เหงื่อ (Sweat) และการหลั่งเหงื่อ

30754

เหงื่อ (Sweat) เป็นสารละลายทีอยู่ในรูปของเหลวของร่างกาย จะถูกขับออกจาร่างกายได้โดยออกมาทางรูเหงื่อ ของเหลวที่ออกมาได้เป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ และอยู่ในสภาพผิดปกติ

ส่วนประกอบของเหงื่อ
เหงื่อเป็นของเหลวที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าพลาสม่า (plasma) มีความถ่วงจำเพาะระหว่าง 1.002 – 1.003 ในเหงื่อทั่วไปมีสารหลายอย่างปะปนกันอยู่ เช่น เกลือ (NaCl) โปแตสเซียม แอมโมเนีย กรดแลคติด กรดไพรูวิค (pyruvic acid) กรดยูโรคานิค urocanic acid ) ไวตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และกรดยูริค (uric acid) เป็นต้น สารต่างๆ เหล่านี้บางอย่าง เช่น แอมโมเนีย กรดยูโรคานิค ถูกขับออกมาจากบริเวณผิวหนังเองในขณะที่บางชนิด เช่น เกลือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส กรดยูริค อาจถูกสกัดออกมาจากเลือด ซึ่งไหลเวียนมาที่ผิวหนัง

ส่วนประกอบที่สำคัญของเหงื่อ คือ โซเดียมคลอไรด์ เมื่อเหงื่อมีอัตราการหลั่งเหงื่อน้อย ความเข้มข้นของโซเดียมน้อยด้วย แต่เมื่ออัตราการหลั่งเหงื่อเพิ่มขึ้น ความเข้มข้นของโซเดียมจะเพิ่มตามไปด้วย เนื่องจากเหงื่อประกอบด้วยน้ำ และสารเกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ถ้าเหงื่อออกมากติดต่อกันเวลานานจะทำให้ร่างกายขาดแคลนน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ทำให้ความดันโลหิตสูง (hypotension) หน้ามืด และเป็นลมได้ ถ้าเราดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียวเข้าไปทดแทนจะทำให้ความเข้มข้นของสารพวกเกลือแร่ถูกเจือจาง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตะคริว (muscle cramp) ดั้งนั้น ถ้าหากเหงื่อออกมาก ควรดื่มน้ำที่ผสมเกลือเข้าไปด้วย

การหลั่งเหงื่อ
การหลั่งเหงื่อมีความสำคัญมากในเขตภูมิอากาศร้อน เมื่ออากาศรอบตัวมีอุณหภูมิสูงกว่า 32 °C ร่างกายจะระบายความร้อนด้วยวิธีการนำความร้อน การพาความร้อน และการแผ่รังสีไม่ได้ดี ต้องอาศัยการระเหยของเหงื่อเป็นสำคัญ นอกจากอุณหภูมิรอบตัวจะมีผลต่อระดับของการหลั่งเหงื่อแล้ว ต่อมเหงื่อก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการหลั่งเหงื่อ

ต่อมเหงื่อควบคุมโดยระบบประสาทเสรีส่วนกลางทำให้เวลาตื่น หวาดกลัว โกรธหรือเครียด จึงมีเหงื่อออกมาก ต่อมเหงื่อบีบตัวไล่เหงื่อขึ้นมาเป็นหยดน้ำที่ผิวหนัง ถ้าเหงื่อไม่ระเหยไปจากผิวหนัง คือ ไม่มีการเปลี่ยนสภาพจากของเหลวกลายเป็นไอ ก็จะไม่มีการระบายความร้อน เวลาอากาศชื้นมีไอน้ำในอากาศมากเหงื่อระเหยไม่ได้ดี จึงรู้สึกร้อนอบอ้าว แต่ถ้ามีลมช่วยพัดเหงื่อระเหยได้เร็วขึ้น และอากาศเย็นคลื่นมาแทนที่ จะช่วยระบายความร้อนได้ดีขึ้น การหลั่งเหงื่อ และการที่เหงื่อระเหยไปจากผิวกาย เป็นกลไกสำคัญในการระบายความร้อนจากร่างกาย เมื่ออุณหภูมิรอบข้างสูงขึ้นใกล้เคียงมากกว่าอุณหภูมิกาย

ผู้ใหญ่มีต่อมเหงื่อทั่วร่างกายมากถึงประมาณ 2.5 ล้านต่อม อาจหลั่งเหงื่อได้มากถึง 2 – 4 ลิตร/ชั่วโมง เมื่อการออกกำลังกายเต็มที่ในภูมิอากาศร้อน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลเสีย คือ ทำให้เสียน้ำ และเกลือจากร่างกายเมื่อมีการหลั่งเหงื่อมากๆ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจ และได้กล่าวถึงการหลั่งเหงื่อไว้ ดังนี้

การหลั่งเหงื่อ และการระเหยของเหงื่อ ก็เพื่อการระบายความร้อนในร่างกาย และเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่อยู่เสมอ ความร้อนที่เสียหรือระบายออกทางเหงื่ออาจเป็นการแผ่รังสี การระเหย และการพาก็ได้ การแผ่รังสีของเหงื่อจะมีมากก็ต่อเมื่ออากาศภายนอกเย็นกว่าอุณหภูมิในร่างกาย ส่วนการระเหยนั้น ถ้าภายนอกร้อนกว่าการระเหยก็จะดี แต่ถ้าความชื้นในอากาศมีความชื้นมาก การระเหยของเหงื่อจะระเหยได้น้อยลง ดังนั้น อุณหภูมิภายนอกร่างกาย และความชื้นสูงจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มมากขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อปริมาตรการหลั่งเหงื่อด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการหลั่งเหงื่อ
1. ปริมาณงาน ถ้าร่างกายทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานร่างกายจะหลั่งเหงื่อเป็นจำนวนมาก
2. อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม ความชื้นสัมพัทธ์ ร่างกายจะหลั่งเหงื่อเป็นจำนวนมากถ้ามีการทำงานในที่ที่มีอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์สูง
3. อัตราการหลั่งเหงื่อของชายมากกว่าหญิงในการทำงานที่มีปริมาณเท่ากัน
4. ปริมาณพื้นที่ผิวของร่างกาย คนที่มีพื้นที่ผิวของร่างกายมากจะมีการหลั่งเหงื่อได้ในปริมาณมากกว่าคนที่มีพื้นที่ผิวของร่างกายน้อยกว่า

