โรคสมาธิสั้น (ADHD)

8000

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือเรียกย่อๆว่า ADHD หมายถึง โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการสมาธิสั้น (Inattention) ซนไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) และหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ซึ่งอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอาการ มักพบเกิดขึ้นในเด็กทำให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมส่งผลต่อการปรับตัว และการพัฒนาบุคลิกภาพในวัยเด็ก

สาเหตุ
1. ความผิดปกติจากพันธุกรรม
2. ความผิดปกติของระบบประสาท และสารสื่อประสาท
3. ประสบอุบัติเหตุ สมองถูกกระทบกระเทือน
4. ระบบการไหลเวียนของโลหิตของสมองผิดปกติ
5. ความผิดปกติของฮอร์โมนหรือต่อมไทรอยด์
6. การได้รับสารพิษหรือมีการสะสมสารพิษบางชนิดในร่างกายมากเกินไป
7. ปัจจัยทางสังคม แรงกดดันทางสังคม และปัญหาทางครอบครัว

โรคสมาธิสั้น

อาการของโรค

1. อาการสมาธิสั้น (Inattention Deficit)
– ไม่สามารถจดจำรายละเอียดหรือลักษณะของงานต่างๆได้ เช่น งานที่มีความซับซ้อน
– มักไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน และขณะทำงาน มีลักษณะเหม่อลอย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
– มักเปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อยๆจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง
– ขาดระเบียบในการทำงาน ไม่มีวิธีการเรียบเรียงการทำงาน
– ไม่ใส่ใจต่อสิ่งของ จัดวางสิ่งของไม่เป็นระเบียบ
– มักเลี่ยงกับงานที่ต้องใช้สมาธิหรือกระบวนการคิดที่มาก
– ไม่มีสมาธิ และเสียสมาธิง่ายขณะทำงานหรือทำกิจกรรมหากมีเสียงรบกวนเพียงเล็กน้อย
– มีอาการลงลืมง่าย ทั้งสิ่งของรวมถึงกิจวัตรประจำวันของตนเอง

2. อาการซุกซนผิดปกติ (Hyperactivity)
– ส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะมือ เท้าไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ชอบขยับไปมา
– หากถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ จะไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ อาจลุกหนีหรือเดินออกจากที่นั่ง
– ชอบวิ่งเล่น ปีนป่ายไปมา ไม่กลัวแม้ในสถานที่อันตราย
– ชอบพูดมาก พูดไม่หยุด

อาการซนของเด็กจะมากน้อยเพียงใดหรือมีความแตกต่างกันเพียงใดขึ้นอยู่กับการพัฒนาการของเด็ก และระดับสติปัญญา ซึ่งการวินิจฉัยจากลักษณะอาการซนจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก และซับซ้อน

3. อาการขาดการควบคุมทางอารมณ์ (Impulsivity)
– ขาดการความอดทน ไม่สามารถอดทนต่อการพูดได้ มักพูดสวนทันทีก่อนที่ผู้อื่นจะพูด
– มักใช้คำพูดที่ก้าวร้าว
– ชอบทำเสียงดัง ดุหรือพูดในลักษณะขบขันพร้อมแสดงท่าทาง
– ชอบหยิบจับสิ่งของจากผู้อื่นหรือสัมผัสกับผู้อื่นโดยไม่สมควร
– มักมีพฤติกรรม ท่าทางที่ชอบใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา และการระบายอารมณ์

การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ปัจจุบันอ้างอิงหลักการตามสมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (DSM-TR) ตามวิธี DSM-IV คือ
1. ผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่ 6 อย่างขึ้นไป ในอาการของสมาธิสั้น และอาการซน/หุนหันพลันแล่น ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน

อาการสมาธิสั้น (Inattention Symptoms)
– ไม่สามารถจดจำรายละเอียดของงานได้หรือทำงานผิดพลาดเนื่องจากขาดกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ
– ไม่มีสมาธิในการทำงาน การทำกิจกรรม การละเล่น
– เฉย ไม่สนใจในคำพูดผู้อื่นหรือมีลักษณะไม่ฟังขณะคนอื่นพูด
– ไม่ตั้งใจฟัง ไม่จดจำรายละเอียดของคำพูด คำสั่ง
– งานที่ทำไม่มีความเป็นระเบียบ
– หลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ และกระบวนการคิด
– มักลืมหรือทำของใช้ส่วนตัว ของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียน
– ลืมกิจวัตรประจำวันของตนเองที่ทำเป็นประจำ

อาการซน และหุนหันพลันแล่น (Hyperactivity/Impulsivity Symptoms)
– ชอบขยับมือเท้าไปมา ไม่อยู่นิ่ง
– ชอบลุกจากที่นั่งขณะเรียนหรือหรือออกจากสถานที่ที่ต้องนั่งหรือยืนนิ่งๆ
– ชอบวิ่งเล่นหรือปีนป่าย
– ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมให้เงียบๆได้
– มีการเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดเวลา
– ชอบพูดมาก พูดไม่หยุด
– ชอบพูดหรือตอบคำถามโพล่งพ่างขณะคนอื่นพูด โดยฟังยังไม่จบ
– มีความกระวนกระวายหรือลำบาก หากต้องเข้าคิดหรือรอคอย
– ชอบขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นพูดหรือคุยกันหรือชอบแย่งเพื่อนเล่น

2. อาการข้างต้นต้องเกิดกับเด็กอายุก่อน 7 ปี

3. อาการที่เกิดขึ้นจะเกิดในสถานการณ์หรือสถานที่อย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไป เช่น โรงเรียน และบ้าน

4. อาการที่เกิดขึ้นมีผลต่อการรบกวนการเรียน การเข้าสังคมหรือผลต่อการทำงานอย่างชัดเจน

5. อาการที่เกิดขึ้นต้องไม่เกิดกับผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคจิตเวชชนิดอื่น

การรักษา และป้องกัน
1. การรับประทานยา ได้แก่ กลุ่มยาที่กระตุ้นประสาท เช่น เม็ททิลเฟนนิเดท และกลุ่มยาที่กระตุ้นประสาท เช่น อะโทม็อกซีทีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับของนอร์อีพิเฟฟรีน และโดปามีนเพิ่มขึ้นทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ และการควบคุมทางอารมณ์

2. การให้ความรู้ทางด้านจิตใจ (Psycho Education) เป็นกระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นรวมถึงโรคอื่นที่เกี่ยวเนื่องแก่เด็ก และบิดามารดา

3. การรวบรวมความรู้ทางการศึกษา (Academic Organization Skill) ด้วยกระบวนการสอนพิเศษ การรวบรวม และการทบทวนทักษะในการเรียนเพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการจำ และเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น

4. การฝึกบิดามารดา (Parenting Training) ด้วยการให้ความรู้ และฝึกบิดามารดาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางสังคมของเด็ก วิธีการแก้ไข และจัดการพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งจะทำให้บิดามารดาผู้ใกล้ชิดกับเด็กสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับแก้พฤติกรรมของเด็กได้อย่างเหมาะสม

5. การบำบัดทางครอบครัว (Family Therapy) เด็กที่เป็นโรคนี้อาจเกิดจากสภาพทางครอบครัวในด้านต่างๆ อาทิ ความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาเรื่องการอยู่การกิน ปัญหาไม่มีเวลาให้แก่บุตร ซึ่งหากครอบครัวเกิดความอบอุ่น และมีเวลาให้แก่บุตรก็จะสามารถช่วยลดอาการของโรค และป้องกันการเกิดโรคสมาธิสั้นได้เป็นอย่างดี

6. การปรับแก้การเข้าใจ และพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) เพื่อให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผิดปกติด้วยวิธีการฝึกในเรื่องการแก้ไขปัญหาทีเหมาะสม การจัดการอารมณ์ ความขัดแย้ง ความอดทน และการปรับตัวเข้ากับสังคม