอื่น ทั้งนี้ อาการตาเหลืองอาจไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป บางรายอาจไม่พบอาการตาเหลือง

ระยะที่สอง
1. มีไข้สูง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะมีอาการมากกว่าในระยะแรก
2. มักพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และม่านตาอักเสบ
3. ตับ และไตทำงานผิดปกติ ซึ่งจะมีอาการในช่วงหลายสัปดาห์ต่อมาจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ถ้าปล่อยไปหลายวันจะทำให้ให้โรคกำเริบถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งการติดเชื้อมักพบในคนไข้ที่มีประวัติการแช่น้ำหรือย่ำโคลนเป็นประจำ ซึ่งถ้าหากใครมีประวัติการแช่น้ำหรือทำงานในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ และทำการรักษาให้ทันท่วงที

การรักษา
ใรคฉี่หนู เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ปัจจุบันแพทย์จะให้ยา doxycycline, penicillin G และ amoxycillin

การป้องกันเบื้องต้น
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือลงแช่น้ำในแหล่งน้ำที่มีวัว ควายหรือแหล่งที่มีหนูชุกชุม
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแช่น้ำด้วยเท้าเปล่าหรือในขณะที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน ตามร่างกาย ในพื้นที่น้ำท่วมขัง พื้นที่ชื้นแฉะ พื้นที่คอกสัตว์ และควรสวมรองเท้าบูทหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดหากหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. หลังจากลุยน้ำ ย่ำโคลนหรือกลับจากพื้นที่ไร่นาควรอาบน้ำ และทำความสะอาดเสื้อผ้าทันที
4. ควรหลีกเลี่ยงการชำแหละสัตว์หรืออาหารด้วยมือเปล่า
5. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์หรือเครื่องไนสัตว์ที่ยังปรุงไม่สุกหรือผักสดที่เก็บได้ตามท้องนา
6. หลีกเลี่ยงการอม กลืนหรือการลืมตาในน้ำ
7. มั่นทำความสะอาดบ้านเรือน กำจัดขยะหรือเศษอาหารที่เป็นแหล่งอาศัยของหนู
8. หากพบมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง