โรคหัวใจ และหลอดเลือด (Cardiovascular disease)

9352

โรคหัวใจ (Heart Disease) มักเป็นคำกล่าวที่มีความหมายถึงโรคต่างๆที่เกี่ยวเนื่องด้วยหัวใจ แต่ทั้งนี้ยังมีระบบหลอดเลือดที่เข้ามาเกี่ยวพันธุ์ด้วยจึงเรียกอีกอย่างว่า โรคหัวใจ และหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ซึ่งหมายถึง กลุ่มของโรคที่จากจากความผิดปกติของหัวใจ และหลอดเลือดที่เกี่ยวพันกับหัวใจ กลุ่มของโรคนี้ ได้แก่

1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
2. โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือโรคลิ้นหัวใจตีบ
3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
4. โรคหลอดเลือดสมองตีบ/โรคสมองขาดเลือด/โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (stroke)
5. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
6. โรคเยื่อหุ้มหัวใจ
7. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
8. โรคความดันโลหิตสูง
9. โรคติดเชื้อที่หัวใจ
10. โรคมะเร็งหัวใจ

ซึ่งมักเกิดภาวะหลอดเลือดผิดปกติทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และเกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตได้

โรคหัวใจ และหลอดเลือด

สาเหตุหลักการเกิดโรค
สาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจมักเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ภาวะอ้วน ลงพุงหรือน้ำหนักมาก ภาวะการมีไขมันอุดตันในเส้นเลือด ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความดันโลหิตสูง การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ รวมไปถึงการเป็นโรคชนิดอื่นที่อาจส่งผลให้เกิดการเป็นโรคหัวใจตามมา เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น โดยมักพบการเกิดโรคชนิดนี้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป นอกจากนั้นผลจากพันธุกรรมยังมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในลูกหลานได้ด้วย

อาการของโรคหัวใจ ภาวะที่อาจบ่งบอกว่าอาจเป็นโรคหัวใจ ได้แก่
1. ใจสั่นหัวใจเต้นแรง
2. เหนื่อยง่ายเมื่อมีการออกแรง
3. เจ็บหรือแน่นหน้าอก
4. หน้ามืดมักเป็นลม
5. มักมีอาการเหนื่อยเวลานอนโดยศรีษะสูงกว่าปลายเท้า
6. เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปาก และมือเท้าเขียว รวมถึงหน้าตาซีดเซียว
7. มีลักษณะบวมตามตัวโดยเฉพาะบริเวณขาทั้งสองข้าง
8. เส้นเลือดที่คอโป่งพอง
9. มีอาการท้องโต ตับโตเหมือนโรคตับ
10. ไอเป็นเลือดไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้อาการต่างๆอาจเกิดจากโรคที่ต่างกัน แต่กลุ่มของโรคหัวใจ และหลอดเลือดมักมีอาการของโรคที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด

การวินิจฉัยโรค
กลุ่มของโรคหัวใจ และหลอดเลือดมักใช้กระบวนการตรวจวินิจฉัยที่คล้ายกัน ได้แก่ การตรวจอาการของโรค การตรวจการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอกซเรย์ การตรวจเลือด การตรวจความดันโลหิตร่วมกับการตรวจสอบประวัติในด้านต่างๆ

การรักษา
การรักษากลุ่มของโรคหัวใจ และหลอดเลือดมักใช้ยาหรือการผ่าตัดในการรักษาตามชนิดของโรคพร้อมกับการดูแล สุขภาพทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนหรือคลายความเครียดเข้าร่วมด้วย

การป้องกัน
สำหรับผู้ที่อาจมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดจำเป็นต้องมีการป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ งดการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ ทานอาหารประเภทผัก และผลไม้ และลดอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูงพวกแป้ง และไขมัน พร้อมกับมั่นออกกำลัง และพยายามหลีกเลี่ยงต่อภาวะความเครียดต่างๆ