กระจกตา (Cornea)
กระจกตา เป็นส่วนที่เรียกว่า ตาดำ อยู่ด้านหน้าของตา มีลักษณะโค้ง ผิวขอบเรียบ เนื่องจากมีการจัดเรียงตัวของเซล์และเยื่อต่างๆ เป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวราบ 12 มิลลิเมตร และแนวตั้ง 11 มิลลิเมตร มีความหนาบริเวณขอบรอบนอก 1 มิลลิเมตร ส่วนตรงกลางหนา 0.58 มิลลิเมตร
กระจกตาเป็นอวัยวะที่แปลกกว่าส่วนอื่นๆ เพราะมีลักษณะพิเศษ ดังนี้
1. ลักษณะใส แสงกว่า 90 % ผ่านได้อย่างสะดวก
2. ไม่มีเส้นเลือดเข้ามาเลี้ยง
3. มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมากมาย ซึ่งเป็นเส้นประสาทรับความรู้สึกจากเส้นประสาทซิลเรียริ (Ciliary nerve) เมื่อเข้าไปในกระจกตาจะกลายเป็นปลายประสาทรับความรู้สึก กระจายอยู่ทั่วไปอย่างหนาแน่นระหว่างเซลล์ในเยื่อบุชั้นนอก (epithelium) ของกระจกตา
4. มีความสมาถในกาหักเหแสงสูง ทำหน้าที่สำคัญทีสุดคล้ายเลนส์นูนร่วมกับแก้วตา เพื่อให้แสงหรือภาพตกลงบนจอตา ทำให้มองเห็นภาพได้
5. มีคุณสมบัติในการเลือกให้สารเฉพาะซึมผ่านได้
ชั้นเนื้อเยื่อของกระจกตา
1. ชั้นเยื่อบุด้านนอก (epithelium)
ชั้นเยื่อบุด้านนอก มีเซลล์ 5-6 ชั้น ชั้นผิวนอกสุดเป็นสแควมัส เซลล์ (Squamous cell) และค่อยๆ หนามากขึ้นเมื่อลึกเข้าไปชั้นในสุดเป็นคอลลัมนา (Columnar cell) อัดกันแน่น ระหว่างคอลลัมนา และแผ่นเยื่อเบาแมน (Browman’s membrane) มีเยื่อเบสเมนท์ (Besement membrane)
นอกจากนั้น ส่วนนอกสุดของเยื่อบุด้านนอกมีส่วนของไมโครวิลไล (Microvilli) ยื่นเข้าไปเกราะฝ้าบางๆ ใสที่คาดอยู่บนกระจกตา (Precorneal tear film) เพื่อดึงดูเกราะนี้ไว้
2. ชั้นเยื่อเบาแมน (Browman’ s membrane)
ชั้นเยื่อเบาแมน มีความหนาประมาณ 12 ไมโครเมตร เป็นชั้นที่ไม่มีเซลล์ เมื่อถูกทำลายจะไม่งอกใหม่ แต่จะเป็นชั้นที่มีความต้านทานต่อการติดเชื้อหรือบาดเจ็บสูง
3. ชั้นเยื่อสโตรมา (Stroma or substantiapropia)
ชั้นเยื่อสโตรมา เป็นเยื่อเส้นใย (fibrous tissue) ที่เรียงและอัดกันเป็นชั้นๆ ใสๆ และไม่มีหลอดเลือด เซลล์ที่พบในชั้นนี้ คือ เคอราโทไซท์ (Keratocytes)
4. ชั้นเยื่อเดสซีเมท (Descemet’ s membrane)
ชั้นเยื่อเดสซีเมท มีความหนา 6 ไมโครเมตร ประกอบด้วยเยื่อยืด (Elastic tissue) ซึ่งเหนียวมาก และยืดได้
5. ชั้นเยื่อบุใน (Endothelium)
ชั้นเยื่อบุใน เป็นเยื่อชั้นในสุดของกระจกตา เป็นเซลล์ชั้นเดียวติดกับน้ำที่อยู่ในช่องหน้าตา (Aqueous humor) มีหน้าที่สำคัญทำให้กระจกตามีความหนาค่อนข้างคงที่ เยื่อบุในประกอบด้วยน้ำประมาณ 75 – 80 % ของน้ำหนัก จะเป็นตัวควบคุมระดับของน้ำในกระจกตาให้ปกติ โดยทำหน้าที่เป็นด่านกีดขวางไม่ให้น้ำจากช่องหน้าตาทะลักเข้าไปในกระจกตา และปั๊มโซเดียม พร้อมทั้งคลอไรด์ซึ่งจะดึงน้ำออกมาด้วยเข้าไปในช่องหน้าตา
