การนวด หมายถึง การใช้มือหรือใช้เท้ากระทำบนส่วนต่างๆของร่างกาย ตั้งแต่ผิวหนัง ไขมันใต้ผิวหนัง พังผืด และกล้ามเนื้อ ด้วยลักษณะของการกด การคลึง การบีบ การหยิก การดึง การลูบ การบิด การม้วน การขยี้ การสั่น การดัด การตบ การทุบ และการเหยียบ เป็นต้น
ผลของการนวดต่อระบบต่างๆของร่างกาย
1. ระบบหลอดเลือด
– ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด
– ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวโดยรีเฟล็กซ์
– ช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่หัวใจบีบส่งออกไป
– ช่วยลดอัตราชีพจร ลดความดันเลือด
– ช่วยเพิ่มจำนวน และเพิ่มขนาดเม็ดเลือดแดง และการให้ผ่านของหลอดเลือดฝอย
– ช่วยเพิ่มโภชนาการของเซลล์
– ช่วยลดอาการบวมของกล้ามเนื้อ
– ช่วยกำจัดของเสียในเซลล์ได้เพิ่มขึ้น
– ช่วยลดความเจ็บปวด ลดอาการบวมของกล้ามเนื้อ และลดภาวะกล้ามเนื้อเมื่อยล้า
– ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานเพิ่มเมตะบอลิซึม
2. ระบบน้ำเหลือง
ผลของการนวดจะมีผลทำให้มีการเพิ่มการไหลเวียนของน้ำเหลืองดีมากขึ้น การนำไปใช้งานช่วยลดการบวม ลดอาการเกิดพังผืด
3. ระบบกล้ามเนื้อ
ผลของการนวด ช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ใยกล้ามเนื้อแยกกันได้ดีสามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ดีขึ้น การนำไปใช้งานช่วยเพิ่มความอ่อนตัว ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดภาวะยึดติดของกล้ามเนื้อ เพิ่มความพร้อมของร่างกาย
4. ระบบโครงร่าง และกระดูก
ผลของการนวดช่วยเพิ่มแร่ธาตุในกระดูก เช่น ไนโตรเจนซัลเฟอร์ และฟอสฟอรัส การนำไปใช้งานช่วยให้กระดูกติดดี
วิธีการนวดแบบต่างๆ
การนวดไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดแบบทั่วไป จะมีเทคนิคการนวดได้หลายวิธีทั้งการใช้นิ้วมือ และส่วนอื่นๆของร่างกาย และก็มีลักษณะการนวดที่แตกต่างกันได้หลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง การได้เรียนรู้เทคนิคการนวดหลายๆแบบจะช่วยให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมได้
1. การกด
การกด มักจะใช้นิ้วมือเป็นตัวส่งผ่านแรง ซึ่งอาจจะใช้เพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้โดยทั่วไปนิยมใช้นิ้วหัวแม่มือเป็นตัวหลัก เพราะเป็นนิ้วที่มีความแข็งแรงกว่านิ้วอื่น เทคนิคการวางนิ้วอาจจะกดลงไปตรงๆ ด้วยกลางนิ้วบริเวณข้อต่อที่ 2 ไม่ใช้บริเวณปลายนิ้วกด อาจกดเพียงนิ้วเดียว หรือใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองวางคู่กันกดลงไปก็ได้ หรือบางรายอาจใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งวางตรงจุดกด และอีกข้างกดทับซ้อนลงไปก็ได้เช่นกัน เทคนิคการกดนั้น มักจะใช้กับบริเวณที่เป็นจุดเฉพาะ ซึ่งจะลงน้ำหนักได้แม่นยำตรงจุดแต่จะใช้กับการนวดกล้ามเนื้อทั่วๆ ไปก็ได้เทคนิคการกดเป็นเทคนิคที่เราใช้กันมากที่สุด
2. การคลึง
การคลึง คือ การหมุนวนเป็นวงกลมไม่เพียงแค่กดเฉยๆ ยังมีการเคลื่อนที่ไปรอบๆบริเวณนั้นด้วย โดยมากจะใช้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เราต้องออกแรงมากหน่อยเราอาจใช้นิ้วมือฝ่ามือ หรือสันมือในการคลึงก็ได้ กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายได้ดีเราจะรู้สึกสบายเป็นวิธีการที่นุ่มนวลไม่รุนแรง ถ้าทำถูกวิธี
3. การบีบ
วิธีนี้พวกเราทั่วไปใช้กันอยู่บ่อยๆ เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อปวดเมื่อยก็มีการบีบนวดไปที่กล้ามเนื้อ การบีบก็คือ การใช้แรงกระทำต่อกล้ามเนื้อโดยตรง ต้องการให้กล้ามเนื้อทั้งมัดนั้นมีการผ่อนคลายมักจะใช้กับกล้ามเนื้อใหญ่ เช่น แขน ขา หลัง เป็นต้น และใช้กับกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งตัวได้ดี
4. การบิด
การบิด คือ การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อให้ไปในแนวขวางเป็นการยึดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ โดยจับกล้ามเนื้อให้เต็มฝ่ามือ แล้วบิดหมุนเป็นลูกคลื่นไปตามกล้ามเนื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ เช่น แขน ขา และหลังเป็นต้น
5. การดัด
การดัด มักจะใช้กับข้อต่อที่มีการติดแข็ง หรือมีอาการขัดในข้อ เทคนิคนี้ค่อนข้างต้องใช้ความชำนาญสูงเพราะอาจเกิดอันตรายได้ง่าย ทั้งต่อเยื่อพังผืด เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อเนื่องจากการดัดมักจะกระทำอย่างรุนแรงต่ออวัยวะ ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ ถึงจะใช้เทคนิคนี้
6. การดึง
การดึง เป็นการหยิบกล้ามเนื้อยืดออก มักใช้กับรายที่มีการหดรั้งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ เทคนิคดึงนี้ก็ต้องใช้ความชำนาญเหมือนกัน เพราะจะเกี่ยวข้องกับข้อต่อซึ่งบริเวณที่บาดเจ็บนั้นจะอ่อนแอ และอาจฉีกขาดได้ง่าย ถ้าเราใช้แรงดึงที่มากเกินไป
7. การทุบ การเคาะ และการสับ
การทุบ การเคาะ และการสับ เป็นการออกแรงอย่างเป็นจังหวะ อาจใช้กำปั้นหลวมๆ ใช้สันมือหรือใช้ฝ่ามือ เคาะสับลงไปตรงบริเวณที่ต้องการเป็นจังหวะ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยมากจะใช้กับกล้ามเนื้อใหญ่ๆ เช่น หลัง คอ บ่า ไหล่ เป็นต้น
8. การเหยียบ
การเหยียบ เป็นเทคนิคที่ชาวบ้านชอบใช้กันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ที่ชอบให้ลูกหลานขึ้นมาเหยียบนวดให้ มักใช้กับกล้ามเนื้อใหญ่ เช่น แขน ขา หลัง แต่อาจเกิดอันตรายได้ง่าย เนื่องจาก การเหยียบนั้นกะน้ำหนักได้ไม่ค่อยแม่นยำนัก มักจะออกแรงมากเกินไป ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการนวดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระดูกสันหลังไม่ควรใช้การเหยียบเลย เพราะเป็นทางเดินของไขสันหลัง ถ้ากระดูกสันหลังหักหรือทรุดไปทำลายไขสันหลัง จะทำให้เป็นอัมพาตได้ ฉะนั้น ถ้าจะใช้เทคนิคนี้ต้องแน่ใจในฝีมือจริงๆ และต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจึงจะใช้ได้
วิธีนวดแบบไทยประยุกต์
การนวดแบบไทยประยุกต์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างวิธีการนวดแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ และต่างประเทศ ประกอบด้วยลักษณะการนวด ดังนี้
1. การลูบแบบลึก
การลูบแบบลึก คือ การใช้ฝ่ามือโดยเน้นที่การออกแรงกดปลายนิ้วมือแนบติดกับผิวหนังของส่วนที่จะนวดลูบจากส่วนต้นไปส่วนปลายของอวัยวะที่จะนวดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เมื่อสุดที่ส่วนปลายของส่วนที่จะนวดแล้วลูบขึ้นเบาๆ โดยไม่ต้องออกแรงมากเพื่อจะให้เกิดความต่อเนื่องในการนวด
2. การใช้แรงกด
การนวดโดยใช้แรงกดนี้ จะกระทำถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ โดยการใช้แรงกระทำต่อส่วนของร่างกายในลักษณะต่างๆ กันการกระทำนั้นจะต้องมีจังหวะของการใช้แรง และปล่อยคลายสลับกันไป สำหรับความเร็ว โดยความลึกในการกดสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
– การคลึงแบบลึก คือ การใช้อุ้งมือแนบติดกับผิวหนังของส่วนที่จะนวด ออกแรงกดให้ลึกถึงกล้ามเนื้อคลึงให้กล้ามเนื้อถูกับกระดูก การคลึงจะทำเป็นวงกลมโดยการหมุนอุ้งมือ ทั้งนี้ ข้อเสียของการคลึง คือ การคลึงที่รุนแรงมากอาจทำให้เส้นเลือดฉีกขาด หรือถ้าไปคลึงที่เส้นประสาทบางแห่ง ทำให้เกิดความรู้สึกเสียวแปลบทำให้เส้นประสาทอักเสบได้
– การยก เป็นการใช้มือยกส่วนที่นวดขึ้นมาโดยการยกให้ถึงชั้นของกล้ามเนื้อเท่าที่จะทำได้ โดยให้เนื้อที่ยกอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือ และทั้งสี่นิ้ว พยายามอย่าให้มีช่องว่างระหว่างอุ้งมือ เมื่อยกขึ้นมาแล้วก็ออกแรงบีบเล็กน้อย จากนั้นก็ปล่อยแล้วก็ทำซ้ำอีกพยายามอย่าใช้ปลายนิ้ว เพราะจะทำให้มีอาการเจ็บขึ้น การยกอาจจะใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้ขึ้นอยู่กับบริเวณที่นวด
– การบิด มีลักษณะคล้ายกับการยก คือ จะทำการยกส่วนของกล้ามเนื้อ และผิวหนังขึ้นมาให้อยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วทั้งสี่ โดยทำทั้งสองมือจากนั้นจะบิดกล้ามเนื้อไปข้างหน้า และข้างหลังสลับกัน พร้อมทั้งเลื่อนมือไปตามแกนยาวของกล้ามเนื้อ
3. การเคาะ/การสับ
การเคาะ/การสับ เป็นการกระทำโดยใช้ส่วนต่างๆ ของมือเคาะลงไปบนส่วนของร่างกายซึ่งจะกระทำได้ด้วยการใช้สันมือทางด้านนิ้วก้อยสับไปบนส่วนของร่างกายสลับกันไปอย่างสม่ำเสมอ การสับจะต้องใช้นิ้วมือให้อยู่ในลักษณะหลวมๆ ไม่เกร็งนิ้วมือเพราะจะทำให้เจ็บ การสับจะต้องทำตามขวางของเส้นใยกล้ามเนื้อ ไม่ควรใช้การสับไปในบริเวณที่มีกระดูกอยู่ตื้นบริเวณหน้าท้องหรือสีข้าง
4. การเขย่า และการสั่น
เป็นการทำให้ส่วนของร่างกายมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ในลักษณะเร็วซึ่งการเขย่าจะเป็นการจับส่วนของร่างกายเขย่าหรือเคลื่อนที่ไปในแนวหน้าหลังหรือแนวข้าง ซึ่งการจับเขย่าจะจับด้วยมือเดียวหรือสองมือก็ได้ ส่วนการสั่นจะกระทำโดยการใช้มือกระตุ้นไปที่ผิวหนังให้เกิดการสั่นขึ้น
5. การดึง
การดึง เป็นการออกแรงเพื่อที่จะยืดเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อหรือพังผืดของข้อต่อที่หดสั้นเข้าไปออกมา เพื่อให้ส่วนนั้นทำหน้าที่ได้ตามปกติ ในการดึงข้อต่อมักได้ยินเสียงลั่นในข้อต่อซึ่งแสดงว่าการดึงนั้นได้ผล และไม่ควรดึงต่อไปอีก สำหรับในกรณีที่ไม่ได้ยินเสียงก็ไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดเสียง
เสียงลั่นในข้อต่อเกิดจากอากาศที่ซึมเข้าข้อต่อถูกไล่ออกจากข้อต่อต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งให้อากาศมีโอกาสเข้าสู่ข้อต่ออีกจึงเกิดเสียงได้ข้อพึงระวังของการดึง คือ อาจจะทำให้เส้นเอ็นหรือพังผืดที่ฉีกขาดอยู่แล้วขาดมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรทำการดึงเมื่อมีอาการแพลงของข้อต่อในระยะเริ่มแรก ต้องรอให้หลังการบาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 14 วัน จึงทำการดึงได้
6. การดัด
การดัด เป็นการออกแรงเพื่อให้ข้อต่อที่ติดขัดเคลื่อนไหวได้ตามปกติ การดัดต้องออกแรงมาก และค่อนข้างรุนแรง ก่อนการทำการดัดควรจะปรึกษาเปรียบเทียบช่วงของการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่จะทำการดัดกับข้อต่อปกติ ปกติจะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วยด้วย โดยถือว่าเด็กย่อมมีการเคลื่อนไหวของข้อต่อดีกว่าผู้ใหญ่ การดัด อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อนั้น หรือกรณีทำการดัดคอในผู้สูงอายุซึ่งมีกระดูกค่อนข้างบาง การดัดที่รุนแรงอาจทำให้กระดูกหักได้ ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็ไม่ควรดัด เพราะอาจทำให้ข้อต่อเคลื่อนออกจากที่เดิม หรือกรณีข้อเท้าแพลงไม่ควรดัดทันที อาจทำให้มีอาการอักเสบหรือปวดมากขึ้น
7. การเหยียบ
การเหยียบ เป็นวิธีการที่นิยมทำกันโดยให้เด็กหรือผู้อื่นขึ้นไปเหยียบหรือเดินอยู่บนหลัง ข้อเสียของการเหยียบ คือ เป็นท่านวดที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังหักและอาจทิ่มแทงถูกไขสันหลังทำให้เป็นอัมพาตได้หรือทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต เกิดการบาดเจ็บได้