เชื้อโรคกลาก

    14801

    สายพันธุ์ของเชื้อรามีมากกว่า 200,000 สายพันธุ์ แต่มีเพียงประมาณ 100 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ และสัตว์ ที่สำคัญคือพวก Dermatophytes ที่ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนัง โดยเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

    1. Superficial mycoses เป็นสายพันธุ์เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคบริเวณผม ขน และส่วนบนของผิวหนัง เป็นชนิดเชื้อราที่ไม่ทำให้เกิดโรคอันตรายมากนัก เป็นเพียงก่อให้เกิดความรำคาญ และไม่สวยงามเท่านั้น

    2. Systemic หรือ deep mycoses เป็นสายพันธุ์เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคที่อวัยวะภายใน และสามารถแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ saprophytic fungi ที่พบได้ในดิน ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจคล้ายวัณโรค มีอาการปอดอักเสบ โรคที่เกิดจากเชื้อรานี้สามารถหายเองได้ แต่ในบางรายเกิดอาการเรื้อรัง และเชื้อแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น

    3. Subcutaneous mycoses เป็นสายพันธุ์เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนัง และสามารถเกิดแพร่กระจายได้ลึกถึงกระดูก เชื้อพวกนี้สามารถพบได้ในดินหรือต้นไม้ เข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลทำให้เกิดโรคบริเวณผิวหนังนั้นๆ ไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

    4. Cutaneous mycoses เป็นสายพันธุ์เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังในระดับตื้น โดยเฉพาะบริเวณ ผิวหนัง ผิวหนังผม และเล็บ เชื้อชนิดนี้จะแพร่กระจาย และเจริญเติบโตในชั้นขี้ไคลหรือเคอราตินเฉพาะส่วนที่เป็นเซลล์ตายแล้ว เชื้อรากลุ่มนี้ ได้แก่ Dermatophytes

    เชื้อรา Dermatophytes เป็นเชื้อราที่มีสายด้วยการสร้าง ascospores โดยแบ่งได้แเป็น 3 กลุ่ม คือ Trichophyton Microsporum และ Epidermophyton ซึ่งทั้ง 3 กลุ่ม สามารถย่อยสลายเคอราตินได้ โดยโรคที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเหล่านี้เรียกว่า Dermatophytosis หรือ Ring worm หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “กลาก” หรือ “ขี้กลาก

    เชื้อรา Dermatophytes

    เชื้อรา Dermatophytes ที่พบมากจะเป็นจำพวกที่สร้างคอนิเดีย 2 แบบ คือ แบบเล็กที่เป็นเซลล์เดียวโดดๆ เรียกว่า microconidia และแบบใหญ่ทีมีผนังกั้นแบ่งเซลล์ เรียกว่า macroconidia จากสภาวะที่เชื้อมีทั้งที่สร้าง และไม่สร้างคอนิเดียจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จัดกลุ่มด้วยการแยกแยะในภาวะไม่มีเพศออกเป็น 3 กลุ่มข้างต้น

    1. Trichophyton ประกอบด้วย macroconidia ผิวเรียบ อาจมีลักษณะผนังบางหรือหนา รูปร่างในช่วง clavate ถึง fusiform อาจเป็นโดดๆที่ด้านปลายสายหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ส่วน macroconidia ที่มีรูปร่างกลมอาจอยู่โดดๆหรือเป็นแบบกลุ่มเป็นพวง

    2. Microsporum ประกอบด้วย macroconidia ผิวขรุขระ เซลล์มีรูปร่างหลายแบบแตกต่างกัน ผนังเซลล์มีลักษณะบางหรือหนา โดยมี macroconidia อยู่ที่ปลายสายเพียงอันเดียว ยาวประมาณ 5-100 ไมโครเมตร กว้างประมาณ 3-8 ไมโครเมตร ประกอบด้วยเซลล์ตั่งแต่ 2-15 เซลล์

