โรคหอบหืด และการรักษา

9243

โรคหอบหืด (Asthma) เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมจากความผิด ปกติที่มีต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ของสารก่อภูมิแพ้จากภาวะแวดล้อมรอบข้างตัว ทำให้หลอดลมเกิดการตีบแคบ อักแสบ และทำให้หายใจลำบาก สารที่เป็นสาเหตุก่อภูมิแพ้มีหลายชนิดขึ้นกับร่างกายของแต่ละคนว่าจะไวต่อ สารใด เช่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ อากาศที่มีมลพิษ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากได้รับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวก็อาจทำให้ภาวะหายใจหอบหืดกำเริบได้ โรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกวัยหรืออาจเกิดตั่งแต่เด็กจนโตก็ยังไม่หายซึ่ง อาการอาจกำเริบได้ทุกที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือตามท้องถนน และสถานที่ทำงานก็ตาม

สาเหตุ และกลไกการเกิดโรค
เมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นผ่านทางระบบหายใจหรือการกิน ร่างกายจะเกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะบริเวณหลอดลมทำให้เกิดการอักเสบ ตีบแคบหายใจลำบาก หลังจากนั้นร่างกายจะจดจำสารเหล่านั้นไปตลอด สารกระตุ้นที่มักพบเป็นสาเหตุของโรคหอบหืด ได้แก่โรคหอบหืด

1. มลพิษในอากาศ เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ไอระเหยน้ำมัน สารเคมี ก๊าซพิษต่างๆ เป็นต้น
2. อาหารบางชนิด เช่น ไข่ นม อาหารทะเล
3.  ขน และรังแคสัตว์ เช่น สุนัข แมว เป็นต้น
4. สัตว์ดูดเลือดบางชนิด เช่น เห็บ ไร มัด เป็นต้น
5. เชื้อราหรือแบคทีเรียในอากาศ

สาเหตุโรคหอบหืด

ทั้งนี้อาการที่ทำให้เกิดโรคหอบหืดครั้งแรกอาจมีสาเหตุในปัจจัยต่างๆ เช่น
1. อาการเกิดโรคในเด็กหรือผู้ใหญ่มักเกิดจากภาวะร่างกายอ่อนแอหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
2. การได้รับการถ่ายทอดโรคมาจากพันธุกรรม โดยพบว่าหากมีประวัติญาติเป็นโรคหอบหืดแล้วก็มักมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
3. การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่มีความเป็นพิษมากขึ้น จนร่างกายไม่สามารถปรับตัว และต่อต้านต่อสิ่งกระตุ้นเป็นพิษได้
4. การเปลี่ยนแปลงทางภาวะอารมณ์ เช่น ความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นอาการเกิดหอบหืดได้
5. การที่ร่างกายได้รับสารเคมีบางชนิดที่เป็นพิษ และสามารถกระตุ้นภาวะการเกิดหอบหืด เช่น สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

อาการของโรค
อาการกำเริบของโรคหอบหืดหลังจากเกิดการหอบหืดครั้งแรกเมื่อร่างกายได้รับ สารกระตุ้นแล้ว ครั้งต่อมาร่างกายจะมีการจดจำต่อสารกระตุ้นนั่นๆ หากได้รับสารดังกล่าวอีกครั้งอาการก็มักจะกำเริบอีก โดยมีอาการทั่วไป คือ มีอาการหอบ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจขัด และถี่ มีเสียงหายใจดังวี๊ดๆ เนื่องจากอาการภายในที่หลอดลมเกิดการขยายตัว ตีบแคบ และมีอาการการอักเสบ พร้อมกับภาวะการหลั่งเสมหะมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มการหายใจให้ลำบากมากขึ้น นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการแพ้ภายนอกเกิดร่วมด้วย เช่น มีผื่นแดงตามลำตัว ทั้งนี้อาการของโรคแต่ละคนจะมีอาการหนักเบาไม่เท่ากัน บางคนอาจหายเองภายในไม่กี่นาที แต่บางคนอาจมีอาการหนักจนเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับภาวะความแข็งแรงของร่างกาย

การวินิจฉัยโรค โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคตามแนวทาง ดังนี้
1. การซักประวัติทั้งอาชีพ การทำงาน ประวัติครอบครัว ประวัติอาการแพ้ เป็นต้น
2. พบมีอาการหอบหืด หายใจลำบากหลังจากได้รับสารกระตุ้นที่สงสัยในทันที และมีอาการกำเริบทั้งครั้งหลังจากได้รับสิ่งกระตุ้นตัวเดิม
3. พบอาการหอบหืดกำเริบมากด้วยภาวะต่างๆ คือ เกิดความเครียด อารมณ์เปลี่ยนแปลง มีภาวะเป็นไข้

การรักษา
โรคหอบหืดถือเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถลดความถี่ และอาการกำเริบได้  คือ
1. ยาต้านอาการอักเสบของหลอดลม เป็นยาใช้รับประทานที่ลดอาการอักเสบของหลอดลม ซึ่งจำเป็นต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ แต่พบอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดเสียงแหบแห้งได้
2. ยาขยายหลอดลมผ่านเครื่องสูบอากาศเข้าปอด (Inhaler) ซึ่งตัวยาจะช่วยขยายหลอดลมให้ขยายกว้างมากขึ้น มักใช้เมื่อสงสัยว่าอาการอาจกำเริบหรือเริ่มหายใจลำบาก โดยการพ่นผ่านเครื่องเข้าปอดโดยตรง ซึ่งจะออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังการพ่น และจะอยู่นานประมาณ 4-6 ชั่วโมง

ผู้ป่วยโรคหอบหืดควรปฏิบัติตัวอย่างไร
1. จดจำสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้และหอบหืด พร้อมหลีกเลี่ยงการกินหรือหายใจสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย
2. หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงที่มีสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันไอเสียรถยนต์ ควันธูป กลิ่นน้ำหอม พื้นที่เก็บสารเคมี และก๊าซพิษ
3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ โดยไม่ออกกำลังกายให้หนักเกินไป
4. ดูแลสุขภายให้แข็งแรง ป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจต่างๆ
5. ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดจากสารกระตุ้นหอบหืด เช่น การติดระบบระบายอากาศ เครื่องกรองอากาศ การทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ
6. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษหรือพื้นที่อากาศร้อนจัด เย็นจัด
7. ทำจิตใจให้สดชื่น ขจัดความวิตกกังวล อาการหงุดหงิด ความเครียด ที่อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นการกำเริบของโรค
8. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด น้ำร้อนจัดขณะอาการกำเริบ เพราะอาจมีผลต่อการอักเสบของหลอดลมเพิ่มมากขึ้น
9. ควรกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และควรพบแพทย์เป็นประจำตามคำแนะนำ
10. เมื่อสงสัยว่าอาการจะกำเริบ ควรกินยาหรือใช้ยาตามแพทย์สั่ง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์ทันที

โรคแทรกซ้อนจากภาวะหอบหืด
1. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
2. โรคปอดเรื้อรัง
3. โรคถุงลมโป่งพอง
4. เป็นไข้