โรคประสาท อาการ การรักษา

29950

โรคประสาท (Neurosis) เป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม และอารมณ์ให้เหมือนคนทั่วไปได้ ด้วยสาเหตุจากความวิตกกังวล ความไม่สบายใจ จิตใจแปรปรวน อ่อนไหวง่าย มีความขัดแย้งในจิตใจ มีความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล ซึ่งจะมีอาการแสดงออกตามมา โดยผู้ป่วยมักแสดงออกทั้งทางร่างกาย และจิตใจที่เห็นได้ชัด แต่ไม่รุนแรงเท่าโรคจิต ผู้ป่วยสามารถมีจิตนึกคิดตามเหตุการณ์ที่เป็นจริง รู้ตัวเองอยู่เสมอ ไม่มีอาการประสาทหลอนหรือเห็นภาพลวงตา หูแว่ว และสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป โรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกวัยเริ่มตั่งแต่วัยเด็กจนถึงคนสูงอายุเลยทีเดียว โรคประสาทแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ เช่น  โรคประสาทวิตกกังวล (Anxiety Neurosis) และโรคประสาทซึมเศร้า (Depressive Neurosis)

โรคประสาท

โรคประสาทแบ่งเป็นประเภทต่างๆ คือ
1. ประเภทวิตกกังวล (Anxiety Neurosis) เป็นอาการทางประสาทประเภทหนึ่งที่จิตมีอาการวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป ความวิตกเหล่านี้มักเกิดในเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจมาก่อน เรื่องที่เคยทำให้เกิดความสูญเสีย เรื่องต่างๆเหล่านนั้น อาจเป็นเรื่องเดิมๆหรือเรื่องใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ความวิตกในเรื่องหนึ่งๆอาจหายได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่บางเรื่องอาจคงอยู่ในจิตใต้สำนึกนานหลายปี ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมีผลทำให้เกิดภาวะเครียด หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น  เบื่ออาหาร มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย มักมีอาการเก็บไปฝันขณะนอนหลับ เพ้อ

2. ประเภทหวาดกลัว (Phobic Neurosis) มักเกิดขึ้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยประสบกับเหตุการณ์มาก่อน จนทำให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวัตถุที่เป็นองค์ประกอบของเหตุการณ์นั้น ๆอาการหวาดกลัวจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ และรวดเร็วกว่าคนปกติ เมื่อสัมผัสกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน มีผลทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วรัว เหงื่อออก หวาดระแวง คลื่นไส้ แต่อาการจะหายเองเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความกลัวได้ง่าย ได้แก่ การอยู่ตามลำพัง การได้รับสารกระตุ้นประสาท เป็นต้น

3. ประเภทย้ำคิดย้ำทำ (Obscessive Compulsive Neurosis) เป็นสภาวะที่เกิดจากความวิตกกังวลเป็นพื้นหลัง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการกระทำเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากสภาวะเหล่านั้นด้วยการกระทำแบบเดิมซ้ำๆกัน จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังในจิตใจต่อการแก้ไขปัญหาของตนเองด้วยการกระทำหรือแสดงลักษณะอาการแบบเดิม โดยที่ตนเองไม่รู้ตัวหรือควบคุมตัวเองไม่ได้

4. ประเภทซึมเศร้า (Depressive Neurosis) สภาวะซึมเศร้ามักเกิดจากสภาวะจิตใจที่มีความแปรปรวน และมีความขัดแย้งภายในใจ รวมไปถึงภาวะเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย และเศร้าเสียใจตามมา ผู้ป่วยประเภทนี้มักคบคิดถึงเรื่องราวนั้นเป็นประจำ และไม่ลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้มีอาการเหม่อลอย ซึมเศร้า ชอบเก็บตัว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และมีอาการท้องผูก ฯลฯ

5. ประเภทบุคลิกวิปลาส (Depersonalization) เป็นโรคประสาทที่เกิดกับการครุ่นคิดเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติกรรมของตนเอง ที่รู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวเองกระทำ มักเกิดร่วมด้วยกับอาการวิตกจริต

สาเหตุการเกิดโรค
1. สาเหตุทางพันธุกรรม และโครงสร้างของร่างกาย ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของร่างกาย เช่น การสูญเสียอวัยวะ การพิการแต่กำเนิด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นมูลเหตุทำให้เกิดความท้อแท้ และเป็นปมด้อยในชีวิตได้

2. สาเหตุทางสังคม และการใช้ชีวิต ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วทำให้การปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ทัน การถูกตอกย้ำทางสังคมในจุดด้อยที่ตนเองมี รวมไปถึงปัญหาชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ความยากจน การหย่าร้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะทางประสาทตามมา

3. สาเหตุทางชีวะเคมี ที่เกิดจากภาวะร่างกายเจ็บป่วยหรือผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่างๆผิดปกติ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท สมอง ส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมของโรคทางประสาท

4. สาเหตุจากสารเสพติด ที่ผู้ป่วยมีการใช้สารเสพติดหรือสารที่มีผลต่อระบบประสาทมากเกินขนาดหรือสะสมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการทางประสาทตามมา

5. สาเหตุทางอายุ ในวัยเด็กเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรง เด็กมักจดจำได้นาน และเก็บฝังภายในจิตใจ รวมไปถึงจุดพร่องที่ตนเองมีในวัยเด็ก เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านั้นก็มักจะเกิดความกลัวได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับการเผชิญเมื่อเป็นวัยผู้ใหญ่ จะก่อให้เกิดความแปรปรวนของนิสัย เช่น การกัดเล็บ การดูดนิ้วมือ การปัสสาวะรดที่นอน บางรายอาจมีการกระตุกเกร็ง และบางคนมีความรู้สึกหวาดกลัว ส่วนวัยผู้สูงอายุ มักเกิดอาการทางประสาทได้ง่ายในภาวะที่จิตใจอ่อนแอหรือรู้สึกทอดทิ้ง

อาการของโรคประสาท
อาการของโรคประสาทมีลักษณะเด่นในเรื่องของการวิตกกังวลเป็นพิเศษ และมีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเหล่านี้ คือ
1. มีอารมณ์เครียด วิตกกังวลหรือกลัวเกินกว่าปกติ
2. ชีพจรเต้นแรง เร็ว ใจสั่น มีอาการแน่นหน้าอก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และปัสสาวะบ่อย
3. มีอาการเกร็งของระบบกล้ามเนื้อ มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก
4. มักมีความคิดซ้ำซาก ย้ำคิดย้ำทำ วนไปวนมา ในสิ่งที่ตนเองกังวล และมักคิดในแง่ร้าย ร่วมด้วยอาการกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
5. มีอาการเหม่อลอย ซึมเศร้า
6. มีอาการตกใจง่ายเมื่อมีเสียงดังหรือมีเหตุการณ์ที่น่าตกใจ

การรักษาโรคประสาท
การรักษาอาการของโรคประสาทจะเน้นที่การเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการคิดของผู้ ป่วยเป็นหลักที่จะส่งผลต่อพฤติกรรม และความคิดให้เหมือนคนปกติทั่วไป ปัจจุบันทางการแพทย์มักใช้แนวทาง ดังนี้
1. การใช้ยา  ในระยะการรักษาขั้นต้นอาจมีการใช้ยาหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือใช้ยาเพื่อ ลดอาการในระยะแรก ในการลดความวิตกกังวล เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาบำรุงประสาท เป็นต้น
2. การรักษาทางจิตใจหรือทางแพทย์เรียก จิตบำบัด ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจตนเอง  ยอมรับในความเป็นจริง
3. พฤติกรรมบำบัด วิธีนี้มักใช้ควบคู่ไปกับกระบวนการจิตบำบัด โดยการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวลของตนเองด้วยวิธีการต่างๆ  สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า  เพื่อลดความเครียด และอาการที่อาจแสดงออกทางร่างกายจากภาวะวิตกกังวล
4. แต่หากผู้ป่วยบางรายสามารถรับรู้ถึงภาวะที่ตนเองเป็นอยู่ ก็อาจสามารถบำบัดอาการป่วยทางจิตไดด้วยตนเอง ด้วยการจัดการความเครียดหรือความวิตกกังวลด้วยวิธีต่างๆ เช่น การนั่งสมาธิ การเข้าวัดฟังธรรม การท่องเที่ยวหรือการปรึกษาคนใกล้ชิด เป็นต้น

การป้องกัน
1. สำหรับวัยเด็ก ปัจจัยทางด้านครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญ การอบรมเลี้ยงดู การเอาใจใส่ การไม่สร้างความรุนแรงกับเด็กทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ย่อมสามารถป้องกันภาวะโรคประสาทในเด็กได้เป็นอย่างดี
2. สำหรับผู้ใหญ่ การฝึกจิตให้รู้จักตนเอง คนรอบข้าง และยอมรับถึงสถานการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้ ย่อมทำให้เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับทุกเรื่องราวได้
3. การรู้จักให้อภัยในสิ่งที่ผิดพลาดจากการกระทำ และไม่ซ้ำเติม
4. การให้กำลังใจเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์หรือสภาวะที่ทำให้เกิดความเสียใจ หรือการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต รวมถึงกำลังใจในการต่อสู้ต่อสิ่งบกพร่องต่างๆของผู้ป่วย อาทิ คนกำพร้า ผู้พิการ เป็นต้น
5. การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพของตนเอง รวมถึงการสร้างความสุขให้ตนเอง และครอบครัวด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การกีฬา การเที่ยวพักผ่อน เป็นต้น ถือเป็นยาช่วยเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตที่ดีที่สุด