ห่วงอนามัย และห่วงคุมกำเนิด

10710

การใส่ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ภาครัฐส่งเสริมให้มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2505 แต่ปัจจุบันมีความนิยมลดลงมาก เนื่องจากมีวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นที่ไม่ยุงยาก และสะดวกมากกว่า อาทิ การใช้ยาคุมกำเนิดแบบกิน และแบบฉีด เป็นต้น อีกทั้ง การใส่ห่วงอนามัยมีผลข้างเคียงสำคัญที่เป็นสาเหตุให้ผู้ใช้เลิกใช้ อาทิ มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ มีการตกขาว มีอาการปวดท้องน้อย เป็นต้น

แต่วิธีการคุมกำเนิดด้วย การใส่ห่วงอนามัยยังคงมีการใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการใช้ยา หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา หรือมีข้อห้ามในการใช้ยา และเหมาะสำหรับคนที่มีลูกแล้ว

ห่วงอนามัยมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีตัวยาเป็นฮอร์โมน และชนิดไม่มีตัวยา ซึ่งปัจจุบันมี 2 แบบ ที่นิยมใช้ คือ คอปเปอร์ที่ (CU-T) ซึ่งนิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน และอีกแบบ คือ มัลติโลด (Multiload)

ประวัติห่วงอนามัย
รูป แบบการใช้ห่วงอนามัยเริ่มมีมาตั้งแต่ 2000 ปี แล้ว แต่เป็นการเริ่มใช้ในสัตว์ โดยเริ่มตั้งแต่ชาวอียิปต์ และชาวตุรกีที่รู้จักใช้ก้อนหินใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของอูฐ เพื่อป้องกันไม่ให้อูฐตั้งท้องขณะเดินทางข้ามทะเลทราย

สำหรับการใช้ ห่วงอนามัยที่เริ่มนำมาใช้ในคนนั้น สหพันธ์วางแผนครอบครัวแห่งนานาชาติ (IPPF) ได้กล่าวไว้ในหนังสือประวัติการคุมกำเนิดว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) มนุษย์รู้จักใช้วัตถุใส่เข้าไปในช่องคลอด เรียกว่า Pessary ที่มีรูปร่างคล้ายเข็มหมุดเสียบกระดาษ เป็นวัสดุที่ทำจากตะกั่ว หรือ ทองแดง  สอดข้าไปใน cervical canal เพื่อแก้ไขหรือช่วยยกมดลูกที่คว่ำให้มีแกนตั้งตรงกว่าเดิม ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) ได้มีการดัดแปลงวัสดุดังกล่าวด้วยการทำให้ส่วนปลายหรือก้านวัสดุให้ยาวขึ้น จนสามารถสอดใส่จนถึงโพรงมดลูกได้ เพื่อปรับปรุงสภาพมดลูก และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ด้วย

สำหรับห่วงอนามัยที่เป็นจุดเริ่มใช้มา จนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) โดย Richard Richter แพทย์ชาวเยอรมัน ได้ใช้เส้นไหมที่มีลักษณะแข็ง และละลายยากกว่า catgut ทำเป็นห่วงวงแหวนใช้สอดใส่ในโพรงมดลูกเพื่อป้อกงันการตั้งครรภ์

ต่อมาปี ค.ศ. 1929-1959 (พ.ศ. 2472-2502) ได้มีผู้ประดิษฐ์ห่วงอนามัยขึ้นหลายท่าน ได้แก่ Dr.Grafenberg, Dr. Tenrie Ota และ Dr.Oppenhiem’s ring ซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวนที่ทำจากเงินหรือทอง เพื่อให้เกิดความแข็งแรง และหลุดได้น้อยลง แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากผู้คนยังมีความวิตกที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย แต่ในระยะหลังมีการคิดค้นนำวัสดุอื่นที่เพิ่มความเชื่อมั่นต่อผลที่อาจเกิด ขึ้นต่อร่างกายมาใช้ เช่น พลาสติก

ต่อมาปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) Jack Lippes ได้ประดิษฐ์ห่วงอนามัยที่เรียกว่า Lippes loop ที่ทำจาก polyethylene ซึ่งเป็นห่วงอนามัยรุ่นแรกที่เริ่มนิยมใช้กันมาก

ต่อมาปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) Zipper และ Tatum แพทย์ชาวอเมริกา ได้ริเริ่มนำสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ เช่น โหละบางชนิด ฮอร์โมน และยาบางชนิด มาใช้ร่วมกับห่วงอนามัย โดยมีการใช้ห่วงที่เป็นทองแดงในลักษณะรูปตัวที (T) ที่เหมาะสมสำหรับโพรงมดลูกมากขึ้น และลดปัญหาการหลุดที่ดีขึ้นสำหรับการใช้คุมกำเนิด และลดอาการข้างเคียงให้น้อยลง ซึ่งเป็นต้นแบบของห่วงอนามัยแบบ T-IUD และ CU-IUD ชนิดต่างๆ

ต่อมาปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ได้มีการผลิตห่วงอนามัยแบบ Progesterone T ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก โดยมีชื่อทางการค้าว่า Progestasert

ต่อมาปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ได้มีการผลิตห่วงอนามัยแบบ Multiload ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก โดย W.A.A Van Os ที่มีรูปร่างคล้ายสมอเรือ มีขาพันด้วยลวดทองแดงเพื่อช่วยลดปัญหาการหลุด และช่วยประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์ และในปัจจุบัน ห่วงอนามัยแบบ Multiload CU-IUD จึงเป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

สำหรับการใช้ห่วง อนามัยในประเทศไทยนั้น เริ่มมีการใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2474 ในแบบ Grafenberg โดยหลวงพรหมทัตตเวที เป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่

ต่อมาปี 2501 โรงพยาบาลหัวเฉียว ได้เริ่มบริการใส่ห่วงอนามัยแบบ Oppenheimer และ Ota หลังจากนั้น จึงเริ่มมีการให้บริการใส่ห่ววงอนามัยตามสถานพยาบาลต่างเพิ่มขึ้นเรื่อยมา (จินดามาศ โกศลชื่นวิจิตร, 2536)(1)

ข้อดีของห่วงอนามัย
•  สถานประการมีต้นทุนจากการบริการต่ำ แต่ให้ประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น
• มีอายุการใช้งานนาน ทำให้ผู้ใช้มีค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีกำคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาคุมกำเนิดที่ต้องซื้อรับประทานทุกเดือน หรือ ยาฉีดคุมกำเนิดที่ต้องเข้ารับการฉีดทุกๆ 3 เดือน
• การใส่ครั้งแรกจำเป็นต้องใส่ด้วยแพทย์เท่านั้น แต่หลังการใส่แล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างอื่นอีก
• ไม่ขัดขวาง และไม่มีผลต่อความสึกทางเพศขณะร่วมเพศ
• มีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อย ส่วนมากผลข้างเคียงจะเกิดเฉพาะภายในมดลูก ไม่มีผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และต่อการทำงานในระบบอื่นของร่างกายเหมือนกับการใช้ยาคุมกำเนิด

การใส่ห่วงอนามัยสามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 10 ปี โดยเฉพาะห่วงอนามัย cupper T 380 A หลังใส่อาจมีอาการปวดเกร็งท้องได้ ห่วงอนามัยไม่เหมาะกับคนที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน รับประทานยากดภูมิ เป็นมะเร็งหรือมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่บ่อย เพราะที่บริเวณต่อจากห่วงจะมีเชือกต่อออกมาบริเวณปากมดลูก ใช้เป็นตัวตรวจสอบสอบว่าห่วงยังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ เชือกนี้จะเป็นจุดที่เชื้อโรคเข้าสู่มดลูกได้ คนที่ใส่ห่วงนอกจากตรวจสอบดูเชือกแล้วต้องได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละ ครั้ง หรือเมื่อมีความปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องเกร็ง หรือ คลำเชือกไม่พบ

ชนิดของห่วงอนามัย
1. Lippes loop มี 4 ขนาด ได้แก่
– ขนาด A กว้าง 22.5 ยาว 26.2 มม. สหรับสตรีที่ยังไม่มีบุตร
– ขนาด B กว้าง 27.5 ยาว 25.2 มม. ใช้ในกรณี Sound length สั้นกว่า 7 ซม.
– ขนาด C กว้าง 30.0 ยาว 27.5 มม. ใช้เมื่อทนอาการข้างเคียงของชนิด D ไม่ได้
– ขนาด D กว้าง 30.0 ยาว 27.5 มม. ใช้ทั่วไป

Lippes loop

2. Multiload (Ml Cu)
เป็นห่วงอนามัยที่ใช้มากในปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายสมอเรือประกอบด้วยก้านในแนวตั้ง และมีแขนโค้ง 2 ข้าง แต่ละข้างมีฟันหรือเงี่ยง 5 อัน ส่วนยอดเป็นรูปครึ่งวงกลม เพื่อให้สอดผ่าน Cervical canal ได้ง่าย และไม่ทะลุมดลูก สามารถยืดหยุ่นเข้ากับโพรงมดลูกได้ดี แบ่งเป็นชนิดย่อย ได้แก่

Multiload-375

– Ml Cu 250 regular กว้าง 20 มม. ยาว 36 มม. เหมาะสำหรับสตรีที่มีบุตรแล้ว โดยเฉพาะสตรีที่มี Sound length ประมาณ 7 ซม.
– Ml Cu 250 short กว้าง 20 มม. ยาว 25 มม. เหมาะสำหรับสตรีที่ยังไม่มีบุตร และสตรีที่มี Sound length 6-7 ซม.
– Ml Cu 250 mini กว้าง 13 มม. ยาว 25 มม. เหมาะสำหรับสตรีที่มีมดลูกเล็ก และสตรีที่มี Sound length น้อยกว่า 6 ซม.
– Ml Cu 250 maxi กว้าง 21-25 มม. ยาว 36 มม. เหมาะสำหรับสตรีที่มี Sound length มากกว่า 7 ซม.
– Ml Cu 375 มีขนาดเท่ากับ Ml Cu 250 regular

กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์
ภายหลังการใส่ห่วงอนามัยจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับโพรงมดลูก คือ ทำให้มีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือน แรก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่มีระดับของ Prostagladin และenzyme บางชนิดในโพรงมดลูก และในท่อนำไข่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากโลหะทองแดง ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายเชื้ออสุจิในโพรงมดลูกจากเซลล์เม็ดเลือดขาวหลังการมี เพศสัมพันธุ์  รวมถึงมีผลต่อการตกไข่ผิดปกติ และไข่มีความผิดปกติทำให้ไข่ไม่สามารถปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิได้ หรือหากมีการปฏิสนธิก็จะไม่สามารถเจริญ และฝังในเยื่อมดลูกได้

Multiload

ประสิทธิภาพห่วงอนามัย
สตรีที่ใส่ห่วงอนามัยทั่วไป เมื่อมีเพศสัมพันธุ์จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 1-3 ต่อปี แต่หากใส่ห่วงชนิดที่มีสารทองแดง เช่น T CU-380 A, T CU-220 C และ Ml Cu-375 เป็นต้น จะมีโอกาสตั้งครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธุ์เพียงร้อยละ 1 ต่อปี เท่านั้น

ข้อปฏิบัติหลังการใส่ห่วง
• ในระยะแรกหลังการใส่ห่วงอาจมีอาการปวดเกร็งท้องน้อย สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้
• ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 5-7 วัน แรกหลังการสวมห่วงอนามัย
• ให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรใช้อุปกรณ์สวนล้างภายในช่องคลอด
• การใส่ห่วงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจขณะมีเพศสัมพันธ์ฝ่ายชายควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
• การมีเพศสัมพันธ์ที่มีกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงอาจมีผลการเคลื่อนตัวหรือหลุดของห่วงอนามัย
• มั่นตรวจสอบสายห่วงเป็นระยะ เพื่อป้องกันการหลุด
• เมื่อสงสัยว่าห่วงมีการหลุดให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที
• หากมีการตกขาวมาก และมีกลิ่นเหม็นมากให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
• หากต้องการถอดห่วงอนามัยออกจากการเลิกใช้หรือต้องการมีลูกต้องให้แพทย์นำออก

ข้อห้ามสำหรับการใช้ห่วงอนามัย
• มีการอักเสบของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน อาการอักเสบภายในช่องคลอด และบริเวณปากมดลูก
• เมื่อสงสัยว่าตั้งครรภ์
• เมื่อมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
• ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดประจำเดือนมาก มีเลือดประจำเดือนออกมาก
• มีเนื้องอกหรือมะเร็งในมดลูก
• มีมดลูกผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด
• สตรีที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคในโพรงมดลูก โรคหัวใจ เป็นต้น
• สตรีที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการใช้
• หลังการใส่ห่วงใหม่ๆจะมีเลือดออก 2-3 วัน ซึ่งควรงดการร่วมเพศในช่วง 5-7 วัน หลังการใส่ห่วง
• ในช่วงแรกจะมีอาการปวดท้องน้อย สามารถระงับด้วยการกินยาแก้ปวด
• ในช่วง 2-3 เดือน แรก ประจำเดือนอาจมามากกว่าปกติ และอาจมีอาการปวดประจำเดือนมาก หรืออาจมีเลือดออกช่วงนอกประจำเดือนก็ได้ และอาจมีอาการตกขาวเพิ่มขึ้น
• ห่วงอนามัยอาจหลุดออกเองได้ เนื่องจากมีการบีบตัวของโพรงมดลูก มักพบใน 3 เดือนแรก หลังการใส่ และหากมีการหลุดให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที
• ควรตรวจห่วงอนามัยเดือนละครั้งหลังประจำเดือนหมดใหม่ๆ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรกหลังการใส่

อาการข้างเคียง
1. มีเลือดออกผิดปกติ
ภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นภาวะข้างเคียงที่พบบ่อยในระยะแรกของการใส่ห่วง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ใส่ถอดห่วงออก และเลิกใส่ห่วงอนามัย ซึ่งเชื่อว่าการใส่ห่วงมีผลทำให้การสลายตัวของภายในเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่ม ขึ้น โดยภาวะเลือดออกผิดปกตินี้จะค่อยๆหายเองหลังการใส่ห่วงแล้ว 1-2 ปี

2. มีอาการปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องน้อยจะเกิดบริเวณส่วนล่างของท้องน้อย และมักพบอาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณหลังส่วนล่าง เนื่องจากมดลูกมีการบีบตัวมากขึ้นหลังการใส่ห่วงอนามัย

3. มีอาการตกขาว
หลังการใส่ห่วงอนามัยจะเกิดการตกขาวมากขึ้น ซึ่งเกิดจากผลของห่วงอนามัยที่มีต่อเยื่อบุโพรงมดลูก แต่อาการตกขาวจะเกิดเฉพาะในช่วง 1-2 เดือน แรก เท่านั้น หลังจากนั้นอาการก็จะหายไปเองโดยไม่ต้องใช้ยารักษาแต่อย่างใด

4. มีการอักเสบของอวัยวะอุ้งเชิงกราน
อาการนี้มักพบในสตรีที่ติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ได้ง่าย และมักเกิดขึ้นในระยะแรกหลังการใส่ห่วง

5. มดลูกทะลุ
มดลูกทะลุนี้อาจหลังการใส่ห่วงหรืออาจเกิดขณะใส่ห่วง เมื่อห่วงอนามัยทะลุ หากเป็นห่วงชนิดทองแดงให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อนำออกทันที เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดผังผืดยึดติดห่วงอนามัยอวัยวะด้านข้างได้

 เอกสารอ้างอิง

1. จินดามาศ โกศลชื่นวิจิตร, 2536. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเลือกใช้ห่วงอนามัยของสตรีหลังคลอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี.