ความสุข และความสุขในการงาน

15397

ความสุข หมายถึง อารมณ์หรือความรู้สึกที่พึงพอใจ รู้สึกอิ่มเอิบใจ หรือ รู้สึกภาคภูมิใจในสภาพชีวิตของตนที่ปราศจากปัญหาต่างๆในการดำเนินชีวิต อันเป็นผลมาจาการใช้ความรู้ ความสามารถของตนในการจัดการ และนำพาการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความดี

ประเภทความสุข
1. ความสุขเกิดจากการได้
ความสุขเกิดจากการได้ คือ ความความสุขในรูปธรรมหรือนามธรรมที่ตนได้รับมา
– ความสุขในรูปธรรม คือ ความสุขที่เกิดจากการตอบสนองในสัมผัสทั้ง 5 ที่สามารถจับต้องได้ อันได้แก่ความสุขในรูปที่เห็นหรือสิ่งของที่ได้มา ความสุขในเสียงไพเราะ ความสุขในกลิ่นหอม ความสุขในรสอร่อย และความสุขในในอารมณ์แห่งการสัมผัส
– ความสุขในนามธรรม คือ ความสุขจากจิตที่ตนเองปรุงแต่งให้เกิดรูปในจินตนาการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจริงหรือหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต เช่น การอยากเป็นนักธุรกิจ การอยากได้มือถือใหม่

2. ความสุขจากให้
ความสุขจากให้ คือ ความสุขที่ตนได้รับจากการให้หรือการบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์หรือสงเคราะห์ผู้อื่นให้มีความสุข ความเจริญมากยิ่งขึ้น ได้แก่
– การให้ทรัพย์สิ่งของ คือ การให้หรือการบริจาคทรัพย์สินของตนเองให้แก่ผู้อื่นหรือให้แก่ส่วนรวม เช่น การให้เงินแก่คนขอทาน การถวายเงินผ้าป่าเพื่อนำไปสร้างโบสถ์ เป็นต้น
– การให้ปัญญา คือ การสงเคราะห์ให้ผู้อื่นมีความรู้ มีปัญญาติดตัวที่จะทำให้เขาสามารถนำปัญญาหรือความรู้ในไปใช้เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ต่างๆ เช่น การสอนวิธีซ่อมรถยนต์แก่ผู้สนใจไปทำอาชีพ เป็นต้น

3. ความสุขจากการประพฤติดี
ความสุขจากการประพฤติดี คือ ความสุขที่ได้จากการสำรวมความประพฤติให้อยู่ในศีลธรรมอันงาม เรียกว่า การรักษาศีล ซึ่งศีลในระดับที่ฆราวาสพึงประพฤติ คือ ศีล 5 และศีล 8

ความสุขที่ได้ปะพฤติในศีล 5 ได้แก่
– การไม่พรากชีวิตหรือไม่ทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวด
– การไม่กล่าวคำอันเป็นเท็จ หรือ การพูดโกหก
– การไม่ล่วงในกามต่อชายมีคู่ หญิงมีคู่ หรือในชายหญิงต้องห้ามทั้งหลาย
– การไม่จับเอาทรัพย์ผู้อื่น โดยที่เขาไม้ได้ให้ หรือ การลักทรัพย์
– การไม่ดื่มสุราเมรัยที่เป็นน้ำเมาต่างๆ รวมถึงการไม่เสพสารที่ทำให้เกิดการเสพติดทั้งหลาย

ส่วนศีล 8 จะมี 5 ข้อแรกของศีล 5 และเพิ่มอีก 3 ข้อสุดท้าย คือ
– การไม่รับประทานอาหารในช่วงหลังเที่ยงวันถึงในยามรุ่งของอีกวัน
– การไม่แสดงกิริยาฟ้อนรำทำเพลง หรือไม่ประดับตกแต่งร่างกายให้สวยงาม
– การไม่นั่งหรือนอนบนที่รองต่างๆ

4. ความสุขจากความสงบ
ความสุขจากความสงบ คือ ความสุขที่เกิดจากสภาพความสงบของจิตใจ จิตใจไม่หม่นหมอง ไม่มีเรื่องปัญหามารบกวนใจ ความสุขจากความสงบนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า การมีสมาธิ ซึ่งสามารถทำให้เกิดด้วยการภาวนา เช่น การนั่งสมาธิ การอ่านหนังสือ เป็นต้น

5. ความสุขจากอิสระ
ความสุขจากอิสระ คือ ความสุขที่ได้รับจากการหลุดพ้นจากพันธะต่างๆ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
– ความเป็นไทแห่งตนจากสภาพถูกบังคับ เช่น การปดหนี้จากบัตรเครดิตได้จนหมด การมีอาชีพเป็นของตนเองโดยไม่ได้เป็นลูกจ้างให้ถูกสั่ง เป็นต้น
– ความเป็นไทในกิเลส และเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่ทำให้ตนเองเสื่อม เช่น การรู้จักห้ามใจไม่ให้หวังในทรัพย์สินของผู้อื่น การไม่รับสินบนในหน้าที่การงาน เป็นต้น

ความสุข

ระดับความสุข
1. ความสุขระดับ 1 คือ ความสุขที่สมหวังในความอยากในวัตถุ และรูปกายทั้งหลาย เช่น ได้สิ่งของตามที่ตนอยากได้
2. ความสุขระดับ 2 คือ ความสุขที่สมหวังในความอยากที่ตนจินตนาการปรุงแต่งขึ้น หรือ เรียกว่าอยากในจิตใจ เช่น สมหวังที่ตนสอบเข้ามหาลัยได้ สมหวังที่ตนไม่อยากให้รถติด เป็นต้น
3. ความสุขระดับ 3 เป็นความสุขที่ตนได้รับจากการประพฤติในศีลทั้งหลาย คือ สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ เพราะยึดหลักปฏิบัติในศีลทั้ง5 หรือ ศีลทั้ง8
4. ความสุขระดับ 4 เป็นความสุขที่ตนสามารถห่างไกลจากกิเลสหรืออบายมุขทั้งหลายได้ อันได้แก่ การลดหรือหลีกเลี่ยงได้ซึ่งอารมณ์โกรธ อารมณ์อยากได้ และอารมณ์หลงใหลในสิ่งต่างๆ รวมถึงอบายมุขทั้ง 6 ที่จะคอยทำให้ชีวิตตนเองเสื่อม
5. ความสุขระดับ 5 เป็นความสุขจากความสงบของจิตใจ คือ สามารถใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตจนเกิดการรู้ และเข้าใจในสภาพของความจริงตามธรรมชาติทั้งหลาย คือ เป็นผู้ไม่มีอารมณ์เสียใจหรือยินดีเกินเหตุต่อปัจจัยต่างๆที่มากระทบ เพราะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นของธรรมดา

แนวทางดำเนินชีวิตให้มีความสุข
1. อุฎฐานสัมปทา
อุฎฐานสัมปทา หมายถึง การยังตนให้พร้อมด้วยอาชีพการงาน บนพื้นฐานของความขยันมั่นเพียร ความอุตสาหะ และตั้งมั่นที่จะทำอาชีพการงานหรือสิ่งที่ตนกระทำอยู่ให้เจริญด้วยความสุจริต เช่น การตั้งใจศึกษาเล่าเรียน การตื่นแต่เช้าเพื่อเปิดร้านให้ทันลูกค้า เป็นต้น

2. อารักขสัมปทา
อารักขสัมปทา หมายถึง การรู้จักรักษาทรัพย์สินหรือความรู้ที่ตนมีให้คงอยู่กับตนไปตลอด และรู้จักสร้างให้เหล่านั้นเพิ่มพูนหรือเจริญยิ่งขึ้นไป เช่น การทบทวนตำราที่ตนเคยเรียนมา และการอ่านหนังสือในวิชาที่ตนยังไม่รู้ การรักษายอดจำหน่ายสินค้าให้เท่าเดิม และการเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น เป็นต้น

3. กัลยาณมิตตา
กัลยาณมิตตา หมายถึง การรู้จักคบคนดี หลีกเลี่ยงจากการคบคนพาลที่หวังจากเอาประโยชน์จากเราหรือนำความเสื่อมในทรัพย์ ในความรู้ ในเกียรติมาให้แก่ตน เช่น ไม่ไปเที่ยวกับเพื่อนในยามราตรี ไม่สนิทสนมหรือให้ความใกล้ชิดกับคนที่ติดการพนัน เป็นต้น

4. สมชีวิตา
สมชีวิตา หมายถึง การรู้จักความพอเพียงหรือการประมาณตนในการดำเนินชีวิต ได้แก่
– รู้จักประมาณในตน ได้แก่ รู้ว่าตนมีความรู้ ความสามารถเพียงใด รู้ว่าตนทำงานหรือมีตำแหน่งใด เป็นต้น
– รู้จักประมาณในฐานะ ได้แก่ รู้ว่าตนมีกำลังทรัพย์มากน้อยเพียงใด สามารถจ่ายได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น

ควาสุขในการดำเนินชีวิต 2 อย่าง
1. ความสุขในครอบครัว อ่านเพิ่มเติม ครอบครัว
2. ความสุขในการงาน

ความสุขในการงาน
ความสุขในการงาน คือ สภาพอารมณ์ และจิตใจที่มีความยินดีหรือพอใจในสิ่งที่ตนกระทำที่เกิดจากสภาพอันไร้ปัญหา และเกิดผลสำเร็จตามที่ตนมุ่งหวัง

การงานในที่นี้ หมายความครอบคลุมทุกสิ่งที่ตนได้กระทำหรือกำลังกระทำ ทั้งในด้านการอาชีพ และการเล่าเรียนศึกษา รวมถึงกิจวัตรประจำวันต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุข

องค์ประกอบความสุขในการงาน
1. การสื่อสาร และติดต่อความสัมพันธ์ (connections)
การสื่อสารหรือติดต่อสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่องาน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่น งานที่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำ เช่น การทำรายงานเป็นกลุ่ม งานค้าขาย เป็นต้น งานในลักษณะเช่นนี้ต้องอาศัยการสื่อสารกับผู้อื่น เพราะงานไม่สามารถทำด้วยบุคคลเดียวให้สำเร็จได้ หากรู้จักการติดต่อสื่อสารที่ดี การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ย่อมนำมาให้งานนั้นสำเร็จได้ง่ายขึ้น

2. ความรักในงาน (love of the work)
ความรักในงาน เป็นปัจจัยที่สำคัญของผู้ทำการงาน อันเกิดจากปัจจัยที่มาจากด้านต่างๆ อาทิ เนื้องาน และความเหมาะสมของตนต่องาน และค่าตอบแทน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เมื่อมีความสมดุลต่อผู้ทำงานแล้ว ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกยินดี และเต็มใจที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ ที่ปราศจากความย่อท้อ และความเบื่อหน่าย

3. ความสำเร็จในงาน (work achievement)
เมื่อผู้ทำงานมีความรักในงาน และทุ่มเททำงานนั้นจนสำเร็จ ความสำเร็จนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจหลังจากที่ตนทุ่มเทในงานนั้นอย่างเต็มที่ และการทุ่มเทนั้นไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด นอกจากนั้น ผลตอบแทนจากความสำเร็จในงานนั้น อาทิ เงินทอง คำชมเชย การยอมรับจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อผู้นั้น

4. การเป็นที่ยอมรับ (recognition)
การยอมรับจากผู้อื่นถือเป็นแรงผลักดันทีทำให้ผู้นั้นมีกำลังใจ และมีความสุขในการงาน การยอมรับนี้เกิดจากผลของผู้ทำการงานนั้น ได้แก่ การทำการนั้นจนสำเร็จ การทำการงานด้วยความขยัน การตรงต่อเวลา การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำเป็นผลที่ประจักษ์ต่อผู้อื่นจนเกิดการยอมรับ และไว้วางใจในเวลาต่อมา

ความสุขในการงาน

คุณลักษณะที่ทำให้มีความสุขในการงาน
1. ความรื่นรมย์ในงาน
ความรื่นรมย์ในงาน คือ ความรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินที่ได้กระทำการงานนั้น ไม่มีกังวลใดๆ ในการทำงาน
2. ความพึงพอในการงาน
ความพึงพอในในงาน คือ ความรู้สึกยินดีหรือเต็มใจที่จะทำงานนั้นให้ลุล่วงสำเร็จ อันประกอบขึ้นจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ความเหมาะสมของเนื้องาน ความเหมาะสมของปริมาณงาน ระยะเวลาของงาน และค่าตอบแทนหรือผลที่เกิดจากการงานนั้น
3. ความกระตือรือร้นในการงาน
ความกระตือรือร้นในการงาน คือ การมีความตั้งหมั้น และมุมานะที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ อันเกิดจากแรงกระตุ้นในปัจจัยต่างๆ อาทิ
– ผลประโยชน์แก่ตน และผู้อื่น เช่น เงินทองที่ได้รับสำหรับใช้จ่ายในครอบครัว
– สภาพที่ถูกบังคับ เช่น ผู้บังคับบัญชากำหนดระยะเวลาที่ต้องทำงานให้เสร็จ
– ฯลฯ

ปัจจัยที่ทำให้มีความสุขในการงาน
1. ได้รับความเป็นมิตรจากเพื่อนร่วมงาน
2. มีความร่วมมือที่ดีในหมู่คณะ
3. ลักษณะงานไม่อยากเกินความสามารถ
4. เนื้องาน และปริมาณงานเหมาะสมในแต่ละคน
5. งานไม่ซ้ำซาก มีความหลากหลาย
6. เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชามีจิตใจเมตตา
7. มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม
8. มีแรงกระตุ้นในการงาน เช่น โบนัส