พิษมะกล่ำตาหนู ที่สุดพืชมีพิษ

    11947

    มะกล่ำตาหนู หรือที่เรียกในชื่ออื่น กล่ำเครือ, กล่ำตาไก่, มะกล่ำเครือมะแค็ก, ไม้ไฟ, เกมกรอม, ชะเอมเทศตากล่ำ, มะขามเถา, มะกล่ำแดง, มะแด๊ก, มะขามไฟ และตาดำตาแดง จัดเป็นพืชตระกูลถั่ว มีใบออกเป็นคู่รูปขนนก คล้ายใบมะขาม 8- 15 คู่ ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะดอกมีสีม่วงออกขาว และชมพู ผลมีลักษณะเป็นฝักคล้ายถั่วลันเตา มี 3-5 เมล็ด ลักษณะเมล็ดกลมรีเล็กน้อย ขนาดประมาณ 5-8 มิลลิเมตร สีแดงสดเป็นมัน มีสีดำตรงขั้วเมล็ด พบมากในเชีย โดยเฉพาะ จีน อินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ลาว และประเทศไทย เป็นต้น

    มะกล่ำตาหนูมักพบในพื้นที่ป่ารก หรือตามแนวรั้ว หรือข้างถนนที่มีไม้อื่นขึ้นรก โดยเฉพาะพื้นที่ในชนบทจะพบมาก แต่ในบางท้องที่อาจพบน้อยหรือไม่พบเลย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชุมชนหรือรอบชุมชน เพราะมักมีการถางทำลายทิ้ง เนื่องด้วยกลัวเรื่องเด็กๆหรือคนที่ไม่รู้ว่าเมล็ดของพืชชนิดนี้มีพิษอาจเก็บกินได้

    มะกล่ำต้น มีเมล็ดคล้ายกับมะกล่ำตาหนู โดยมีลักษณะสีแดงเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่เมล็ดมะกล่ำต้นสามารถรับประทานได้ทั้งเมล็ดดิบ และเมล็ดสุก มะกล่ำต้นเป็นไม้ยืนต้นสูง ผลมีลักษณะเป็นฝักเหมือนมะกล่ำตาหนูแต่มีลักษณะบิดเป็นเกลียว และมีขนาดยาว 10-25 เซนติเมตร เมล็ดมะกล่ำต้นมีลักษณะสีแดงสดเหมือนมะกล่ำตาหนู แต่แตกต่างที่มีลักษณะแบน และนูนตรงกลาง มีขนาดเล็กกว่า

    มะกล่ำตาหนูสุก
    มะกล่ำตาหนู
    มะกล่ำต้น
    มะกล่ำต้น

    สารพิษ : ส่วนที่มีพิษจะพบในส่วนของเมล็ด ที่ประกอบด้วยสาร N-methyltryptophan, abric acid, glycyrrhizin, lipolytic enzyme และ abrin ส่วนของ abrin จะมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับสาร ricin เป็นสารที่ออกฤทธิ์เป็นพิษของเมล็ด ประกอบด้วย abrin A และ abrin  B

    การออกฤทธิ์เมื่อเคี้ยวกินเมล็ดเข้าไป สาร abrin จะเข้าทำลายเม็ดเลือดแดง ระบบทางเดินอาหาร และไต โดย abrin A และ abrin B จะออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของไรโบโซม แต่สารนี้เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวง่าย และไม่คงทนเมื่อสัมผัสกับน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหาร ขนาดของพิษเมื่อใช้ abrin เพียง 0.1-1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือเพียง 1 เมล็ด ก็ทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หากถูกตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือตาบอดได้

    อาการได้รับพิษ
    หากเป็นสาร abrin ที่มีการสังเคราะห์ อาจได้รับเข้าสู่ร่างกายด้วยการกิน การหายใจ และการสัมผัส แต่หากการได้รับพิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู มักพบได้รับพิษด้วยการกลืนกินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะแสดงอาการของพิษ ดังนี้
    1. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด รวมไปถึงอาการช็อคจากการเสียเลือด
    2. ในระบบหัวใจ และหลอดเลือด จะมีผลกระทบทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หากได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
    3. ระบบประสาท ทำให้มีอาการเพ้อ เหม่อลอย ระบบการรับสัมผัสช้า ไม่รู้สึกตัวหรือหมดสติ
    4. เซลล์ของไตถูกทำลาย ปัสสาวะน้อย มีเลือดปะปนในปัสสาวะ
    5. กล้ามเนื้ออ่อนแรง สั่น และมีอาการชัก เกร็ง กระตุก

    การรักษา
    การรักษาพิษจากมะกล่ำตาหนูยังไม่มียาที่สามารถรักษาพิษได้ หากได้รับพิษของ abrin หรือการกลืนกินมะกล่ำตาหนู ให้ปฏิบัติ ดังนี้

    1. การได้รับด้วยการสัมผัสทางผิวหนังหรือเข้าตา
    เมื่อ abrin ถูกสัมผัสทางผิวหนังหรือเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำทันที

    2. การได้รับพิษด้วยการหายใจ
    การหายใจเอา abrin เข้าสู่ทางเดินหายใจจะทำให้ปอดบวมน้ำได้ง่าย ดังนั้น เมื่อได้รับพิษทางนี้ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

    3. การได้รับพิษด้วยการกลืนกิน
    การได้รับพิษจากการกลืนกินมักพบผู้ป่วยที่กินเมล็ดมะกล่ำตาหนู ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบทำอาเจียนทันที พร้อมด้วยดื่มน้ำร้อน และทำอาเจียนควบคู่กัน หลังจากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที

    การป้องกัน
    จากสถิติการได้รับพิษมักพบในเด็ก ซึ่งไม่ทราบว่าผลไม้ชนิดนั้นมีพิษหรือไม่ ดังนั้น แนวทางในการป้องกันคือการป้องกันมิให้เก็บกินเมล็ดมะกล่ำตาหนู ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับพืชมีพิษ โดยเฉพาะในวัยเด็ก