โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

10151

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) หมายถึง โรคที่เกิดจากภาวะการสูญเสียมวลกระดูกทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง เสี่ยงต่อกระดูกหัก กระดูกยุบหรือการคดงอของกระดูก และเกิดอาการปวดกระดูกเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง แขน ขา สะโพก เป็นต้น พบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีหลังหมดประจำเดือน

ตั้งแต่เด็กจนโตเนื้อเยื่อกระดูกของร่างกายจะมีการเสื่อม และสร้างทดแทนขึ้นมาตลอดเวลา แต่เมื่ออายุเกิน 30 ปีไปแล้ว ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย กระบวนการเสริมสร้างกระดูกจะเริ่มลดลง โดยพบว่าเพศหญิงจะมีอัตราการเสื่อมของกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก เมื่อเกิดภาวะการเสริมสร้างกระดูกน้อยกว่าภาวะการเสื่อม และการสูญเสียกระดูกจะเกิดภาวะของโรคที่เรียกว่า โรคกระดูกพรุน ตามมา

ภาวะที่เนื้อเยื่อกระดูกผุกร่อนไปจากเดิม เนื้อกระดูกที่ลดลงอาจถึงขั้นอันตราย เพราะไม่สามารถรับน้ำหนัก และเป็นโครงสร้างของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ โดยโครงร่างกระดูกซึ่งเคยแข็งแรงจะเปลี่ยนเป็นโครงร่างที่ผุกร่อนสามารถแตก หักได้ตลอดเวลาที่มีสิ่งของหนักมากระทบเพียงเล็กน้อย

โรคกระดูกพรุน

สาเหตุหลักเกิดจากการขาดแคลเซียมของร่างกาย ซึ่งปกติคนเราสามารถดูดซึมแคลเซียมในอาหารได้เพียงร้อยละ 30–40 เท่านั้น โดยอาศัยกลไกลจากวิตามินดี น้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร และน้ำแล็กโทส เข้าช่วยในการดูดซึม ซึ่งแคลเซียมบางส่วนที่ถูกดูดซึมจะถูกขับออกทางปัสสาวะ และเหงื่อ มีผลต่อการขาดแคลเซียมมากขึ้นทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่

สาเหตุ
สาเหตุสำคัญของโรคโรคกระดูกพรุนคือ ความผิดปกติของระดับฮอร์โมน และแคลเซียมในกระแสเลือดทำให้เกิดความไม่สมดุลของกระบวนการสร้างเซลล์กระดูก และการสลายกระดูก โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

 1. เซลล์กระดูก
กระดูกจัดเนื้อเยื่อพิเศษชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ คือ
1. เป็นโครงสร้างของร่างกายสำหรับยึดเกาะของกล้ามเนื้อ และเอ็นยึดต่างๆ
2. กระดูกบริเวณอวัยวะบางส่วนมีส่วนช่วยเป็นเกราะป้องกัน การกระทบกระแทกให้แก่ร่างกายเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น
3. โครงร่างกระดูกเป็นแกนหลักสำหรับการเคลื่อนไหวของอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นการดึง การหดตัวของกล้ามเนื้อ
4. เนื้อเยื่อกระดูกเป็นแหล่งสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ
5. กระดูกเป็นที่สะสมแคลเซียมให้แก่ร่างกาย

เซลล์กระดูกประกอบด้วย
ออสตีโอบาสท์ (Osteoblast) เป็นเซลล์กระดูกที่อยู่บริเวณไขกระดูกมีหน้าที่สร้างสารพื้นฐานของกระดูก เช่น แคลเซียม และทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของการสร้าง และสลายเซลล์กระดูก

ออสตีโอชัยท์ (Ostecyte) เป็นเซลล์ออสตีโอบาสท์ที่ล้อมรอบด้วยสารพื้นฐานของกระดูก มีหน้าที่รักษา และคงสภาพสารพื้นฐาน พร้อมทำหน้าที่ควบคุมระดับของแคลเซียม และฟอสฟอรัส

ออสตีโอคลาสท์ (Osteoclast) เป็นเซลล์ที่ทำหน้าในการสลายเซลล์กระดูก จากการปล่อยสารคาร์บอนิคแอนไฮเดรส และแอซิดไฮโดรเลสจากเซลล์ออสตีโอบาสท์

2. สารอนินทรีย์
เป็นสารพื้นฐานของเซลล์กระดูกประกอบด้วยเกลือแร่หลายชนิด ที่สำคัญ คือ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ที่อยู่ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต และแคลเซียมฟอสเฟต ที่เป็นองค์ประกอบของกระดูกส่วนใหญ่มากถึงร้อยละ 60

แคลเซียม มีหน้าที่สำคัญ คือ สร้างความแข็งให้กับกระดูก และฟัน ควบคุมการทำงานระบบกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ การแข็งตัวของเลือด การดูดซึมอาหาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบประสาท เกี่ยวข้องกับวิตามิน โดยร่างกายคนเรามีกลไกที่คอยทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดให้สมดุล กรณีที่ในเลือดมีระดับแคลเซียมน้อยร่างกายจะมีกลไกสลาย และดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ในการรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด

3. สารอินทรีย์
เป็นองค์ประกอบที่เป็นสารอินทรีย์ประกอบด้วยเส้นใยที่สร้างจากโปรตีน และคอลลาเจน มีมารองลงมากจากสารกระดูกพื้นฐานจำพวกเกลือแร่ถึงร้อยละ 40

