การคลอดก่อนกำหนด อาการ และการป้องกัน

15515

การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง การคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือการคลอดก่อน 259 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย และเป็นการคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จนถึงก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือในกรณีไม่ทราบอายุครรภ์ใช้เกณฑ์ทารกแรกเกิดนํ้าหนัก 500 กรัมขึ้นไป

อาการเตือนการคลอดก่อนกำหนด
1. มีการหดรัดของมดลูกสลับกับคลายตัว อาจมีอาการปวดหรือไม่มีอาการปวดครรภ์ เพราะมดลูกมีการหดรัดตัวไม่แรง จำนวนครั้งที่แสดงว่ามดลูกหดรัดตัวบ่อยคือ มากกว่า 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมงที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ช่วงเวลาที่เกิดบ่อย คือ 4 ทุ่ม และ ตี 2 และมักเกิดอาการขณะที่ไม่ได้ทำกิจกรรม เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น
2. มีอาการปวดบริเวณบั้นเอว ปวดต้นขา ปวดแบบตื้อๆ และปวดหน่วง อาจเป็นๆ หายๆหรือปวดตลอดเวลา
3. อาการปวดท้องหรือหัวหัวเหน่าเหมือนปวดระดู หรือปวดต้นขาเป็นช่วงๆ หรือปวดตลอดเวลา
4. อาการปวดท้อง อาจมีหรือไม่มีอาการท้องเสีย และปัสสาวะบ่อยขึ้น
5. มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำคัดหลั่งในช่องคลอด เช่น มีมูก มูกเลือดหรือน้ำใสๆ ออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดปนออกมาด้วยเป็นสีแดงจางๆ สีชมพู หรือสีน้ำตาล
6. มีความรู้สึกว่าทารกดิ้นผิดปกติไปจากเดิมหรือ มีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย
7. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด

คลอดก่อนกำหนด1

สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
1. ปัจจัยเสี่ยงจากมารดา และสภาพของครรภ์
– อายุ น้อยหรือมากเกินไปทำให้เกิดปัญหาด้านสรีระวิทยา และวุฒิภาวะ
– น้ำหนักมารดาน้อยก่อนตั้งครรภ์
– ภาวะขาดโภชนาของมารดาก่อน และขณะตั้งครรภ์
– เกิดอุบัติเหตุขณะตั้งครรภ์ ครรภ์ถูกกระทบกระแทกอย่างแรง
– การทำงานหรือทำกิจกรรมหนัก จนครรภ์ได้รับการกระทบกระเทือนแบบสะสม
– การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ ทำให้ครรภ์ถูกกระทบกระแทก และเกิดการหดตัวของมดลูก
– ความผิดปกติของมดลูก และปากมดลูกของมารดา เช่น ปากมดลูกไม่แข็งแรง
– มีห่วงคุมกำเนิดในมดลูก
– ทารกในครรภ์ขาดอกซิเจน
– รกฝังตัวผิดปกติ
– รกลอกตัวก่อนกำหนด
– ทารกเติบโตช้าหรือตายในครรภ์
– การตั้งครรภ์แฝด โดยเฉพาะแฝดตั้งแต่แฝดสามขึ้น มีผลทำให้มดลูกยืดขยายตัวมาก

2. ปัจจัยด้านจิตสังคม
– ความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวเคมีในร่างกาย เช่น กระตุ้นการหลั่งแคทีโคลามีน ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัว

3. ประวัติทางสูตินรีเวชกรรม
– มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
– มีประวัติการแท้ง การเสียชีวิตของทารกในครรภ์ก่อน
– มีประวัติการมีบุตรยาก
– มีประวัติการมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์
– มีประวัติรกฝังตัวผิดปกติ
– มีประวัติการผ่าตัดมดลูก

4. ภาวะโรคเรื้อรัง และโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
– การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
– การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์
– โรคภูมิแพ้
– โรคเบาหวาน
– ภาวะความดันโลหิตสูง
– โรคหัวใจ
– โรคไต
– เกิดเนื้องอกในมดลูก
– ครรภ์เป็นพิษ เกิดการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลง และมีการสร้างสารพลอสตาแกลนดิน

5. อื่นๆ
– การสูบบุหรี่
– การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์
– การเสพสิ่งเสพติด
– การได้รับสารพิษหรือสารเคมี
– การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อการหดตัวของมดลูก

การวินิจฉัยการคลอดก่อนกำหนด
• อายุครรภ์ 20 – 37 สัปดาห์
• มดลูกมีการหดตัวอย่างสม่ำเสมอที่ 8 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
• มีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกอย่างชัดเจน คือ ปากมดลูกเปิดเพิ่มขึ้นหรือมีความบางหรือมีความนุ่ม (Soft) หรือ
• ปากมดลูกบางมากกว่า 80 % หรือ
• ปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตรขึ้นไป

กลุ่มการคลอดก่อนกำหนดแบ่งตามอายุครรภ์
กลุ่มที่ 1 อายุครรภ์ระหว่าง 26-28 สัปดาห์
กลุ่มที่ 2 อายุครรภ์ตั้งแต่มากกว่า 28-32 สัปดาห์
กลุ่มที่ 3 อายุครรภ์ตั้งแต่มากกว่า 32-36 สัปดาห์

สำหรับการคลอดที่อายุครรภ์ตํ่ากว่า 20 สัปดาห์ถือว่าเป็นการแท้ง

กลุ่มการคลอดก่อนกำหนดแบ่งตามน้ำหนัก
กลุ่มที่ 1 มีนํ้าหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม
กลุ่มที่ 2 มีนํ้าหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม
กลุ่มที่ 3 มีนํ้าหนักน้อยกว่า 1,000 กรัม

ผลกระทบการคลอดก่อนกำหนด
1. ต่อสตรีตั้งครรภ์
– มารดาเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก
– เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

2. ต่อทารก
– เสี่ยงต่ออวัยวะที่พัฒนาไม่สมบูรณ์
– เสี่ยงต่อการเสียชีวิต จากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ และเกิดอาการต่างๆแทรกซ้อน เช่น อาการหายใจลำบาก เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำหรือตัวเย็น หัวใจวายจากเส้นเลือดบริเวณหัวใจปิดไม่สนิท มีอาการชัก เกร็ง เกิดภาวะตัวเหลือง และซีด มีการสำลักนม ท้องอืดง่าย ลำไส้เน่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และติดเชื้อโรคได้ง่าย
– เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ประสาทตาผิดปกติ เกิดภาวะตาบอด จากการให้ออกซิเจน ส่วนในระยะยาวจะพบปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจวายพิการแต่กำเนิด มีความผิดปกติของสมอง ชัก หูหนวก ตาบอด และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ไอคิวต่ำ

คลอดก่อนกำหนด

การยับยั้ง และการรักษาการคลอดก่อนกำหนด
1. การรักษาโดยทั่วไป
การักษาทั่วไป เช่น การให้นอนพัก และการให้สารน้ำ อาจไม่มีผลต่อการยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดมากนัก แต่จะเป็นการช่วยลดอัตราการหดตัวของมดลูกได้

2. การรักษาโดยการให้ยา
เป็นวิธีการหลักสำหรับการยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดด้วยการให้ยาชนิดต่างๆ เช่น ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก ยาโปรเจสเตอโรน ยาสเตียรอยด์ และยากล่อมประสาท ซึ่งยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก

ข้อพิจารณาการยับยั้งการคลอด
• อายุครรภ์ 20-35 สัปดาห์ หรือน้ำหนักทารกในครรภ์ประมาณ 500-2,000 กรัม
• ทารกยังมีชีวิตอยู่ ไม่เสี่ยงต่อพิการรุนแรง และไม่มีภาวะขาดออกซิเจนในครรภ์
• ถุงน้ำคร่ำยังไม่รั่วหรือแตก และมีไม่มีการติดเชื้อ
• ปากมดลูกเปิดไม่ถึง 4 เซนติเมตร
• ไม่มีภาวะการเจริญเติบโตช้าของทารกในครรภ์
• ไม่มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก
• มีภาวะอันตรายทางสูติศาสตร์ เช่น ภาวะพิษแห่งครรภ์ การตกเลือดก่อนคลอด ครรภ์แฝดน้ำ
• มีโดรคที่เป็นข้อห้ามของการใช้ยา เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอพอกเป็นพิษ โรคตับรุนแรง

