แคดเมียม พิษจากแคดเมียม และการรักษา

21143

แคดเมียม (Cadmium) จัดเป็นแร่โลหะหนัก มีลักษณะสีขาว มีความอ่อนตัว เป็นมันเงา หรือเป็นผง เม็ดละเอียดสีเทาพบในธรรมชาติในรูปของสารประกอบซัลไฟด์ และมักพบร่วมกับสังกะสี และทองแดง โดยทั่วไปจะเข้าสู่ร่างกายโดยทางกินผ่านระบบทางเดินอาหารกับอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน และจากการหายใจเอาเศษไอ ละอองหรือฝุ่นที่มีการปนเปื้อนแคดเมียมในอากาศ โดยเฉพาะบริเวณการทำเหมืองแร่ การหลอมสังกะสี ทองแดง และตะกั่ว

แคดเมียม หรือ อีกชื่อหนึ่ง คือ Colloidal cadmium เป็นโลหะหนักที่มีประจุบวก 2 ประจุ ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1817 โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Cadmia และ ภาษากรีกว่า Kadmeia มีสัญลักษณ์ทางเคมี คือ Cd โดยมีเลขอะตอม และมวลอะตอมเท่ากับ 48 และ 112.40 g/mol ตามลำดับ โครงสร้างเป็นรูปหกเหลี่ยม (Hexagonal structure) จัดเป็นธาตุทรานซิชัน (Transition metal) ที่อยู่ในกลุ่ม IIB ตามตารางธาตุ

cadmium

คุณสมบัติแคดเมียม
• สถานะ : ของแข็งสีเทา อ่อน และเบา
• สี : เงิน (Silver-white)
• กลิ่น : ไม่มีกลิ่น (Odorless)
• ความถ่วงจาเพาะ (Specific gravity) : 8.65
• จุดหลอมเหลว (Melting point) : 321 ºC
• จุดเดือด (Boiling point) : 765 ºC
• ความหนาแน่นที่อุณหภูมิ 20 ºC (Density at 20 ºC) : 8.65 g/cm3
• ความดันไอ (Vapor pressure at 257 ºC) : 7.5×10-3 mmHg
• การละลาย : กรดไนตริค (Nitric acid) กรดไพคริค (Picric acid) และแอมโมเนียมไนเตรต (NH4 NO3 )
• ค่าครึ่งชีวิต (Half-life) : 20 – 40 ปี

สารประกอบแคดเมียม
– แคดเมียมคาร์บอเนต (Cadmium carbonate;CdC03)
– แคดเมียมคลอไรด์ (Cadmium chloride; CdCl2)
– แคดเมียมออกไซด์ (Cadmium oxide; CdO)
– แคดเมียมซัลเฟต (Cadmium sulfate; CdS04)
– แคดเมียมซัลไฟด์ (Cadmium sulfide; CdS)
– แคดเมียมไฮดรอกไซด์ (Cadmium hydroxide; Cd(OH)2)
– แคดเมียมไนเตรต (Cadmium nitrate;Cd(N03)2)
– แคดเมียมสเตียเรต (Cadmium stearate; Cd(C36 H 72O4))
– แคดเมียมอะซีเตต (Cadmium acetate; Cd(CH3COO)2)
– แคดเมียม – คอปเปอร์ อัลลอย (Cadmium-copper alloy; Cd.Cu)

ประโยชน์แคดเมียม
1. โดยส่วนมากแคดเมียมถูกใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่
2. แคดเมียมถูกใช้ในอุตสาหกรรมชุบเคลือบโลหะ เพราะมีคุณสมบัติในการต้านทาน การกัดกร่อน
3. แคดเมียมใช้ในกระบวนการเชื่อมหรือประสานโลหะ
4. แคดเมียมถูกใช้เป็นส่วนประกอบของสี
5. แคดเมียมใช้ในกระบานผลิตพลาสติกเพื่อการคงรูปพลาสติก
6. แคดเมียมใช้ในกระบวนการเชื่อมหรือประสานโลหะ
7. แคดเมียมใช้เป็นส่วนประกอบในโลหะผสมที่ไม่ใช้เหล็กและอื่นๆ

ปัญหาแคดเมียมในประเทศไทย
ประเทศไทยพบปัญหาจากการปนเปื้อนแคดเมียมในธรรมชาติอย่างมากในอุตสาหกรรมเหมืองแร่สังกะสี จ. ตาก จากการศึกษาในปี พ.ศ. 2541 พบปริมาณแคดเมียมในต้นข้าว เมล็ดข้าวบริเวณชุมชนรอบเหมือง พบว่า มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้มาก ทำให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวไม่กล้ารับประทานข้าว

นอกจากนั้น แคดเมียมสามารถสะสมอยู่ในสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมได้ด้วย หากรับประทานสัตว์น้ำที่มีการสะสมแคดเมียมเข้าไปก็จะมีการสะสมต่อในคนเราด้วยเช่นกัน ดังนั้น แล่งน้ำหรือแหล่งดินที่มีแร่แคดเมียมสูงจึงไม่ควรบริโภคสัตว์น้ำในบริเวณเหล่านี้

กลไกการก่อโรค
การเกิดพิษจากแคดเมียมจะเกิดเมื่อแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายทั้งการกินเข้า สู่ระบบทางเดินอาหาร และการหายใจเข้าสู่ระบบหายใจ ซึ่งการเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจจะทำให้เกิดพิษอย่างน้อย 60 เท่าของการกิน เพราะไอระเหย และฝุ่นอาจจะก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบ (Delayed chemical pneumonitis) และทำให้ปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด ส่วนการกินเข้าเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจะทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร และเมื่อถูกดูดซึมแคดเมียมจะรวมตัวกับ metallothionein เกิดการกรองผ่านไต ซึ่งจะเกิดการทำงานของไตผิดปกติ

นอกจากนี้ การสะสมแคดเมียมในร่างกายยังเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคมะเร็งตามมาหลายชนิดด้วยกัน อาทิ มะเร็งปอดจากการหายใจ มะเร็งที่ไต มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในบรรยากาศ ค่ามาตรฐานในร่างกาย ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/ลิตร ในเลือด

อาการจากพิษแคดเมียม
1. การสัมผัสกับแคดเมียมโดยตรง ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และตา
2. การหายใจเอาแคดเมียมในปริมาณที่เกินกว่ามาตรฐานจะมีผลเกิดพิษอย่างเฉียบพลัน เกิดอาการไอ หายใจมีเสียงติดขัดปวดศีรษะ มีไข้ ปอดอักเสบ  และปอดบวมน้ำภายใน 12 – 24 ชั่วโมง
3. การหายใจเอาแคดเมียมด้วยระยะเวลายาวนานจะเกิดการสะสม และเกิดโรคมะเร็งปอดตามมา
4. การกลืนกินจะทำให้เกิดพิษแบบเฉียบพลัน เกิดอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อรุนแรง มีอาการถ่ายเหลว และอาจมีภาวะเลือดปนออกมา เนื่องจากการระคายเคือง และอักเสบของอวัยวะระบบทางเดินอาหาร อาการรุนแรงอาจเกิดการช็อกเนื่องจากขาดน้ำ และไตวายเฉียบพลันเสียชีวิตได้ง่าย
5. การสะสมในร่างกายทีละเล็กทีละน้อยในระยะยาว ซึ่งจะมีการสะสมแคดเมียมในกระดูก ทำให้เกิดโรคอิไตอิไต(Itai-itai) ทำให้กระดูกเปราะ หักง่าย มีอาการเจ็บปวดกระดูกทั่วทั้งร่างกาย และเกิดโรคไตเสื่อม

การตรวจวินิจฉัย
1. การซักประวัติผู้ป่วยที่อาจเกี่ยวข้องกับการได้รับสารแคดเมียมทั้งการหายใจ และการได้รับทางระบบทางเดินอาหารหรือการสัมผัสโดยไม่รู้ตัว
2. การตรวจปริมาณแคดเมียมในเลือด (whole blood cadmium) ซึ่งปกติมีค่าไม่เกิน 1 ไมโครกรัม/ลิตร ร่วมด้วยการตรวจปริมาณแคดเมียมในปัสสาวะซึ่งปกติจะมีค่าไม่เกิน 1 ไมโครกรัม/กรัม Creatinine
3. การตรวจอื่นๆ เช่น การทำงานของไต การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC), ปริมาณเกลือแร่ในเลือด (serum electrolyte), กลูโคส, สภาพกระดูก, ค่าออกซิเจนในเลือดแดง  และการตรวจเอกซเรย์ปอด

การพยาบาลเบื้อต้น
1. หากผู้ป่วยได้รับพิษทางการหายใจหรืออยู่ในบริเวณที่มีแคดเมียมฟุ้งกระจาย ควรนำผู้ป่วยออกมาในที่โล่ง ไม่มีการฟุ้งกระจายของแคดเมียม ให้พึงระวังอันตรายจากผู้ปฐมพยาบาลควรใส่หน้ากาก และชุดป้องกันพิษ
2. หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้รีบช่วยหายใจทันที ร่วมด้วยการใช้หน้ากากที่มีวาวล์ทางเดียว (one way valve) ช่วยในการหายใจด้วย
3. ผู้ป่วยมีการสัมผัสทางผิวหนัง ให้รีบถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก และรีบล้างทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดหรือใช้สบู่ช่วยในการทำความสะอาด สำหรับเสื้อผ้าผู้ป่วยควรเก็บใส่ถุงปิดสนิทเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุร่วมด้วย
4. หากมีการสัมผัสที่ตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำเกลือ เป็นเวลา 15 นาที
5. หากได้รับโดยทางกิน ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ และทำให้อาเจียนเป็นระยะ
6. ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมนำหลักฐาน เช่น เสื้อผ้า ไปด้วย

การกำจัดแคดเมียม
การกำจัดแคดเมียมในอากาศ ใช้วิธีการบำบัดอากาศด้วยเครื่องมือกำจัดอากาศเสีย ด้วยวิธีดูดอากาศผ่าตัวกลางที่สามารถดูดซับได้ เช่น ถ่านกำมันต์ เป็นต้น

การกำจัดแคดเมียมในดิน ใช้วิธีการปลูกพืชที่สามารถดูดซับแคดเมียมได้ เช่น พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลยาสูบ เป็นต้น หลังจากนั้นทำการกำจัดพืชที่ปลูกให้ถูกวิธีด้วยการฝังกลบหรือเผา