ประเภทของโรคกระดูกพรุน
1. โรคกระดูกพรุนประเภทที่ 1 (Postmenopausal osteoporosis)
เป็นประเภทที่พบในหญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้สูงอายุ ซึ่งพบได้มากในช่วงอายุ 50-65 ปี เป็นชนิดที่เกิดมากในเพศหญิงที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการสลายเซลล์กระดูกมากว่าปกติ โดยเฉพาะกระดูกบริเวณทราบีคิวลาร์ อัตราการสลายเกิดขึ้นสูงประมาณวันละ 50 มิลลิกรัม เลยทีเดียว

2. โรคกระดูกพรุนประเภทที่ 2 (Senile osteoporosis)
เป็นโรคกระดูกพรุนที่เกิดทั้งในเพศหญิง และเพศชาย ที่เป็นผู้สูงอายุ อันเกิดจากภาวะการขาดแคลเซียม และการลดลงของการดูดซึมแคลเซียมบริเวณลำไส้เล็ก รวมถึงจากสาเหตุของโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคของต่อมไร้ท่อ (โรคธัยรอยด์ โรคเบาหวาน โรคของต่อมหมวกไต) โรคเลือด โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น มีผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดลงทำต่อพาราไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากขึ้นส่งผลต่ออัตราการสลายเซลล์กระดูกที่เพิ่มขึ้นด้วยเพื่อทำให้ภาวะแคลเซียมในกระดูกอยู่ในระดับปกติ

อาการของโรค
อาการของโรคกระดูกพรุนมักไม่ปรากฏในเด็ก และวัยรุ่น แต่หากเมื่ออายุมากขึ้นมักจะเริ่มมีอาการบ่งชี้ถึงภาวะกระดูกพรุนตามมา โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติอะไรมาก มีเพียงแค่อาการปวดเมื่อยทั่วไปเหมือนการทำงานหนัก ซึ่งมักยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน บางรายอาจทราบโดยการเข้ารับการรักษาอาการที่เกี่ยวกับกระดูกจนทำให้ตรวจทราบ สาเหตุของโรคกระดูกพรุนตามมา แต่หากเมื่อโรคมีความรุนแรงมากมักพบอาการปวดเมื่อยการกระดูก กล้ามเนื้อแบบเรื้อรังต่อเนื่อง กระดูกเปราะแตกหักง่ายเมื่อมีของหนักมากระทบกระแทก จนถึงภาวะรูปร่างของโครงกระดูกผิดปกติไปจากเดิม เช่น หลังโก่งค่อม เป็นต้น

การวินิจฉัย
โรคกระดูกพรุนแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติร่วมกับการถ่ายภาพ เอกซเรย์วิเคราะห์หามวลกระดูก อัตราการเสื่อมของกระดูก และอัตราการแตกหักของกระดูก

ภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
1. ผู้สูงอายุทั้งเพศชาย เพศหญิง โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอัตราการสูญเสียกระดูกมากกว่าเพศชาย
2. ผู้หญิงที่ทำการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
3. ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
4. ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวที่เคยเป็นโรคกระดูกพรุน หรือมีประวัติกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
5. ผู้ที่มีรูปร่างผอมบาง
6. ผู้ที่ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่จัด
7. ผู้ที่ได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ไทร็อกซิน ยากันชัก เป็นต้น
8. ผู้ที่อยู่ในร่มไม่ค่อยถูกแสงแดด

แนวทางการป้องกันแบ่งตามระยะ ได้แก่
1. สำหรับเด็ก และวัยรุ่นควรเร่งการเสริมสร้างกระดูกให้มากที่สุด โดยกินอาหารที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ เช่น นม ไข่ เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกาย และรับแสงแดด
2. สำหรับหญิงก่อนหมดประจำเดือนพยามยามรักษาปริมาณเนื้อกระดูกให้คงเดิมมากที่สุด
3. สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเน้นการชะลอการถดถอยของเนื้อกระดูก ควบคู่กับการเสริมสร้างกระดูกด้วยการกินแคลเซียมเสริมหรือกินอาหารที่มี แคลเซียมอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เป็นโรคกระดูกพรุน
1. กินอาหารเสริมเพิ่มแคลเซียม ประมาณ 800–1200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมสำเร็จรูปมากมายหรือกินอาหาร ประเภทที่มีสารแคลเซียมสูง
2. เพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมโดยการเพิ่มวิตามินดีจากอาหารหรือยา ร่วมด้วยกับการตากแดดเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีทางผิวหนัง
3. ไม่ควรใช้ยาเคลือบกระเพาะอาหารหากไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เกิดภาวะเป็นด่างในระบบดูดซึมของทางเดินอาหารทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และยาบางอย่างที่อาจลดการดูดซึมแคลเซียม เช่น ยาลูกกลอน ยากันชัก เป็นต้น
5. มั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูกแข็งแรง ระบบหัวใจ และปอดมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
6. หญิงที่ขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร ควรเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน

 อาหารที่มีแคลเซียมสูง
1. นม เนยแข็ง และผลิตภัณฑ์จากนม
2. ปลาขนาดเล็กที่สามารถกินทั้งกระดูกได้
3. ปลากระป๋องพร้อมกระดูก
4. กุ้งแห้ง กุ้งฝอย กะปิ
5. อาหารประเภทถั่ว และงา
6. ผักใบเขียวทุกชนิด
7. อาหารทะเล