อินทรีย์ 5 ประการ และแนวทางปฏิบัติ

21806

อินทรีย์ 5 คือ การตั้งมั่นด้วยจิตอันนำพา 5 ประการ เพื่อความเจริญในศีลธรรม และการงาน ประกอบด้วย 5 ประการ คือ
1. สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส
2. วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายาม
3. สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้
4. สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้มีสมาธิ
5. ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในปัญญาหรือการรู้แจ้ง

อินทรีย์ 5 มีความหมายครอบคลุมถึง
– การเป็นใหญ่
– การนำพา
– การเป็นผู้นำ
– การเป็นผู้ปกครอง
– การตั้งมั่นหรือตั้งอยู่
– การครอบงำ

อินทรีย์ 5 ในด้านต่างๆ
1. การเจริญในธรรม
– สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อการเจริญธรรม
– วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายามต่อการเจริญธรรม
– สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ต่อการเจริญธรรม
– สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้สงบต่อการเจริญธรรม
– ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการใช้ปัญญาต่อสิ่งที่ควรรู้ต่างๆ

อินทรีย์5

2. อาชีพการงาน
– สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อการงานของตน
– วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายามต่อการงานของตน
– สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ต่อการงานของตน
– สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้สงบต่อการงานของตน
– ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการใช้ปัญญาต่อการงานของตน

อินทรีย์ 5 ควรมีกำลังเท่ากันในทุกสถาน และกาลเวลา
– ผู้มีศรัทธามาก แต่มีความรู้น้อย ย่อมเชื่ออะไรง่าย หลงใหลได้ง่าย
– ผู้มีปัญญา มีความรู้มาก แต่มีศรัทธาน้อย มักทระนงตัว เชื่อฟังคนอื่นยากหรือมักใช้ปัญญาในทางที่ผิด
– ผู้มีสมาธิแน่วแน่ แต่มีความเพียรน้อย ย่อมท้อต่อความลำบาก ความร้อนหนาวได้ง่าย
– ผู้มีความเพียรมาก อดทนต่อความลำบากได้ดี แต่หากมีสมาธิน้อย มักทำงานผิดพลาดเสมอ

หลักปฏิบัติในอินทรีย์ 5
1. สัทธินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในศรัทธาหรือความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อ ควรกระทำ เช่น เชื่อว่าตนสามารถสอบเข้ามหาลัยได้หากตนขยันอ่านหนังสือมากขึ้น
2. วิริยินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในความเพียร ความมานะอุตสาหะต่อสิ่งที่ตนกระทำเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนมากที่สุด เช่น มีความขยันเพียรพยามยามที่จะอ่านหนังสือสอบ
3. สตินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในความระลึกได้ขณะกระทำสิ่งใด อันปราศจากความเลื่อนลอยหรือความลืมตัวอันจะช่วยนำพาตนไปสู่ความเจริญ เช่น มีสติหรือความระลึกได้ขณะขับรถยนต์
4. สมาธินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ มีสมาธิ จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งที่ตนดำเนินอยู่ เช่น มีสมาธิในการอ่านหนังสือ
5. ปัญญินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่กับปัญญา คือ รู้จักใช้ความรู้ในการคิด วิเคราะห์ต่อสิ่งที่ตนจะกระทำหรือขณะกระทำเพื่อให้รู้แจ้งต่อสิ่งนั้น เช่น รู้จักคิดวิเคราะห์แก้โจทย์วิชาคณิตศาสตร์

อินทรีย์ 5 ประการนี้ ท่านผู้รู้กล่าวว่า เป็นบทธรรมอันเดียวกันกับ พละ 5 ประการ คือ มีหัวข้อธรรมเหมือนกัน และมีลักษณะแนวทางปฏิบัติเหมือนกัน