โรคต้อกระจก (Cataract)

21027

ข้อมูลทั่วไป

โรคต้อกระจก (Cataract) หมายถึง โรคที่มีภาวะแก้วตาสูญเสียความโปร่งใส มีการขุ่นขาวทำให้แสงหรือภาพสะท้อนจากการมองวัตถุไม่สามารถผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้ ทำให้เกิดการมองเห็นไม่ชัดเจน พล่ามัว

โรคต้อกระจกสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ โดยสามารถแบ่งชนิดของโรคต้อกระจกจากสาเหตุต่างๆ ได้ดังนี้
1. โรคต้อกระจกจากวัยชรา (Senile Cataract)
โรคต้อกระจกจากวัยชรามีสาเหตุหลักมาจากการเสื่อมของแก้วตาตามสภาพของอายุ หรือการเสื่อมตามวัยนั่นเอง ถือเป็นโรคต้อกระจกที่พบมากที่สุดในจำนวนสูงถึงร้อยละ 95 ของผู้ป่วยโรคต้อกระจกทั้งหมด โดยมักพบในวัยอายุตั่งแต่ 45 ปี ขึ้นไป และมีอาการขุ่นของแก้วตาทั้งสองข้าง แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มีอาการขุ่นของแก้วตาสองลักษณะ คือ ส่วนของรอบๆแก้วตาเกิดความขุ่น ขณะที่ตรงกลางยังใสเป็นปกติ และบริเวณรอบๆแก้วตาใส ขณะที่ตรงกลางแก้วตาขุ่น

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ต้อกระจกยังไม่ขุ่นมาก แต่จะค่อยๆขุ่นมากขึ้นทีละน้อย และกระจายออกในบริเวณโดยรอบ แก้วตามีอาการบวม และอาจเกิดภาวะเป็นต้อหินได้ หากฉายแสงผ่านม่านตาจะพบเงาม่านตามองเห็นเป็นเงาดำๆรูปพระจันทร์เสี้ยวหลัง ม่านตา

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีความขุ่นมากหรือระยะที่เรียกว่า ระยะต้อกระจกสุก (Mature Cataract) ซึ่งจะมองเห็นแก้วตามีลักษณะขุ่น และทึบมากจนทั่วแก้วตา หากฉายแสงจะไม่พบเงาม่านตา ผู้ป่วยจะมองเห็นเพียงเงาเคลื่อนไหวหรือเป็นแสงไฟเท่านั้น

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ต้อกระจกสุกมาก (Hypermature Cataract) เป็นระยะสุดท้ายของโรคต้อกระจกที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการละลายของเนื้อแก้ว ตา แก้วตามีความขุ่นขาวมากคล้ายน้ำนมทั่วบริเวณแก้วตา การมองเห็นของผู้ป่วยในระยะนี้มีลักษณะคล้ายระยะที่ 3 แต่จะมีอาการมากกว่า หากใช้ไฟส่องยังสามารถบอกได้ว่าเป็นแสงไฟ แต่จะบอกทิศทางของแสงไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้

โรคต้อกระจก

2. โรคต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenitial Cataract)
เป็นโรคต้อกระจกที่พบในเด็กแรกเกิดหรือภายหลังคลอดในช่วง 3 เดือน อันเกิดจากความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ และความผิดปกติจากพันธุกรรม ในรายที่มีแก้วตาขุ่นเล็กน้อยจะไม่กระทบต่อการมองเห็นมากนัก แต่บางรายที่แก้วตาขุ่นมากจะพบปัญหาการมองเห็นไม่ชัดเจน โรคต้อกระจกชนิดนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
– การได้รับรังสีขณะตั้งครรภ์ เช่น รังสีจากการเอกซเรย์ขณะตั้งครรภ์
– การรับประทานยาบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาในกลุ่มของคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) และยาปฏิชีวนะในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide)
– โรคความผิดปกติของการเผาผลาญสารอาหาร (Metabolic Disease) ที่เกิดกับแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
– การติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อบริเวณมดลูก และโรคอื่นๆ เช่น โรคหัดเยอรมัน คางทูม ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น
– ภาวะการขาดสารอาหารของแม่ขณะตั้งครรภ์

3. โรคต้อกระจกในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ (Juvenile and Presenile Cataract)
เป็นโรคต้อกระจกที่เกิดขึ้นหลังจากคลอดมากกว่า 3 เดือนไปแล้วจนถึงวัยผู้ใหญ่ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
– ต้อกระจกที่เกิดในระยะหลังคลอดมากกว่า 3 เดือน จนถึงวัยรุ่น เรียกว่า Juvenile Cataract พบมีสาเหตุ และอาการของโรคคล้ายกับโรคต้อกระจกโดยกำเนิด
– ต้อกระจกที่เกิดในระยะวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ เรียกว่า Presenile Cataractพบมีสาเหตุ และอาการของโรคคล้ายกับโรคต้อกระจกวัยชรา

4. โรคต้อกระจกจากภาวะแทรกซ้อน (Complicated Cataract)
เป็นโรคต้อกระจกที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนร่วมกับโรคภายในระบบตาอื่นๆ เช่น เนื้องอกในลูกตา โรคยูเวียอักเสบ สายตาสั้น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตา เป็นต้น

5. โรคต้อกระจกจากภาวะโรคในระบบอื่นๆ (Cataract Associated with Systemic Disease)
เป็นโรคต้อกระจกที่เกิดร่วมกับโรคในระบบอื่นๆ ได้แก่ โรคผิวหนัง Atopic Dermatitis เป็นต้น

6. โรคต้อกระจกจากสารพิษ และอาหาร (Toxic and Cataract)
สารพิษที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจก ได้แก่ ยาชนิดต่างๆ อาทิ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาหดรูม่านตา ที่ใช้สำหรับรักษาโรคต้อหิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เิกโรคต้อกระจกตามมา

สารพิษชนิดอื่นที่มีผลทำให้เกิดโรค ได้แก่ ยาฆ่าแมลง และกำจัดศัตรูพืช

7. โรคต้อกระจกที่เกิดร่วมกับความผิดปกติของการเผาผลาญสารอาหารในวัยผู้ใหญ่ (Cataract Associated with Metabolic Disease in Adult)
โรคต้อกระจกชนิดนี้มักเกิดร่วมกับโรคของความผิดปกติของการเผาผลาญสารอาหาร ได้แก่ โรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบร่วมกับภาวะการขาดแคลเซียมหรือมีแคลเซียมในเลือดต่ำ

8. โรคต้อกระจกจากภาวะอันตราย (Traumatic Cataract)
เป็นโรคต้อกระจกที่เกิดจากสาเหตุหลายประการภาวะอันตรายที่เกี่ยวข้องกับบริเวณ ลูกต้า พบมากในวัยหนุ่มสาว และมักพบเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยสาเหตุมาจาก
1. การเปลี่ยนแปลงให้สารบางอย่างผ่านเข้าออก และไม่ยอมให้สารบางอย่างผ่านเข้าออกของแก้วตา ทำให้เกิดความสมดุลของของเหลวในแก้วตาหรือมีการสะสมสารบางอย่างมากเกินไปจน ทำให้เกิดการตกตะกอนภายในแก้วตา
2. ความร้อน ความเย็น ที่กระทบลูกตา โดยเฉพาะเมื่อความร้อน และความเย็นสามารถสัมผัสถึงแก้วตาอาจทำให้แก้วตาขุ่นอย่างถาวร
3. กระแสไฟฟ้า และแสง หากลูกตาสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าในปริมาณสูงหรือสัมผัสกับแสงที่มีความเข้มข้น สูง เช่น ฟ้าแลบ แสงจากการเชื่อมโลหะ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้โปรตีนบริเวณแก้วตามีการจับตัวกันจนเกิดแก้วตา ขุ่นได้
4. การฉายรังสี ที่พบได้ในระยะหลังคลอดก่อน 3 เดือน จากสาเหตุการได้รับรังสีของแม่ขณะตั้งครรภ์
5. การกระทบกระแทกหรือแผลทะลุ โดยเฉพาะการได้รับแรงกระทบอย่างแรงบริเวณลูกตาจนทำให้แก้วตาอักเสบ แก้วตาบวมซ้ำ รวมไปถึงแก้วตาได้รับของแหลมทิ่มแทงหรือถูกระทบจนเป็นแผลจนเป็นสาเหตุทำให้ เกิดโรคต้อกระจกตามมา
6. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา อันเกิดจากการทำงานหรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม เช่น เศษแก้ว ฝุ่น ไอโลหะ เป็นต้น รวมถึงการผ่าตัดแก้วตาจากการรักษาโรคต่างๆที่ทำให้มีเศษของแก้วตาตกค้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจมีการสะสมบริเวณแก้วตา และเกิดอาการเป็นพิษทำให้เกิดโรคต้อกระจกตามมา

