มะเร็งเต้านม

11635

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) หมายถึง เนื้องอกชนิดร้ายแรงที่เกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อเต้านม  ที่สามารถแพร่กระจาย (Systemic disease) ไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย โดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งการแพร่กระจายจะผ่านทางระบบน้ำเหลือง และระบบหลอดเลือด รวมถึงกระจายด้วยการลุกลามเฉพาะ เช่น การแพร่กระจายสู่สมอง กระดูก ตับ และปอด เป็นต้น โดยโรคนี้ พบมากเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งแต่ละคนจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมแตกต่างกัน

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงจำนวนมาก และเป็นโรคมะเร็งอันดับต้นๆที่เกิดในผู้หญิง สาเหตุการเกิดมะเร็งนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีการศึกษาลักษณะการเกิดของโรคมักพบในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

1. มักพบในครอบครัวหรือมีเครือญาติที่มีประวัติเป็นมะเต้านม เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า และมีความเสี่ยงสูงขึ้น หากพบว่ามารดาเป้นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้างในวัยหมดประจำเดือน
2. สตรีที่มีประจำเดือนตั้งแต่ก่อนอายุ 12 ปี และประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี
3. สตรีที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรขณะที่มีอายุมาก
4. มีการใช้ยาหรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณสูง
5. ร่างกายได้รับหรือสัมผัสกับรังสี โดยเฉพาะได้รับรังสีในช่วงอายุก่อน 35 ปี
6. มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับเต้านม เช่น ถุงน้ำในเต้านม
7. เคยเป็นมะเร็งเต้านมที่ข้างใดข้างหนึ่งมาก่อน
8. เคยเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่น โดยเฉพาะมะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่
9. สตรีที่มีภาวะเครียดบ่อยๆ

มะเร็งเต้านม

ลักษณะเต้านม
1. เนื้อนม (breast parenchyma)
เป็นส่วนที่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อไขมันที่อยู่รวมกับเนื้อเยื่อไฟบรัส โดยมีท่อน้ำนม และต่อมนมอยู่ภายใน โดยเรียกรวมกันว่า fibroglandular tissue ลักษณะรูปร่างของเต้านมคนผู้หญิงแต่ละคนที่แตกต่างกันจะเกิดจากสัดส่วนปริมาณของเนื้อเยื่อ ลักษณะการวางตัว และการผสานของเนื้อเยื่อ

2. หลอดเลือด (vessels)
ประกอบด้วยส่วนของหลอดเลือดแดงหลักที่มาเลี้ยงเต้านมที่มาจาก internal mammary artery และ lateral thoracic artery และหลอดเลือดแดงส่วนน้อยที่มาจาก สาขาย่อยของ thoraco-acromial artery, subscapular artery, intercostals artery และ thoracodorsal artery ส่วนหลอดเลือดดำที่ออกจากเต้านม จะมีการวางตัวตามระบบหลอดเลือดแดง แต่อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

3. หัวนม และลานหัวนม (nipple and areola)
เป็นโครงสร้างบนสุดของเต้านมที่มองเห็นเด่นชัด โดยขนาดของลานนมของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ลานนมจะขยายออกได้ตามสภาวะการไหลเวียนเลือด และมักจะมีสีคล้ำขึ้นในสตรีมีครรภ์ ภายในหัวนมจะมีรูเปิดของท่อนมประมาณ 15-20 อัน ซึ่งภาวะปกติจะมีสารเคอราตีนแทรกอยู่ ทำให้ไม่สามารถแยง probe ขนาดเล็กผ่านเข้าภายในท่อนมได้ บริเวณลานนมจะมีตุ่มขนาดเล็ก เรียกว่า tubercles of Montgomery ที่เป็น sebaceous gland ขยายออก และจะเห็นได้ชัดเจนในบางคน โดยเฉพาะเวลามีครรภ์

4. ผิวหนัง และหลอดเลือดใต้ผิวหนัง (skin and dermal lymphatics)
ผิวหนังของเต้านมจะมีลักษณะเรียบสม่ำเสมอ มีความหนา และขนาดใกล้เคียงกันทั้งสองข้าง ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร สำหรับการตรวจผิวหนังจะมีความสาคัญในการวินิจฉัย inflammatory carcinoma ซึ่งผิวหนังจะหนา และเป็นคล้ายผิวส้ม

อาการของโรค
มะเร็งเต้านมโดยทั่วไปจะพบเป็นมากที่ข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา โดยตำแหน่งที่พบก้อนมะเร็งได้บ่อยแบ่งเป็นส่วนบนด้านในร้อยละ 15 ส่วนล่างด้านในร้อยละ 12 และส่วนล่างด้านนอกร้อยละ 6 ซึ่งจะแสดงอาการ ดังนี้
1. พบก้อนเนื้อในเต้านมโดยที่ไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนเนื้อที่พบอาจเคลื่อนที่ได้หรือเกาะแน่นอยู่กับที่ ระยะนี้จะยากต่อการวินิจฉัย และสามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง เมื่อระยะเวลานานขึ้นก้อนเนื้อจะโตขึ้น สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เมื่อคลำที่ก้อนเนื้อจะแข็งขุรขระ
2. เริ่มมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณก้อนเนื้อ และบริเวณโดยรอบ มีการดึงรั้งของผิวหนังจนรู้สึกตึง ผิวหนังบริเวณเต้านมหรือหัวนมจะบวมแดง มักพบน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากหัวนม หลอดเลือดบริเวณเต้านมมีการขยายตัว เนื่องจากมีการอุดตันของทางเดินท่อน้ำเหลืองจนทำให้ผิวหนังมีลักษณะเหมือนผิวส้ม หลังจากนั้น ก้อนจะแตกเป็นแผล มีอาการเจ็บปวดเหมือนเป็นฝี
3. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โต ก้อนเนื้อมะเร็งกระจายตัว และพบเกิดขึ้นบริเวณรอบเต้านม และมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
ผู้ป่วยมักจะพบว่าตนเองมีความผิดปกติของเต้านม ก็ต่อเมื่อก้อนเนื้อในเต้านมที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่มากแล้ว จึงมาพบแพทย์ การวินิจฉัยของแพทย์ว่าเป็นมะเร็งมะเต้านม มีวิธีการ ดังนี้
1. การคลำขนาดก้อนที่เต้านม และการคลำต่อมน้ำเหลืองที่มีลักษณะโตผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้น
2. การใช้วิธีอัลตราซาวนด์ (ultrasound) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสำหรับสร้างภาพโครงสร้างของเนื้อเต้านม เพื่อช่วยวินิจฉัยหลังการคลำพบว่าเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตัน
3. การใช้เข็มเจาะ (needle aspiration) ด้วยการใช้เข็มกลวงขนาดเล็กเจาะเข้าไปที่บริเวณก้อนที่ตรวจพบ เพื่อดูดน้ำหรือเซลล์ออกมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ตรวจเพื่อแยกถุงน้ำกับก้อนที่เต้านม
4. สำหรับการคลำหาก้อนไม่ได้ เนื่องจากยังไม่เป็นก้อนหรือก้อนมีขนาดเล็กมาก แพทย์จะใช้ลวด (wire localization)  สอดเข้าไปให้ปลายชี้อยู่ที่บริเวณที่ผิดปกติ และทำการเอกซเรย์เพื่อจัดทำแมมโมแกรม ซึ่งจะได้ภาพแสดงตำแหน่งผิดปกติที่อาจเป็นมะเร็ง
5. การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (breast biopsy) เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยที่แม่นยำ และใช้มากที่สุด ซึ่งเป็นการตรวจทางจุลกายวิภาคของเนื้อเยื่อบริเวณก้อนเนื้อนั้น

การแบ่งระยะของมะเร็งเต้านมตามระบบ TNM ของ UICC และAJCSS แบ่งได้ดังนี้
ระยะ T-มะเร็งขั้นปฐมภูมิ

ระยะ T1S-มะเร็งมีก้อนเล็กกว่า 2 เซนติเมตร
T1a-ก้อนมะเร็งเคลื่อนไหวได้
T1b-ก้อนมะเร็งมีการยึดแน่นที่ผังผืดหรือกล้ามเนื้อ

ระยะ T2-ก้อนมะเร็งขนาด 2-5 เซนติเมตร
T2a-ก้อนมะเร็งเคลื่อนไหวได้
T2b-ก้อนมะเร็งมีการยึดแน่นที่ผังผืดหรือกล้ามเนื้อ

ระยะ T3-ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร
T3a-ก้อนมะเร็งเคลื่อนไหวได้
T3b-ก้อนมะเร็งมีการยึดแน่นที่ผังผืดหรือกล้ามเนื้อ

ระยะ T4-ก้อนมะเร็งมีการลุกลามไปยังผิวหนัง ทรวงอก และกล้ามเนื้อ

ระยะ N-ต่อมน้ำเหลืองผิดปกติ
N0-ไม่สามารถคลำหาต่อมน้ำเหลืองได้
N1-คลำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้ และเคลื่อนไหวไปมาได้
N2-คลำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้ และไม่เคลื่อนไหวมีการยึดแน่น
N3-คลำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้ หรือคลำต่อมน้ำเหลืองเหนือแอ่งกระดูกไหปลาร้าได้หรือมีอาการแขนบวม

ระยะ M-มีการแพร่กระจาย
M0-ไม่มีการแพร่กระจาย
M1-มีการแพร่กระจาย

ระยะมะเร็งเต้านม
ระยะที่ 1
ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร สามารถเคลื่อนไหวหรือยึดแน่น ยังไม่พบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรืออวัยวะอื่น

ระยะที่ 2
ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 เซนติเมตร สามารถเคลื่อนไหวหรือยึดแน่น ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรืออาจมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เพียงข้างเดียว

ระยะที่ 3
ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร สามารถเคลื่อนไหวหรือยึดแน่น มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ต่อมน้ำเหลืองอาจเคลื่อนไหวได้หรือไม่ได้ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น