ชั้นเนื้อเยื่อเหล่านี้ มีคุณสมบัติในการเลือกให้สารเฉพาะซึมผ่านได้ ซึ่งจะมีผลต่อการซึมผ่านของยาหยอดเข้าไปภายในตา กล่าวคือ เยื่อบุด้านนอก และด้านในเป็นเซลล์ที่มีไขมันมาก ดังนั้น ยาหรือสารพวกที่ละลายในไขมันจะผ่านได้เร็ว ส่วนยาที่ละลายในน้ำจะผ่านสโทรมาได้ง่ายกว่า ถ้ายาหรือสารใดมีคุณสมบัติละลายได้ทั้งในน้ำ และในไขมันจะผ่านกระจกตาได้ดี
เยื่อบุตา (Conjunctiva)
เยื่อบุตามีลักษณะคล้ายแผ่นเยื่อบางๆใส มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากมาย เยื่อบุตาอยู่บริเวณเปลือกตาด้านใน และส่วนนอกของตาขาว โดยเชื่อมติดต่อกัน เยื่อบุตาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. เยื่อบุทางด้านในของเปลือกตา มีลักษณะหนา และขุ่น มีเลือดมาเลี้ยงมากมายบริเวณนี้ จึงใช้ตรวจดูว่าผู้ป่วยซีดหรือไม่
2. เยื่อบุตาซึ่งคาดอยู่ส่วนนอกของตาขาว จะเป็นแผ่นบางๆ ใส
3. แอ่งหรือรอยพับทางด้านบน และด้านล่าง มีลักษณะเป็นถุงเยื่อบุตา เกิดจากการพับของเยื่อบุตาด้านในเปลือกตา
ชั้นเนื้อเยื่อของเยื่อบุตา
1. เยื่อบุด้านนอก
เยื่อบุด้านนอก จะติดต่อกับเยื่อบุด้านนอกของกระจกตาโดยตลอดชั้นนี้มีต่อมขับเมือก และต่อมน้ำตา (Gland of Krause and Wolfring) ช่วยให้ความชุ่มชื่น และหล่อลื่นลูกตา นอกจากนั้น ยังทำให้กระจกตาเป็นผิวเรียบ และเชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารของกระจกตาด้วย
2. ซับสแทนเธียโพรเพรีย (Substantiapropia)
ซับสแทนเธียโพรเพรีย ประกอบด้วยเยื่อ 2 ชั้น คือ ชั้นเยื่อแอดดินอยด์ (Adenoid layer) ซึ่งพบว่ามีเซลล์น้ำเหลืองมากมาย และเส้นใย ดังนั้น เยื่อบุตาจึงมีความสามรถจับกินสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคต่างๆ ได้ ฉะนั้นถ้าเชื้อโรคไม่รุนแรงจริงมักจะไม่เกิดโรคขึ้น
คุณสมบัติของเยื่อบุตาในการยอมให้สารหรือซึมผ่านได้นั้น จะยอมให้อนุภาคเล็กผ่านเท่านั้น คุณสมบัตินี้จะมีมากกว่าเยื่อบุนอกของกระจกตา แต่น้อยกว่าเยื่อบุใน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สารหรือยาจะผ่านเข้าไปในช่องหน้าตามักจะถูกชะล้างให้หมดไปโดยเส้นเลือดเล็กๆ ซึ่งเป็นร่างแหบริเวณเยื่อบุตาต่อกับกระจกตา
การให้ยาหยดรูม่านตาซึมผ่านกระจกตาจะมีระดับยามากกว่าการให้ยาซึมผ่านเยื่อบุตา นอกจากนั้น ยังพบว่าการที่ตามีหรือไม่มีเยื่อบุตาจะมีระดับของยาในช่องหน้าตาเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ยาส่วนใหญ่จะเข้าไปภายในตาโดยผ่านกระจกตา จึงนับได้ว่ากระจกตาเป็นด่านกีดขวางที่สำคัญในการผ่านของยา
รูม่านตา (Pupil)
รูม่านตา คือ ส่วนที่เป็นช่องว่างบริเวณส่วนกลางของม่านตา มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดรูม่านตามีการเปลี่ยนแปลงอย่างปกติตลอดเวลา เกิดจากการทำงานของม่านตา ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของตา ทำหน้าที่เหมือนเป็นไดอะแฟรม (Diaphragm) ของกล้องถ่ายรูป โดยเป็นตัวควบคุมจำนวนแสงที่เข้าไปภายในตาประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ 2 ชุด ทำหน้าที่ คือ
1. กล้ามเนื้อหด
กล้ามเนื้อหดทำหน้าที่ควบคุมการทำงานโดยเส้นประสาทพาราซิมพะเธ็ททิค เส้นใยของกล้ามเนื้อเรียบเรียงตัวกันในลักษณะวงกลม เมื่อหดตัวจะทำให้รูม่านตาหดตัวกล้ามเนื้อนี้ จะถูกกระตุ้นให้ทำงานเมื่อมีแสงสว่างเพื่อการควบคุมจำนวนแสงไม่ให้เข้าไปในตามากจนเกินไป ทั้งนี้ การหดตัวของรูม่านตามีประโยชน์ทำให้ภาพมีความคมชัดเจนในการมองภาพในระยะใกล้รูม่านตาจะหดตัว
2. กล้ามเนื้อขยาย
กล้ามเนื้อขยายทำหน้าที่ควบคุมการทำงานโดยเส้นประสาทซิมพะเธ็ททิค เส้นใยกล้ามเนื้อเรียงตัวเป็นรัศมีจากขอบของรูม่านตา เมื่อหดตัวจะทำให้รูม่านตาขยาย กล้ามเนื้อนี้ จะถูกกระตุ้นให้ทำงานเมื่ออยู่ในที่มีแสงสลัวๆ
นอกจากนั้น ภาวะทางจิตใจมีผลทำให้รูม่านตาเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือ ความกลัว ตกใจ หรือความเจ็บปวด จะเพิ่มการทำงานของซิมพะเธ็ททิค แต่ยับยั้งเส้นประสาทพาราซิมพะเธ็ททิค จึงทำให้รูม่านตาขยาย
ม่านตานั้น นอกจากประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ 2 ชุด ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีส่วนของเซลล์พิกเม้นท์ (Pigment cell) ซึ่งทำให้ม่านตามีสีแตกต่างกันตามเชื้อชาติ เช่น พวกคอเคเชี่ยนจะมีพิกเม้นท์น้อย จึงมีสีจาง ส่วนพวกมองโกเลียนจะมีพิกเม้นท์อยู่อย่างหนาแน่น จึงมีสีคล่ำ
ขนาดของรูม่านตาปกติในผู้ใหญ่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ขนาดทั้ง 2 ข้าง เท่ากันหรือแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ละบุคคลมีขนาดรูม่านตาแตกต่างกันตามอายุ กล่าวคือ เด็กทารกจนกระทั่งอายุ 1 ปี รูม่านตามีขนาดเล็ก เนื่องจากการทำงานของเส้นประสาทซิมพะเธ็ททิคไม่สมบูรณ์
ส่วนเด็กโต และวัยรุ่นมีขนาดรูม่านตาใหญ่มากที่สุด หลังจากนั้นขนาดจะค่อย ๆ เล็กลง นอกจากนั้น รูม่านตาของพวกคอเคเชี่ยน (ฝรั่งขาว) จะมีขนาดใหญ่กว่าพวกมองโกเลียน
ส่วนกลุ่มที่มีม่านตาสีจางจะมีการขยายของรูม่านตามากกว่ากลุ่มที่มีม่านตาสีคล้ำภายหลังหยอดยา 1% โฮแมโทรฟีน (Homatropine) ซึ่งเป็นยาขยายรูม่านตา โดยพิกเม้นท์ที่มีจำนวนมากจะไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งเซลล์พิกเม้นท์ของม่านตาระหว่างพวกกคอเคเชี่ยน และมองโกเลียน มีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน