โยนิโสมนสิการ และแนวทางปฏิบัติ

127854

โยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดของบุคคลที่ต้องมีสติปัญญาเป็นตัวกำกับ ซึ่งทำให้บุคคลสามารถคิดเป็น วิเคราะห์เป็น โดยคิด และวิเคราะห์ได้อย่างถูกวิธี มีระบบ มีระเบียบ ต่อเนื่องจากเหตุสู่ผล เชื่อมโยงกันภายใต้พื้นฐานของคุณธรรมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ และการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม อย่างนี้ เรียกว่า การคิดแบบมีเหตุผลจนทำให้เกิดปัญญา

โยนิโสมนสิการ มาจาก 2 คำ คือ โยนิโส + มนสิการ
• โยนิโส มาจากคำว่า โยนิ หมายถึง เหตุ ต้นเหตุ หรือ จุดเกิดแห่งเหตุ
• มนสิการ แปลว่า การคิด การวิเคราะห์ การพิจารณา

การทำใจให้แยบคาย เป็นปัจจัยในการรับรู้ผัสสะจากภายนอก อันจะเป็นตัวกั้นกระแสความคิดไม่ให้ปรุงแต่งตามตัณหา ความทะยานอยากที่เป็นองค์ประกอบภายในของของตนเอง ทำให้พิจารณาสิ่งๆอย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น โยนิโสมนสิการ จึงมีความหมายของการคิดที่เป็นระบบ คิดเป็นระเบียบ และคิดมีเหตุผล

โยนิโส

ความหมายโยนิโสมนสิการจากบุคคลต่างๆ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า ใส่ใจคิดหาจนถึงต้นเหตุ โดยความก็คือ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ข้อสำคัญให้รู้จริงไม่ใช่รู้ลวง คือ มียังความสงสัยในสิ่งที่รู้ และค้นคว้าหาความรู้จริงต่อไปจนรู้จริง มิใช่เพียงรู้ตามคนอื่นแล้วคิดว่า ตัวเองรู้แล้วจนถูกล่อลวงไป

กิตติ พัฒนตระกูลสุข กล่าวถึง โยนิโสมนสิการว่า เป็นการสอนให้รู้จักคิดเป็นคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดในทางที่จะเข้าถึงความจริงทั้งหลาย คิดในทางที่จะทำให้รู้จักใช้สิ่งทั้งหลายให้เป็นประโยชน์

ความสำคัญของโยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ เป็นความคิดที่สกัดกั้นอวิชชาตัณหา (อวิชชา คือ ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ และความรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ ส่วนตัณหา คือ ความทะยานอยาก ความใคร่ในกาม) กล่าวคือ เป็นการคิดอย่างมีเหตุ และผล ไม่คิดตามความต้องการของตนที่ไร้ซึ่งเหตุ และผล เพราะปุถุชนทั่วไปมักคิดภายใต้พื้นฐานความต้องการของตน

ดังนั้น บุคคลที่คิดแบบเป็นโยนิโสมนสิการจะมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ภายใต้พื้นฐานเหตุ และผล นั่นคือ การเกิดสภาวะผู้มีปัญญา ด้วยการใช้ความคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองในเหตุ และผล นำไปสู่การรับรู้ความจริง และการหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

วิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ
วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฐิ คือ ความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง สามารถพัฒนาตนเองไปสู่อิสรภาพได้อย่างแท้จริงได้นั้นต้องอาศัยปัจจัย 2 ประการ คือ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน คือ
1. ปัจจัยภายนอก เรียกว่า ปรโตโฆสะ คือ เสียงจากผู้อื่นที่ทำให้เกิดสัมมาทิฐิ ได้แก่ เสียงที่ดีงาม เสียงที่ถูกต้องเสียงที่บอกกล่าวชี้แจงความจริง มีเหตุผล มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากความรักความปรารถนาดี เสียงที่ดีงามเช่นนี้เกิดจากแหล่งที่ดี คือ คนดี คนมีปัญญา คนมีคุณธรรม คนเช่นนี้ทางธรรมเรียกว่า สัตบุรุษหรือบัณฑิต ทำหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ สั่งสอน อธิบาย ชี้แจง ชักนำความคิดที่ถูกต้องให้เกิดแก่ผู้อื่น ซึ่งเราเรียกว่า “กัลยาณมิตร” ซึ่งตามปกติกัลยาณมิตรจะทำหน้าที่ให้เกิดผลดี และประสบผลสำเร็จได้นั้นจะต้องสร้างศรัทธาให้เกิดเสียก่อน

2. ปัจจัยภายใน เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ และความนึกคิดของตัวบุคคลภายใต้พื้นฐานที่ไม่นำความรู้สึกที่คล้อยตามตัณหาของตนเข้าเกี่ยวข้อง ทำให้บุคคลนั้นๆ รู้จักมอง รู้จักพิจารณาในเหตุตามสภาวะความเป็นจริง

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการไว้ 10 วิธี
1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ การพิจารณาปรากฏการณ์หรือปัญหาที่เป็นผลจากสภาวะที่เห็นจริงด้วยความต่อเนื่องของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยการลำดับเหตุการณ์และผลกระทบเพื่อหาหนทางแก้ไข ด้วยการค้นหาสาเหตุ และปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา ในลักษณะปัจจัยสัมพันธ์และแบบสอบสวนโดยการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ

2. วิธีคิดแบบแยกส่วน
วิธีคิดแบบแยกส่วน เป็นการคิดวิเคราะห์ที่แยกเป็นส่วนๆขององค์ประกอบในประเด็นหลัก ก่อนที่จะนำมาบูรณาการเป็นองค์รวม โดยต้องแยกแยะออกมาเป็นองค์ประกอบย่อยๆได้ กระบวนการคิดแบบนี้ ได้แก่ การแตกประเด็นย่อย การจัดหมวดหมู่ การวิเคราะห์ในแต่ละประเด็น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของประเด็นย่อย และหมวดหมู่ และการสรุปประเด็นปัญหา เหตุ และผล และแนวทางแก้ไข เป็นต้น

• ข้อพิจาณาประกอบการคิดแบบแยกส่วน
ก. กฎแห่งธรรมชาติ หมายความว่า ถ้ามีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นย่อมมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งเกิดตามมา มีความสอดคล้องกัน เช่น กาแฟมีรสขม ยิ่ง ใส่ปริมาณมากยิ่ง เพิ่มความขมมากขึ้น ใส่น้อยขมน้อย ไม่ใส่เลยไม่ขมเลย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน
ข. กฎแห่งความแตกต่าง หมายความว่า ในปรากฏการณ์หนึ่งถ้านำปรากฏการณ์หนึ่งออกไปจนพบเหตุที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น กาแฟร้อน 1 แก้ว เมื่อดื่ม พบว่า มีรสถม หวาน มัน เพราะประกอบด้วยเหตุทั้ง 3 แต่ถ้าเรานำเหตุออกไป 1อย่าง เช่น นำน้ำตาลออกรสชาติของกาแฟก็จะเปลี่ยนแปลงไปทันที เรียกได้ว่าไม่มีเหตุนั้นก็ไม่มีผลนั้นเกิดขึ้นนั้นเอง
ค. กฎของค่าต่างระดับ หมายถึง มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นแล้วมีอีกปรากฏการณ์ตามมา แต่ถ้าเราเปลี่ยนปริมาณและคุณภาพย่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงผล เห็นความแตกต่างระดับกันของสิ่งนั้นเราเรียกว่า เกิดทักษะการคิดแยกแยะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันเป็นอรรถธรรมสัมพันธ์การสอนให้เกิดทักษะด้านนี้ต้องสามารถเห็นความสัมพันธ์ภายในองค์ประกอบย่อยเหล่านั้นสามารถคิดและเข้าใจบทบาทขององค์ประกอบย่อยว่ามีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันพึ่งพาอาศัยกันและต้องมีความประสานสอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียวเกิดเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ได้ด้วยจึงจะเรียกว่า “คิดเป็น”
ง. เหตุเดียวย่อมให้ผลเดียว หลายเหตุย่อมให้ผลหลายผล และถ้าเราจับคู่เหตุกับผลได้หมดทุกคู่เราจะหาคู่สุดท้ายเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเสมอ (กรณีต้องการทราบข้อมูลที่เราไม่รู้จักหรือการสืบค้นสิ่งที่เราไม่แน่ใจ) เช่น ขนมลอดช่องไทย 1 ถ้วย รับประทานแล้วพบว่าสามารถบอกเหตุผลกันและกันได้ ดังนั้นจะพบว่าคู่สุดท้ายคือคู่ที่เราไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ แต่เมื่อศึกษาเป็นเหตุเป็นผลครบแล้ว จึงเป็นข้อยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างแท้จริง

3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์
วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ เป็นกระบวนการคิดให้รู้ และเข้าใจในความธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง ว่าสิ่งเหล่านั้นย่อมมีขึ้นสูงสุด และต่ำลง สิ่งเหล่านั้น ย่อมมีการตั้งอยู่ และดับไป เป็นต้น

4. วิธีคิดแบบอริยสัจ
วิธีคิดแบบอริยสัจ คือ การคิดแบบแก้ปัญหาที่เริ่มจากเหตุแห่งปัญหาหรือทุกข์ มีลักษณะทั่วไป 2 ประการคือ
– เป็นวิธีคิดตามเหตุ และผล
– เป็นวิธีคิดที่ตรงจุดตรงเรื่อง ตรงไปตรงมา

มีวิธีการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน คือ
– กำหนดตัวปัญหา ที่เรียกว่า “ทุกข์” คือ การกำหนดให้รู้สภาพปัญหา ความขัดแย้ง ติดขัด กดดัน บีบคั้นบกพร่องที่เกิดแก่ชีวิต
– กำหนดเหตุของปัญหา ที่เรียกว่า “สมุทัย” คือ การกำหนดเหตุแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา
– จุดหมายที่เป็นภาวะสิ้นปัญหา ที่เรียกว่า “นิโรธ” คือ การดับทุกข์อย่างมีจุดหมาย ต้องมีการกำหนดว่าจุดหมายที่ต้องการคืออะไรทั้งจุดมุ่งหมายหลักและจุดหมายรอง
– วิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ไขสาเหตุและเพื่อบรรลุภาวะสิ้นปัญหาที่เรียกว่า “มรรค” คือ การกำหนดวิธีการในรายละเอียด และการปฏิบัติเพื่อกำจัดปัญหา

โยนิโส1

5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
วิธีคิดแบบนี้ คือ การคิดตามหลักการ และจุดมุ่งหมาย คือ กระบวนการคิดที่พิจารณาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ กับ จุดมุ่งหมาย ซึ่งกระบวนการคิดที่พิจารณาถึงหลักการ กับ จุดมุ่งหมาย จะช่วยให้เราสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำให้เกิดผลต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หากต้องการเงินเพื่อมาชื้อโทรศัพท์ แต่เงินไม่มีหรือมีไม่พอ ดังนั้น แล้วจำเป็นต้องหาเงินมาเพิ่ม แต่จะหาด้วยวิธีใดบ้าง และคำสอนในทางพุทธศาสนากล่าวถึงการไม่กระทำผิดในหลายประการ เช่น ไม่ลักทรัพย์ ดังนั้นแล้ว ก็ควรจะหาเงินด้วยวิธีอื่นที่ถูกต้องตามหลักคุณธรรม

6. วิธีคิดแบบพิจารณาคุณโทษ และหาทางออก
วิธีคิดแบบพิจารณาคุณโทษ และหาทางออก เป็นการคิดพิจารณาในเหตุบนทุกแง่มุม และยอมรับความจริงว่า ทุกสิ่งในโลกมีทั้งคุณ-โทษ ข้อดี-ข้อเสีย จุดอ่อน- จุดแข็ง และสามารถหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยการปฏิบัติมรรควิธีที่ถูกต้อง

7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม
วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม เป็นการคิดพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำสิ่งต่างๆในการใช้สอยหรือบริโภค หรือคุณค่าในการใช้งานในชีวิตประจำวัน การพิจารณาว่าสิ่งใดที่มีคุณค่าแท้ –คุณค่าเทียม จะใช้กิเลส และตัณหาเป็นเกณฑ์พิจารณา คือ ถ้าสิ่งใดที่ทำเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเอง และผู้อื่นโดยปราศจากกิเลส และตัณหาเป็นตัวนำ สิ่งนั้นว่าเป็นคุณค่าแท้ แต่ถ้าสิ่งใดทำเพื่อตอบสนองกิเลส และตัณหาเป็นตัวนำ สิ่งนั้นถือว่าเป็นคุณค่าเทียม ดังนั้น เพื่อสกัดหรือบรรเทากิเลส และตัณหาที่จะเข้ามาครอบงำจิตใจต้องอาศัยปัญหาเป็นตัวช่วยกำกับพิจารณาอยู่เสมอเพื่อจะได้เข้าใจและเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแก่ตนเอง และผู้อื่นในสังคม

8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม
วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดที่ช่วยให้เกิดบวนการความคิดบนพื้นฐานของคุณธรรม โดยการกำหนดจิตให้ระลึกอยู่ในสิ่งที่กระทำ หรือที่เรียกว่า สติ

9. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน เป็นวิธีคิดที่ให้จิตจดจ่อหรือตั้งมั่นในสิ่งที่กระทำในปัจจุบัน ด้วยการคิดที่มีสมาธิ จิตไม่วอกแวก ไม่นำเรื่องอื่นมาคิดให้กระวนกระวายใจ

10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท
วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คือ วิธีคิดแบบการมองความจริงในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่มองหรือคิดวิธีเฉพาะแง่ใดแง่หนึ่ง

ดังนั้น การที่จะเกิดวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการได้นั้น ต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การมีกัลยาณมิตรที่ดีที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่จะมาช่วยเสริมสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดปัจจัยภายในตามมา คือ วิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการซึ่งทำให้ผู้นั้นเกิดการคิดเป็น และคิดในสิ่งที่ถูกต้อง โดยใช้การคิดในพื้นฐานของปัญญาอย่างมีระเบียบแบบแผน และครอบคลุมในประเด็นทุกมิติที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องมองทุกแง่ทุกอย่างเชื่อมโยงเป็นขั้นตอน เพื่อพัฒนาสัมมาทิฐิที่จะนำคนไปสู่การประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันที่ถูกต้องหรือมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามในสังคม

การสอนแบบโยนิโสมนสิการ
หลักการ
แนวทางการสอนของครูหรือผู้สอนแต่ละคนย่อมมีแนวทางที่แตกต่างกัน แต่โดยหลักการสอนของทุกคนย่อมมีจุดมุ่งหวังเพียงไม่กี่ประการ และจุดมุ่งหวังที่สำคัญ คือ การทำให้เด็กหรือนักเรียนสามารถเรียนรู้ และเข้าใจต่อบทเรียนนั้นๆ ในที่นี้ หลักการแบบโยนิโสมนสิการ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำให้เด็กหรือนักเรียนมีความศรัทธา มีความตั้งใจ และมีใจไฝ่เรียนรู้ ช่วยทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็ว และเข้าใจต่อบทเรียนได้ง่าย

รูปแบบกิจกรรมการเรียนตามแนวโยนิโสมนสิการ
1. ผู้สอนตั้งจุดประสงค์การเรียนรู้ว่า ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาจิตและปัญญาหรือเรียกว่า “ความรู้สึกนึกคิด” ไปในทางดีงาม และสามารถเข้าถึงความรู้ที่แท้จริงได้ตามกำลังของตนโดยการแสดงเจตคติเป็นข้อเขียน
2. ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นการส่งเสริมปัจจัยเกื้อหนุนการศึกษาตามแนวพุทธ 2 ประการ ดังนี้
– ปัจจัยภายนอก หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่ การเอื้ออำนวยบรรยากาศการใฝ่รู้ใฝ่คิด ทำให้มีจิตศรัทธา และเกิดความรักในความรู้ที่ได้ศึกษากิจกรรมที่จัดให้ ได้แก่ การเยี่ยมชมความดีงามของวัดและพระสงฆ์ และกิจกรรมการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ กิจกรรมทั้งสองช่วยสร้างศรัทธาต่อการเรียนเป็นอันมาก
– ปัจจัยภายใน หมายถึง การฝึกใช้ความคิดพิจารณา ผู้สอนกำหนดสิ่งให้ผู้เรียนพิจารณา และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพิจารณาสิ่งที่ได้สัมผัสจากการศึกษาเองตามลำพังอีกด้วย กิจกรรมการฝึกใช้ความคิดทั้งสองมีผลให้ผู้เรียนแสดงความเห็นสิ่งที่ได้สัมผัสและพิจารณาแล้ว โดยใช้เหตุผลตามหลักธรรม
3. การจัดสรรปัจจัยภายนอก และภายในควบคู่กัน คือ การจัดสิ่งแวดล้อมในการเรียนที่ดี และการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดของตนเอง ทั้ง 2 ประการนี้ ส่งเสริมเกื้อหนุนกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดประสงค์ คือสามารถพัฒนาจิตและปัญญาไปในทางดีงามได้ และผู้เรียนยอมรับที่จะควบคุมตัวเองให้ใช้เหตุผลมากกว่าใช้ความรู้สึก แสดงว่า ถ้าผู้สอนส่งเสริมให้พัฒนาปัญญาได้ ย่อมมีผลต่อการพัฒนาจิตของนักเรียนได้อย่างสำคัญ
4. แบบฝึกหัด ผู้สอนควรให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดพิจารณา และนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม มาใช้ประกอบการเรียนด้วย เพื่อสอนให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ การสร้างแบบฝึกหัดจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

โยนิโส2

การสร้างเจตคติที่ดีต่อครู วิธีการเรียน และบทเรียน
1. การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เหมาะสม
– การจัดชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบอาคารสถานที่ การจัดระเบียบในห้องเรียน รวมถึงการตกแต่งให้เกิดความสบายตาทั้งในอาคาร และห้องเรียน
– การจัดสื่อการสอน การสอนวิชาที่มีเนื้อหาต่างกันย่อมมีบรรยากาศ และสภาพของชั้นเรียนแตกต่างกันไป การสอนวิชาภาษาย่อมต้องเน้นการจัดสื่อการสอนให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่าน เขียน พูด ฟัง ในขณะที่สอนศิลปะ พลศึกษา และดนตรี จะมีสภาพชั้นเรียน

2. การสร้างความสัมพันธ์
การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สอน และศิษย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะหากผู้สอน และศิษย์มีความเข้าใจ และไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว ย่อมทำให้ศิษย์มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆจากผู้สอน
การสอนแบบสร้างศรัทธา ครูควรคงบุคลิกภาพที่ดีไว้ ดังนี้
– ร่างกาย และการแต่งกาย ได้แก่ ร่างกายมีความสะอาด ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมตามวาระ
– บุคลิกภาพทางกาย ได้แก่ สร้างรอยยิ้มให้แก่เด็ก อยู่ในลักษณะสงบ และสำรวม
– การกระทำทางกาย ได้แก่ มีความใจเย็น ไม่โมโหร้าย ไม่ดุด่าอย่างไม่มีเหตุผล เป็นต้น
– ลักษณะทางจิตใจ ได้แก่ เป็นผู้มีเหตุ และผล เป็นผู้มีความมั่นใจในตนเอง เป็นต้น
– ความรู้ และสติปัญญา ได้แก่ เป็นผู้มีความรู้ และสั่งสมความรู้ของตนอย่างสม่ำเสมอ

3. การเสนอสิ่งเร้า และแรงจูงใจ
การเสนอสิ่งเร้า และแรงจูงใจ เป็นกระบวนการสอนหรือเทคนิคหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มาก เพราะสามารถช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากเรียนของเด็กออกมาได้ วิธีเหล่านี้ ได้แก่
– ใช้สื่อวิดีโอ ช่วยในการเรียน
– ใช้สื่อแผ่นพับ โปสเตอร์
– จัดกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่ เช่น การดูงานในบริษัทเอกชนต่างๆ
– ให้รางวัลด้วยสิ่งของหรือเงินทุน
– ฯลฯ

ตัวอย่างขั้นการสอนเพื่อให้แก้ไขปัญหา
1. เสนอหรือตั้งปัญหาที่เหมาะสมกับผู้เรียน
2. จัดกิจกรรมสิ่งเร้า เช่น
– นักเรียนทำการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
– เสนอให้รางวัลหรือทำโทษ
3. จัดกลุ่มเพื่อวิเคราะห์ และสรุป
– ให้แต่ละกลุ่มวิเคราะห์ในแต่ละประเด็นต่างๆ
– วิเคราะห์ความสัมพันธ์ในแต่ละประเด็น
– หาแนวทางการแก้ไขปัญหา
– เลือกแนวทาง และสรุปแนวทางที่เลือก