ระยะที่ 4
มะเร็งมีการแพร่กระจาย และลุกลามไปยังผิวหนังหรือผนังทรวงอก แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือหรือใต้กระดูกไหปลาร้า รวมถึงอาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

การรักษา
การรักษามะเร็งเต้านมจะใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. Local and regional therapy ได้แก่ Surgery radiation
2. Systemic therapy ได้แก่ Chemotherapy, Hormone therapy และTargeted therapy
การเลือกวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งที่เป็น โดยผู้ป่วยอาจแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่ม 1 เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม (Stage I, II)
กลุ่ม 2 เป็นมะเร็งเต้านมในระยะลุกลาม (Stage IIIA, IIIB)
กลุ่ม 3 เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย (Stage IV)

วิธีการรักษา แบ่งได้ ดังนี้
1. การผ่าตัด
2. การใช้รังสี (Radiation Therapy)
3. การใช้ฮอร์โมน (Hormone Therapy)
4. เคมีบำบัด และการใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็ง (Chemotherapy )
5. การปลูกถ่ายไขกระดูก

การรักษาแบบ Chemotherapy  แบ่งเป็น
1. Adjuvant Chemotherapy เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หลังจากรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจจะหลงเหลืออยู่ โดยมักให้เป็น combination regimen เช่น AC, CMF, FAC C = cyclophosphamide M = Methotrexate F = 5-FU A = Adriamycin
2. Neoadjuvant Chemotherapy เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ การให้ยาก่อนจะช่วยให้ก้อนมะเร็งเล็กลงสามารถที่จะผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
3. Preoperative Chemotherapy เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในรายที่ก้อนเป็น operable mass โดยอาจให้ยาก่อนผ่าตัดเพื่อทดสอบการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมี และสำหรับการวางแผนการให้ยาในอนาคต
4. Primary therapy เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสำหรับรายที่มะเร็งเต้านมอยู่ในระยะแพร่กระจาย ซึ่งจะเป็นการรักษาหลักด้วยการให้ยาเคมีบาบัดเท่านั้น

การรักษาแบบ Hormone Therapy
มะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมน Estrogen ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องตรวจหา ER, PgR โดยทางการแพทย์ พบว่า ในผู้ป่วยที่มีผล ER, PgR เป็นบวก ฮอร์โมน estrogen จะจับกับ receptor ซึ่งจะทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

การรักษาแบบ Targeted Therapy  เป็นการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงสำหรับเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด ในปัจจุบันมีวิธีที่นิยมใช้ เช่น herceptin

การรักษาแบบ Radiation Therapy
เป็นการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการฉายรังสี อาจแบ่งเป็น Adjuvant RadiationTherapy ซึ่งอาจรักษาหลังจากรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว

การรักษาจะได้ผลดีหรือมีโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะหายได้ขึ้นอยู่กับระยะของเซลล์มะเร็ง หากผู้ป่วยสามารถพบในระยะแรกย่อมจะเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งผู้ป่วยเองสามารถตรวจลักษณะของเต้านมที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ดัวยตนเองได้ตามแนวทาง ดังนี้
1. การตรวจขณะอาบน้ำ
เป็นช่วงที่ผิวหนังมีการเปียก และลื่น ซึ่งจะสามารถตรวจได้ง่ายขึ้น ทำการตรวจด้วยการใช้ปลายนิ้ววางราบบนเต้านม พร้อมกับคลำ และเคลื่อนปลายนิ้วมือในลักษณะคลึงเบาให้ทั่วบริเวณเต้านมเพื่อค้นหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติ

2. การตรวจหน้ากระจก
– ให้ยืนตรง โดยมือแนบที่ลำตัวแล้วยกแขนขึ้นเหนือศรีษะ พร้อมให้สังเกตลักษณะเต้านม
– ทำมือเท้าสะเอว พร้อมกับกดที่สะโพกแรงๆ เพื่อให้มีการเกร็ง และหดตัวของกล้ามเนื้อ พร้อมกับสังเกตความผิดปกติของเต้านม

3. การตรวจในท่านอน
ทำการนอนราบ และใช้มือข้างหนึ่งหนุนที่ศรีษะ และใช้มืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำบริเวณเต้านม และทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง โดยการตรวจแต่ละครั้งให้เริ่มที่บริเวณส่วนนอกบริเวณเหนือสุดของเต้านม เวียนเป็นรอบเต้านมเป็นวงจนถึงบริเวณหัวนม และสุดท้ายให้ค่อยๆบีบที่หัวนมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้พร้อมสังเกตว่ามีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาหรือไม่

การตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้นควรทำอย่างสม่ำเสมอ ระยะที่ควรตรวจคือหลังหมดประจำเดือนในวันที่ 4-7 ของรอบเดือน ซึ่งระยะนี้เต้านมจะมีขนาดเล็กที่สุด ส่วนหญิงตั้งครรภ์สามารถตรวจในวันใดก็ได้เพราะไม่การเป็นประจำเดือน หากตรวจพบความผิดปกติควรทำการเข้าปรึกษาแพทย์ทันที