โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

13231

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) หมายถึง ภาวะที่มีความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวที่มีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิต ตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวที่มีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิต ตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอท โดยมีการวัดความดันโลหิตตั้งแต่ 2 ครั้ง ขึ้นไป

ความดันโลหิตสูง หมายถึง แรงดันภายในหลอดเลือดหรือแรงของการบีบตัวไล่โลหิตแดง
ไปตามหลอดเลือดต่าง ๆ ความดันโลหิตจะสูงขึ้นและลงต่ำ ตามจังหวะการบีบตัวของหัวใจทุกครั้งซึ่งสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิต (Sphymonanometer) วัดที่แขน โดยมีค่าที่วัดได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไป

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาตามลำดับของอายุ มักเกิดมากในช่วงอายุ 35-55 ปี และมักพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และอาการเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในเพศชายจะพบมากกว่าเพศหญิง

Hypertensive crisis

ค่าความดันโลหิต แบ่งเป็น 2 ค่า คือ
1. ความดันช่วงบนหรือความดันซีสโตลิก (Systolic Blood Pressure) หมายถึง ค่าแรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว ซึ่งจะเป็นค่าสูงสุดของแรงดันเลือดที่ตรวจพบ มักมีค่าสูงตามวัย และเปลี่ยนแปลงตามท่าของร่างกาย อารมณ์ และการเคลื่อนไหว

2. ความดันช่วงล่าง (Diastolic Blood Pressure) หมายถึง แรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว

องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความของโรคความดันโลหิตสูง (Hypertention) หมายถึง ภาวะแรงดันขณะที่หัวใจบีบตัวของหลอดเลือด มีค่าเท่ากับหรือสูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และมีแรงดันขณะหัวใจคลายตัว มีค่าเท่ากับหรือสูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ส่วนความดันปกติ หมายถึงภาวะแรงดันในหลอดเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว มีค่าต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และมีแรงดันขณะหัวใจคลายตัว มีค่าต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท

ชนิดระดับความดันโลหิต
การจำแนกระดับความดันโลหิตสูงตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO-ISH)

ระดับความดันโลหิต SBP DBP (มม.ปรอท)
ปกติ น้อยกว่า 140 น้อยกว่า 90
สูงเล็กน้อย (Mild Hypertension) ตั้งแต่ 140-159 ตั้งแต่ 90-99
สูงปานกลาง (Moderate Hypertension) ตั้งแต่ 160-179 ตั้งแต่ 100-109
สูงรุนแรง (Severe Hypertension) มากกว่า 180 มากกว่า 110

การจำแนกระดับความดันโลหิตสูงตาม JNC VE

ระดับความดันโลหิต SBP DBP (มม.ปรอท)
สูงเล็กน้อย (Mild) ตั้งแต่ 140-159 ตั้งแต่ 90-99
สูงปานกลาง (Moderate) ตั้งแต่ 160-179 ตั้งแต่ 100-109
สูงรุนแรง (Severe) มากกว่า 180 มากกว่า 110
สูงรุนแรงมาก (Very Severe) มากกว่า 210 มากกว่า 120

การจำแนกตามการดำเนินของโรค
1. ความดันโลหิตแบบขึ้นๆ ลงๆ (Labile Hypertension) เป็นภาวะความดันโลหิตที่มีค่าสูงหรือต่ำกลับไปกลับมา ภาวะที่มีค่าสูงมักเกิดจากสภาพจิตใจหรือร่างกายผิดปกติ เกิดความเครียด หรือเกิดจากร่างกายป่วย แต่เมื่อสภาพจิตใจหรือร่างกายหายป่วยภาวะความดันเลือดก็จะลดลงโดยไม่ต้องรักษา ความดันโลหิตแบบมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และเป็นสาเหตุเบื้องต้นจนเปลี่ยนเป็นความดันโลหิตแบบสูงตลอดเวลา
2. ความดันโลหิตสูงแบบตลอดเวลา (Sustained Hypertension) เป็นภาวะป่วยของความดันโลหิตที่พบมากที่สุด โดยตรวจพบความดันช่วงบนสูงกว่า 90 มม.ปรอท ตลอดเวลา
3. ความดันโลหิตสูงชนิดร้ายแรง (Malignant Hypertension) เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่มีอาการมากแล้ว โดยตรวจพบค่าความดันช่วงบนมากกว่า 130 มม.ปรอท

ระดับความรุนแรงของโรค
1. ความรุนแรงระดับ 1 ตรวจไม่พบความผิดปกติหรือสภาพของอวัยวะส่วนใดเสื่อม
2. ความรุนแรงระดับ 2
– หัวใจห้องล่างซ้ายโต
– หลอดเลือดแดงเรตินา (Fundoscopic) มีลักษณะตีบลง ทั้งทั่วร่างกายหรือเฉพาะที่
– พบไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ หรือครีตินินในเลือดสูงกว่าปกติ (1.2-2.0 mg/dl)
3. ความรุนแรงระดับ 3
– ภาวะหัวใจวาย มีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว
– ภาวะอัมพาต จากหลอดเลือดในสมองแตกหรือเลือดออกในสมอง
– ตามีเลือดออกในเรตินา หรืออาจมีประสาทตาบวม (papilledema)
– สมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะสมองบวม
– ครีอะตินินในเลือดมีความเข้มข้นสูงมากกว่า 2.0 mg/dl ทำให้มีอาการไตวาย
– พบการฉีกของกล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดที่โป่งพองหรือมีอาการของโรคหลอดเลือดอุดตัน

ประเภทโรคความดันโลหิตสูง
1. โรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension)
ความดันโลหิตสูงชนิดนี้ พบจำนวนน้อย และสามารถรักษาให้หายขาดได้ มักเกิดจากสาเหตุการได้รับยา หรือฮอร์โมนบางชนิด  และโรคต่างๆ ที่พบได้บ่อย คือ โรคไต โรคของต่อมไร้ท่อ และความผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่  สาเหตุจากโรค ได้แก่
– ไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง
– หลอดเลือดแดงบริเวณไตมีการตีบตัน จากการแข็งตัวของหลอดเลือด หลอดเลือดอักเสบจนขัดขวางการไหลเวียนของเลือด เมื่อรักษาโดยการผ่าตัดก็จะหายเป็นปกติ
– ความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนต่อมหมวกไต และโรค Cushing’s Syndrome
– ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว และหลอดเลือดแดงใหญ่หดตัว
– ภาวะประสาทส่วนกลางผิดปกติ เช่น ฝีในสมอง สมองอักเสบ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้

hypertension1

2. โรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Primary Hypertension or Essential
Hypertension) พบมากที่สุดประมาณร้อยละ 90 – 95 ของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมพันธุ์ การรับประทานเกลือมาก โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น โรคความดันโลหิตสูงชนิดนี้ มักพบมากในวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ และมักมีประวัติทางครอบครัว หรือกรรมพันธุ์ เช่น มีพ่อแม่พี่น้อง หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้อยู่และส่วนใหญ่มักเป็นกับคนอ้วน

ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ
1. ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์
ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุจากการถ่ายทอดโรคจากพ่อ และแม่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง โอกาสที่ถ่ายทอดถึงลูก หากทั้งสองคนป่วยเหมือนกันประมาณร้อยละ 44-73 หากป่วยเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่วย โอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 16-57 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงโอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นโรค ประมาณ ร้อยละ 4-18 หากเป็นคู่ฝาแฝดพบว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์ทำให้มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิต สูงประมาณร้อยละ 50  ส่วนด้านเชื้อชาติ เพศ และวัยที่เพิ่มขึ้น พบว่า คนผิวดำมีโอกาสป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง มากกว่าคนผิวขาว 2 เท่า ซึ่งชาวอเมริกันผิวดำจะมีความดันโลหิตสูงกว่าชาวอเมริกันผิวขาว พบว่าผู้หญิงอเมริกันผิวดำวัย 18-74 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 39 ส่วนหญิงอเมริกันผิวขาวเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียง ร้อยละ 25

2. ปัจจัยด้านสรีรวิทยา
• ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
ภาวะอ้วนมีความสัมพันธ์กับความดันโลหิต คือ ผู้ที่มีน้ำหนักสูงขึ้นจะมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น และเมื่อน้ำหนักตัวลด ความดันโลหิตก็จะลดลง และมักพบว่า คนอ้วนประมาณร้อยละ 46 จะพบเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยที่เริ่มมีความดันโลหิตสูงเป็นครั้งแรกประมาณ ร้อยละ 70 มีสาเหตุมาจากความอ้วน น้ำหนักตัวมีผลต่อความดันโลหิตแตกต่างกันไปตามเพศ อายุ เชื้อชาติ จากการสำรวจสุขภาพของชาวอเมริกันพบว่า ผู้หญิงที่อ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้หญิงที่ไม่อ้วน 4 เท่า ในขณะที่ผู้ชายอ้วนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่อ้วนและ ผู้ชายที่อ้วนจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้หญิง

• ภาวะอินซูลินในเลือดสูง
คนอ้วนที่เป็นโรคความดันโลหิตมักพบปริมาณอินซูลินในเลือดสูง ซึ่งภาวะอินซูลินสามารถบ่งบอกความสอดคล้องกับการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

• ฮอร์โมนเอสโตรเจน
เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่พบในยาเม็ดคุมกำเนิด หรือแพทย์สั่งให้รับประทานเมื่อผู้นั้นอยู่ในภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายกักเก็บเกลือไว้เหมือนกับการรับประทานเกลือมากนั่นเอง

3. ปัจจัยทางด้านอาหาร (Dietary Risk Ractors)
• การได้รับโซเดียม
จากการศึกษา พบว่า ปริมาณเกลือโซเดียมที่บริโภคมีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในคนปกติและผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เนื่องจาก โซเดียมมีคุณสมบัติดูดน้ำ ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงบวม ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณเลือดและความต้านทานในหลอดเลือดแดงมากขึ้น ในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งได้รับโซเดียมเป็นจำนวนน้อย คือ 1,600 มิลลิกรัม/วัน เปรียบเทียบกับชาวอเมริกันซึ่งได้รับ 4,000-5,800 มิลลิกรัม/วัน พบว่า ประเทศด้อยพัฒนา มีภาวะความดันโลหิตสูงน้อยกว่าประเทศพัฒนามาก และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ตามอายุที่เพิ่มขึ้น สรุปว่าระดับความดันโลหิตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการกินเค็ม

• การได้รับแคลเซียม
แคลเซียมนอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความดันโลหิตสูง ปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ คือ 1,500-3,000 มิลลิกรัม/วัน จากการศึกษาวิจัยทั้งในคนปกติ และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง พบว่า ระดับแคลเซี่ยมที่ลดลงจะสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่สูงขึ้น  และหากรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่น้อย ร่วมกับการรับประทานอาหารเค็มจะเสริมให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น

• การได้รับโปแตสเซียม
ร่างกายต้องการโปแตสเซียม 2-6 กรัม/วัน เมื่อร่างกายได้รับโปแตสเซียมเข้าไปจะขยายหลอดเลือดโดยตรง เพิ่มการสูญเสียน้ำตาล และโซเดียมจากร่างกาย ถ้าร่างกายได้รับโซเดียมจำนวนมาก ควรเพิ่มโปแตสเซียมด้วย เพื่อไม่ให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น การรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมปริมาณสูงจะช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

• อาหารที่มีไขมัน
การรับประทานอาหารไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ ทำให้มีการสะสมของไขมันในเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดได้น้อย และเกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากน้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เมื่อรับประทานจะมีผลต่อการขจัดโซเดียมของไต และทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว

• น้ำตาลทรายขาว
การเสื่อมสภาพการทำงานของไต อาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคน้ำตาลทรายจำนวนมาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้ไตทำงานหนัก และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จนเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูงได้

4. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
• ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ร่างกายได้รับ
ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงประมาณกว่าร้อยละ 30 มักมีการดื่มสุรา และจากการศึกษา พบว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ 3 แก้ว/วัน จะมีระดับความดัน Systolic เพิ่มขึ้น 3-4 มิลลิเมตรปรอท และระดับ Diastolic เพิ่มขึ้น 1-2 มิลลิเมตรปรอท

• ขาดการออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย เช่น การวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ หรือ Aerobic Exercise สามารถป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรค

• ความเครียด
ความเครียดมีผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก ที่มีผลกระตุ้นการหลั่งสาร Epinephrine จากต่อมหมวกไต และ Norepineprine จากปลายประสาท ทำให้มีการบีบตัวของหลอดเลือดจนเกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ภาวะความเครียดของแต่ละบุคคลจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างกัน เช่น ตำรวจจรารจรมักมีความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงกว่าประชาชนทั่วไปมากกว่า 5 เท่า และกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม มักมีความดันโลหิตต่ำกว่าประชาชนทั่วไป

• การสูบบุหรี่
บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และเร่งการเกิดอาการ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายปล่อยสารคาทีคอลลามีน (Catecholamine) เข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นแรง และเร็ว ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้น

อาการโรคความดันโลหิตสูง
1. ปวดศีรษะ มักพบในผู้ใหญ่ที่มีระดับความดันโลหิตสูงรุนแรง ลักษณะอาการปวดมักจะปวดที่บริเวณท้ายทอย มีคลื่นไส้อาเจียน  ตามัว มักเกิดในตอนเช้า และมักหายเองภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในกะโหลกศีรษะหลังจากร่างกายเริ่มทำงานหลังตื่นนอน
2. เลือดกำเดาไหล (Epistaxis) เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อย นอกจากมีภาวะความดันโลหิตสูงมากจนเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอยบริเวณจมูก แต่อาการจะหายได้เมื่อควบคุมความดันเลือดให้เป็นปกติ
3. เวียนศีรษะ (Dizziness) มึนงง อาจจะเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ
4. อาการเหนื่อยหอบขณะออกแรง หรือทำงานหนัก หรืออาการเหนื่อยหอบนอนราบไม่ได้ ซึ่งบ่งถึงภาวะห้องหัวใจเวนติเคิลซ้ายล้มเหลว
5. อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ภาวะแทรกซ้อน
1. ผลต่อหัวใจ
มักมีผลทำให้เกิดภาวะล้มเหลวหรือเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้หัวใจวายได้ นอกจากนี้ ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตทำให้ไม่สามารถรับเลือด จากปอดได้ตามปกติ เกิดเลือดคั่งในปอด ถุงลมในปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ทำให้รับออกซิเจนได้น้อยลง ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะทำให้หัวใจห้องล่างขวาต้องทำงานหนักมาก เกิดอาการบวมทั้งตัว  และหัวใจห้องล่างขวาวาย

2. หลอดเลือดแดง
ภาวะความดันโลหิตสูงมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนา และแข็งตัว (Atherosclerosis) มีการเร่งการเกาะตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เป็นผลก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อย อวัยวะส่วนปลายได้รับเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอหรืออาจเกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงโป่งพอ งและแตกได้ง่าย

3. ผลต่อไต
ไตนอกจากจะทำหน้าที่ขับของเสียแล้ว ยังมีหน้าที่ผลิตสารปรับความดันโลหิตที่ช่วยรักษาความดันให้เป็นปกติ เช่น เรนิน (Renin) และพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงบริเวณไตมีผนังหนาขึ้น หลอดเลือดตีบ ขรุขระ เลือดมาเลี้ยงไตไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยมักมีอาการบวมเหนื่อยง่าย ถ่ายปัสสาวะน้อยลง และในกรณีที่เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการไตวายได้

4. ผลต่อสมอง
ความดันโลหิตที่สูงอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลต่อแรงดัันของหลอดเลือดในสมองเพิ่มขึ้นด้วย และหากเป็นหนักหรือเป็นเวลานานก็มักจะทำให้ผนังเลือดเกิดการโป่งพอง หลอดเลือดไม่มีความยืดหยุ่น และแตกง่าย จนเกิดเลือดออกในสมอง ทำให้เนื้อสมองตาย และเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต

