พิษของเห็ดขี้ควาย

22536

เห็ดขี้ควาย (magic mushroom) หรือเรียกชื่ออื่น เห็ดโอสถ นักท่องเที่ยวต่างชาติมักเรียก Magic Mushroom หรือ Buffalo dung Mushroom จัดเป็น  1 ในกลุ่ม 7 เห็ดมีพิษที่ห้ามบริโภค และยังจัดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่จัดเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และในฉบับแก้ไข ปี 2532 จัดให้เห็ดขี้ควายเป็นสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายกัญชา กระท่อม

ลักษณะโดยทั่วไป ดอกเห็ดสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลักษณะเป็นดอกกางออกคล้ายร่ม สีขาวออกเทาหรือฟางข้าวอมเหลือง ก้านเล็กเรียว ที่ก้านเห็ดมีปอก (แอนนูลัส) ลักษณะสีขาวห้อยล้อมก้านดอก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเห็ดมีพิษ มักพบขึ้นตามกองขี้วัว ควายหรือมูลสัตว์ต่างๆที่กินพืชเป็นอาหารบางชนิดมีลักษณะก้านอวบ ดอกเห็ดบานกว้าง ลักษณะสีดอกคล้ายกัน

เห็ดขี้ควาย พบมีการนำเห็ดชนิดนี้มารับประทานหรือเสพทั้งแบบสด แบบบดแห้ง รวมไปถึงการนำมาปรุงทำอาหารรับประทานเพื่อจุดประสงค์ทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม มึนเมา สนุกสนาน เมื่อมีการเสพ ผู้เสพจะมีการต้านยา และจะเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ

อาการ และการออกฤทธิ์ที่เป็นพิษ
เห็ดขี้ควายมีสารพิษ 2 ชนิด ที่มีฤทธิ์เป็นพิษ คือ ซิโลไซบิน (psilocybin) และ ซิโลซีน (psilocin) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทั้งกดประสาท และหลอนประสาท เมื่อกินเข้าสู่ร่างกายจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปากชา มีอาการประสาทหลอน มักมองเห็นเป็นภาพลวงตา ตามที่จิตจินตนาการ จำทิศทางไม่ได้ มีอาการมึนงง ปวดเมื่อตามตัว หมดแรงไม่มีกำลัง หากกินในปริมาณที่มาก อาจทำให้เสียชีวิตได้ ที่ผ่านมามีรายงานการใช้เห็ดขี้ควายในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชอบจัดปาร์ตี้ หรือตั้งวงสังสรรในภาคใต้ โดยช่วยทำให้รู้สึกเพลิน และมองเห็นภาพตามความรู้สึกจินตนาการได้

สำหรับปริมาณที่ทำให้รู้สึกออกฤทธิ์ของเห็ดที่ 3.5-12 มิลลิกรัม หรือ 1-4 กรัม (เทียบเท่าเห็ด 10-15 ดอก) ภายในเวลา 10-30 นาที หากมีการรับประทานมาก เห็ดจะออกฤทธิ์นานเป็นชั่วโมง ซึ่งจะมีอาการผิดปกติของร่างกาย อาทิ เกิดภาพลวงตาขณะหลับตา มีอาการมึนงง ตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า ไม่สามารถจำเรื่องราวหรือทิศทางได้ ทั้งนี้อาการอาจหายไปเองในเวลา 6-8 ชั่วโมง หากไม่รับประทานเห็ดในในปริมาณที่มากหรือไม่รับประทานเพิ่ม แต่หากรับประทานมาก อาการยังคงอยู่มากกว่า 12 ชั่วโมงอาจมีผลต่อร่างกาย และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากหลังจากร่างกายหายเป็นปกติแล้วอาจรู้สึกอ่อนเพลียตามร่างกายหรือรู้สึก ปวดหัวมึนงงอยู่ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนอาการเมาค้างทั่วไป

การรักษา
เมื่อรับประทานเห็ดเข้าไปในปริมาณที่ไม่มากจะเพียงแค่ทำให้รู้สึกเมา และเพลิดเพลินเพียงเล็กน้อย แต่หากรับประทานมากจนเกินไปอาจได้รับอันตรายต่อระบบประสาท และอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ แนวทางในการกำจัดพิษออกจากร่างกายมีดังนี้
1. การทำให้อาเจียน โดยการล้วงคอให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด ตามด้วยดื่มน้ำ และทำให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง ทำซ้ำประมาณ 3 รอบ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการการออกฤทธิ์ของพิษเห็ดมาก เช่น มีการตื่นตระหนก ตกใจกลัว เพ้อ และมีอาการจิตหลอนอย่างรุนแรง ให้รีบนำไปพักผ่อนในสถานที่สงบ ปลอบ และเป็นเพื่อนคุย โดยควรทำให้อาเจียนเห็ดออกมาร่วมด้วยเป็นดีที่สุด
3. หากผู้ป่วยหรือผู้ได้รับพิษมีอาการไม่รู้สึกตัวหรือชักให้รีบนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด

การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดที่เกิดบนมูลสัตว์หรืออยู่ใกล้มูลสัตว์ โดยเฉพาะมูลสัตว์กินพืช เช่น มูลโค มูลควาย มูลม้า เป็นต้น
2. มูลสัตว์พวกโค กระบือ ที่อยู่รอบบ้าน ให้เก็บรวมเป็นกองในคอกสัตว์หรือเก็บทำป๋ยหมัก เพื่อป้องกันเห็ดที่อาจงอกเกิด ซึ่งอาจทำให้เด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เด็ดเก็บกิน
3. ให้ความรู้แก่ชาวบ้านหรือเด็ก เกี่ยวกับลักษณะเห็ดมีพิษต่างๆ โดยเฉพาะเห็ดขี้ควาย
4. หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นหลังจากรับประทานเห็ด ให้รีบทำอาเจียนทันที และตรวจสอบดูเห็ดที่รับประทานมีเห็ดพิษปลอมปนหรือไม่