เมตตา และกรุณา

54729

เมตตา หมายถึง การมีจิตแห่งความรักใคร่ ความห่วงใย ความสงสาร ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร ความอนุเคราะห์โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุขหรือให้พ้นจากทุกข์โดยไม่คาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน

กรุณา หมายถึง การกระทำหรือปฏิบัติภายใต้จิตที่เกิดจากความรัก ความสงสารเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุขหรือพ้นจากทุกข์ เช่น การให้ทานแก่ผู้ยากไร้ การช่วยเหลือค่าเล่าเรียน การให้ความรู้แก่ผู้อื่นในการประกอบอาชีพ เป็นต้น

เมตตากรุณา หมายถึง การปฏิบัติเพื่อต้องการช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข ให้พ้นจากทุกข์ มีความสุขความเจริญ ด้วยการแสดงความมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่นด้วยความเต็มใจ แสดงอาการทางวาจาต่อผู้อื่นอย่างนุ่มนวล การไม่เอาเปรียบไม่เบียดเบียนผู้อื่น การรู้จักให้อภัยร่วมบริจาคทรัพย์สินเพื่อส่วนรวม และเสียสละเวลาปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมตามสมควรตามสถานการณ์ และตามความสามารถของตน โดยไม่หวังผลตอบแทน

เมตตา

พระเทพดิลก (ระแบบ จิตญาโณ) กล่าวว่า ความเมตตากรุณา คือ การมีจิตปรารถนาให้สรรพสัตว์เป็นสุขให้พ้นจากความทุกข์กันทั่วหน้า ปัญหาเรื่องความโหดร้ายรุนแรง ที่มีการเข่นฆ่าประทุษร้ายกันตลอดถึงการประกอบอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกหัวระแหง ข่าวคราวต่าง ๆในหน้าหนังสือพิมพ์เพราะจิตใจของบุคคลขาดฐานใจที่มีความสำคัญคือเมตตาธรรม ได้แก่ ความรู้สึกยอมรับนับถือสิทธิในชีวิต ในทรัพย์สิน ในคู่ครองของกันและกัน

อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน กล่าวว่า เมตตา คือ ความมีไมตรีจิต คิดปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุขบุคคลที่มีน้ำใจ เมื่อตนได้รับความสุขแล้วก็มีใจคิดอยากให้ผู้อื่นได้รับความสุขบ้าง คุณธรรมข้อนี้จะเป็นสาเหตุ ทำให้บุคคลคิดเผื่อแผ่ความปรารถนาดี คิดเกื้อกูลแก่กัน ทำได้ 2 แบบ คือ แบบเจาะจงเฉพาะบุคคล สัตว์ เพศ วัย เฉพาะหมู่ พวก หรือคณะ และแบบไม่เจาะจงไม่มีประมาณไม่เลือกมิตรหรือศัตรู การแผ่เมตตาเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่ควรแสดงออก กรุณา คือ ความสงสารคิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์บุคคลที่มีน้ำใจเมื่อเห็นคนอื่น สัตว์ ประสบทุกข์ก็พลอยหวั่นไหวไปด้วยจึงคิดหาทางช่วยเหลือเท่าที่ตนจะทำได้ คุณธรรมนี้จึงเป็นสาเหตุให้บุคคลคิดช่วยเหลือเกื้อกูลแสดงออกซึ่งน้ำใจอันงามต่อคนอื่นหรือสัตว์อื่น

อรพิมล จินดาเวช ซูเตย์รันท์ กล่าวไว้ว่า ความสัมฤทธิ์ผลของความเมตตากรุณา หรือผลที่ได้รับจากการเจริญเมตตากรุณา ที่ถูกต้อง คือ ความปราศจากความแค้นเคืองไม่พอใจ แต่หากปฏิบัติผิดพลาด ผลที่อาจเกิดคือ เกิดเสน่หา รักใคร่ ยึดติด หรือผูกพัน ดังนั้นต้องรู้จักการใช้เมตตา

พฤติกรรมที่แสดงถึงความเมตตากรุณา
– ไม่ฆ่า ทุบตี ทำร้าย หรือ ทำให้เกิดความเจ็บปวดด้วยลักษณะใดๆ
– ไม่พูดข่มขู่ ไม่พูดดูหมิ่น หรือพูดเสียดสีผู้อื่นจนทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเสียใจ หรือ โกรธแค้น
– ไม่เบียดเบียนทั้งทางกายหรือทรัพย์สินจนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
– ไม่ยอมรับส่วนแบ่งในสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว และไม่จำเป็น
– เสียสละในส่วนแบ่งของตนให้กับผู้ที่ขาดแคลน และมีความจำเป็นกว่า
– เลือกรับฟังในคำพูดที่ก่อให้เกิดไมตรี
– เสนอตัวช่วยเหลือแนะนำทบทวนให้แก่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ
– แสดงความยินดีในความสุข ความสำเร็จของผู้อื่น
– ให้ผู้อื่นยืมอุปกรณ์สิ่งของ เมื่อตนไม่จำเป็นต้องใช้
– ไม่รังแกสัตว์
– พูดสุภาพอ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป
– แสดงความเคารพนบน้อมต่อผู้ใหญ่
– แบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นตามกำลังของตน
– พูดปลอบโยน และให้กำลังใจเมื่อผู้อื่นมีทุกข์
– ไกล่เกลี่ยความแตกแยกในหมู่คณะ
– ไม่เอาคำพูดที่ไม่ดีจากคนอื่นมาเล่าให้เพื่อนฟัง
– แสดงความเป็นเพื่อนต่อผู้อื่นที่เพิ่มรู้จัก
– แนะนำอธิบายคนอื่น ๆ ในการเรียน และการปฏิบัติตน
– ลงมือช่วยเพื่อนเมื่อได้รับการขอร้อง
– เมื่อทำงานร่วมกันก็รับผิดและช่วยกันแก้ไขร่วมกัน
– ไม่นำเอาผลงานของผู้อื่น มาเป็นผลงานของตนเอง
– บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติเพื่อส่วนรวม
– พูดมีเหตุผล
– ไม่นำเอาของส่วนรวมมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว

ประโยชน์ของการมีเมตตากรุณา
1. ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
เมื่อตื่นก็เป็นสุข เมื่อหลับก็เป็นสุขและไม่ฝันร้าย คือผู้ปฏิบัติเมตตาภาวนาตื่นขึ้นมาทำธุรกิจต่างๆ ด้วยจิตใจเบิกบาน และเวลานอนก็นอนอย่างคนที่มีความสุขสดชื่น ฝันเห็นแต่สิ่งดีๆ ไม่มีความลามกหรือสิ่งที่จะนำไปสู่เหตุร้ายเป็นที่รักของมนุษย์ อมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย คือ เมื่อบุคคลเจริญเมตตาภาวนาจะเป็นคน มีความรักให้แก่คน สัตว์ และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าจะคิดทำ หรือพูดก็ประกอบไปด้วยความเมตตา ความบริสุทธิ์ และความหวังในการยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ดังนั้น ผู้ที่พบเห็นต่างก็จะเห็นคุณค่าและรักใคร่พอใจ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เปรต หรืออสุรกายก็รักใคร่ไม่ทำร้าย อีกทั้งเทวดาจะช่วยคุ้มครองป้องกันให้พ้นจากอันตราย และให้พบความสำเร็จในชีวิต ไฟ ยาพิษ หรืออาวุธไม่สามารถทำอันตรายได้ คือ บุคคลซึ่งเจริญด้วยเมตตาภาวนาจะมีพลังแห่งเมตตาคุ้มครองตัวอยู่ ดังนั้น ก็จะไม่มีศัตรูมุ่งทำร้าย อันตรายที่จะเกิดจากไฟ
อาวุธ และยาพิษก็ไม่มีไปด้วย

2. ประโยชน์ต่อตนเอง
ผู้เจริญเมตตา ย่อมมีผิวหน้าสดใส จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว และเมื่อถึงเวลาตายก็จะมีสติสัมปชัญญะดี คือ เมื่อเป็นผู้มีจิตใจดี ผิวหน้าก็จะผ่องใส ผิวพรรณทั่วไปก็เปล่งปลั่งความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้รวดเร็ว ไม่ฟุ้งซ่านไม่เฉื่อยชา เป็นจิตใจที่สะอาด ไม่ขุ่นมัว ไม่มัวหลงใหลในกิเลสมีความน่ารักน่าเข้าใกล้ เมื่อถึงเวลาเสียชีวิตก็จะมีสติสัมปชัญญะดี ไม่หลงฟั่นเฟือน เนื่องจากได้กระทำความดีมีเมตตามามาก

ประโยชน์หรืออานิสงส์ของความเมตตามีทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น ในด้านประโยชน์แก่ตนเองนั้น หมายถึง การมีเมตตาเป็นพื้นฐานจิตใจ ทำให้มีจิตใจดีงาม ปราถนาดี ต่อบุคคลและสัตว์อื่น เมื่อมีจิตใจดีก็ย่อมมีความประพฤติและคำพูดที่ประกอบด้วยเมตตา เมื่อคิด พูด และทำด้วยจิตที่เมตตา ก็จะทำให้บุคคลนั้นไม่เบียดเบียนใคร หลับ และตื่นเป็นสุข นอนไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาคุ้มครอง และอันตรายอื่นใดก็ทำร้ายมิได้

3. ประโยชน์ต่อตนเองกับสังคม
ประโยชน์จากการมีความเมตตาต่อสังคมนั้น คือ เมื่อคนส่วนมากในสังคมมีความเมตตาในจิตใจ จะไม่มีการทำร้ายกัน ไม่มีการทุจริตฉ้อโกง ไม่มีการผิดประเวณี ไม่มีการพูดเท็จ และไม่เสพสิ่งเสพย์ติดให้โทษ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนในสังคมจะเต็มไปด้วยความสุข ไม่มีศัตรู มีแต่ความเป็นเพื่อน มีความรักทุกๆคนเสมอเหมือนกันโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังอันจะทำให้สังคมประเทศชาติมีแต่ความเจริญก้าวหน้าไปด้วย

ความเมตตาส่งผลประโยชน์สูงสุดให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีจิตใจสูงขึ้น เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมไปเกิดในพรหมโลก และหากบำเพ็ญสมถะวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นปัจจัยให้บรรลุถึงนิพพานได้

อานิสงส์ของเมตตากรุณา 11ประการ
– หลับเป็นสุข
– ตื่นเป็นสุข
– ไม่ฝันลามก
– เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
– เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
– เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
– ไฟ ยาพิษ หรืออาวุธต่างๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้
– จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยเร็ว
– สีหน้าผ่องใส
– เมื่อถึงเวลาจะเสียชีวิตก็มีสติดีไม่ฟั่นเฟือน
– เมื่อเสียชีวิตลง แม้ว่าจะไม่ถึงนิพพาน แต่จะได้ไปเกิดในที่ที่ดี

อานิสงส์ดังกล่าวซึ่งเกิดจากการเจริญเมตตา ย่อมจะทำให้ผู้ปฏิบัติเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาในตนเอง และกระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนจากผู้อื่น ผลที่ผู้ปฏิบัติได้รับเป็นเพียงคุณค่าทางด้านจิตใจ นั่นคือความสุขเมื่อเห็นว่าตนเองได้สร้างประโยชน์แก่สังคม ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข ความช่วยเหลือเกื้อกูลที่กล่าวนั้นปรากฏออกมาในรูปต่างๆ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ หรือสถาบันช่วยเหลือสังคมทางด้านการศึกษาและการกุศลอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เป็นผลิตผลจากความเมตตาต่างๆเหล่านี้เองก็จะมีส่วนในการพัฒนาสังคมต่อไปบุคคลใดที่ได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ คือ เป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียว โดยใช้หลัก
เมตตาธรรม ประชาชนทั่วไปย่อมยกย่องให้เป็นผู้มีภูมิธรรม และมโนธรรมสูง มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นและสังคม เป็นบุคคลที่ควรเคารพสรรเสริญ เมื่อปรากฏตัวในที่ใด ผู้คนก็ให้ความสนใจ อยากคบหาเจรจาเพื่อจะแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นด้วย ทำให้บุคคลนั้นมีความกว้างขวางออกไปในสังคมมากขึ้นอีก

หากบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาใช้ความเมตตาในการปกครองคนส่วนมากแล้วย่อมจะเกิดผลดีในด้านความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง เมื่อเจ้านายแสดงความเมตตาต่อลูกน้อง ลูกน้องก็จะรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม และจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเรียบร้อยเคร่งครัด และเต็มความสามารถ ด้วยความเมตตานี่เองจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองสังคม และเศรษฐกิจในทางที่ดีขึ้น

เมตตา1

การปลูกฝังเมตตากรุณาในเด็กวัยเรียน
1. ให้ความคิดรวบยอดที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเมตตากรุณา
ความคิดรวบยอดของความเมตตากรุณา เป็นความคิดรวบยอดที่มีลักษณะเป็นนามธรรมมาก เพื่อที่จะให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้อง จะต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม หลาย ๆ อย่างที่ทำให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอดตรงกัน อาจจะใช้นิทาน ชาดก หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมาเล่า อาจเล่าเองหรือใช้เทปบันทึกเสียง หรือหาภาพยนตร์เกี่ยวกับความเมตตากรุณามาฉายให้นักเรียนดูเพื่อให้เกิดความ เข้าใจ และสรุปว่า ความเมตตาคืออะไร และความกรุณาให้ได้ จะต้องมีการทดสอบด้วยการเสนอตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้นักเรียนสามารถบอกให้ ถูกต้องว่า อันใดเป็นตัวอย่างของความเมตตา อันใดเป็นตัวอย่างของความกรุณาหรือมิใช่ความเมตตากรุณา

2. สร้างทัศคติที่ดีต่อความเมตตากรุณา
เมื่อนักเรียนมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับความเมตตากรุณาแล้ว ก็ต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อความเมตตากรุณา เพราะทัศนคติจะเป็นแรงหนุน และกำหนดทิศทางของพฤติกรรม สักแต่ว่ารู้เท่านั้นไม่เป็น เครื่องกำหนดที่แน่นอนว่าคนจะประพฤติปฏิบัติ บุคคลต้องเห็นประโยชน์ เห็นความจำเป็นและมีความรู้สึกที่ดีหรือมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้น บุคคลจึงจะเกิดการกระทำการปลูกฝังทัศนคตินั้น จะทำให้ด้วยการให้เขาอภิปรายได้แสดงได้รับบทบาทมากๆ ดังนั้น การสอนต้องเสนอตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาก ๆ อาจด้วยรูปภาพ ด้วยภาพยนตร์ เสนอกรณีตัวอย่าง แล้วให้นักเรียนอภิปรายอย่างกว้างขวางให้เห็นประโยชน์ของความเมตตากรุณาใน ชีวิตประจำวัน การรับบทบาทสมมติก็จะเป็นวิธีการสอนที่ดีอย่างหนึ่งในการสร้างทัศนคติที่ดี ต่อความเมตตากรุณา จะใช้วิธีการสอนแบบใด มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้เรียนการอภิปราย การรับบทบาทสมมติอาจจะเหมาะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ส่วนการเล่านิทานการเสนอตัวอย่างด้วยภาพยนตร์ หรือการบันทึกเสียงอาจจะเหมาะสมสำหรับนักเรียนชั้นประถมมากกว่านักเรียนชั้น มัธยม

3. ปฏิบัติให้เกิดทักษะ
การปฏิบัติให้เกิดทักษะ เป็นการให้นักเรียนได้มีโอกาสรับบทบาทสมมติในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นความเมตตากรุณาในชั่วโมงสอน โดยครูสร้างสถานการณ์จำลองที่เป็นปัญหาขึ้นมา แล้วให้นักเรียนแสดงบทบาทเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ นอกจากการสอนในชั้นแล้วการจัดกิจกรรมต่างๆ หรือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการเรียนในชั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมเรื่องเมตตากรุณานั้นมีอยู่มากมาย เช่น
– ให้นักเรียนโตช่วยเหลือนักเรียนเด็ก ๆ ในการข้ามถนน หรืองานอื่นๆ ในโรงเรียน ช่วยสอนหนังสือให้แก่ชั้นเด็กๆ ช่วยดูแลนักเรียนเด็กกว่าที่เล่นในสนาม
– ช่วยดูแลให้ความช่วยเหลือคนแก่ คนตาบอด หรือคนพิการในการข้ามถนน
– ช่วยดูแลให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่เจ็บป่วย
– ให้การช่วยเหลือคนต่างถิ่นที่ต้องการไปในที่ซึ่งเขาต้องการ ด้วยการช่วยแนะบอกทางและอื่นๆ เพื่อให้เขาไปที่เขาต้องการได้
– ช่วยบอกอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำที่เขาอาจไม่ทราบหรือเท่าไม่ถึงการณ์ในอันตรายที่จะเกิดขึ้น
– ช่วยกันบริจาคแก่เด็กขาดแคลน หรือเมื่อนักเรียนในโรงเรียนเดียวกันประสบภัยและอื่น ๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน
– จัดกิจกรรมช่วยกันพัฒนาหรือทำความสะอาดในบริเวณโรงเรียน บริเวณวัดสถานที่ราชการ หรือชุมชน เป็นการแสดงความเมตตา โดยมุ่งให้คนอื่นเป็นสุข