สาเหตุการหลั่งเหงื่อของร่างกาย
1. อุณหภูมิ (high temperature)
2. การทำงานของกล้ามเนื้อ ((muscular exercise)
3. การกระตุ้นของประสาทรับความรู้สึก (sensory stimulation)
4. ความเครียดทางอารมณ์ (emotional or mental stress)

ร่างกายจะระบายความร้อนได้ดีด้วยการอาศัยการระเหย (evaporation) ซึ่งเป็นการระบายความร้อนโดยการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากของเหลวให้กลายเป็นไอ ก็เท่ากับเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายอันจะทำให้ร่างกายเย็นลง ซึ่งพบว่า ร่างกายของเราสามารถหลั่งเหงื่อ และส่วนที่เป็นไอน้ำก็จะลอยออกสู่อากาศรอบๆ ตัวเรา น้ำที่ระเหยออกจากร่างกาย 1 ลิตร จะทำให้ร่างกายเสียความร้อนไป 580 กิโลแคลอรี่ (Kcal) ตามปกติแล้วในคนทั่วไปร่างกายจะเสียความร้อนในรูปของการระเหย โดยที่เราไม่รู้สึกตัว (insensible heat loss) จากปอด (ออกมากับลมหายใจ) และจากผิวหนังด้วยอัตราเฉลี่ยวันละ 700 มิลลิลิตร หรือประมาณ 29 มิลลิลิตร/ชั่วโมง ดังนั้น เราจึงเสียความร้อนในลักษณะนี้ประมาณ 16.8 Kcal/ชั่วโมง หากเราเพิ่มอัตราการเผาพลาญ เช่น ภายหลังการออกกำลังกาย เราจะเสียความร้อนในลักษณะนี้มากขึ้น

การระเหยโดยการหลั่งเหงื่อ (sweating) อาจเป็นหนทางเดียว และสำคัญที่สุดในการระบายความร้อนออกจากร่างกายในสภาพอากาศที่ร้อน เพราะการสูญเสียความร้อนโดยการแผ่รังสี การนำความร้อน และการพาความร้อนมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจาก อุณหภูมิของร่างกายต่ำกว่าอุณหภูมินอกร่างกาย ดังนั้น หากร่างกายของเราขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพก็จะเสียความร้อนโดยวิธีการระเหยก็จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น สิ่งนี้ยิ่งลำบากขึ้นหากคนเราต้องออกกำลังกายหรือทำงานด้วย

อัตรา และกลไกของการผลิตเหงื่อ
วัตถุประสงค์หลักของการหลั่งเหงื่อก็เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย เมื่ออุณหภูมิอากาศแวดล้อมต่ำ จะไม่มีการหลั่งเหงื่อเลย แต่ในภาวะอากาศที่ร้อนจัด อาจมีการหลั่งเหงื่อได้มากถึง 1.5 ลิตร/ชั่วโมง ในผู้ที่ไม่ชินกับอากาศ (unacclimatized) หรือ 4.0 ลิตร/ชั่วโมง ในผู้ที่ชินต่ออากาศ (acclimatized) พอออกกำลังกายหนักขึ้นก็ยิ่งทำงานหนักขึ้น ทำให้การผลิตเหงื่อมีปริมาณสูงขึ้น การวิ่ง 200 เมตร คนเราจะหลั่งเหงื่ออยู่ประมาณ 5 นาที ภายหลังการสิ้นสุดการแข่งขัน และประมาณ 15 – 30 นาที ในระยะทางที่ไกลขึ้น ดังนั้นอัตรากรเสียเหงื่อจึงขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และระยะเวลาของการออกกำลังกายดังปรากฏให้เห็นในตารางด้านล่าง นอกจากนั้น อัตราการผลิตเหงื่อยังขึ้นอยู่กับเพศ โดยที่ผู้หญิงมีอัตราการผลิตเหงื่อน้อยกว่าผู้ชาย

ตารางแสดงการเสียเหงื่อในกีฬาประเภทต่างๆ

ประเภทกีฬาชาย การเสียน้ำหนักเมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน (ก.ก.)
• วิ่ง 100 ม. 0.15
• วิ่ง 1,000 ม. 0.9 – 1.5
• วิ่งมาราธอน 42.159 ก.ม. 3 – 5
• จักรยาน 50 ก.ม. 1.5 – 3
• สกีน้ำแข็ง 50 ก.ม. 2.5 – 3.5
• แข่งเรือ 3.5

 

นอกจากนั้น อัตราการหลั่งเหงื่อจะน้อยลงหากอากาศไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว (วันที่ไม่ค่อยมีพัดลม) ดังนั้นหากมีการถ่ายเทของอากาศ จะช่วยให้การสูญเสียความร้อนโดยการพาความร้อน ดำเนินได้อย่างสะดวก และการหลั่งเหงื่อจะมีมากขึ้น หรือในทางตรงกันข้ามถ้าอากาศที่ร้อน และชื้นจัด บวกกับความอบอ้าวจะเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายของมนุษย์