อริยวัฑฒิ 5 ประการ

28888

อริยวัฑฒิ 5 ประการ คือ หลักธรรม 5 ประการ ที่ช่วยสร้างความเจริญให้กับผู้ปฏิบัติ เพื่อป้องกันการเสื่อมในความดีที่เคยได้ปฏิบัติ ประกอบด้วย 5 ประการ ดังนี้
1. ศรัทธา หมายถึง การเจริญด้วยศรัทธา คือ การเชื่ออย่างมีเหตุ และผล ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา วิเคราะห์ในสิ่งเหล่านั้นถึงความจริงที่เป็นไปได้ เห็นได้ และพิสูจน์ได้จริง โดยไม่หลงเชื่อในสิ่งเหล่านั้นอย่างขาดเหตุ และผล

2. ศีล หมายถึง การเจริญด้วยศีล หมายถึง การสำรวมในกาย และวาจา ให้ประพฤติอยู่ในหลักศีลธรรมอันงาม ศีลที่ปุถุชนพึงรักษานี้ ได้แก่
– ศีล 5
– ศีล 8

3. สุตะ หมายถึง การเจริญด้วยการได้ฟัง ในที่นี้หมายความโดยสรุป คือ การเจริญด้วยการศึกษาเล่าเรียนอันเกิดจากคำสอนของผู้รู้ต่างๆ ดังนั้นแล้ว จึงเห็นควรมีความหมายครอบคลุมถึงการศึกษาที่มิใช้การได้ฟัง อาทิ การอ่าน การชม การฝึกปฎิบัติ เป็นต้น

4. จาคะ หมายถึง การเจริญด้วยการให้ คือ การรู้จักให้ทานในทรัพย์สิ่งของ หรือ รู้จักเสียสละในอารมณ์ความต้องการของตน (ไม่ตามใจตน) ประกอบด้วย
การบริจาควัตถุ
การบริจาควัตถุ คือ การบริจาคทรัพย์สิ่งของของตนให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เช่น
– การบริจาคเงินช่วยเหลือการก่อสร้างอาคารเรียน
– การบริจาคข้าวปลาอาหารหรือการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กในศูนย์เด็กกำพร้า
ฯลฯ

การบริจาคความรู้
การบริจาคความรู้ หมายถึง การบริจาคความรู้ของตนด้วยการสั่งสอนหรือคำปรึกษาแนะนำให้แก่ผู้อื่น เช่น
– สอนหนังสือเด็ก
– อบรมการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร
ฯลฯ

การบริจาคอวัยวะ
การบริจาคอวัยวะ หมายถึง การบริจาคอวัยวะในร่างกายของตนให้แก่คนอื่นที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ เช่น
– การบริจาคดวงตา
– การบริจาคไต
ฯลฯ

การบริจาค/สละทางด้านอารมณ์
การบริจาคทางด้านอารมณ์ หมายถึง การละซึ่งอารมณ์อันเป็นความโกรธ ความอยาก และความหลงของตน ไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแก่ตน เช่น
– ข่มใจไม่ซื้อเสื้อผ้า เพราะมีเสื้อผ้ามากพออยู่แล้ว
– ระงับอารมณ์โกรธ และไม่ตอบโต้เมื่อถูกผู้อื่นดุด่า
ฯลฯ

5. ปัญญา หมายถึง การเจริญด้วยปัญญา คือ การมีความรู้แจ้ง และเข้าใจในทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว ประกอบขึ้นด้วย 3 ลักษณะ คือ
– สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่ได้จากตำราเรียน หรือ การสอนจากครูอาจารย์
– จินตมยปัญญา เป็นปัญญาที่ได้จากการใช้ความคิด วิเคราะห์ เพื่อหาเหตุ และผล
– ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ได้จากการฝึกทำ ฝึกปฏิบัติในขั้นจริง เพื่อให้รู้ และเห็นด้วยตนเอง

อริยวัฑฒิ