5. ผลต่อตา
โรคความดันโลหิตสูง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยื่อแก้วตา หลอดเลือดฝอยบริเวณตาบีบตัวมากขึ้น มีเลือดออกในตา และประสาทตาเสื่อม ทำให้ตาจะมัวลงเรื่อยๆ และตาบอดได้ แบ่งความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ คือ
• ระดับ 1 หลอดเลือดแดงที่จอตาจะตีบและแข็งตัวลงเล็กน้อย
• ระดับ 2 หลอดเลือดแดงที่จอตามีการแข็งตัว และมีการหดมากขึ้น การไหลเวียนเลือดไม่ดี ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน และเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
• ระดับ 3 มีอาการบวมของจอตาหรือมีของเหลวข้นๆออกมา โดยเฉพาะบริเวณเลือดออก หลอดเลือดแดงในม่านตาหดเกร็ง
• ระดับ 4 มีลักษณะเช่นเดียวกับระดับ 3 แต่มีการบวมที่จุดรวมของเส้นเลือด และประสาท ซึ่งเกิดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงวิกฤติ

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ
1. การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Nonpharmacologic Therapy)
1. การลดน้ำหนักตัว
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกรายที่มีน้ำหนักเกินกว่าน้ำหนักมาตรฐาน (มากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักมาตรฐาน) ควรมีการลดน้ำหนัก ด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย โดยเฉพาะในรายที่มีระดับความดันโลหิตสูงไม่มาก ควรเริ่มต้นการรักษา โดยไม่ใช้ยา และลดน้ำหนักตัวก่อนอย่างน้อย 3-6 เดือน ก่อนให้ยาลดความดันโลหิตสูง

2. ลดการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนสำคัญในการเพิ่มระดับความดันโลหิต และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาที่รักษาอยู่ ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ดื่มสุรามากจะเสี่ยงต่อโรคอัมพาตมากขึ้นด้วย

3. การเลิกสูบบุหรี่
บุหรี่เป็นปัจจัยเสริมที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตมากขึ้น

4. การออกกำลังกาย
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลง ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับน้อยถึงปานกลาง หากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถลดความดันโลหิตตัวบนหรือซีสโตลิกได้ประมาณ 10 มิลลิเมตรปรอท รวมทั้งลดค่าความดันโลหิตตัวล่างหรือความดันไอแอสโตลิกด้วย การออกกำลังกายที่ควรปฏิบัติ คือ การถีบจักรยาน การวิ่ง การว่ายน้ำ การเดินเร็วๆ ส่วนการออกกำลังกายที่หนัก เช่น การยกน้ำหนัก หรือการออกแรงมากๆ ไม่ควรทำ เพราะทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น ระยะเวลาที่ออกกำลังกาย 20-60 นาที และควรทำประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

5. การผ่อนคลายความเครียด
การระงับหรือลดความเครียดของผู้ป่วยโรค ความดัน โลหิตสูง เป็นผลดีทำให้จิตใจผ่อนคลายและเป็นผลดีของการควบคุมรักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ การทำโยคะ
• การฝึกหายใจ โดยการฝึกหายใจให้ลึก ช้าๆ และสม่ำเสมอ โดยใช้หน้าท้อง และกะบังลมพองออกขณะหายใจเข้า และยุบตัวขณะหายใจออก
• การฝึกสมาธิ ด้วยการพิจารณาจิตต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจเข้าออก การกำหนดรู้ตามอิริยาบถของร่างกาย
• การฝึกคลายกล้ามเนื้อ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
– ประเภทที่ 1 ฝึกโดยการเกร็งให้เต็มที่ แล้วคลายออก โดยเริ่มที่เท้าทั้ง2 ข้าง ก่อนแล้วเลื่อนขึ้นมาตามส่วนของร่างกายที่ละส่วน
– ประเภท ที่ 2 ฝึกโดยผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องเกร็ง แต่ใช้ความรู้สึกหรือจิตสัมผัส เพ่งแต่ละส่วนของร่างกายให้เกิดการผ่อนคลาย

