ถุงใต้ตา หมายถึง ก้อนไขมันหรือเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณเบ้าตาด้านล่างที่เกิดจากการสะสมของไขมันหรือเนื้อเยื่อทำให้มีความหนามากขึ้นจนปูดยื่นออกมาคล้ายถุงบริเวณใต้ตาด้านล่าง ดังนั้น ถุงใต้ตามิได้หมายถึงใดๆที่อยู่บริเวณใต้ตา แต่เพียงมักเรียกตามลักษณะของบริเวณดังกล่าวที่คล้ายกับถุงยื่นออกมาเท่านัั้น
ถุงใต้ตาเมื่อเกิดขึ้นจะทำให้รู้สึกมองดูแก่ และหน้าตาไม่สดใส ดังนั้น การผ่าตัดเอาถุงใต้ตาออกจะช่วยทำให้หนังตาด้านล่างมีการตึงกระชับ ไม่มีริ้วรอย และดูอ่อนวัยมากขึ้น
ถุงใต้ตาเกิดขึ้นในกรณี
1. เกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตามอายุที่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการสะสมของเนื้อเยื่อ และไขมันบริเวณดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
2. เมื่ออายุมากขึ้น หนังตาด้านล่างมีการเสื่อมสภาพตามวัยทำให้หนังตาเหี่ยวย่น และหย่อนลงมา
3. ในวัยทั่วไปที่ไม่ใช่วัยชรามักพบถุงใต้ตาเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรม และการสะสมของชั้นไขมันที่มีมากเกินไป
ขั้นตอนการผ่าตัด
1. แพทย์จะทำการวัด และวิเคราะห์ปริมาณไขมัน เนื้อเยื่อที่จะต้องตัดออก พร้อมทำเครื่องหมายตามแนวจุดผ่าตัด
2. การผ่าตัดเริ่มด้วยการฉีดยาชาบริเวณจุดที่ต้องการผ่าตัด และเริ่มกรีดหนังตาบริเวณใกล้กับขอบตาด้านล่างหรือใกล้กับขนตาให้มากที่สุด เพื่อปกปิดรอยแผลเป็นเวลาแผลหาย
3. การผ่าจะผ่ายาวตามแนวขนตาหรือขอบตาด้านล่างจากส่วนหัวตาจนเลยหางตาประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาด และรอยเหี่ยวย่นของหนังตา
4. แพทย์จะทำการเลาะเอาหนังตาที่ย่น และก้อนไขมันส่วนเกินออกตลอดแนวการผ่าตัด ในบางรายที่เป็นกรณีถุงไขมันใต้ตาพอง แพทย์จะทำการแหวกผ่านกล้ามเนื้อ แล้วกำจัดก้อนไขมันนั้นออก
5. ทำการดึงหนังที่เลาะไว้ขึ้น และพลิกออกด้านนอก พร้อมตัดผิวหนังที่คลุมเกินแนวผ่าตัดออก ซึ่งต้องกะระยะตัดให้เหมาะสม เพราะหากตัดมากเกินไปแล้วเวลาเย็บแผล และแผลหายจะทำให้หนังตาล่างตึงมากจนดึงรั้งเปลือกตาล่างให้ออกห่างจากลูกตามากทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ตาแหก (ectropron) ตามมาได้
6. ทำการเย็บปิดรอยแผลด้วยไหมขนาดเล็ก และทำความสะอาดแผล พร้อมปิดผ้าคลุมแผล
หลังการผ่าตัดจะเกิดอาการบวมของรอยแผล และรู้สึกเจ็บเล็กน้อย หลังจากนั้นจะรู้สึกหายในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
การผ่าตัดเอารอยย่น และไขมันใต้หนังตาออกจะทำให้หนังตาด้านล่างตึง และดูอ่อนวัย ซึ่งลักษณะนี้จะคงอยู่ไม่ถาวร เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 5-7 ปี เนื้อเยื่อบริเวณหนังตาล่างจะเริ่มเหี่ยวย่นอีกครั้ง รวมถึงการสะสมไขมันใต้ตาก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสามารถแก้ด้วยการผ่าตัดซ้ำอีกรอบ
การผ่าตัดเสริมถุงใต้ตา
ในบางรายอาจพบปัญหาไม่มีถุงใต้ตาหรือหนังตาด้านล่างบุ๋มลึก และมีลักษณะหมองคล้ำ ซึ่งมักพบสาเหตุมาจากการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ และลักษณะตามพันธุกรรม ซึ่งลักษณะนี้จะใช้การผ่าตัดเสริมถุงใต้ตา และเนื้อเยื่อโดยรอบบริเวณใต้ตาด้านล่าง
การผ่าตัดลักษณะนี้จะใช้ไขมันหรือเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นปลูกเสริมเข้าบริเวณใต้ตา เพื่อเพิ่มปริมาณไขมันหรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้นให้สูงขึ้น และลดลักษณะหมองคล้ำของเนื้อเยื่อตาด้านล่าง
การปฏิบัติตนหลังการผ่าตัด
1. รับประทานยาตามที่แพทย์จัดให้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. พยายามนอนให้ศรีษะสูงกว่าลำตัวเพื่อลดอาการบวม และเจ็บแผล
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดระยะเวลาการรักษา
4. หลีกเลี่ยงการจับ การแกะหรือสัมผัสแผล
5. หากมีอาการตาแดง คันตา หรืออาการบวมปวดของแผลมากให้รีบพบแพทย์
6. การล้างหรือทำความสะอาดแผล ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือให้แพทย์ล้างให้เป็นประจำ
7. พบแพทย์ตามวันเวลาที่แพทย์นัดเป็นประจำ
ภาวะแทรกซ้อน
1. การติดเชื้อของแผล แผลอักเสบ เป็นหนอง หากแผลสัมผัสกับน้ำหรือสิ่งสกปรก
2. หนังตาด้านล่างตึงมากจนดึงรั้งเปลือกตาให้ห่างจากลูกตาจนเกิดลักษณะที่เรียกว่า ตาแหก
3. อาจเกิดรอยแผลเป็น หากการเย็บแผล และการดูแลแผลไม่ดีพอ