โรคมือเท้าปาก (HFMD) และการรักษา

8300

โรคมือเท้าปากหรือโรคที่มักเรียกกันทั่วไปว่า โรคมือเท้าปากเปื่อย มีชื่อย่อ HFMD (Hand Foot and Mouth Disease ) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เป็นโรคที่มักพบ และแพร่ระบาดในประเทศเขตร้อนซึ่งสามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น โดยพบมากในเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

การติดต่อ และการแพร่ระบาด
เชื้อโรคนี้สามารถแพร่กระจาย และระบาดได้ผ่านทางละอองจากสารคัดหลั่งจากตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ได้แก่ การไอ การจาม น้ำมูกหรือการสัมผัสจากน้ำของตุ่มใส (Respiratory route) จากตัวผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มของผู้ป่วยที่มีเชื้อนี้ปะปนอยู่ โดยเชื้อมือเท้าปากเปื่อยสามารถทนต่อสภาวะความเป็นกรดในระบบทางเดินอาหารของ เราได้เป็นอย่างดี และนอกจากนั้นยังสามารถทนอยู่ในสภาวะอุณหภูมิห้องได้นานถึง 2-3 วันเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ไม่สามารถติดต่อจากคนไปสู่สัตว์หรือจากสัตว์มาสู่คนได้

ช่วงสัปดาห์แรกเป็นช่วงที่มีการแพร่กระจายมากที่สุดและจะยังสามารถแพร่เชื้อจนรอยโรคหายไป การแพร่กระจายเชื้อโรคมือเท้าปากนั้น ได้แก่ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก, ลำคอหรือน้ำจากตุ่มใส ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือตามตัว และอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งอาจพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเชื้อยังสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน

โรคมือเท้าปากเปื่อย

อาการของโรค
อาการของโรคนี้ในระยะฟักตัวที่มีการติดเชื้อ 3-6 วัน จะยังไม่มีความรุนแรงมากนัก โดยพบมีอาการเริ่มต้นคือ มีไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัวในช่วง 1-2 วัน และจากนั้นจะเริ่มมีอาการเจ็บปาก มีตุ่มแดงที่บริเวณเหงือก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม บริเวณโดยรอบจะแดง และมีอาการอักเสบ โดยตุ่มดังกล่าวจะเริ่มกลายเป็นตุ่มพองใสภายในไม่กี่วันซึ่งทำให้เด็กไม่ ค่อยทานอาหารในระยะนี้เพราะมีอาการเจ็บแผลที่ปาก นอกจากนั้น จะพบมีอาการตุ่มใส และแผลอักเสบขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า นิ้วมือ แขน ขา และตามลำตัว รวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นหนักในช่วง 3-4 วัน หลังจากนั้นจะค่อยทุเลา และหายเป็นปกติภายในประมาณ 7 วัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน และความแข็งแรงของร่างกาย โรคนี้ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเหมือนโรคหวัด เป็นไข้ ตัวร้อน มีน้ำมูก และไอเหมือนโรคหวัดโดยทั่วไป รวมถึงมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ และมีตุ่มใสขึ้นตามลำตัวคล้ายโรคอีสุกอีไส

อาการเบื้องต้นโดยสรุป
1. เริ่มจากมีอาการไข้สูง ช่วง 2-3 วันแรก อุณหภูมิร่างกายประมาณ 39 องศา
2. เริ่มพบแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม และลิ้น ซึ่งลักษณะค่อนข้างกระจายตัว ทำให้เด็กเบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนม หรือกลืนน้ำ ซึ่งแผลดังกล่าวมักมีอาการปวดร่วมด้วย
3. พบแผลที่บริเวณ ฝ่ามือ และเท้า หรือเด็กบางคน อาจมีตุ่มที่ก้นด้วย ซึ่งกดตุ่มแผล
4. อาการจะเริ่มหายเองภายใน 1 สัปดาห์

การคัดกรองโรคเบื้องต้น
โรคมือเท้าปากในเด็ก ผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองเด็กอาจช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้นซึ่งอาการของโรคมือเท้าปากในวัยเด็ก นี้มีดังต่อไปนี้
– ไข้ 37.2-38.9 องศาเซลเซียส
– ตุ่มน้ำใส หรือ แผล ที่คอ ในปาก
– ผื่นที่มีตุ่มน้ำใส มือ เท้า และปาก (อาจพบที่บริเวณก้นร่วมด้วย)
– เบื่ออาหาร

การป้องกัน
ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี การกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ การตัดเล็บนิ้วมือ นิ้วเท้า และมั่นล้างมือทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังการขับถ่าย รวมไปถึงการทำความสะอาดบ้านเรือน ห้องนอน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มอยู่เสมอ ที่สำคัญสำหรับหลักการป้องกันโรคอีกประการคือ การแยกกลุ่มของเด็กที่ป่วยออกต่างหากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคสู่เด็ก คนอื่นๆในช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์ นอกจากนั้นควรมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ของเด็กๆ รวมถึงของเล่นต่างๆด้วย และหากมีเด็กที่ติดเชื้อมากอาจจำเป็นต้องปิดสถานที่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะสถานโรงเรียนเด็กเล็กต่างๆ พร้อมทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อในสถานที่ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆก่อนเปิดทำการอีกครั้ง

การรักษา
สำหรับโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะให้หายเป็นปกติในระยะเกิดโรคที่ 3-7 วัน แต่โรคนี้จะค่อยทุเลา และหายเองในช่วงประมาณ 7 -10 วัน มีเพียงการใช้ยารักษาตามอาการของโรคในช่วงระยะที่มีการติดเชื้อ เช่น การรักษาอาการเป็นไข้ เป็นต้น ทั้งนี้ ขณะติดเชื้อผู้ปกครองควรมั่นเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุ่นเป็นระยะ ควบคู่ไปกับการทานยาลดไข้ และคอยดูแลในเรื่องอาหารการกินที่ควรเป็นอาหารอ่อน เคี้ยวง่ายหรือไม่จำเป็นต้องเคี้ยว เนื่องจากตัวเด็กจะมีอาการเจ็บแผลที่ปาก และไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้สะดวก และให้พึงระวังในเรื่องของอาการแทรกซ้อนที่อาจมีโรคอื่นๆเข้าร่วมเพราะใน ช่วงนี้เด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่ำลง และอ่อนแอได้ง่าย ทั้งนี้ควรปรึกษา และพบแพทย์เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการรักษา และป้องกันได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น อาจทำการฉีด Immune Globulin เพื่อลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และอาจให้ยาพาราเซตามอล เพื่อสามารถบรรเทาอาการเจ็บปากและลดไข้เบื้องต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องให้เด็กดื่มน้ำมากๆ