6. การบริโภคอาหาร
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรจำกัด ปริมาณเกลือในอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงเฉพาะซีสโตลิคการจำกัดอาหารเค็มจะ ช่วยลด ความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ควรลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เพื่อลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง โดยเฉพาะอาหารเส้นใยกากใยสูง เช่น ข้าวโอ๊ต ผลไม้ และผักสด ผลไม้ควรรับประทาน 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เพราะการรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูงจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียม สามารถลดไขมันและการเปลี่ยนแปลงไขมันในเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงทุกวัน ประมาณ 1-2 กรัมต่อวัน เช่น นมสดทั้งที่ไขมันครบส่วน ไขมันน้อย รวมทั้งชนิดขาดไขมัน เพราะแคลเซียมไปขัดขวางผลของโซเดียมที่มีต่อความดันโลหิต จึงทำให้ความดันโลหิตลดลง จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงชนิดไม่รุนแรง โดยการให้หยุดรับประทานยาและให้การรักษาด้วยอาหารแทนการรักษาด้วยยา เมื่อศึกษาเป็นเวลา 4 ปี พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 39 มีความดันโลหิตปกติ

hypertension3

อาหารที่มีโซเดียมมาก
การจำกัดปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากอาหาร เป็นส่วนสำคัญสำหรับลดภาวะความดันโลหิต ได้แก่
• อาหารที่ใช้เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซอสหอยนางรม น้ำซีอิ้ว เต้าเจี้ยว น้ำพริก น้ำบูดู ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง ข้าวเกรียบปลาต่างๆ อาหารทอด เช่น ไก่ทอด เนื้อทอด  อาหารโรยเกลือ เช่น ถั่วลิสงคั่ว ถั่วปากอ้าคั่ว เป็นต้น
• อาหารที่มีการถนอมอาหารด้วยเกลือ เช่น กุ้งแห้ง ปลาแห้ง หมูหรือเนื้อแดดเดียว ผลไม้ดอง  ผักดอง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้ มักใช้เกลือปริมาณสูงสำหรับป้องกัน และฆ่าเชื้อไม่ให้อาหารเน่าเปื่อย
• สารเคมีปรุงรส ได้แก่ ผงชูรส  เพราะสารเหล่านี้จะมีส่วนประกอบของโซเดียมรวมอยู่ด้วย
• อาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมสูง เช่น ปลาทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น
• ยาบางชนิดที่มีโซเดียม เช่น ยาลดกรด น้ำยาบ้วนปาก ยาระบาย เป็นต้น ซึ่งมักมีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต

ระดับการจำกัดโซเดียม
1. จำกัดอย่างเบาสุด คือ รับปริมาณน้อยกว่าความต้องการของร่างกายที่ควรได้รับ คือ วันละ 2500 มิลลิกรัม
2. จำกัดเพียงเล็กน้อย คือ ได้รับวันละ 1500-2000 มิลลิกรัม
3. จำกัดปานกลาง คือ ได้รับวันละ 1000 มิลลิกรัม
4. จำกัดอย่างมาก คือ ได้รับวันละ 500 มิลลิกรัม
5. จำกัดมากที่สุด คือ ได้รับวันละ 250 มิลลิกรัม

อาหารที่มีน้ำตาล และไขมัน หรือให้พลังงานสูง
• อาหารที่มีไขมันหรือเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น ข้าวขาหมู เป็ดพะโล้ หนังหมูย่าง ไก่ทอด ไข่เจียว ข้าวเกรียบ เป็นต้น
• อาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น ขนมหวาน และขมปัง ต่างๆ
• เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก เช่น น้ำตาลสด น้ำอ้อยสด เป็นต้น
• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ไวน์
• อาหารที่ใส่กะทิ เช่น แกงมัสมั่น แกงเทโพ เป็นต้น

2. การรักษาโดยการใช้ยา (pharmacologic Therapy)
การรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยา แพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อรักษาแบบไม่ใช้ยาแล้วระดับความดันโลหิตไม่ลดลงในผู้ ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ 1 และระดับ 2 ส่วนในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับรุนแรงหรือระดับ 3 แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยาทันที
1. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
ยาที่ใช้ ได้แก่ furosemide, spironolactone, hydrochlorothiazide เป็นต้น ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยลดการทำงานของไตในการดูดซึมเกลือโซเดียม และน้ำช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงได้ เป็นยาที่ใช้มานาน มีราคาถูก และใช้ได้ผลดีในการควบคุมระดับความดันโลหิต อาการข้างเคียงที่พบ คือ ทำให้โปรแตสเซียมในเลือดต่ำ แคลเซียมในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงมียูริกสูงในเลือด ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ และน้ำตาลในเลือดสูง เกิดความผิดปกติในเรื่องเพศสัมพันธ์ และทำให้อ่อนเพลีย

2. ยากั้นเบต้า (Beta Blockres)
ยาที่ใช้ ได้แก่ atenolol, betaxolol, propranolol เป็นต้น โดยจะออกฤทธิ์หยุดการตอบสนองของระบบประสาทซิมพาเทธิค ทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาณเลือดที่ไหลออกจากหัวใจ มีการออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตทันที แต่กว่าจะได้ผลเต็มที่อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์

อาการข้างเคียง คือ หลอดเลือดตีบจากการหดรัด ทำให้หายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ถ้ามีหัวใจวายอยู่ด้วยจำทำให้ภาวะหัวใจวายรุนแรงขึ้น ทำให้มีน้ำตาลในเลือดต่ำ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ผู้ป่วยที่ใช้ยาชนิดนี้จะทนต่อการออกกำลังกายได้น้อย

3. ยากั้นแอลฟา (Alpha Blokers)
ออกฤทธิ์ต้านแอลฟา – 1 รีเซฟเตอร์ของระบบประสาท Sympathetic ซึ่งอยู่ที่ผนังของหลอดเลือด มีผลห้ามการหดตัวของหลอดเลือดทำให้ลดแรงต้านของหลอดเลือดแดง ยานี้ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด อาการข้างเคียงของยา คือ มึนงง เวียนศรีษะ ปวดศรีษะ คลื่นใส้อาเจียน ใจสั่น

4. ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)
ยาที่ใช้ ได้แก่ hydralazine, minoxidil เป็นต้น โดยจะออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่รอบ ๆ เส้นเลือด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และหลอดเลือดขยายตัว จึงลดแรงต้านทานภายในผนังของหลอดเลือด มียาบางชนิดในกลุ่มนี้ที่สามารถให้ทางหลอดเลือดดำได้ มีประสิทธิภาพสูง แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะอาจเกิดภาวะช็อคได้

5. ยาต้านแคลเซียม (Calcium Antagonist)
ยาที่ใช้ ได้แก่ verapamil, mibefradi เป็นต้น เป็นยารักษาหลอดเลือดตีบใช้กับผู้ป่วยโรคไต ยานี้จะออกฤทธิ์ทางอ้อม โดยการห้ามแคลเซียมไม่ให้เข้าเซลล์ ทำให้ลดปริมาณแคลเซียมในเซลล์รอบเส้นเลือด เกิดกล้ามเนื้อคลายตัว หลอดเลือดขยายตัว ออกฤทธิ์ได้นาน 12-24 ชั่วโมง อาการข้างเคียงของยา คือ ปวดศรีษะหน้าแดง มึนงง หัวใจเต้นเร็ว กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ ขาบวม

6. ยาต้านเอนไซม์ angiotensin (ACEI-Angiotensin)
ยาที่ใช้ ได้แก่ captopril, enalapril, lisinopril เป็นต้น โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ ACE เพื่อลดระดับของ Angiotensin II ที่เป็นสารสำคัญทำให้หลอดเลือดหดตัว และหนาตัวเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ลดแรงต้านทานในหลอดเลือด ยานี้ เป็นยาที่มีประสิทธิ์ภาพสูง ออกฤทธิ์ค่อนข้างสั้น และใช้ได้เพียงวันละ 1 ครั้ง อาการข้างเคียง คือ ไอ ผื่นขึ้น โปรแตสเซียมในเลือดสูง