โสรัจจะ/ความสงบเสงี่ยม

26247

โสรัจจะ หมายถึง ความสงบเสงี่ยมหรือความเรียบร้อยของร่างกาย ที่เป็นกระบวนการต่อมาหลังจากเกิดขันติ (ความอดทน) ด้วยการควบคุมกิริยาอาการ ทั้งทางร่างกาย และวาจา ไม่ให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายใน และภายนอกที่เข้ามากระทบกระทั่ง

โสรัจจะ เป็นธรรมะที่คู่กับ ขันติ คือ โสรัจจะ เป็นความสงบเสงี่ยม เมื่อมีขันติก็สามารถที่จะอดทนต่อเหตุการณ์หรือสิ่งที่มายั่วยุไม่ให้โต้ตอบต่อสิ่งนั้น พร้อมกับระงับอารมณ์โกรธ และความไม่พอใจได้ เราก็จะต้องสามารถจัดการกับกิริยาอาการ คำพูด และสีหน้าของเราให้สงบเสงี่ยมยิ้มแย้มเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การกระทำตนเช่นนี้ เรียกว่า มีโสรัจจะ

พระราชวรมุนี กล่าวถึง โสรัจจะ หมายถึง ความเสงี่ยม ความสงบ และความมีอัธยาศัยดี คือ ไม่เป็นผู้หุนหัน โมโหโทสะ อาละวาดจองเวร

พินิจ กล่าวว่า โสรัจจะ แปลว่า ยิ้มแย้ม อดกลั้นได้ แต่ถ้าหน้าบึ้งก็ไม่ดี หรือไม่เก่ง ถ้าอดกลั้นได้ต้องยิ้มแย้มได้แม้เจ็บปวด ถ้าถูกกิเลสบีบคั้น ก็ควรหัวเราะเยาะกิเลสได้ อย่างนี้ เรียกว่า โสรัจจะ ความยิ้มแย้ม มันเป็นขันติที่แสดงผลสูงสุดเลยไปถึงอาการที่น่าเลื่อมใส

โสรัจจะ

โชติ กล่าวว่า โสรัจจะ คือ ความสงบเสงี่ยมถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติให้เพียบพร้อมด้วยหลักธรรมทั้ง 2 ประการนี้ คือ มีขันติ คือ รู้จักมีความอดทน และโสรัจจะ คือ เมื่อรู้สงบแล้ว ความสงบเสงี่ยมก็จะตามมา

ท่านว่าผู้ที่ได้ประพฤติธรรมที่ทำให้ตนเองมีคุณสมบัติที่งดงาม และถ้าบุคคลใดในชาติงดงามก็ทำให้บ้านเมืองตลอดจนประเทศชาติงดงามด้วย นอกจากนี้ ความสงบเสงี่ยมเป็นคุณธรรมควบคู่กับความอดทนอย่างไร ด้วยว่า โสรัจจะ แปลว่า ความสงบเสงี่ยม คือ ความระมัดระวังตัว ความสงบเจียมตัว ความแจ่มชื่น ความยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นธรรมคู่กับขันติความอดทน เพราะตามปกติของใจนั้น เมื่อโกรธแม้อดไว้ได้ใจก็ต้องสั่นผิดปกติ ถ้าได้มีความสงบเสงี่ยมเข้าร่วมด้วยก็จะทำให้จิตใจเยือกเย็นขึ้น ด้วยเหตุนี้ โสรัจจะ จึงเป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง

ผู้มีความอดทน เช่น ระงับความโกรธได้ แต่แสดงหน้ามิ่วคิ้วขมวด หรือหน้าแดง ปากสั่น มือไม้สั่นไปหมด หรือแสดงพฤติกรรมโยนสิ่งของโครมคราม ทำลายข้าวของในครัวเรือนซึ่งเป็นการเสียกิริยา อย่างนี้แสดงว่าผู้นั้นมีแต่ความอดทน แต่ยังขาดสิ่งที่ใช้ควบคุมกายที่สะท้อนจากอารมณ์ คือ ความสงบเสงี่ยม เมื่ออดทนได้แล้วต้องแสดงอาการเป็นปกติ ทำจิตใจให้เยือกเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสได้ด้วย จึงนับว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยขันติโสรัจจะอย่างโดยแท้

ผู้ป่วยที่มีบาดแผล และเกิดอาการเจ็บป่วย หากสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดได้ ไม่ร้องโอดโรย มีแต่ความกระวนกระวาย ก็จัดว่ามีความอดทน แต่ผู้นั้นถือว่ายังขาดความสงบเสงี่ยม คือ เมื่อทนได้แล้ว หากไม่แสดงความกระวนกระวาย ความกระสับกระส่าย จึงจะจัดว่ามีความอดทน และความสงบเสงี่ยมร่วมกัน

คนเราเมื่อทำกิจการงานใดๆ ก็ต้องตั้งมั่นที่จะทำให้กิจการนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ ถ้าหากทำด้วยความไม่ตั้งใจ เช่น ทำไปบ่นไป แม้จะทำจนงานนั้นสำเร็จ ก็จัดว่ามีความอดทน แต่ไม่มีความสงบเสงี่ยม ต้องทำงานด้วยความอดทน ไม่พูดบ่น ไม่แสดงอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย จึงจะมีความอดทน และสงบเสงี่ยมอันเป็นคุณลักษณะที่ดีงาม

ในชีวิตประจำวัน คนเราที่ถูกกระทบกระทั่งด้วยถ้อยคำด่าทอ คำพูดเสียดสี คำกล่าวว่าร้าย นินทาให้แก่ตน หากผู้นั้น สามารถอดกลั้นไว้ได้ ไม่กล่าวตอบ แต่แสดงสีหน้าหรือท่าทางผิดปกติไปบ้าง อย่างนี้จัดว่ามีความอดทน แต่ว่าไม่มีความสงบเสงี่ยม แต่ถ้าอดใจไว้ไม่กล่าวตอบ ทั้งแสดงอาการผิดปกติกลับยิ้มรับอย่างใจเย็นอ่อนโยนละมุนละไม สุภาพเรียบร้อย เช่นนี้ จัดว่ามีความอดทน และสงบเสงี่ยม

ขันติ และโสรัจจะ ในพระพุทธศาสนาถือเป็นธรรมที่ทำให้งาม ความงามของคนนั้น อาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ งามนอก และงามใน
1. งามนอก ได้แก่ ร่างกาย และอาภรณ์
2. งามใน ได้แก่ งามใจ

คนเราส่วนมากมักจะบำรุงความงามภายนอก แต่ละเลยความงามภายใน ทั้งนี้ เนื่องจากความงามภายนอกนั้นบำรุงได้ง่าย และมนุษย์ก็มีความโน้มเอียงที่จะทำอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่า ขันติ และโสรัจจะ เป็นธรรมที่เป็นเหตุอ้างอิง อาศัยกันและกัน คนชอบความสงบเสงี่ยมจึงอดกลั้นเหตุอันไม่พึงปรารถนา คนถือขันติก็จะหาทางปลอบใจตนเองไม่ให้อึดอัดได้

ขันติ หมายถึง ความอดทน คือ เป็นธรรมสำหรับข่มอารมณ์หรือจิตใจที่จะทนได้ต่อความยากลำบาก ความเจ็บปวด ความโมโหโทโส ความเครียดแค้น ด้วยการมีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่นในสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่งทั้งทางกาย วาจา และใจ อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ประกอบด้วย 4 ลักษณะ ได้แก่
1. อดทนต่อความยากลำบาก หมายถึง การมีความอดทนต่อความยากลำบากในการประกอบอาชีพหรือทำกิจใดๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเข้มแข็งที่จะทำงานนั้นให้ลุล่วงสำเร็จตามที่ได้วางแผนไว้ ถึงแม้งานนั้นจะมีอุปสรรค และเกิดความเหนื่อยล้ามากเพียงใด ก็ไม่มีความรู้สึกท้อแท้หรือแสดงออกด้วยการหมดกำลังใจ
2. อดทนต่อทุกขเวทนาทางกาย หมายถึง การมีความอดทนต่อความเจ็บป่วยทางกายจากการได้รับอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากโรค และการรักษา ด้วยกิริยาไม่กระสับกระส่าย ไม่ร้องโอดครวญ ไม่ร้องให้ เป็นต้น
3. อดทนต่อความเจ็บใจ หมายถึง การมีความอดทนต่อสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่งในจิตใจทั้งที่เกิดจากคำพูดของผู้อื่นหรือสิ่งร้ายแรงที่ตนเองเผชิญมา เช่น การถูกผู้อื่นดูหมิ่น ถูกผู้อื่นนินทา ถูกยั่วยุ ถูกด่าว่าด้วยคำหยาบคาย คำเสียดสี จนทำให้ตนเองเสื่อมเสีย และเกิดความเสียหาย แล้วไม่แสดงอาการตอบโต้ผู้อื่น
4. อดทนต่ออำนาจกิเลสมาร 3 ประการ หมายถึง การมีความอดทนต่อสิ่งที่เข้ามายั่วยวนให้เกิดกิเลสใน 3 ประการ คือ สิ่งยั่วยวนให้เกิดความโลภ สิ่งยั่วยวนให้เกิดความโกรธ สิ่งยั่วยวนให้เกิดความหลงใหล เช่น
– ห้ามใจ ไม่หยิบจับลักเอาทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น ถือเป็นการอดทนต่อโลภ
– ห้ามใจ ไม่กล่าวตอบโต้ เมื่อมีผู้อื่นมาด่าทอ
– ห้ามใจ ไม่ซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่เพิ่มวางจำหน่าย เพราะโทรศัพท์ของตนที่ใช้อยู่ยังสามารถใช้ได้ดี และไม่มีอะไรแตกต่างกับรุ่นใหม่ที่เพิ่มออกมา

ส่วน โสรัจจะ เป็นตัวข่มพฤติกรรมที่กระตุ้นมาจากจิตใจให้สงบ ทำให้ดูเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่น เมื่อถูกผู้อื่นด่าทอ ผู้นั้นสามารถทนได้ และไม่แสดงกิริยาหรือกล่าวคำตอบโต้ โดยการข่มความโกรธไว้ แต่ขณะเดียวกันภายในจิตใจก็ยังขุ่นเคืองอยู่ จนแสดงออกด้วยไม้มือสั่น เดินกระวัดกระเวี่ยง อย่างนี้เรียกว่า มีขันติ แต่ยังขาดโสรัจจะ แต่หากผู้นั้นข่มใจให้เย็น ไม่แสดงออกด้วยไม้มือสั่น แสดงว่าผู้นั้น มีทั้งขันติ และโสรัจจะ

ดังนั้น ข้อแตกต่างของขันติ และโสรัจจะ คือ
1. ขันติ คือ ความอดทน ที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นในจิต คือ สภาวะที่จิตเกิดกระบวนการคิดไตร่ตรองหรือการหักห้ามจิต ไม่ให้คิดต่อเพื่อทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้า
2. โสรัจจะ คือ ขั้นต่อมาหลังจากที่เกิดความอดทนได้ ด้วยการความคุมอารมณ์ไม่ให้ร่างกายแสดงออกตอบโต้ต่อสิ่งเร้าภายนอก และภายในที่มากระทบทั้งจิตใจ และร่างกาย
– สิ่งเร้าภายนอก เช่น คำด่าทอ (ไม่ด่าตอบ) มือถือรุ่นใหม่ (ไม่ซื้อ)
– สิ่งเร้าภายใน เช่น การเจ็บป่วยของร่างกาย (ไม่ร้องโอดครวญ)

เอกสารอ้างอิง
1