โรคประสาทหูเสื่อม

11853

การได้ยินของคนเรานั้น เสียงจะเคลื่อนที่จากหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นกลาง และเข้าสู่หูชั้นใน ซึ่งบริเวณหูชั้นในที่เป็นอวัยวะรูปก้นหอยจะประกอบด้วยเซลล์ขนที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณเสียงต่อไปให้เส้นใยประสาทส่งต่อไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของเสียง หากเซลล์ขนเสียหายหรือชำรุดจากภาวะเสียงดังรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน เซลล์ขนจะไม่สามารถกลับทำหน้าที่เหมือนเดิมได้ และเกิดการร่วงหลุดได้ ทำให้สัญญาณเสียงเกิดการขาดช่วงในการเดินทางเข้าสู่การแปลผลของสมอง และเกิดการสูญเสียการได้ยิน หรือที่เรียกว่า โรคประสาทหูเสื่อม (Sensorineural Hearing Loss)

การเสียหายของเซลล์ขนจากการได้รับเสียงดังจะค่อยๆหลุดร่วงซึ่งจะใช้เวลานานกว่าอาการประสาทหูเสื่อมจะแสดงออกจึงทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนักกับการใส่ใจเรื่องหู และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียงประสาทหู

สาเหตุการสูญเสียการได้ยิน
1. จากการเสื่อมสภาพของอวัยวะ ได้แก่ การเสื่อมสภาพตามวัยของร่างกาย โดยพบมากในผู้สูงอายุ ลักษณะการสูญเสียการได้ยินแบบนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าตามวัย โดยจะเกิดกับหูทั้งสองข้างเท่ากัน และจะเกิดกับความถี่เสียงสูงก่อนค่อยๆเกิดกับความถี่เสียงต่ำ

2. ภาวะความผิดปกติจากพันธุกรรม โดยมักพบประวัติการผิดปกติของการได้ยินในเครือญาติของผู้ป่วย อาการของโรคจะเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย ลักษณะการสูญเสียการได้ยินจะเป็นแบบสื่อกระแสไฟฟ้าสูญเสียการได้ยินปกติ (Conductive) แบบผิดปกติทางประสาท และการได้ยิน (sensor neural) หรือแบบผสม (mixed) นอกจากนี้อาจพบความผิดปกติของอวัยวะอื่นร่วมด้วยในกลุ่มของโรค เช่น โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otoosclerosis)

3. การติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meninggitis) หรือสมองอักเสบ (Encephalitis) และอาจติดเชื้อจากแบคทีเรีย และไวรัสก็ได้ นอกจากนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติของโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ โรคไตวาย โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะไขมัน และคอลเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้จะก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบไบลาเตอรอล โปรเกรสซีบ (Bilateral Progressive) ในช่งระดับเสียงความถี่สูง

การสูญเสียการได้ยินแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว (temporary threshold shift: TTS) คือ อาการหูตึงที่เกิดจากการสัมผัสกับเสียงดังในระยะเวลานานพอจนทำให้เกิดอาการ หูตึงชั่วขณะ ซึ่งจะเกิดประมาณ 2-3 ชั่วโมง และจะหายเป็นปกติเมื่อไม่ได้สัมผัสกับแหล่งเสียงดัง

2. การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร (permanent threshold shift: PTS) คือ อาการหูตึงที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานานพอหรือต่อเนื่อง เป็นประจำ อาการหูตึงนี้จะยังคงอยู่ไม่หายเป็นปกติถึงแม้จะหยุดสัมผัสกับเสียงดังแล้ว ก็ตาม นอกจากนี้ อาการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรอาจเกิดร่วมกับแก้วหูทะลุจากการสัมผัสเสียงดัง มากกว่า 140 เดซิเบล เอ

นอกจากนั้น สัมผัสกับเสียงดังมากในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงระเบิด เสียงปืนใหญ่ เป็นต้นจะทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน สิ่งที่มักตามมาคือการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรจากอวัยวะเยื่อแก้วหูถูกทำลาย

การสูญเสียการได้ยิน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เมื่อหูสัมผัสกับเสียงดังจะมีความรู้สึกดังก้องในรูหู ทั้งขณะสัมผัสกับแหล่งเสียง และไม่ได้สัมผัสกับแหล่งเสียงแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะ 10-20 วันแรก นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหัว เวียนศรีษะ ร่างกายอ่อนเพลียตามมา

ระยะที่ 2 เกิดในช่วง 2-3 เดือน หลังการสัมผัสเสียงดังมานานหรือติดต่อกัน ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกกับอาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของเสียงเหมือนในระยะแรก หากเมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจสมรรถนะการได้ยินจะพบว่าความสามารถการได้ยิน และตอบสนองต่อเสียงลดลง

ระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกไม่ได้ยินเสียงเหมือนปกติ เช่น เสียงดังมากจะรู้สึกเหมือนเสียงดังธรรมดา เสียงดังค่อย เช่น เสียงนาฬิกาเดินจะไม่ได้ยินเสียง หรือเสียงที่เคยรับฟังในปกติจะรู้สึกดังค่อยต้องเพิ่มระดับเสียงเพิ่มขึ้น ซึ่งคนปกติจะรู้สึกว่ามีเสียงดัง

ระยะที่ 4 เป็นระยะของการสูญเสียการได้ยิน หากมีการสนทนาจะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถรับฟังเสียงการสนทนาได้เหมือนปกติ ต้องใช้การพูดข้างหูหรือต้องใช้เสียงดังจึงจะสามารถจับใจความได้

การป้องกัน
1. การป้องกันที่แหล่งเสียง
– ปรับเปลี่ยนวัสดุ อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง
– ใส่น้ำยาหล่อลื่นสำหรับอุปกรณ์ที่มีการกระทบกระแทกตลอดเวลา

2. การป้องกันที่ทางผ่าน
– ใช้ผนังหรือกำแพงกั้นแหล่งกำเนิดเสียง
– ใช้วัสดุครอบอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง

3. การป้องกันที่บุคคล
– การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียง เมื่ออยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียง
– การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของเสียง และหลักการปฏิบัติเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง
– ลดระยะเวลาในการสัมผัสกับเสียงหรือเว้นช่วงการสัมผัสเสียง เช่น การอยู่ในสถานที่หรือการทำงานที่ไม่ต้องสัมผัสเสียง
– ทำการตรวจสมรรถนะการได้ยินทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีเสียงดังหรือต้องสัมผัสกับเสียงดังอยู่เสมอ