ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย สารสำคัญ และข้อเสียผลิตภัณฑ์

12858

ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย (antiperspirant and deodorant) มี 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ระงับกลิ่นกาย แต่ไม่ออกฤทธิ์ระงับการขับเหงื่อ ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบของกรดโบริค กรดเบนโซอิค ซิงค์สเตียเรท และยาฆ่าเชื้อโรค อีกประเภทหนึ่ง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ทั้งการระงับกลิ่น และระงับการขับเหงื่อ ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ มีเกลืออลูมิเนียมเป็นองค์ประกอบหลัก สำหรับประสิทธิภาพของสารเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับเหงื่อ และการเกิดกลิ่นกายของแต่ละบุคคล และจัดเป็นสารที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากนัก

สารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย
1. เกลืออลูมิเนียม (aluminiumsalts)
2. เกลือเซอร์โคเนียม (zirconium salts)
3. สารลดแรงตึงผิวประจุบวก (cationic surfactants)
4. สารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ (disinfectants and antibacterials)
5. สารดูดซับกลิ่น คลอโรฟิลด์ (chlorophyll)
6. สารยับยั้งเอนไซม์ (enzyme inhibitor)
7. โพรไพลีนไกลคอล (propylene glycol)

1. เกลืออลูมิเนียม (aluminiumsalts)
นิยมใช้เกลืออลูมิเนียมของกรดแก่ และเกลือเชิงซ้อนของเกลืออลูมิเนียม ได้แก่
– อลูมิเนียมคลอไรด์ (aluminium chloride)
– อลูมิเนียมไฮดรอกซี่คลอไรด์ (aluminiumhydroxychloride)
– อลูมิเนียมฟีนอลซัลฟาเมท (aluminiumphenolsulfamate)
– อลูมิเนียมซัลเฟต (aluminium sulfate)
– อลูมิเนียมฟีนอลซัลเฟต (aluminiumphenolsulfate)
– อลูมิเนียมคลอไรไฮดรอกซีแลคเตท (aluminiumchlorohydroxy lactate)
– อลูมิเนียมแอลกอฮอล์เลทคลอไรด์ (aluminiumalcoholate chloride)

สารข้างต้นมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในผิวหนังเกิดการตกตะกอน ซึ่งเนื่องจาก บนพื้นผิวของรูท่อเหงื่อจะมีประจุลบ ส่วนเกลืออลูมิเนียมจะมีประจุบวก เมื่อสารนี้ ซึมเข้าไปสู่รูต่อมเหงื่อ เกลืออลูมิเนียมจะเข้าเกาะติดในรูต่อมเหงื่อจนทำให้รูอุดตัน และปิดกั้นทางออกของเหงื่อไว้ นอกจากนี้ ยังระงับกลิ่นกายได้ด้วย เพราะสาพกรดของเกลืออลูมิเนียมจะเข้าทำปฏิกิริยากับแอมโมเนีย และเอมีน กลายเป็นสารที่มีคุณสมบัติไม่มีการระเหย (nonvolatile substance) จึงไม่เกิดกลิ่นขึ้น รวมถึงเกลืออลูมิเนียมสามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้โดยตรง ข้อเสียของเกลืออลูมิเนียม ได้แก่ การทำให้ระคายเคืองผิวหนัง และกัดทำลายเสื้อผ้า ทำให้เสื้อผ้าบริเวณที่สัมผัสสารนี้เปื่อย และขาดง่าย แก้ไขได้โดยใส่สารควบคุมระดับ pH (buffering agent) เช่น
– เบสิคอลูมิเนียมฟอร์เมท (basic aluminiumformate)
– อเซทาไมค์ (acetamide)
– ยูเรีย (urea)
– ไกลซีน (glycine)
– ฯลฯ

2. เกลือเซอร์โคเนียม (zirconium salts)
เกลือเซอร์โคเนียมที่นิยมใช้ ได้แก่ เเซอร์โคเนียมออกไซด์ และเซอร์โคเนียมไฮดรอกไซด์ ใช้ระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2453 ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้ใช้โซเดียมเซอร์โคเนียมแลคเตทในสารละลายที่เป้นกลางหรือด่าง ซึ่งมี pH 6.5-10.5 ทำหน้าที่ระงับกลิ่นโดยทำปฏิกิริยากับกรดไขมัน และเอมีนในเหงื่อกลายเป็นสารเชิงซ้อน ไม่มีกลิ่น ในสารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย อาจจะมีส่วนผสมหลักของเกลือเซอร์โคเนียมเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วกับเกลืออลูมิเนียม ซึ่งให้ผลดีกว่า นอกจากนี้ ยังลดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และการทำลายเสื้อผ้าด้วย เซอร์โคเนียมนำมาทำสารระงับเหงื่อในรูปของสารฉีดพ่น ชนิดแท่ง ครีม และอื่นๆ สารเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ ส่วนผสมที่เป็นน้ำหอมอาจทำให้เกิดอาการเช่นเดียวกัน

3. สารลดแรงตึงผิวประจุบวก (cationic surfactants)
สารลดแรงตึงผิวประจุบวก เช่น เบนเซทโทเนียมคลอไรด์ (benzethonium chloride) ซึ่งเป็นเกลือในกลุ่มควอเตอร์นารี่แอมโมเนีย (quaternary ammonium) นอกจากนี้ ยังมีสารลดแรงตึงผิวประจุบวกอีกหลายชนิด ได้แก่
– ลิเทียมโรดาไนด์ (lithium rhodanide)
– ลิเทียวซาลิซิเลท (lithium salicylate)
– ลิเทียมไอโอไดด์ (lithium iodide)
– โซเดียมไอโอไดด์ (sodium iodide)
– เฮ็กเซนอาซิเตท (hexane acetate)
– ไตรโคลซาน (triclosan)

สารเหล่านี้ สามารถระงับเหงื่อได้ และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้ไม่มีกลิ่นกายเกิดขึ้น

4. สารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ (disinfectants and antibacterials)
สมัยก่อนนิยมใช้เฮ็กซ่าคลอโรฟิน แต่ต่อมาองค์การอาหาร และยา ของสหรัฐอเมริกา (FDA) รายงานว่า สารชนิดนี้ ถ้าใช้ในความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดอาการสมองพิการในสัตว์ทดลอง ในปัจจุบันสารชนิดนี้ ถูกห้ามใช้ สารกลุ่มที่นิยมใช้ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์เป็นสารกลุ่มเดียวกับสารลดแรงตึงผิวประจุบวก ได้แก่ เบนซีโทเนียมคลอไรด์ และไตรโคลซาน เป็นต้น

เบนซัลโคเนียมคลอไรด์ (benzalkonium chloride) และเมทิลเบนเซทโทเนียมคลอไรด์ (methyl benzetthonium chloride) ที่มีความเข้มข้นต่ำมีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ถ้ามีความเข้มข้นสูงมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย นิยมใช้ผสมในยาโรคผิวหนังต่างๆ โดยใช้ความเข้มข้น 0.14-3% และใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย แต่สารเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังได้

5. สารดูดซับกลิ่น คลอโรฟิลด์ (chlorophyll)
โซเดียมคาร์บอเนต (baking sodo) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด และด่างอ่อน สามารถดูดซับกลิ่นที่เป็นกรดระเหย และทำปฏิกิริยากับกรดชนิดนี้ให้เป็นเกลือที่ไม่มีกลิ่น (stable odourless salt) ในปี พ.ศ. 2518 บริษัท คอลเกตปาล์มโอลีฟ ได้เริ่มใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นชนิดสเปรย์

คลอโรฟิลล์ ในปี พ.ศ. 2493 สารคลอโรฟิลล์ สามารถระงับกลิ่นเน่าเหม็นของบาดแผลได้ผล จะนำมาใช้ในเครื่องสำอาง และถ้าใช้สารนี้ทาภายนอกต้องใช้ที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งมีผลทำให้ติดเสื้อผ้าได้ จึงไม่นิยมใช้

