เหา (Head louse) และวิธีกำจัดเหา

    19238

    โรคเหา (Head louse) เป็นโรคบนหนังศีรษะที่เกิดจากแมลงที่เรียกว่า เหา เข้าเกาะเพื่อดูดกินเลือด บริเวณหนังศรีษะทำให้เกิดอาการคัน มีตุ่มแดง มีเลือดออก สามารถไต่ติดต่อกับคนอื่นได้ง่าย และมักพบบ่อยในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มีผมยาว และไม่ค่อยดูแลหนังศรีษะ และเส้นผมแต่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย

    ลักษณะทั่วไปของเหา
    เหาเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pediculus humanus มีลำตัวขนาดเล็ก สีเทา เทาดำ น้ำตาลหรือน้ำตาลดำ สีที่เห็นสามารถเปลี่ยนแปลงตามสีของเส้นผมในแต่ละคน แต่ทั่วไปจะมีสีดังที่กล่าวมา ตัวผู้เต็มวัยลำตัวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ตัวเมียเต็มวัยยาวประมาณ 2.5-3.6 มิลลิเมตร ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีส่วนหัวเล็กที่สุด ส่วนอกใหญ่กว่าส่วนหัว แต่เล็กกว่าส่วนท้อง มีหนวดสั้น มีปากแบบเจาะดูด ส่วนท้องมีลักษณะเป็นปล้อง 2-5 ปล้อง ไม่มีปีก ขาคู่หน้าบริเวณส่วนต้นของอกใช้เป็นมือเกี่ยวเกาะยึดเส้นผม และ 2 ขา คู่หลังถัดกันมาบริเวณอกใช้สำหรับการเดิน

    Head louse

    วงจรชีวิต
    เหามีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ มีเพียง 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน (3 ระยะ) และระยะตัวเต็มวัย (ปกติแมลงมี 4 ระยะ คือ เพิ่มระยะตัวหนอน) โดยเหาตัวเมียจะวางไข่ติดกับเส้นผมโดยใช้สารไคตินสำหรับยึดติด (80% บนเส้นผม และ 20% บนวัสดุอื่นใกล้ร่างกาย) สูงจากหนังศรีษะประมาณ 0.6 เซนติเมตร ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 270-300 ฟอง ไข่มีลักษณะยาวรี สีขาวหรือสีครีม ขนาดยาวกว้างประมาณ 0.8×0.3 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งมีฝาครอบ และมีรูเปิดขนาดเล็กสำหรับถ่ายเทอากาศ หลังจากนั้นจะฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 5-10 วัน (อุณหภูมิ 27-29 องศา) และประมาณ 5-7 วัน (อุณหภูมิ 29-32 องศา) แต่หากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 19 องศา ไข่เหาจะไม่ฟักหรืออาจใช้เวลาในการฟักนานมากกว่า 10 วันHead louse2

    หลังการฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนจะสามารถดูดกินเลือดได้ทันที มีระยะเป็นตัวอ่อนที่ 1-3 ประมาณ 8-9 วัน ด้วยการลอกคราบ และมีช่วงชีวิตตัวเต็มวัยประมาณ 2-4 สัปดาห์ อายุตัวเมียเต็มวัยจะอายุมากกว่าที่ 34 วัน ส่วนตัวผู้ที่ 31 วัน

    ตัว อ่อน และตัวเต็มวัยจะดูดกินเลือดเพื่อเจริญเติบโต และผสมพันธุ์บนศรีษะ ขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อย หากมีจำนวนเหามากเกินไป เหาบางส่วนจะย้ายหาแหล่งที่อยู่ใหม่ และหากคนเสียชีวิตเหาจะย้ายออกเพื่อหาที่อยู่ใหม่เช่นกันภายใน 1-8 วัน เนื่องจากเลือดของคนเสียชีวิตจะมีอุณหภูมิต่ำ และกลายเป็นเลือดเสีย

    การแพร่กระจาย
    ตัวเหา และไข่เหา สามารถพบเห็นได้เป็นจุดขาวๆ บริเวณโคนผม และเส้นผม ส่วนใหญ่จะพบบริเวณเหนือใบหู และบริเวณท้ายทอย  หากมีจำนวนมากจะมีการเคลื่อนย้ายไปสู่คนใกล้ชิดได้อย่างรวดเร็ว โดยผ่านทางการสัมผัส หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ที่นอน เป็นต้น ซึ่งพบว่าเด็กผู้หญิงวัยเรียนที่มีเหา สามารถแพร่เหาให้แก่เพื่อนๆ ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

    Head louse1

    อาการจากเหา
    เหาที่อาศัยบนหนังศรีษะจะคอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร โดยในน้ำลายมีสารที่ทำให้หนังศรีษะระคายเคือง ทำให้เิกิดอาหารคัน มีตุ่มแดงตรงรอยกัด เกิดสะเก็ด หรืออาจมีเลือดออก หากมีจำนวนเหามากจะรู้สึกคันหนังศรีษะอย่างรุนแรง และสร้างความรำคาญมาก ขาดสมาธิในการเรียน นอนไม่หลับ ในบางครั้งหากมีอาการคันมากผู้ป่วยอาจเกาจนทำให้เกิดเป็นแผลถลอกได้ รวมถึงอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรอยกัด มีอาการอักเสบ เป็นหนอง ต่อมน้ำเหลืองโต

    ภาวะแทรกซ้อนจากเหา
    รอยแผลจากการกัดของเหาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีัเรีย เกิดอาการเป็นแผลอักเสบ เป็นหนอง นอกจากนั้น เหายังเป็นพาหะนำโรคสำคัญหลายชนิด อาทิ เชื้อริคเค็ทเซีย (Rickeitsia prowazekii) ของโรคไข้รากสาดใหญ่ (Louse borne typhus) ทำให้มีอาการเป็นไข้สูง ปวดศรีษะ มีอาการไอ และปวดกล้ามเนื้อ ในระยะ 5-6 วัน หลังติดเชื้อจะมีจุดตามผิวหนังบริเวณหน้า ฝ่ามือ  และฝ่าเท้า และยังรวมไปถึงการเป็นพาหะนำโรคไข้พุพองอีกด้วย

    การกำจัดเหา
    1. การใช้ยากำจัดเหา
    – เบนซิล เบนโซเอท (benzyl benzoate) เข้มข้น 25% หรือยาฆ่าหิดเหาขององค์การเภสัชกรรม มีราคาถูกกว่าแกมมา เบนซิล เฮกซะคลอไรด์ถึง 3 เท่า แต่จะใช้เวลาชโลมที่นานกว่า 2 เท่า สามารถฆ่าได้ทั้งตัวเหา และไข่เหา ผลข้างเคียงอาจทำให้ปวดหัว และวิงเวียนศรีษะ
    – แกมมา เบนซิล เฮกซะคลอไรด์ (gamma benzene hexachloride) เข้มข้น 0.1% สามารถฆ่าได้ทั้งตัวเหา และไข่เหา ผลข้างเคียงอาจทำให้ปวดหัว และวิงเวียนศรีษะ
    – ผง ดี.ดี.ที. ขององค์การเภสัชกรรม (ไม่มีการดูดซึมเข้าร่างกาย) ในบางประเทศเลิกใช้แล้ว

    2. การใช้สมุนไพร
    – น้อยหน่า โดยนำใบสดหรือเมล็ดตำหรือบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชอื่นๆพอเปียกเล็กน้อย แล้วนำมาชโลม และคลุกบนศรีษะ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงล้างออก ทำติดต่อกัน 3-5 วัน วันละครั้ง เหา และไข่เหาจะตายหมด
    – มะกรูด นำผลมะกรูดมาบีบคั้นน้ำ แยกเอาเฉพาะน้ำชโลม และนวดศรีษะ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ค่อยล้างออก ทำติดต่อกัน 3-5 วัน เช่นกัน นอกจากนั้น สามารถใช้น้ำมันมะกรูดชโลมสระผมเป็นประจำก็สามารถกำจัดเหาได้
    – รากหนอนตายหยาก โดยนำรากมาบดหรือตำให้ละเอียด ผสมน้ำหรือน้ำมันพืชชโลม และนวดศรีษะ นาน 1-2 ชั่วโมง ทำเป็นประจำ 2-3 วัน สามารถฆ่าเหา และไข่เหาได้
    – ใบยาสูบหรือยาฉุนผสมน้ำมันก๊าซ 3-4 ช้อน นำมาชโลม และนวดทั่วศรีษะ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วล้างออก ทำเป็นประจำ 2-3 วัน สามารถฆ่าเหา และไข่เหาได้
    – ต้น และใบขอบชะนาง ตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว 3-4 ช้อน ชโลมผมทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง แล้วค่อยล้างออก ทำติดต่อกัน 3-4 วัน สามารถฆ่าเหา และไข่เหาได้
    – พืชสมุนไพรอื่นๆได้แก่ รากหรือเถาของหางไหล ผักเสี้ยน ผลมะขาม เป็นต้น ด้วยวิธีใช้แบบเหมือนกับที่กล่าวมา

    สารอื่นๆ เช่น น้ำเกลือ  โดยละลายเกลือ 10 กรัม ในน้ำประมาณ 300 ซีซี เติมน้ำส้มสายชูประมาณ 5% นำมานวดชโลมผม ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วล้างออก สามารถฆ่าเหา และทำให้ไข่เหาฝ่อได้

    การป้องกัน
    1. อาบน้ำ และสระผมเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
    2. ไม่อยู่ใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกันกับผู้ที่มีเหา
    3. มั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ส่วนตัวเป็นประจำ
    4. สำหรับเด็กวัยเรียนควรตรวจหาเหาบนศรีษะเป็นประจำทุกอาทิตย์