การตรวจเลือด

10333

การตรวจเลือด ถือเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการวินิจฉัยโรคของแพทย์เนื่องจากเลือดเป็นตัวกลางสำคัญในการนำพาน้ำ สารอาหาร เชื้อโรค สารพิษ รวมถึงสิ่งแปลมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ในการรับ และนำพาสารต่างๆที่ร่างกายปล่อยออกมาไว้ด้วย โดยสารเหล่านี้อาจเข้าสู่ร่างกายด้วยการดื่มกิน การหายใจ การแทรกชึมผ่านแผล ผ่านผิวหนัง และเข้าสู่ระบบกระแสโลหิต ดังนั้น การตรวจเลือดจึงเป็นวิธีที่สามารถตรวจหาสารปนเปื้อนที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วที่สุด

ประโยชน์ของการตรวจเลือด
โดยปกติเมื่อรู้สึกไม่สบายคนส่วนใหญ่ก็มักจะมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาหรือหาสาเหตุของอาการป่วยนั้นๆ ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมถึงการเจาะเลือดตรวจเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งการตรวจด้วยเลือดจึงมีประโยชน์ ดังนี้

การตรวจเลือด

1. การวินิจฉัยโรคบางชนิดที่ไม่อาจใช้การวินิจฉัยโดยวิธีธรรมดาหรือวิธีการตรวจจากร่างกายภายนอกสามารถใช้วิธีการตรวจเลือดได้ รวมถึงสามารถช่วยวินิจฉัยโรคที่มีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกันได้ เช่น โรคตับอ่อน โรคอาหารเป็นพิษ กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น

2. ข้อมูลที่ได้จากการตรวจเลือดสามารถนำมาใช้สำหรับการจัดการในด้านการรักษาอาการของโรค เช่น การตรวจวัดระดับปริมาณยาที่อยู่ในเลือดเพื่อควบคุมระดับยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย รวมถึงการใช้สำหรับการควบคุมอาหารที่ใช้ข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

3. ผู้ป่วยบางรายที่ไม่แสดงอาการความผิดปกติของโรค หากตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดอาจสามารถทำให้ทราบถึงโรคที่แฝงอยู่ได้ เช่น โรคเอดส์ในระยะแรก รวมถึงโรคชนิดต่างๆที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก

จะตรวจเลือดเมื่อใด
การตรวจเลือดในวัยเด็กอาจมีความจำเป็นโดยเฉพาะการตรวจเลือดเพื่อหาโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรมจากพ่อ แม่ที่สืบมาสู่ลูก เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคเบาหวาน เป็นต้น

การตรวจเลือดในวัยผู้ใหญ่เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาโรคแฝงหรือความผิดปกติของร่างกายที่อาจก่อให้เกิดโรคตามมาเพื่อในอนาคตเพื่อให้มีการป้องกัน และรักษาให้ทันท่วงที โดยเฉพาะโรคแฝงที่มักเกิดขึ้นในระยะแรกที่ไม่แสดงอาการ

การตรวจโรคในวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานที่อยู่ในสถานประกอบการต่างๆจะถูกกำหนดด้วยกฎหมายที่ระบุให้ผู้ประกอบการต้องตรวจสุขภาพพนักงานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ในวัยผู้สูงอายุมักเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด นอกจากนั้น การตรวจเลือดในผู้สูงอายุมักจะทำการตรวจเพื่อตรวจสอบการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เช่น การทำงานของตับ ไต ระบบฮอร์โมน เป็นต้น

สถานที่รับบริการตรวจเลือด
การตรวจเลือดจะเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันหากเป็นการตรวจสุขภาพเพื่อให้ได้ผลข้อมูลในเชิงลึกแล้วจะต้องทำการตรวจเลือดเป็นสำคัญ ซึ่งสถานพยาบาลเกือบทุกแห่งจะให้บริการทั้งเอกชน และสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งทั้งนี้ค่าบริการจะขึ้นอยู่กับชนิดโรคที่เราต้องการตรวจ และแต่ละสถานพยาบาลจะกำหนดค่าบริการในอัตราไม่เท่ากัน

ประเภทการตรวจเลือด
การตรวจเลือดสามารถแบ่งตามลักษณะของโรคที่ต้องการตรวจ ได้แก่
1. การตรวจหาสารเคมี ฮอร์โมน และสารพิษ
2. การตรวจหาเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต
3. การตรวจระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
4. การตรวจเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเลือด
5. การตรวจเพื่อหาชนิดหมู่เลือด

การตรวจเลือดจะใช้วิธีการเจาะเลือด แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1. การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ
เป็นวิธีการเจาะเอาหลอดจากหลอดเลือดในร่างกายผ่านเข็มเจาะเลือด และเก็บเลือดในพลาสติกเก็บเลือด
วัสดุอุปกรณ์
– เข็มเจาะเลือด ขนาด 21 G แบบใช้ครั้งเดียว
– กระบอกเจาะเลือดพลาสติก
– หลอดพลาสติกใส่เลือด เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 มม. สูง 100 มม.
– จุกปิดหลอดใส่เลือด
– สำลี
– แอลกอฮอล์ 70%
– ผ้าปิดแผล

วิธีการเจาะ
– ผู้เจาะยื่นมือข้างใดข้างหนึ่งออก หากใส่เสื้อแขนยาวให้ถลกแขนเสื้อจนถึงต้นแขน
– ก่อนเจาะเลือดเจ้าหน้าที่จะใช้สายยางลัดบริเวณต้นแขนเพื่อให้มองเห็นเส้นเลือดดำ
– ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ทาบริเวณหลอดเลือดดำ ณ จุดบริเวณที่ต้องการเจาะ
– นำเข็มเจาะเลือดสวมเข้ากับหัวกระบอกเจาะเลือด
– ทำการเจาะเลือดปริมาณ 3-5 มิลลิลิตร
– ทำการกดแผลด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ และดึงเข็มออก โดยกดแผลทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที พร้อมปิดด้วยผ้าปิดแผล
– หลอดพลาสติกใส่เลือดจะทำการเขียนชื่อหรือใส่รหัสกำกับของผู้มารับการตรวจเลือด

2. การเจาะเลือดจากปลายนิ้ว
วัสดุอุปกรณ์
– เข็มเจาะเลือดแบบเจาะปลายนิ้ว
– หลอดแก้วใส่เลือด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. สูง 50 มม.
– ดินน้ำมันอุดปลายหลอดใส่เลือด
– สำลี
– แอลกอฮอล์ 70%
– ผ้าปิดแผล

วิธีการเจาะ
– ผู้รับการเจาะเลือดยื่นมือออกมาพร้อมกำนิ้ว ยกเว้นนิ้วกลาง
– ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ทาบริเวณปลายนิ้ว
– นำเข็มเจาะเลือดเจาะที่ปลายนิ้ว
– ทำการเก็บเลือดด้วยหลอดใส่เลือด
– กดปลายแผลด้วยชำลีชุบแอลกอฮอล์ พร้อมพันด้วยผ้าปิดแผล