อริยสัจ 4 และแนวทางปฏิบัติ

84790

อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงแห่งพระอริยะ สำหรับการดับทุกข์ เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงอันประกอบด้วยธรรม 4 ประการ คือ
1. ทุกข์ คือ ความทุกข์ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
2. สมุทัย คือ มูลเหตุหรือต้นเหตุแห่งทุกข์นั้น
3. นิโรธ คือ สิ่งที่ใช้ดับทุกข์
4. มรรค คือ แนวทางแห่งการดับทุกข์

คุณสมบัติของอริยสัจ 4
1. เป็นความจริงที่พระอริยะรู้แจ้ง (ตรัสรู้)
2. เป็นความจริงที่พระอริยะพึงมี
3. เป็นความจริงที่ทำให้เป็นอริยะ
4. เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ และไม่มีวันหักล้างได้

อริยสัจ4

ขั้นตอนการเข้าถึงอริยสัจสี่ 3 ประการ คือ
1. การรับรู้
การรับรู้ คือ ความเข้าใจในสิ่งที่มากระทบกับประสาทสัมผัสทั้ง 6 ที่นำมาสู่สิ่งที่กาย และใจตนไม่ปรารถนา เรียกว่า ทุกข์

2. การใช้ปัญญา
การใช้ปัญญา คือ การคิด วิเคราะห์เหตุแห่งที่มาของความทุกข์นั้น โดยใช้พื้นฐานแห่งความรู้ของตนที่มีมาจนรู้แจ้งในเหตุ และผลในสิ่งเหล่านั้น เรียกว่า สมุทัย

3. การกำหนดสิ่งดับทุกข์
การกำหนดสิ่งดับทุกข์ เป็นขั้นหลังจากที่รู้เหตุแห่งทุกข์แล้วจึงใช้ปัญญากำหนดเครื่องดับทุกข์ คือ การยอมรับในทุกข์ด้วยความเข้าใจในความจริงของทุกสรรพสิ่ง เรียกว่า นิโรธ

4. การปฏิบัติ
การปฏิบัติ คือ การดำเนินตามแนวทางที่ช่วยส่งเสริมเครื่องดับทุกข์หรือทำให้เกิดการดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์ 8

อธิบายเพิ่มเติมแห่งอริยสัจ 4
1.ทุกข์
ทุกข์ แห่งอริยสัจ 4 หมายถึง สภาพที่ทำให้เกิดความไม่สบายกาย และสบายใจ ทั้งสภาพที่ทนได้ คือ เกิดขึ้นน้อย และสภาพที่ทนได้ยาก คือ เกิดขึ้นมาก แต่หากกล่าวให้ลึกในทางธรรมแห่งพระอริยะ คือ สภาวะของทุกสรรพสิ่งที่ไม่เป็นไปตามการยึดมั่น ถือมั่น เพราะเหตุที่ต้องตกอยู่ในกฎแห่งความไม่เที่ยง

ปัญจุปาทานักขันธ์ 11 ประการ (ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับทุกชีวิต)
– การเกิด (ชาติ)
– การแก่ (ชรา)
– การตาย (มรณะ)
– การโศกเศร้า (โสกะ)
– การร่ำไร และรำพัน(ปริเทวะ)
– การทุกข์กาย (ทุกขะ)
– การทุกข์ใจ (โทมนัสสะ)
– การคับแค้นใจ (อุปายาส)
– การพลั้งเจอหรืออยู่ร่วมกับสิ่งที่ตนไม่รัก ไม่ยินดี (อิปปิยสัมปโยค)
– การพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก (ปิยวิปปโยค)
– การปรารถนาที่ไม่ได้ตามปรารถนา (อิจฉาวิฆาตะ)

ความทุกข์เหล่านี้ ย่อมเกิดแก่ทุกชีวิต ทั้งปุถุชนทั่วไป และผู้ทรงศีลที่ยังไม่เข้าถึงพระนิพพาน สำหรับปุถุชนทั่วไป คือ ฆราวาสผู้รักษาศีล 5 หรือ ศีล 8 แนวทางแห่งอริยสัจ 4 นี้ จะมีประโยชน์ต่อการดับทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต อาทิ ความทุกข์จากความยากจน ความทุกข์จากถูกดุด่า ความทุกข์จากการสูญเสีย เป็นต้น

2. สมุทัย
สมุทัย แห่งอริยสัจ 4 หมายถึง สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ กำหนดรู้ด้วยการใช้ปัญญาในการคิด วิเคราะห์ ภายใต้พื้นฐานของความรู้ และสติปัญญาของตน

สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในคำสอนของพระพุทธองค์ คือ ตัณหา อันประกอบขึ้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น และความทะยานอยากในจิตของตน แบ่งเป็น 3 อย่าง
1. กามตัณหา คือ ความอยากที่ต้องการในการได้มา การต้องจับหรือสัมผัสกับสิ่งที่ตนรักใคร่ ได้แก่ เห็นรูปกาย ได้ยินเสียง ได้กลิ่นหอมเหม็น รับรสทั้ง5 และสัมผัสกาย
2. ภวตัณหา คือ ความอยากอยากมี อยากเป็นในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นกับตน เช่น อยากเป็นคนร่ำรวย อยากมีรถยนต์ เป็นต้น
3. วิภวตัณหา คือ ความอยากที่ไม่ต้องการให้เป็นไปในสิ่งที่ตนไม่ปรารถนา หรือต้องการให้เกิดขึ้นในสิ่งที่ตนปรารถนา เช่น ไม่อยากเจอคนพาล ไม่อยากไปโรงเรียน เป็นต้น

การพิจารณาเพื่อเข้าถึงสมุทัยตามวิถีแห่งปุถุชนในการดำเนินชีวิตนั้น เป็นการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบสาเหตุทั่วไปของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต ถือว่ายังไม่ถึงขั้นของการเข้าถึงสมุทัยแห่งพระนิพพาน อาทิ สาเหตุการสอบตก สาเหตุการมาโรงเรียนสาย เป็นต้น

3. นิโรธ
นิโรธ แห่งอริยสัจ 4 หมายถึง ความดับทุกข์หรือสิ่งที่ใช้ดับทุกข์ ด้วยการเข้าใจในความทุกข์อันมีตัณหาเป็นสาเหตุที่ทุกชีวิตไม่สามารถหลีกพ้นได้

เมื่อจิตมองเห็นถึงความดับทุกข์ คือ จิตสงบไม่มีความยินดีหรือไม่ยินดีกับความทุกข์ที่เกิด อันประกอบขึ้นด้วยการหลุดพ้นแห่งกิเลสทั้งปวง นั่นคือ พระนิพพาน ที่ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิทั้งหลาย

การเข้าถึงนิโรธของปุถุชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตนั้น เป็นเพียงการดับทุกข์ที่เป็นกิเลสพื้นฐานทั่วไป มิใช่การดับซึ่งกิเลสแห่งพระนิพพาน เรียกการเข้าถึงนิโรธในลักษณะนี้ว่า การดับทุกข์ชั่วขณะหรือนิพพานชั่วขณะ (ตพังคนิพพาน)

ธรรมอันช่วยทำให้เข้าถึงนิโรธได้นั้น ท่านกล่าวให้พึงใช้หลักธรรมที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ 3 อันประกอบด้วย
– อนิจจัง คือ ทุกสรรพสิ่งไม่มีความเที่ยง
– ทุกขัง คือ ทุกสรรพสิ่งย่อมมีความทุกข์
– อนัตตา คือ ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่มีตัวตน ไม่สามารถทำให้เป็นไปตามที่ตนมุ่งหมายได้ทุกอย่าง

4. มรรค
มรรค แห่งอริยสัจ 4 หมายถึง หนทางหรือแนวทางแห่งการดับทุกข์

มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์นั้น แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. มรรค 8 คือ มรรคที่อรรถาธิบายในเชิงที่เหมาะสำหรับพุทธศาสนิกชนพึงนำไปใช้ปฏิบัติ
2. อริยมรรค 8 คือ มรรคที่อรรถาธิบายในเชิงที่เหมาะสำหรับผู้ทรงศีลพึงนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน แห่งการเป็นพระอริยะ

มรรค 8 คือ ธรรมอันเป็นแนวทางแห่งการดับทุกข์ 8 ประการคือ
1. สัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ สมุทัย และนิโธ
2. สัมมาสังกัปปะ คือ การคิดชอบหรือรู้ดำริชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ เว้นจากมิจฉาสังกัปปะ 3
3. สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ เว้นจากวจีทุจริต 4
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ เว้นจากกายทุจริต 3
5. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ วิริยะ
6. สัมมาวายามะ คือ การเพียรชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ ปธาน 4
7. สัมมาสติ คือ การตั้งสติชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ สติสัมปชัญญะ
8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นชอบ ใช้ธรรมพื้นฐาน คือ ฌาน 4