โรคอ้วนในเด็ก และการป้องกัน

15877

โรคอ้วนในเด็ก หมายถึง เด็กที่มีน้ำหนักตัว และปริมาณไขมันมากเกินกว่าปกติ เมื่อเทียบกับน้ำหนัก และความสูงมาตรฐานในช่วงอายุเดียวกัน หากน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20 จะถือว่าเป็นโรคอ้วน

การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก
การวินิจฉัยประกอบด้วย
– การตัดสินด้วยสายตา
– การคํานวณหาดัชนีความหนาในร่างกาย
– การวัดเส้นรอบวงเอวและสะโพก
– การวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง
– การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง

สําหรับเด็กวัยเรียน พิจารณาจากการเปรียบเทียบน้ำหนัก และส่วนสูงตามมาตรฐานชี้วัดภาวะโภชนาการของเด็ก อายุ 5-18 ปี ของกรมอนามัย 2542 โดยใช้กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเพศชาย และเพศหญิง อายุ 5-18 ปี ซึ่งจะนําส่วนสูง และน้ำหนักมาเปรียบเทียบกับกราฟ และแปรผลภาวะโภชนาการ ดังนี้

การแปลผลค่าน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (weight for height)
– อยู่เหนือเส้น+ 3 SD แสดงว่า อ้วน
– อยู่ระหว่างเส้น + 2 SD ถึง + 3 SD แสดงว่า เริ่มอ้วน
– อยู่ระหว่างเส้น+ 1.5 SD ถึง + 2 SD แสดงว่า ท้วม
– อยู่ระหว่างเส้น+ 1.5 SD ถึง – 1.5 SD แสดงว่า สมส่วน

โรคอ้วนในเด็ก

สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก
1. อาหาร และพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
การรับประทานอาหารจุบจิบ รับประทานอาหารปริมาณมาก และบ่อยรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไก่ชุบแป้งทอด ไอศกรีม น้ำอัดลม รับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย
2. ครอบครัว
การดําเนินชีวิตประจําวันของครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการรับประทานอาหารในครอบครัวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก เด็กจะรับประทานอาหารตามที่บิดามารดารับประทานและจัดหาให้ ในครอบครัวที่มีบิดามารดาอ้วน พบว่า บุตรจะอ้วนด้วย
3. การออกกําลังกาย
ปัจจุบันเด็กใช้พลังงานน้อยลง เนื่องจากมีอุปกรณ์อํานวยความสะดวกมากขึ้น และบิดามารดาจะเป็นผู้ทําเองทั้งหมด หลังจากเด็กกลับจากโรงเรียนหรือช่วงวันหยุด เด็กมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่สำหรับการดูทีวี การเล่นเกมส์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งอย่างน้อยเวลาเหล่านี้มักไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง/วัน และช่วงเวลาที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มักจะมีการรับประทานอาหารพวกขนมของหวาน  ไอศกรีม หรือ น้ำอัดลม ร่วมด้วย สุดท้าย เด็กจะเกิดความอ้วน เพราะไม่มีเวลาออกกําลังกายหรือมีเพียงเล็กน้อย
4. พันธุกรรม
หากบิดามารดามีน้ำหนักมากลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 80 ถ้าบิดามารดาคนใดคนหนึ่งอ้วน โอกาสที่ลูกอ้วนลดลงร้อยละ 40 ถ้าผอมทั้งบิดามารดาบุตรมีโอกาสอ้วนร้อยละ 14
5. สิ่งแวดล้อม
ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักตัว เช่น น้ำหนักเด็กแรกเกิดที่มาก ระยะเวลาที่ใช้ในการเปื้อนอาหาร อายุที่เริ่มอาหารผสม เพศชายมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก เป็นต้น