สาเหตุ

โรคต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในในวัยผู้สูงอายุที่เกิดจากการเสื่อมของเนื้อเยื่อแก้วตา และเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่
1. พันธุกรรม อันเกิดความผิดปกติจากการเจริญเติบโตของลูกตา ซึ่งพบได้ในเด็กแรกเกิด
2. การประสบอุบัติเหตุ จากการโดนกระทบกระแทกบริเวณลูกตาหรือโดนของมีคมทิ่มแทง
3. พิษ และสารเคมี อันเกิดจากการสัมผัสกับสารพิษหรือสารเคมีบริเวณลูกตา เช่น โลหะหนัก กรด ด่าง ทำให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อเยื่อแก้วตา และส่งผลทำให้เกิดต้อกระจกตามมา
4. โรคเกี่ยวกับตา เช่น โรคม่านตาดำอักเสบส่งผลทำให้เป็นต้อกระจกตามมา
5. โรคอื่นๆ เช่น โรคระบประสาท โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้บางชนิดมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดโรคต้อกระจกตามมา

ต้อกระจก

อาการโรคต้อกระจก

อาการที่พบมากที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคต้อกระจก คือ การมีสายตามัวเรื่อๆ มองเห็นวัตถุไม่ชัดเจน และอาจมองเห็นเป็นจุดในลูกตา อาการสายตามัวจะเพิ่มมากขึ้น มองเห็นไม่ชัด เหมือนมีหมอกหรือกระจกฝ้ามาบังลูกตา โดยจะเป็นมากในเวลากลางวัน แต่ในที่ร่มมีแสงสลัวหรือเวลากลางคืนจะมองเห็นได้ชัดเจนกว่า เนื่องจากไม่มีแสงจ้าเหมือนเวลากลางวัน ซึ่งจะทำให้รูม่านตาหดเล็กลงเวลามองขณะแสงจ้า อาการมองเห็นในที่ร่มหรือที่มีแสงสลัวได้ชัดเจนกว่าเวลากลางวันจะพบมากในผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกที่มีความขุ่นบริเวณตรงกลางตา

ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการมองเห็นภาพซ้อน 2 ภาพ ในตาข้างที่มัว บางรายอาจมองดวงไฟเป็นแสงสีรุ้งกระจายรอบดวงไฟอันเกิดจากความไม่สม่ำเสมอของแก้วตาหรือความขุ่นของแก้วตาที่ไม่เท่ากันทำให้เกิดการหักเหของแสง

อาการโรคต้อกระจกในระยะที่มีการแตกจะเกิดการบวมของแก้วตา และเกิดภาวะสายตาสั้นร่วมด้วยซึ่งอาจต้องใช้แว่นชนิดสายตาสั้นช่วยสำหรับการมองเห็น

เมื่ออาการของต้อกระจกรุนแรงมากขึ้นจนแก้วตาขุ่นทึบ ผู้ป่วยจะมองเห็นเป็นเพียงมีลักษณะเป็นเงาเคลื่อนไหวเท่านั้นซึ่งอาการนี้อาจใช้เวลานานหลายปี

ระยะอาการโรคต้อกระจก
ระยะที่ 1 จะพบมีอาการมองเห็นเป็นจุดๆเดียวหรือหลายจุด และการมองเห็นจะค่อยๆมัวลงทีละน้อยเหมือนกับมีหมอกหรือกระจกฝ้ามาบัง นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายที่เกิดความขุ่นบริเวณตรงกลางของแก้วตาจะมีอาการสายตามัวมากในเวลากลางวัน โดยเฉพาะวันที่มีแสงจ้า ส่วนวันที่มีแสงน้อยหรือเวลากลางคืนจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่า

ระยะที่ 2 มักพบมีอาการมองเห็นเป็นภาพซ้อน 2 ภาพหรือมากกว่า เนื่องจากความเรียบ และความขุ่นของกระจกตาไม่เท่ากันจนทำให้เกิดการหักเหของแสงไม่ตกผ่านจุดโฟกัสเดียวกัน นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมองเห็นแสงสีรุ้งกระจายรอบดวงไฟได้ด้วย

ระยะที่ 3 เป็นอาการในระยะที่มีการบวมของแก้วตา ช่องหน้าม่านตาตื้นกว่าปกติจากการบวมดันของแก้วตา ทำให้เกิดสายตาสั้นชั่วคราว ในระยะนี้จำเป็นต้องใช้แว่นสายตาสั้นเข้าช่วยสำหรับการมองเห็น นอกจากนั้นในระยะนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดต้อหินได้

ระยะที่ 4 เรียกระยะนี้ว่า ระยะต้อกระจกสุก มักพบมีอาการเพิ่มมากขึ้นจนแก้วตาขุ่นทึบ ผู้ป่วยจะมองเห็นเป็นเพียงลักษณะเงาเคลื่อนไหวหรือมองเห็นเป็นเพียงแสงไฟเท่านั้น

อาการของโรคต้อกระจกมักไม่พบอาการอักเสบของแก้วตา เมื่อส่องด้วยไฟฉายจะพบแก้วตาขุ่นเป็นสีเทาหรือสีขาวตรงกลางรูม่านตา หากดูด้วยออพธัลโมสโคปจะพบเป็นเงาสีดำใน Fundus reflex

ระยะต้อกระจก
1. ระยะ Incipient เป็นระยะที่เกิดความขุ่นของแก้วตา โดยจะเกิดความขุ่นในลักษณะเป็นเส้นพุ่งจากบริเวณรอบแก้วตาเข้าหาจุดศูนย์กลางของแก้วตาคล้ายกับซี่ล้อรถจักรยาน ระยะนี้อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และยังเป็นระยะที่ใช้เวลานาน

2. ระยะ Intumescent เป็นระยะที่แก้วตามีอาการบวมจากภาวะการดูดซึมน้ำเข้าตา ทำให้แก้วตามีความโค้งมาก และดันม่านตาไปด้านหน้า ช่องหน้าม่านตาตื้น

3. ระยะ Mature เป็นระยะที่เกิดความขุ่นเต็มแก้วตา แก้วตาเริ่มมีขนาดเล็กลงจากการขับน้ำออกมา ระยะนี้จะพบการขุ่นของแก้วตาอย่างชัดเจน บางรายอาจเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลแก่ เรียกว่า black cataract

4. ระยะ Hypermature ระยะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของเหลวในแก้วตาจะถูกขับออกทำให้แก้วตาเหี่ยว หน้าม่านตาลึกกว่าปกติ เลนส์แก้วตาเสื่อม มองเห็นเป็นสีขาวขุ่น ต่อมาอาจพบมี cholesterin หรือ lime salt มาเกาะที่แก้วตา และอาจพบเป็นลักษณะแหว่งของแก้วตา และม่านตา ในบางรายแก้วตาอาจมีการเคลื่อนหรือหลุดออกจากตำแหน่งเดิม

การรักษาโรคต้อกระจก

การรักษาโรคต้อกระจกด้วยยายังไม่สามารถรักษาได้ การรักษาจะใช้วิธีเดียว คือ การผ่าตัดลอกต้อกระจกออก ด้วย 3 วิธี คือ
1. Intra Capsular Cataract Extraction (ICCE) เป็นการผ่าตัดลอกต้อกระจก พร้อมถุงของแก้วตาทั้งหมด โดยหลังการผ่าตัดต้องใส่แว่นตาหรือเลนส์สัมผัสเพื่อให้การมองเห็นชัด
2. Extra Capsular Cataract Extraction (ECCE) เป็นการผ่าตัดเอา anterior capsule ออก แล้วนำ nucleus และ cortex ออก โดยเหลือถุงแก้วตาไว้ แล้วใส่ intraocular lens แทน
3. Phacoemulsification เป็นการผ่าตัดโดยใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์เข้าสลายเนื้อแก้วตา โดยให้เหลือถุงแก้วตาไว้แล้วใส่แก้วตาเทียมแทน มีข้อดีที่ว่า แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กมาก หลังการผ่าตัดจะมองเห็นชัดเป็นปกติ และไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล

วัสดุทดแทนแก้วตา

เมื่อมีการผ่าตัดรักษษต้อกระจก แก้วตาส่วนที่เสียหายจะถูกลอกกำจัดออกไปจึงจำเป็นต้องหาวัสดุใหม่มาใช้ทดแทนแก้วตาเพื่อให้สามารถมองเห็นได้เหมือนเดิม ได้แก่
1. แว่นตาต้อกระจก (cataract Glasses) เป็นแว่นกระจกนูน สามารถขยายภาพได้ร้อยละ 25-30 ทำให้มองเห็นภาพชัดเฉพาะตรงกลางกระจก แต่ด้านข้างจะมองเห็นภาพบิดเบี้ยวไม่ชัดเจน มีข้อดีที่มีความปลอดภัยสูง และราคาถูก แต่มีข้อเสียที่มองเห็นภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณร้อยละ 25 มักใส่ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดตาข้างเดียว เพราะหากใช้สองข้างจะทำให้มองเห็นเป็นภาพซ้อนกัน

2. เลนส์สัมผัส (Contact Lens) เป็นวัสดุที่ทำจากพลาสติก มีทัั้งชนิดแข็ง และอ่อนสามารถขยายภาพได้ประมาณร้อยละ 7 และสามารถใช้ได้กับตาทั้งสองข้างพร้อมกัน แต่มักพบปัญหาเมื่อใช้ในวัยผู้สูงอายุจากปัญหาการเรียนรู้วิธีการใช้ และปรับตัวได้ช้า

3. แก้วตาเทียม (Intraocular Lens) เป็นวัสดุที่ทำจากพลาสติกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สามารถทำให้การมองเห็นภาพเหมือนแก้วตาปกติ และขนาดภาพเท่าของจริง