6. สารยับยั้งเอนไซม์ (enzyme inhibitor)
malonatesสามารถยับยั้งเอนไซม์ succinic acid-dehydraseซึ่งพบในต่อมเหงื่อขณะหลั่งเหงื่อได้ จึงมีฤทธิ์ระงับเหงื่อ และมีประสิทธิภาพดีเช่นเดียวกับเกลืออลูมิเนียม

7. โพรไพลีนไกลคอล (propylene glycol)
โพรไพลีนไกลคอล เป็นสารที่มีลักษณะใส ไม่มีสีและกลิ่น ได้ถูกนำมาใช้ในวงการโรคผิวหนัง สารชนิดนี้สามารถอุ้มน้ำ และเปลี่ยนสภาพโปรตีนของหนังกำพร้าได้ ผลข้างเคียที่อาจพบจากการใช้สารโพรไพลีนไกลคอลคือ เกิดผื่นแพ้บนผิวหนัง

สารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกายบางชนิดมีส่วนผสมของโพรไพลีนไกลคอล เพื่อลดการติดแห้งของเกลืออลูมิเนียม นอกจากนี้ ซิลิโคน และบอแรก สามารถป้องกันการตกตะกอนของเกลืออลูมิเนียมเช่นเดียวกับโพรไพลีนไกลคอล

รูปแบบของผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย
ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย สามารถผลิตได้หลายรูปแบบ การเลือกใช้ชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย และความนิยมของผู้ใช้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีหลายรูปแบบ ได้แก่
1. ครีมระงับเหงื่อ (antiperspirant cream)
2. โลชั่นระงับเหงื่อ (antiperspirant lotion)
3. แท่งระงับเหงื่อ (antiperspirantsticks)
4. ผงระงับเหงื่อ (antiperspirantpower)

1. ครีมระงับเหงื่อ (antiperspirant cream)
ผลิตภัณฑ์ครีมระงับเหงื่อ นิยมใช้ vanishing cream base (ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำ น้ำมัน และแอลกอฮอล์) มากที่สุด เพราะทาแล้วซึมหายเร็ว ล้างน้ำออกง่าย ไม่เหนียวติดเสื้อผ้า นิยมผสมเกลืออลูมิเนียม และมีการใส่สารยับยั้งการทำลายผ้า (fabric damage inhibitor) เช่น ยูเรียหรือไกลซีน (glycine) อาจมีการเติมติตาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) ลงไป เพื่อเพิ่มความขาวให้กับเนื้อครีม

2. โลชั่นระงับเหงื่อ (antiperspirant lotion)
โลชั่นระงับเหงื่อ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โลชั่นประเภทครีม (emulsion type of lotion) ใช้วิธีการผลิตเดียวกับชนิดครีม แต่มีลักษณะเหลวกว่า และโลชั่นใสแบบลลูกกลิ้ง (clear roll-on lotion) ซึ่งมีส่วนผสมของเมทิลเซลลูโลส (methyl cellulose) หรือไฮดรอกซีเอทิลเซลลูโลส (hydroxyethyl cellulose) และช่วยลดการเสียดสีบริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมของอีมัลชั่นชนิดไม่มีประจุเพื่อกระจายน้ำหอมไม่ให้แยกตัวทั้งนี้ สารระงับกลิ่นกายชนิดโลชั่นหรือชนิดเหลว จะมีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์มากกว่าสารระงับกลิ่นกายชนิดอื่น

3. แท่งระงับเหงื่อ (antiperspirantsticks)
แท่งระงับเหงื่อ นิยมใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 โดยผสมซิงค์ฟีนอลซัลโฟเนต (zinc phenolsulfonate) และโอลีเอท (oleate) ซึ่งอยู่ในรูปของขี้ผึ้ง แต่ในปัจจุบันทำในรูปของวุ้นใสแข็ง (solidified alcohol gel ) ซึ่งผสมเกลืออลูมิเนียมในขี้ผึ้งที่หลอมละลายในแอลกอฮอล์

4. ผงระงับเหงื่อ (antiperspirantpower)
ผงระงับเหงื่อ มีประสิทธิภาพในการระงับเหงื่อน้อยที่สุด เพราะผงจะไม่ค่อยจับติดผิว เหมาะสำหรับที่จะใช้บริเวณซอกต่างๆของร่างกาย อาทิ ซอกรักแร้ ใต้ราวนม ซอกขาหนีบ บริเวณง่ามสะโพก บริเวณง่ามขา และง่ามนิ้มเท้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มักชื้นด้วยเหงื่อ จะช่วยดูดซับเหงื่อ และลดการระคายจากการเสียดสีของผิวหนังที่ชิดกัน นิยมโรยเท้ามากกว่าใช้กับรักแร้

ผลเสียของสารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย
เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยฝ้าย มีคุณสมบัติไม่ทนต่อกรด (mineral acid) โดยกรดเจือจางจะค่อยๆ เปลี่ยนเซลลูโลสเป็นไฮโดรดซลลูโลส และที่อุณหภูมิจุดเดือดจะเกิดการไฮโดรไลส์ เปลี่ยนเป็นเซลลูโลสเป็นกลูโคส กรดแร่เข้มข้นจะละลายเซลลูโลสเกิดเป็นเซลลูโลสไฮเดรท ถ้าเป็นกรดแร่เจือจางในสภาวะเย็นจะไม่มีผลต่อเส้นใย ฉะนั้น กรณีที่มีกรดในเส้นใย ก่อนจะทำผ้าให้แห้ง ควรระงับกรดออกก่อน โดยทำให้เป็นกลาง ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เส้นใยเปื่อยขาดง่าย เนื่องจากเกิด hydrocellulose

ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกายที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผ้าฝ้าย ทั้งนี้ การใช้เกลืออลูมิเนียมของกรดแก่ คือ สารละลายของเกลืออลูมิเนียม มีความเป็นกรดสูง (pH 1.5-4) ทำให้ระคายต่อผิว และทำลายเสื้อผ้าโดยเฉพาะผ้าที่ผลิตจากเส้นใยเซลลูโลส โดยกรดที่ผสมอยู่ในสารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกายจะเปลี่ยนสีของผ้า ทำให้ผ้าสีซีดจางหรือคล้ำขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ทำให้ความเหนียวของผ้าลดลง เนื่องจากกรดที่อยู่ในสารชนิดนี้ดูดซับเข้าไปในผ้าเป็นเหตุให้ใยเซลลูโลสเสื่อมสภาพ

การป้องกันการเปื่อยของเส้นใย ทำได้โดยการระงับเอากรดออกให้หมดโดยล้างน้ำหลายๆครั้ง หรือทำให้เป็นกลางโดยใช้โซดาแอซล้างด้วยน้ำ และล้างครั้งสุดท้ายด้วยโซเดียมแอซีเทต (sodium acetate) เพื่อป้องกันในกรณีที่ยังมีกรดหลงเหลืออยู่ และจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดแอซีติก (acitic acid) ซึ่งทั้งเกลือ และกรดแอซีติกจะมีกำลังการแตกตัวต่ำ และระเหยช้า จึงไม่ทำอันตรายต่อผ้า

สถาบันการซักรีดของสหรัฐอเมริกา (The American Institute of Laundering) กำหนดไว้ว่าการสูญเสียความเหนียวหรือแรงดึงผิว (tensile strength) ภายในเนื้อผ้าจะต้องไม่เกิน 10% ของความเหนียวเดิม จึงจะถือว่าไม่เกิดการทำลายของผ้า

ผ้าที่มีรอยเปื้อนจากการใช้สารระงับเหงื่อ และระงับกลิ่นกาย ควรซักด้วยน้ำธรรมดา อาจจะใช้น้ำอ่อนหรือน้ำกระด้างก็ได้ เพื่อระงับคราบของอลูมิเนียมออกไป หลังจากนั้นจึงซักด้วยสารซักฟอก แต่ไม่ควรใช้สบู่ถูตัวทำความสะอาดรอยเปื้อนนี้ เพราะจะทำให้คราบฝังแน่นยิ่งขึ้น