กลุ่มยาที่ใช้รักษา
1. ยาระงับปวดต่างๆ  ใช้เพื่อให้มดลูกเกิดการผ่อนคลาย แต่เนื่องจากเป็นยาที่กดการหายใจ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากในทารกได้ ยาในกลุ่มนี้ได้แก่
– มอร์ฟีน(Morphine)
– ฟีโนบาร์บีทอล (Phenobarbital)
– โปรเมทาซีน (Promethazine)

2. ยาบีตา – แอดรีเนอร์จิค (Beta – adrenergic) ใช้เพื่อการลดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะใน 24-48 ชั่วโมง หลังให้ยา ได้แก่
– ริโทดรีน (Ritodine)
– เทอร์บูทาลีน (Terbutaline)
– ไอซอกซูปรีน (Isoxuprine)

3. ยาต้านฤทธิ์แคลเซียม (Magnesium antagonist) ใช้เพื่อยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดแต่ให้ผลช้า และมีผลข้างเคียงที่มากกว่ากลุ่ม บีตา-แอดรีเนอร์จิค ได้แก่
– แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate)
– นิฟิดิปีน (Nifedipine)

4. ยายับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin synthetase inhibitors) เพราะระดับโพรสตาแกลนดินมีผลต่อการเจ็บครรภ์คลอด ได้แก่
– เอนโดเมทาซิน (Endomethacin)
– แอสไพริน (Aspirin)

ยาเทอร์บูทาลีน (Terbutaline)
• การออกฤทธิ์
การคลายตัวของมดลูกเกิดขึ้นโดยการสั่งโดยตรงจากตัวรับบีตา (beta – receptor) ในเซลล์
กล้ามเนื้อของมดลูก และผนังหลอดเลือด ยาในกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับบีตา ซึ่งตัวรับบีตาหนึ่งหรือบีตาสอง การกระตุ้นบีตาหนึ่งจะมีผลกระตุ้นให้หัวใจทำงานมากขึ้น และเพิ่มการสลายตัวของไขมัน ส่วนการกระตุ้นบีตาสองจะกระตุ้นให้มดลูกคลายตัว หลอดลม และเส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการสลายแป้งในกล้ามเนื้อให้เป็นน้ำตาล และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และมีระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ยาที่นำมาใช้ยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกออกฤทธิ์กระตุ้นบีตาสองมากกว่าบีตาหนึ่ง

• ผลข้างเคียง
1. อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบตื้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย และปอดบวมน้ำ
2. เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ทำให้อาการโรคเบาหวานกำเริบ   ทารกหลังคลอดมีระดับน้ำตาลสูง ทำให้หลั่งอินซูลินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแคลเซียม โพแทสเซียมในเลือดต่ำได้
3. ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น มือสั่น มีไข้ และอาจมีอาการประสาทหลอนได้

ยาแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate)
• การออกฤทธิ์
แคลเซียมซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ

การออกฤทธิ์ของแมกนีเซียมซัลเฟตเชื่อว่าออกฤทธิ์ต้านแคลเซียมที่เป็นสารสำคัญสำหรับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว

• ผลข้างเคียง
ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง (Hypermagnesemia) ซึ่งจะเป็นอันตรายทั้งต่อมารดา และทารกในครรภ์ อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบตามตัว ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้มึนงง ปากแห้ง มีอาการกดการหายใจ และการทำงานของหัวใจ ไตวายปอดบวมน้ำ ส่วนทารก อาจมีอาการกดการทำงานของระบบหายใจ ทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการซึม และอ่อนแรง

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
1. พักผ่อน และการจำกัดกิจกรรม
การพักผ่อน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ปกติในตอนกลางคืนควรได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และตอนกลางวันประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกาย และจิตใจได้ผ่อนคลาย การไหลเวียนเลือดไปสู่มดลูกดีขึ้น

การจำกัดกิจกรรม สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การกิจกรรมเบาสามารถทำได้ แต่ต้องจำกัดกิจกรรมบางอย่างที่อาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์ เช่น การยกของหนัก การวิ่ง เป็นต้น และหากมีการทำกิจกรรม ควรหยุดพักเป็นระยะหรือหากมีอาการผิดปกติควรหยุดพักทันทีเพื่อลดการกระตุ้นที่มดลูก และลดแรงดันของตัวทารกต่อปากมดลูก

2. หลีกเลี่ยงหรือขจัดความเครียด
สตรีตั้งครรภ์ควรมีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและจิตใจเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นการช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดเมื่อย ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ควรฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ส่วนการพักผ่อนคลายจิตใจนั้น สตรีตั้งครรภ์ควรขจัดความเครียด หรือสิ่งที่กังวลใจให้ได้มากที่สุด หาวิธีการและบุคคลที่จะช่วยลดความเครียด เช่น ขอคำปรึกษาจากญาติ เพื่อนสนิทปรับทุกข์ใจ การพูดคุยหรือระบายความรู้สึกจะลดความเครียดหรืออาจใช้วิธีการควบคุมลมหายใจ การเพ่งมองจุดสนใจ การทำสมาธิหรือการจินตนาการถึงภาพหรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจเป็นสุข

3. การป้องกันการติดเชื้อ
โดยเฉพาะในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยการเอาใจใส่การปัสสาวะให้บ่อย โดยเฉพาะเวลาที่ปวดปัสสาวะ เพราะการขยายของมดลูกทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการคั่งของน้ำปัสสาวะ

4. รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ
เพื่อป้องกันผลกระทบจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย มีการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์น้อย หรือมีภาวะขาดสารอาหาร และมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวตลอดการตั้งครรภ์ต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด และยังพบว่าลักษณะนิสัยในการบริโภคของมารดาและการได้รับอาหารเสริมระหว่างการตั้งครรภ์ ก็มีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนดเช่นกัน

5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือน ห่อนคลอด และหากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยในการร่วมเพศ หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหัวนม เพราะการเกิดความรู้สึกสุดยอด และน้ำอสุจิจะทำให้เกิดการหลั่งของพรอสตาแกลนดินจากปากมดลูก ทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกได้ ส่วนการกระตุ้นที่หัวนมจะทำให้เกิดการหลั่งของออกซีโทซิน (Oxytocin) ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บครรภ์ได้เช่นกัน นอกจากนี้การร่วมเพศยังเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ปากมดลูกทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน

6. การป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย
• การดื่มน้ำและการขับถ่ายปัสสาวะ ควรดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว รวมถึงนม และน้ำผลไม้ก็สามารถใช้ดื่มแทนน้ำได้ การดื่มน้ำมากๆ ช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ห้ามกลั้นขับถ่ายปัสสาวะนั้นควรถ่ายปัสสาวะทุก 2-4 ชั่วโมง ภายหลังจากการถ่ายปัสสาวะให้ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และซับให้แห้งสนิท
• การดูแลสุขภาพปาก และฟัน เนื่องจากการอักเสบภายในช่องปากเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยควรทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือภายหลังรับประทานอาหารทุกครั้งหากทำไม่ได้ควรบ้วนปากหลาย ๆ ครั้ง ให้เศษอาหารหลุดจากซอกฟัน ลดปริมาณกรดในช่องปากให้น้อยลง
• รีบดูแลรักษาเมื่อมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ ท้องเสีย ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือเมื่อมีตกขาวผิดปกติต้องรีบรักษา เพราะการติดเชื้อบางอย่างโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแบคทีเรียลวาไจโนสิส จะมีความสัมพันธ์กับการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดสูง การรักษาช่องปากอักเสบด้วยยาปฏิชีวนะ

7. งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเสพสารเสพติด รวมถึงการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า โคเคน ฝิ่นและกัญชามีผลต่อทารกเช่นกัน

8. การมาตรวจตามนัด เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง และรับการดูแล ตลอดจนควรเตรียมพร้อมในภาวะเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งเรื่องผู้ดูแลใกล้ชิด และพาหนะ