    3. Epidermophyton ประกอบด้วย macroconidia ผิวเรียบ เซลล์ค่อนข้างใหญ่กว่ากลุ่มอื่น มีรูปร่างเหมือนใบขนุน คอนิเดียจะอยู่ที่ก้านชูคอนิเดียที่เป็นกลุ่มๆ ประกอบด้วย 2 สปีชี่ คือ E.  floccosum ประกอบด้วยเซลล์ 2-4 เซลล์ กว้างประมาณ 4-8 ไมโครเมตร ยาวประมาณ 20-40 ไมโครเมตร และ E. stockdaleae มีรูปร่างคล้ายกระบอง เซลล์ขนาดใหญ่กว่าชนิดแรกเล็กน้อย

    เชื้อ dermatophytes ที่พบมากในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ

    1. Epidermophyton floccosum ในระยะแรกเชื้อจะเจริญช้าด้วยโคโลนีมีสีขาว เมื่ออายุมากจะมีสายราสั้นๆปกคลุมหรือเป็นแผงคล้ายแป้งผง โคโลนีมีสีเหลืองอมเขียวหรือสีเหลือง เมื่ออายุมากขึ้นโคโลนีขอบจะแบน และยกตัวนูนตรงกลาง บางจุดของโคโลนีอาจพบจุกสายราสีขาวปุยที่เป็นลักษณะของ pleomorphism ซึ่งเป็นการเกิดสายราที่ไม่สร้างคอนิเดียที่เป็นลักษณะจำเพาะ แต่จะมีสายรา และ chlamydoconidia เท่านั้น

    2. Microsporum gypseum เป็นเชื้อราที่แยกค่อนข้างยาก เพราะในภาวะไม่มีเพศจะเหมือนกับ M. fulvum แต่เมื่อผสมพันธุ์จะเกิดภาวะมีเพศจนมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะโคโลนีของเชื้อจะโตเร็ว โคโลนีมีลักษณะแบนราบ เป็นผงคล้ายแป้ง ขอบมีลักษณะหยักสีครีมออกเหลืองจนถึงชมพู ด้านหลังโคโลนีมีสีแดง สีชมพูถึงแดงสด ลักษณะผิวออกหยาบ มี microconidia น้อย อยู่บนก้านชูคอนิเดียหรืออยู่ด้านข้างของสายรา

    3. Trichophyton mentagrophytes เชื้อนี้มีลักษณะการเจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว มีรูปร่างลักษณะหลายแบบ เชื้อ T. mentagrophytes ลักษณะโคโลนีจะเป็นผงคล้ายแป้งสีเหลืองนวลบนวุ้น Var. mentagrophytes โคโลนีจะมีขนสั้นๆปกคลุม และ Var. quinkeanum โคโลนีจะยกตัวขึ้นเป็นร่อง โดยมีขนสั้นๆปกคลุมอยู่ เชื้อกลุ่มนี้ เมื่อส่องกล้องจะพบ microconidia อยู่มาก เกาะกันเป็นกลุ่มคล้ายพวงองุ่น มีรูปร่างกลมยาวหรือรี แต่บางสายพันธุ์อาจมีรูปทรงยาวคล้ายกระบอกหรือแท่งปากกา มีลักษณะผิวค่อนข้างเรียบ

    4. Trichophyton rubrum ลักษณะของเชื้อเจริญช้า โคโลนีมีลักษณะแบนหรือบางสายพันธุ์มีการยกตัวสูงขึ้นตรงกลาง เมื่อเติบโตจะปกคลุมด้วยสายของราเป็นปุย ด้านหน้าโคโลนีมีมีชมพู ด้านหลังมีสีแดง สายราบางส่วนจะเจริญอยู่ในวุ้นด้วย เชื้อกลุ่มนี้ เมื่อส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบ microconidia เป็นรูปหยดน้ำหรือ clavate เกาะอยู่สองข้างของสายราหรือบนก้านสั้นๆ

    การตรวจหาเชื้อ
    เชื้อราที่ทำให้เกิดกลากสามารถตรวจได้โดยนำตัวอย่างของผิวหนัง ผมหรือเล็บ มาทำการส่องกล้องตรวจ ด้วยการหยดโปแตสเซียมไฮดรอกได์ 1-2 หยด แล้วนำลนเปลวไฟก่อนส่องตรวจ หากมีเชื้อจะปรากฏเห็น septate hyphae ลักษณะเป็นเส้นยาว และ arthrospores ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกันเป็นสาย