ผลกระทบโรคอ้วนในเด็ก
1.เคลื่อนไหวลําบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า และหากเกิดการพลัดตกหกล้มจะเจ็บมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วน
2. กระดูก และข้อต่อเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร เนื่องจากต้องรับน้ําหนักตัวมาก
3. ทําให้เกิดโรคเบาหวาน เด็กที่อ้วนมากจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ทําให้เกิดโรคเบาหวานคล้ายในผู้ใหญ่ได้โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตาไต ระบบประสาท และหัวใจตามมาได้
4. ทําให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูงอาหารมัน อาหารทอด
5. เกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เนื่องจากเด็กที่อ้วนมักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ง่าย
6. ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เนื่องจากเด็กอ้วนมักเกิดอาการนอนกรน บางรายมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นร่วมด้วย ซึ่งมีผลทําให้เลือดมีออกซิเจนน้อยลงขณะหลับ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีปัญหาภาวะหัวใจโต
7. ทําให้เกิดไขมันสะสมในตับ เกิดตับอักเสบ มีปัญหาทางไต ปัญหาทางด้านจิตใจ
เนื่องจากถูกเพื่อนล้อ ทําให้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่อยากเข้าสังคม

การป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
1. การควบคุมอาหาร
การควบคุมอาหาร เป็นการควบคุมปริมาณสารอาหาร และพลังงานที่เด็กควรได้รับให้เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะชอบรับประทานอาหารประเภทขนมของหวานมาก หากไม่ควบคุมจะทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วนได้ง่าย
2. เพิ่มการออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันโรคอ้วนที่สำคัญ เนื่องจาก จะช่วยให้เกิดการเผาพลาญพลังงานส่วนเกินได้ ไม่เกิดการสะสมพลังงานในร่างกาย ซึ่งการออกกำลังกายอาจเป็นการออกกำลังกายโดยตรง เช่น พาเด็กออกวิ่งหรือเล่นกีฬาฝนวันหยุด หรือ การออกกำลังกายทางอ้อม เช่น ฝึกให้เด็กปัดกวาดเช็ดถูบ้าน เป็นต้น
3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
– พฤติกรรมหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ได้แก่ การฝึกให้เด็กรับประทานอาหารเป็นเวลา รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ เป็นต้น
– การควบคุมปัจจัยเอื้อต่อการบริโภคอาหาร ได้แก่ การไม่ซื้ออาหารพวกขนม ของหวานเก็บไว้ในบ้าน การให้อิสระในการตักหรือเลือกกินอาหารให้แก่เด็ก การกินอาหาร และดูโทรทัศน์ไปด้วย การปล่อยให้เด็กกินอาหารเพียงลำพัง การตักอาหารให้เด็กมากเกินความจำเป็น เป็นต้น
– การให้รางวัล (Reinforcement) การให้รางวัล คำชมเชย จะทำให้พฤติกรรมที่พยายามป้องกันโรคอ้วนนั้นคงอยู่และมีกำลังใจที่จะทำต่อไป

การส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง
พฤติกรรมการบริโภคมีผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเด็กในวัยนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และจิตใจอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เป็นระยะที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วร่างกายต้องสร้างเซลล์เนื้อเยื่อ กระดูก ฟัน และอวัยวะอื่นๆ อีกทั้งมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวส่วนสูง ต่อมต่างๆ ทำงานมากขึ้น จึงเป็นช่วงที่เด็กมีความต้องการสารอาหาร และพลังงานที่ค่อนข้างสูง

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้ภาวะโภชนาการดีห่างไกลจากโรคอ้วน ดังนั้น
ในการป้องกันการเกิดโรคอ้วนในเด็กก่อนวัยเรียนนั้น มารดาควรมีการส่งเสริมพฤติกรรมการ
บริโภคที่ถูกต้องให้แก่บุตรเพื่อให้บุตรสามารถสร้างนิสัยการบริโภค และมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคอ้วนในเด็ก เพราะถ้าเด็กได้รับอิทธิพลอันจะ
ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมที่ดีในการรับประทานเร็วเท่าไร เด็กย่อมจะมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมที่ดีในการบริโภคมากเท่านั้น

1. หลีกเลี่ยงการซื้อขนม ของหวานเก็บไว้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นหรือห้องครัว ควรซื้อผักหรือผลไม้สด รวมถึงนม และอาหารประเภทนมเก็บไว้เก็บไว้แทน เพราะเด็กจะได้ฝึกลดการกินขนม ของหวาน และหันมารับประทานของที่มีอยู่ภายในบ้านแทน
2. ควรให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารทอด อาหารที่มีกะทิ อาหารฟาสท์ฟูด (Fast food) เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ หนังไก่ทอด ขนมขบเคี้ยวต่างๆ และไอศกรีม ซึ่งนอกจากจะให้พลังงานมากแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีไขมันเป็นส่วนประกอบ มีกากใยอาหารน้อย ไม่ดีต่อสุขภาพ ควรรับประทานในปริมาณที่น้อยที่สุด
3. ให้เด็กรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมีวิตามิน รวมทั้งใยอาหารที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย แต่ควรงดหรือหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย จำพวกน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ทอฟฟี่ ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงดูดซึมเร็วโดยที่ร่างกายไม่ต้องย่อยสลาย ซึ่งจะถูกเก็บสะสมในรูปของไขมัน
4. หากรับประทานอาหารระหว่างมื้อ ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้พลังงานไม่สูงนัก เช่น ผลไม้ สลัด ส้มตำ ยำต่าง ๆ นม ควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
5. ให้เด็กดื่มนมแต่พอดี เด็กอนุบาลดื่มนมเพียงวันละ 2 – 3 มื้อ ก็เพียงพอ
6. ให้เด็กรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ โดยแต่ละมื้อควรมีปริมาณใกล้เคียงกัน และควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา งดการรับประทานอาหารจุบจิบไม่เป็นมื้อ
7. ควรให้เด็กรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพราะการงดอาหารเช้าจะทำให้เด็กหิว และหาอาหารอื่นที่ไม่มีประโยชน์มากินแทนข้าว และไม่ควรให้เด็กงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะทำให้รับประทานได้มากในมื้อถัดไป
8. ให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานจัดหรือเค็มเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเป็นคนติดอาหารรสจัดซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง
9. ให้เด็กรับประทานอาหารในสถานที่ที่จัดไว้เท่านั้น เมื่อเด็กรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย ลุกจากโต๊ะหรือเก็บอาหารที่เหลือเข้าที่เก็บทันที
10. ให้เด็กหลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือของว่าง (ขนมขบเคี้ยว) ในขณะดูโทรทัศน์ เพราะการรับประทานอาหารขณะดูโทรทัศน์จะทำให้ลืมความอิ่มไปและอาจรับประทานอาหารมากเกิน
11. สอนเด็กให้มีวินัยในการรับประทาน ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ตักอาหารแต่พอควร รับประทานอาหารไม่มีเสียงดัง การตักในปริมาณที่พอคำ การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน การรับประทานอาหารที่เพียงพอให้อิ่ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีบิดามารดาคอยเป็นแบบอย่างหรืออยู่ร่วมด้วย และควรฝึกวินัยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง สำหรับปริมาณอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อ ประกอบด้วย ข้าว 2 – 3 ทัพพี เนื้อสัตว์ 2 – 3 ช้อนโต๊ะ ผักสุก 1 – 1.5 ทัพพี และผลไม้ 1 ส่วน นอกจากนี้
12. ฝึกฝนให้เด็กรับประทานช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถแยกแยะระหว่างความหิว และความอิ่มได้ เพราะการรับประทานอย่างช้าๆจะเกิดการย่อย และการดูดซึมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ความอิ่มเพราะอาหารเต็มท้อง
13. ไม่ควรซื้อเครื่องดื่มพวกน้ำอัดลม น้ำหวาน เก็บไว้ในตู้เย็น เพราะจะทำให้เด็กติดพฤติกรรมชอบดื่มน้ำอัดลมได้ง่าย
14. มารดาควรเป็นแบบอย่างในการรับประทานอาหารที่ดี มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยฝึกวินัยให้แก่เด็กในทางอ้อมได้
15. พ่อแม่ควรศึกษา และทำความเข้าใจทางด้านโภชนาการของอาหาร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเลือกซื้ออาหาร และช่วยให้ง่ายต่อการจัดตารางอาหาร
16. อาหารที่จัดเตรียมในแต่ละวัน ควรเป็นอาหารที่มีการปรุงเอง ไม่ควรใช้อาหารปรุงสำเร็จรูป เพราะจะเป็นการสร้างนิสัยการรับประทานอาหารแบบซื้อสำเร็จให้แก่เด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีการฝึกทำอาหารเอง
17. หลีกเลี่ยงการตามใจลูกในเรื่องการเลือกซื้อขนม และอาหารที่ไม่เหมาะสม หากตามใจเด็กปล่อยครั้งจะทำให้เกิดนิสัยการเลือกซื้อในสิ่งที่เด็กชอบ ซึ่งเด็กวัยนี้จะชอบรับประทานอาหารประเภทขนมหรือของหวานอยู่แล้ว
18. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกซื้ออาหาร และการทำอาหาร โดยมารดาเป็นผู้แนะนำหลักการเลือกซื้อ และหลักการทำอาหารที่ถูกต้อง
19. มีการวางแผนการทำอาหารไว้ล่วงหน้า สับเปลี่ยนอาหารเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซาก และจัดอาหารที่เด็กชอบเป็นระยะ
20. หลีกเลี่ยงการห้ามลูกกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากกินมากขึ้น แต่ให้กินเพียงในปริมาณที่พอเหมาะหรือให้กินในบางเวลา เช่น วาระโอกาสพิเศษ หรือมีงานเลี้ยงสังสรรค์
21. การอยู่พร้อมหน้ากัน โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารจะช่วยให้เด็กฝึกการรับประทานอาหารที่ดีได้ แต่หากปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารเพียงลำพัง เด็กจะมีพฤติกรรมตามใจตัวเอง
22. หลีกเหลี่ยงการใช้คำหยาบหรือเสียงดุด่าขณะรับประทานอาหาร เพราะหากเกิดภาวะที่พ่อแม่ทะเลาะกัน เด็กจะรีบรับประทานอาหาร รับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อรีบลุกจากโต๊ะ
23. อย่าใช้อาหารเป็นเครื่องลงโทษหรือให้รางวัลแก่เด็ก การให้เด็กอดอาหารเพื่อเป็นการลงโทษนั้นอาจทำให้เด็กกังวลว่า จะรับประทานอาหารไม่พอ ผลก็คือเด็กพยายามกินมากขึ้นเท่าที่จะมีโอกาส ในทำนองเดียวกันการให้ของหวานเด็กเป็นรางวัลจะทำให้เด็กคิดว่า ขนม และของหวานเป็นอาหารที่มีคุณค่า

candy

ปัจจัยที่มีผลต่อการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
1. ตัวเด็ก
สิ่งสําคัญที่สุดสําหรับการป้องกันโรคอ้วนที่ตัวเด็ก คือ ทัศนคติความเข้าใจ และข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องโรคอ้วน เด็กต้องมีข้อมูลมากพอเรื่องความอ้วน ปัญหา สาเหตุ วิธีแก้ และตระหนักถึงความสําคัญของการป้องกันตัวเองจากโรคอ้วน เด็กต้องเข้าใจว่าปัจจัยใหญ่ที่สุดที่จะทําให้ตัวเองเป็นโรคอ้วน คือ การรับประทาน และการเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละวัน หากเด็กมีความตระหนักถึงพิษภัย และสาเหตุของการเป็นโรคอ้วน การดําเนินชีวิตอย่างมีหลักการ ในเรื่องการรับประทาน และการใช้พลังงานของร่างกาย ซึ่งรวมถึงการออกกําลังกาย ก็สามารถป้องกัน โรคอ้วนได้

2. บิดามารดาผู้ปกครอง
บิดา-มารดา และคนในครอบครัวมีอิทธิพลสําคัญมากที่สุดที่จะทําให้เด็กเป็นโรคอ้วน อิทธิพลนี้มาจากสองปัจจัย คือ การสั่งสอนทางวาจา และการเป็นแบบอย่าง บิดามารดาผู้ปกครองต้องเข้าใจเรื่องโรคอ้วนอย่างถูกต้อง การสั่งสอนทางวาจาเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่เด็กแต่การสั่งสอนที่อาจได้ผล คือ การยึดคนในครอบครัวเป็นแบบอย่างโดยการทําให้ดู เช่นการสอนวิธีการรับประทานที่ถูกต้อง การเลือกอาหารที่ไม่มีไขมันสูงนิสัย การรับประทานที่ดี การเคี้ยว การไม่รับประทานจุบจิบ การไม่ดื่มน้ำอัดลม รวมถึงการออกกําลังกายการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจําวัน ผ่านการทํางานบ้านเป็นต้น พ่อแม้ผู้ปกครองต้องสร้าง “วัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบไม่อ้วน” ขึ้นในครอบครัวเป็นบทบาทของครอบครัวที่จะป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคอ้วน