หลักการเลือกใช้บริการสุขภาพเบื้องต้น

56558

ปัจจุบันสวัสดิการบริการสุขภาพสำหรับประชาชนมีตัวเลือกให้ใช้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง การเลือกใช้บริการทางการแพทย์สามารถเลือกตัดสินใจสำหรับการใช้บริการมากมาย อาทิ สถานบริการที่มีทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชน รวมถึงสิทธิทางการแพทย์ที่รัฐจัดให้มีขึ้น เช่น บัตรทอง ประกันสังคม การเบิกจ่ายตรงของราชการ เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้ การที่จะเลือกหรือตัดสินใจในการเลือกใช้สวัสดิการเหล่านี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดควรมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดังนี้

สำหรับผู้เข้ารับบริการ
1. เข้าใจ จดจำหรือจดบันทึกประวัติการเจ็บป่วยหรือส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น
– ชนิดของโรค และอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
– ชื่อของยา ขนาดของยาที่เคยใช้รักษา และระยะเวลาในการรักษา
– สถานพยาบาล และแพทย์ที่เคยเข้ารับการรักษา
– พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคอาหาร
– การแพ้อาหารหรือสารเคมี
การจดบันทึกหรือจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเราจะเป็นข้อมูลให้แก่แพทย์ประกอบการรักษาโรคได้อย่างเหมาะสม และรวดเร็วยิ่งขึ้น

สถานพยาบาล

2. การรู้จักแหล่งสถานบริการสุขภาพต่างๆให้ครอบคลุม ทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชนว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง มีจุดไหนที่สะดวกต่อการเดินทาง มีการให้บริการด้านใด และมีจุดเด่นในด้านใด

3. การมีความเข้าใจถึงระเบียบการทำงานของสถานบริการพยาบาล เงื่อนไขการให้บริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ง่าย และเกิดความรวดเร็วในการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลนั้นๆ

4. การมีความรู้ในด้านบุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุขว่ามีใครบ้าง ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ มีความรู้มีความสามารถเด่นในเรื่องใด มีใครที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัวหรือไม่ เช่น เป็นเครือญาติ พี่น้องหรือมิตรสหายคนรู้จัก ซึ่งอาจทำให้ง่ายต่อการติดต่อ และปรึกษา

5. มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานบริการต่างๆ รวมถึงสิทธิการรักษาที่ได้รับจากรัฐหรือเอกชนในด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งจะสามารถช่วยในการวางแผนค่าใช้จ่ายในการรักษา

6. มีความรู้ความเข้าใจในด้านการบริการสุขภาพสาธารณสุขเบื้องต้น อาทิ การตรวจสุขภาพ การตรวจโรค การป้องกันโรค รวมไปถึงสิทธิด้านการส่งเสริมสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตนของผู้ป่วยให้เหมาะสมในขั้นตอนการรับบริการ และการรักษาโรค

7. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคชนิดต่างๆเบื้องต้น และที่สำคัญควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ตนเองเป็นอยู่

สำหรับสถานบริการ
1. เทคนิคการบริการที่มีความพร้อม ได้แก่ ความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละสาขา, ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์, การให้คำปรึกษา และความรู้, การให้คำแนะนำในการใช้ยา และการแจ้งผลวินิจฉัยที่รวดเร็ว และแม่นยำ

2. การเข้าถึงบริการที่สะดวกไม่ยุ่งยาก ในด้านต่างๆ อาทิ การเรียงลำดับการให้บริการผู้ป่วยก่อน-หลัง, ความสะดวกรวดเร็วการการทำบัตร ยื่นบัตร การรับยา การจ่ายเงิน การแนะนำประชาสัมพันธ์ และให้คำปรึกษา

3. การบริการ และมนุษย์สัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆ อาทิ การเอาใจใส่ต่อคนไข้ของสถานพยาบาล การให้บริการที่สุขภาพ และเป็นมิตรต่อผู้ป่วย การให้สิทธิผู้ป่วยที่เท่าเทียมกันหรือการไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้สถานพยาบาลบางแห่งอาจดูมีมาตรฐานในการรักษา แต่หากการบริการไม่ดี การเอาใจใส่ต่อผู้ป่วยไม่ดีก็ถือเป็นสถานพยาบาลไม่ควรเสี่ยงต่อการเลือกใช้บริการ

4. สิ่งอำนวยความสะดวก
สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานพยาบาลควรจัดรองรับแก่ผู้มาใช้บริการ ได้แก่ สถานที่จอดรถ ร้านค้าสวัสดิการ ห้องน้ำ ม้านั่ง น้ำดื่ม หนังสือพิมพ์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้มาใช้บริการ และญาติผู้มาเยี่ยมซึ่งจะทำให้เกิดรู้สึกประทับใจในสถานบริการตามมา

5. ลักษณะกายภาพของสถานบริการ
ลักษณะกายภาพต่างๆ อาทิ รูปแบบอาคาร สีของอาคาร การระบายอากาศ ทางเดิน การจัดสวน ร่มไม้ ความสะอาด เป็นต้น ช่วยให้เกิดความผ่อนคาย ความเชื่อมั่น และแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดีของสถานพยาบาลแก่ผู้มาใช้บริการได้เช่นกัน

สถานพยาบาล และให้บริการสาธารณสุขในประเทศไทย
– สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
– สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
– สถานีอนามัย
– สถานบริการสาธารณสุขชุมชน
– โรงพยาบาลศูนย์
– โรงพยาบาลทั่วไป
– โรงพยาบาลชุมชน
– ศูนย์สุขภาพชุมชนของโรงพยาบาล
– ศูนย์สุขภาพชุมชน กระทรวงสาธารณสุข
– ศูนย์วิชาการ
– โรงพยาบาล นอกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
– โรงพยาบาล นอกกระทรวงสาธารณสุข
– ศูนย์บริการสาธารณสุข
– ศูนย์สุขภาพชุมชน นอกกระทรวงสาธารณสุข
– โรงพยาบาลเอกชน
– คลินิกเอกชน
– โรงพยาบาล/ศูนย์บริการสาธารณสุข สาขาต่างๆ
– โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล