การตัดมดลูก และรังไข่

15773

การตัดมดลูก และรังไข่ เป็นการผ่าตัดมดลูกของสตรีเพื่อรักษาโรคทางนรีเวช ได้แก่ เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะเลือดออกในช่องคลอดผิดปกติ ภาวะมดลูกโผล่ย้อย ภาวะปวดในอุ้งเชิงกราน ภาวะตกเลือดหลังคลอด และโรคมะเร็งมดลูก เป็นต้น แต่โดยส่วนมากหญิงที่ต้องตัดมดลูก และรังไข่จะมีสาเหตุมาจากเนื้องอกในมดลูก ซึ่งพบประมาณร้อยละ 30-40 รองลงมาจะเป็นเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ และมดลูกหย่อน ตามลำดับ

ประเภทการผ่าตัดมดลูก และรังไข่
1. การตัดมดลูกออกทั้งหมด (complete hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด รวมทั้งส่วนของปากมดลูกด้วย แต่ยังคงเหลือรังไข่ และท่อนำไข่ทั้งสองข้างไว้

2. กาตัดมดลูกออกทั้งหมด และรังไข่ร่วมด้วย (complete hysterectomy with salpingooophorectomy) เป็นการผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด รวมทั้งส่วนของปากมดลูกด้วย ร่วมด้วยกับการตัดรังไข่ และท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างออก โดยเฉพาะการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ และป้องกันการลุกลามของมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ของสตรี

3. การตัดมดลูกบางส่วน (partial hysterectomy) เป็นการตัดมดลูกส่วนบน 2 ใน 3 ของมดลูกออก และคงเหลือปากมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ ทั้งสองข้างไว้

4. การตัดมดลูก และอวัยวะอื่นใกล้เคียงออกทั้งหมด (redical hysterectomy) เป็นการตัดมดลูกออกทั้งหมด รวมทั้งท่อนำไข่ และรังไข่ทั้งสองข้าง และตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และช่องคลอดบริเวณส่วนบนออก

วิธีการผ่าตัดมดลูก และรังไข่
1. การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง (abdominal hysterectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้บ่อย เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการผ่าตัดมดลูกร่วมด้วยกับการตัดท่อนำไข่ และรังไข่ออก หรือการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่, เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่, การติดเชื้อในช่องเชิงกราน หรือเกิดผังผืดรอบบริเวณลำไส้ แต่เป็นวิธีการผ่าตัดที่ค่อนข้างนาน

hysterectomy

การ ผ่าตัดวิธีนี้ถึงแม้ว่าจะมี ความเจ็บปวดน้อยกว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และใช้เวลาการรักษาสั้นกว่า แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ในกรณีืที่เนื้องอกในมดลูกมีขนาดใหญ่ และมีมากกว่าหนึ่งแห่ง, การมีผังผืดที่มดลูกจากช่องเชิงกรานอักเสบ, ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ, การได้รับการผ่าตัดทางหน้าท้องมาก่อน และภาวะมดลูกหย่อนไม่มาก ซึ่งภาวะเหล่านี้จะทำให้การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องได้ยาก

2. การผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด (vaginal hysterectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้ในกรณีที่สตรีมีมดลูกหย่อน กระเพาะอาหารยื่นเข้าในช่องคลอด และเนื้องอกในมดลูกขนาดเล็ก โดยวิธีนี้จะไม่ผ่าตัดรังไข่ออก

hysterectomy1

3. การผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด โดยใช้กล้องส่องทางหน้าท้อง (rapalovaginal hysterectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด และผ่าตัดหน้าท้องเพื่อใช้กล้องส่องขณะทำการผ่าตัด และใช้เครื่องมือในการผ่าตัดที่เป็นเลเซอร์ โดยจะนำมดลูกออกทางช่องคลอด ซึ่งวิธีนี้จะต้องใช้ทีมแพทย์ และพยาบาลคอยช่วยเหลือในการผ่าตัด

ผลกระทบจากการตัดมดลูก และรังไข่
1. ภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด
– การตกเลือด มักเกิดจากความล้มเหลวในการผูกเชือกยึดเส้นเลือดบริเวณปากมดลูก หรือการได้รับการบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะหรือเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณ เนื้องอกทำให้เลือดไหลค้างภายในมดลูก
– อันตรายต่อระบบทางเดินปัสสาวะ อันเกิดจากการเย็บ การผูก การตัดของระบบทางเดินปัสสาวะโดยบังเอิญ
– ภาวะแทรกซ้อนในระบบประสาท เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ขา เนื่องจาการกดทับเป็นเวลานานในระหว่างการผ่าตัด

2. ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
2.1 ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดระยะแรก
– ภาวะตกเลือด เป็นการตกเลือดใน 24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด ส่วนใหญ่เกิดจากการตัดหรือการฉีกขาดของเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำบริเวณมดลูก เส้นเลือดบริเวณรังไข่ เส้นเลือดในช่องคลอด เส้นเลือดในกระเพาะปัสสาวะ หรือเส้นเลือดบริเวณช่องเชิงกรานที่ถูกตัดออกพร้อมมดลูก
– ภาวะติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อของการผ่าตัดหน้าท้อง พบประมาณร้อยละ 4-6 ของการผ่าตัดมดลูก และรังไข่ ที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อขณะผ่าตัด มักพบเกิดหลังการผ่าตัด 3-5 วัน และเกิดภาวะแผลแยก 4-8 วัน หลังการผ่าตัด
– ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กระเพาะอาหารหรือลำไส้ทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มีอากาศในช่องท้อง การขยายตัวของกระเพาะอาหาร และการอุดตันของลำไส้
– ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มีปัสสาวะค้างอันเกิดจากผู้ป่วยไม่ถ่ายปัสสาวะหลังการเอาสวนสายปัสสาวะออกใน ระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ท่อปัสสาวะมีการหดเกร็ง ทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้

2.2 ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดระยะหลัง เป็นภาวะที่เกิดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเกิน 24 ชั่วโมง ได้แก่ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ขับถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะค้าง มีอาการท้องผูก อ่อนเพลีย อาการปวดเรื้อรังในช่องเชิงกราน แผลทะลุระหว่างช่องคลอดกับกระเพาะปัสสาวะ ท่อนำไข่หย่อน และอันตรายจากท่อปัสสาวะถูกตัด เป็นต้น

นอกจากนี้ การตัดมดลูกร่วมกับการตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างยังทำให้สตรีเข้าสู่วัยหมด ประจำเดือนก่อนกำหนด ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าสตรีที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติเนื่องจากขาด ฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างทันที ผลกระทบที่ตามมา ได้แก่

1. ผลกระทบในระยะสั้น
การตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างกะทันหัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการร้อนวูบวาบในสตรีเกิดผื่นแดงบริเวณหนังศรีษะ คอ หน้าอก และอาจมีเหงื่อออกร่วมด้วย มีอาการเกิดเป็นครั้งคราว ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ถึง 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายที่รุนแรงอาจเกิดถี่ทุกๆ 10-30 นาที โดยอาการทั่วไปจะเกิดนาน 2-3 นาที แต่บางรายอาจเกิดได้นานกว่า 10 นาที ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดในระยะต่อเนื่องนาน 1-2 ปี หรืออาจมากถึง 5 ปี และมักเกิดบ่อยในตอนกลางคืนทำให้นอนไม่หลับเกิดความเครียด ปวดศรีษะ มีอารมณ์หงุดหงิด รวมไปถึงเกิดภาวะซึมเศร้า และร่างกายเหนื่อยอ่อน

2. ผลกระทบในระยะยาว
– ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ทำให้มีขนาดเล็กลง และแบนราบ ผิวหนังบริเวณหัวเหน่าเหี่ยวแฟบ ขนบริเวณหัวเหน่าวน้อยลง คลิตอลิสหดเล็ก แคมเล็กแคมใหญ่เหี่ยวเล็ก ช่องคลอดตีบแคบ และสั้น ผนังช่องคลอดหย่อน เยื่อบุผนังช่องคลอดบางลง มีเลือดมาเลี้ยงน้อย เกิดอาการคัน และอักเสบได้ง่าย มีอาการเจ็บขณะร่วมเพศ รวมไปถึงการเปลี่ยนโครงรูปร่างเล็กลง เต้านมเล็กลง
– ผิวหนัง และขน การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยในการกักเก็บน้ำ และแร่ธาตุในเซลล์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการเสื่อมของผิว หนัง ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น มีรอยย่น มีเลือดมาเลี้ยงน้อย และเกิดอาการขนร่วงตามมา
– ระบบทางเดินปัสสาวะ หลังจาการตัดรังไข่จะทำให้อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะหดเล็กลง เกิดอาการติดเชื้อ และอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเสื่อม ทำให้ควบคุมการหลั่งปัสสาวะได้ยาก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
– ระบบหัวใจ และหลอดเลือด สืบเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อการสร้าง และเผาผลาญไขมันทำให้ระดับไขมันอิ่มตัวสูงในร่างกายลดลง และไขมันที่อิ่มตัวต่ำในร่างกายสูงขึ้น ระดับคอเลสเตอรอล ไลโปโปรตีน และไตรกลีเซอไรด์ ในร่างกายสูงขึ้น เกิดภาวะน้ำหนักเพิ่ม เกิดโรคอ้วน และส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือด
– การเปลี่ยนแปลงกระดูก จากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมให้แก่ร่างกาย โดยการเพิ่มการเผาผลาญวิตามินดี  ส่งเสริมการสร้างแคลซิโตนินที่ช่วยยับยั้งการสลายของเนื้อกระดูก และออกฤทธิ์โดยตรงต่อออสตีโอบลาสต์ที่กระตุ้นการสร้างเนื้อกระดูกโดยตรง ดังนั้น เมื่อขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้วจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และมีอัตราการสลายของมวลกระดูกเพิ่มมากกว่าปกติ ส่งผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา