ตัณหา 3 อย่าง

47369

ตัณหา หรือ ราคะ หรือ โลภะ หมายถึง ความทะยานอยากที่เกิดจากการหลงมัวเมาตามจิตของตน ตามความติดใจของตน ตามความยึดติดของตน ซึ่งทำให้ดิ้นรน และแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาสนองต่อความต้องการ ประกอบด้วย 3 ประการ คือ
1. กามตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากในทวารสัมผัสทั้ง 5 คือ ในกามรูป
2. ภวตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากเป็น คือ ความอยาก อันมุ่งหวังให้เกิดขึ้นต่อตนทั้งในชีวิตปัจจุบัน และชีวิตในภายภาคหน้า
3. วิภวตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากที่ไม่อยากเป็น คือ ความอยาก อันมุ่งหวังไม่ให้เกิดขึ้นต่อตนทั้งในชีวิตปัจจุบัน และชีวิตในภายภาคหน้า

อนึ่ง ตัณหา ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นคำเดียวกันกับคำว่า ราคะ และโลภะ คือ มีความหมายเหมือนกัน

ตัณหา 3 อย่าง
1. กามตัณหา
กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในรูปสัมผัสอันเกิดจากความกำหนัด ความหลงใหล ความติดใจในสิ่งที่ตนเคยสัมผัสจากทวารทั้ง 5 อันเป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นสิ่งน่าใคร่ น่าปรารถนา

กามตัณหา เป็นความทะยานอยากเพื่อให้ได้เสนอต่อทวารทั้ง 5 หรือกามคุณ 5 คือ
1. หูได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงเพลง ได้ยินเสียงผู้หญิง
2. ตารู้เห็น เช่น เห็นรูปกายหญิง เห็นสิ่งของสวยงาม
3. จมูกได้กลิ่น เช่น ได้กลิ่นหอมอาหาร ได้กลิ่นน้ำหอม
4. ลิ้นรับรส เช่น ชิมรู้รสหวาน ชิมรู้รสเค็ม
5. กายจับต้องสัมผัส เช่น สัมผัสรู้อุ่น สัมผัสรู้เย็น

การหลงมัวเมา ตัณหาที่เกิดขึ้นในกามคุณทั้ง 5 นี้ เป็นตัณหาในรูปธรรม มีตัวตนที่จับต้องได้ ด้วยทวารทั้ง 5 นำมาสู่จิตนึกทบทวน นึกใคร่หลงในสัมผัสที่เกิดขึ้น ทำให้ทะยานอยากที่จะสัมผัส และรับรู้อีกต่อไปเป็นนิจ

ตัณหา

2. ภวตัณหา
ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากให้เกิดขึ้นตามรูปธรรมที่ตนได้ปรุงแต่งให้เกิดในจิตใจ อาทิ อยากเป็นตำรวจ อยากเกิดเป็นเศรษฐี เป็นต้น

ภวตัณหา มีฐานศัพท์มาจากภาษาบาลี คือ
ภว แปลว่า ภพ คือ โลกหรือสถานอันเป็นที่อยู่ของตน ทั้งในชีวิตปัจจุบัน และชีวิตในภายภาคหน้า
ตณฺหา แปลว่า ความอยาก

แปลตามรากศัพท์ คือ ความอยากเป็นในสิ่งใดๆ ทั้งในชีวิตปัจจุบัน และชีวิตในภายภาคหน้า

3. วิภวตัณหา
วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากที่จะข้ามพ้นไปจากรูปธรรมที่ตนได้ปรุงแต่งให้เกิดในจิตใจ อาทิ ไม่อยากเป็นโจร ไม่อยากเกิดเป็นสัตว์ เป็นต้น

วิภวตัณหา มีฐานศัพท์มาจากภาษาบาลี คือ
วิ แปลว่า ไม่
ภว แปลว่า ภพ ในความหมายที่กล่าวข้างต้น
ตณฺหา แปลว่า ความอยาก

แปลตามรากศัพท์ คือ ความอยากไม่เป็นในสิ่งใดๆ ทั้งในชีวิตปัจจุบัน และชีวิตในภายภาคหน้า

ภวตัณหา และวิภวตัณหา เป็นความทะยานอยากในทวารที่ 6 คือ ความต้องการทางใจ ที่จิตตนพยายามปรุงแต่งให้เกิดเป็นรูปในจิตใจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานกามตัณหา คือ ความลุ่มหลงในรูปสัมผัสทั้งหลายที่ตนเคยสัมผัสมา

ผลจากการเกิดตัณหา
ตัณหา/ราคะ/โลภะนั้น เกิดขึ้นจากกำหนัดในจิตใจที่มาจากอำนาจแห่งความทะยานอยาก และความพอใจในอารมณ์นั้นๆ ผู้ที่เกิดตัณหาแล้วย่อมหลงมัวเมากับรูปที่ตนสัมผัสหรือรูปที่จิตตนสร้างขึ้นมา ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา และย่อมนำพาไปสู่ความเสื่อม ทั้งทรัพย์ และเกียรติ

ตัณหายังให้เกิดการประพฤติ คือ
1. ทางกาย 2 อย่าง คือ
– ทำให้เกิดการขโมยทรัพย์ผู้อื่น
– ทำให้ล่วงผิดในกามกับหญิงหรือชายอื่น
2. ทางวาจา 3 อย่าง คือ
– ทำให้พูดความเท็จ
– ทำให้พูดเบียดเบียน หรือยุแย่ผู้อื่นเพราะความอิจฉา
– ทำให้พูดไม่มีสาระ ไม่มีคำที่น่าเชื่อถือได้
3. ทางใจ 2 อย่าง คือ
– ทำให้ยินดีในความทุกข์ของผู้อื่น
– ทำให้รู้ผิด เข้าใจผิด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

วิธีกำจัดตัณหา/ราคะ/โลภะ
ตัณหา/ราคะ/โลภะนั้น ท่านผู้รู้กล่าวว่า ให้พึงใช้ปัญญา ตามหลักแห่งไตรสิกขา 3 พิจารณาในหลักแห่งไตรลักษณ์ 3