ขันติ/ความอดทน

38129

ขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้นต่อความทุกข์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เช่น อดทนต่อสภาพของปัจจัยความร้อนหรือความเย็น อดทนต่อความทุกขเวทนาของร่างกายเมื่อเจ็บป่วย อดทนต่อคำด่า คำดูหมิ่น และอดทนต่อความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นคือ ความอดทน อดกลั่น ต่อความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ขันติ ความอดทน มีความแตกต่างระหว่าง กับ ความอดกลั้น คือ
1. ความอดทน หมายถึง การระงับอารมณ์ และความรู้สึกที่มีต่อผลจากปัจจัยภายนอกหรือภายใน ด้วยจิตที่เข้มแข็ง (ตีติกฺขาขันติ)
2. ความอดกลั้น หมายถึง การระงับหรือการควบคุมกิริยาหรือการกระทำอันมาจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายในที่มากระตุ้นอารมณ์ และความรู้สึก (อธิวาสนฺขันติ)

พระธรรมปิฎก ได้ให้ความหมายขันติ ในประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่
1. ขันติ หมายถึง ความอดทน ความอดกลั้นต่อความลำบาก ตรากตรำที่มาจากปัจจัยทางด้านทางกายภาพ เช่น อดทนต่อสภาพอากาศร้อน อดทนต่อสภาพอากาศหนาว อดทนต่อความหิวกระหาย และความเหนื่อยล้า
2. ขันติ หมายถึง ความอดทน ความอดกลั้นต่อความเจ็บปวดทางกาย เช่น การเจ็บปวดปาดแผลมากเพียงใดก็ยังไม่ร้องฟูมฟายออกมา
3. ขันติ หมายถึง ความอดทน ความอดกลั้นต่อความเจ็บใจอันเกิดขึ้นทางจิตใจ เช่น วาจาเสียดสี เสียดแทง ถ้อยคำ ด่าหยาบคาย คำกล่าวล่วงเกินให้เกิดความเสียหาย สร้างความขุ่นเคืองใจด้วยประการต่างๆ
4. ขันติ หมายถึง ความอดทน ความอดกลั้นต่อมารทางจิตที่บีบคั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่คอยโน้มน้าวชักนำให้จิตใจให้ไหลไปตามกระแสแห่งกิเลสในทางที่ผิด หรือมีผลเสียต่อตนเอง และผู้อื่น การอดทน อดกลั้นต่อกิเลสนั้น ย่อมนำพาเพื่อบรรลุตามเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตที่ดีงาม

กรมการศาสนา ได้อธิบายไว้ในหลักธรรมของฆราวาส 4 ว่า ขันติ (อดทน) ได้แก่ การระงับความต้องการทางใจของตนเพื่อไม่ได้ตามต้องประสงค์ รู้จักทนไว้เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ ด้วยการรู้จักอดทน และอดกลั้นไม่แสดงอาการประพฤติที่ไม่ดีอันจะมีผลร้ายต่อตนเอง และผู้อื่น

สมสุดา และอัจฉรา ให้ความหมายของความอดทนว่า หมายถึง ความเข็มแข็งของจิตใจของบุคคลในการที่จะละทิ้งความชั่ว การกระทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ แม้จะกระทบกระทั่งในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ตาม

ลักษณะของขันติ
จากการรวบรวมมุมมองที่กล่าวถึงขันติของบุคคลต่างๆ ได้แก่
พระธรรมธีรราชมหามุนี ได้อธิบายลักษณะของขันติ ความอดทน ไว้ดังนี้
1. อสฺสุสุฒนฺโต วิย (แปลว่า ถูกเขาด่าด้วยอักโกสวัสดุ 10 ประการ) โดยเป็นทำทีเป็นราวกะว่าไม่ได้ยินคำด่านั้น คือ ทำเฉยๆ เข้าตำราที่โบราณสอนว่า เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ต้องทำเป็นคนหูหนวก ซึ่งพระธรรมปิฎก ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับอักโกสวัตถุ เรื่องสำหรับด่ามี 10 ประการ คือ
– ชาติ ได้แก่ ชนชั้นหรือที่กำเนิดของคนผู้นั้น
– ชื่อ ของคนผู้นั้น
– โคตร คือ ตระกูลของคนผู้นั้น
– การงานของคนผู้นั้น
– ศิลปะของคนผู้นั้น
– โรคของคนผู้นั้น
– รูปพรรณหรือสัณฐานของคนผู้นั้น
– กิเลสของคนผู้นั้น
– อาบัติของคนผู้นั้น
– คำสบประมาทอย่างอื่น
2. อปส สนโต วิย คือ ทำเป็นราวกับว่า ไม่เห็นบุคคลผู้ด่านั้น โดยทำตนเสมือนคนตาบอด
3. ภทรกโต มนสิกาโร คือ การใส่ใจ และตั้งมั่นแต่ในความเจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
4. ทโม คือ การรู้จักข่มความโกรธ
5. อุปสโม คือ เข้าไปสงบบาปด้วยธรรม ได้แก่
– พยาบาท : ความอาฆาตจองเวร
– มักขะ : ความลบหลู่บุญคุณท่าน
– มานะ : ความยิ่งทะนง และถือตัว
– ถัฒภะ : ความหัวดื้อ
– ทิฏฐิ : ความเห็นผิด
6. อจณ ฑิกโก คือ การละซึ่งการดุร้าย และความหยาบคาย
7. อนส สุโรโป คือ การละซึ่งน้ำตาอันจะเกิดแก่ผู้อื่น คือ ไม่พยายามเบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น จนถึงกับทำให้ผู้นั้นมีน้ำตาไหล
8. อตฺตมนฺตา คือ พึงทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส คือ มีปิติเอิบอิ่มใจเสมอ

ไสว กล่าวถึง ขันติ ความอดทน ในมุมมองที่ว่า ขันติ เป็นการรักษาสภาวะของกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเมื่อถูกปัจจัยในด้านต่างๆเข้ามากระทบด้วยความไม่ปรารถนา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ขันติ ความอดทนต่อการใช้ชีวิตทั่วไป แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
– ความอดทนต่อความลำบากในการงานหรืออาชีพที่ดำเนินอยู่ เช่น ชาวนาอดทนต่อความร้อนในแปลงนา พนักงานบริษัททำงานด้วยความอดทนต่อความง่วงนอน เป็นต้น
– อดทนต่อทุกความเจ็บป่วยทางกาย เช่น นักวิ่งไกลเมื่อเท้าเหยียบหนามก็ต้องฝืนทนวิ่งต่อให้ถึงเส้นชัย
– อดทนต่อกิเลสที่เป็นสิ่งยั่วยุให้เกิดความอยากได้ ความโกรธ และความหลง เช่น อดทนต่อความอยากได้รถยนต์ใหม่ ด้วยการตัดสินใจไม่ซื้อ

2. อธิวาสนขันติ คือ การอดทนต่อการล่วงเกินของคนอื่น ทั้งทางกาย และวาจา เช่น อดทนต่อคำดูถูกเหยียดหยาม อดทนต่อเมื่อมีผู้อื่นมาแกล้ง เป็นต้น

ดังนั้น ความอดทน (ขันติ) แบ่งได้ 4 ลักษณะ คือ
1. อดทนต่อความลำบากในการดำเนินชีวิต
ความอดทนต่อความลำบากในการดำเนินชีวิต เป็นความอดทนที่มีต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นปัจจัยภายนอก และภายใน ได้แก่
– อดทนต่อความหนาว เมื่อออกไปทำงานในฤดูหนาว
– อดทนต่อความร้อน เมื่อต้องออกทำงานในที่โล่ง และมีแสงแดดจ้า
– อดทนต่อความหนัก เมื่อต้องยกของหนัก
– อดทนต่อความหิว เมื่อรับประทานอาหารไม่เพียงพอ และไม่มีอาหารให้รับประทานอีก
– อดทนต่อความเหนื่อย เมื่อทำงานมาทั้งวัน
– ฯลฯ

ทนต่อความร้อน

2. ความอดทนต่อทุกขเวทนาทางกาย
ความอดทนต่อทุกขเวทนาทางกาย เป็นความอดทนที่เกิดจากภาวะร่างกายไดรับบาดเจ็บหรือเป็นโรคภัย ได้แก่
– อดทนต่อความเจ็บบดแผล เมื่อประสบอุบัติเหตุ
– อดทนต่ออาการเจ็บท้อง เมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหาร
– อดทนต่อความปวดของข้อ เมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
– ฯลฯ

ทนต่อการป่วย

3. ความอดทนต่อสภาพจิตใจ
ความอดทนต่อสภาพจิตใจ เป็นความอดทนที่มาจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบกระทั่ง ซึ่งอาจทำให้จิตใจ และอารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่
– อดทนต่อความเจ็บใจ เมื่อมีผู้อื่นมากล่าวเหยียดหยาม
– อดทนต่อความเจ็บใจ เมื่อมีคนอื่นมาแกล้ง
– อดทนต่อความโกรธแค้น เมื่อผู้อื่นมาทำลายข้าวของ
– อดทนต่อความทุกขเวทนา เมื่อเห็นผู้อื่นเสียชีวิตต่อหน้า
– ฯลฯ

สติ

4. ความอดทนต่อกิเลส
ความอดทนต่อกิเลส เป็นความอดทนที่ต่อสิ่งเร้าทางอารมณ์ในความอยากได้ ความโกรธโมโห และความหลงในสิ่งนั้น อันจะนำมาสู่ผลเสียที่มีต่อจนเอง และผู้อื่น ได้แก่
– อดทนต่อความอยากได้ในทรัพย์สิน เงินทอง หรือ เรียกว่า ความโลภ แต่หากอดทนไม่อาจนำไปสู่มิจฉาอาชีวะเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น เช่น การลักขโมยเงินจากตู้บริจาคในวัด เป็นต้น
– อดทนต่อความโกรธ ความโมโหร้าย ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ เช่น ถูกผู้อื่นมาดุด่า ถูกผู้อื่นมาเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น
– อดทนต่อความหลงในชื่อเสียง ฐานะ และอำนาจ จนนำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น เมื่อตนได้รับรางวัลการแข่งกีฬาจึงหลงในความสามารถของตนจนนำมาพูดโอ้อวดให้ผู้อื่นรับรู้ ตำรวจเป็นผู้ค้ายาเองด้วยความหลงฝนอำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ เป็นต้น

ขันติ

สิ่งที่ขันติไม่ส่งเสริม
ขันติ หรือ ความอดทน มีขอบเขตครอบคลุมในด้านการกระทำที่ตั้งอยู่บนศีลธรรมอันดีงาม แต่ไม่ครอบคลุมหรือส่งเสริมความอดทนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมอันงาม อาทิ
– การทำมาหากินด้วยการขอทาน ถึงแม้จะมีคนดูถูกก็ต้องขอทานเขาต่อไป อันนี้ ขันติไม่พึงเห็นพ้อง
– อดทนเมื่อมีผู้อื่นมาด่าทอ เพราะตนเองเป็นโจรลักขโมยสิ่งของ
– อดทนไม่อาเจียน เมื่อตนเองได้รับพิษจากอาหารหรือเห็ดพิษ
– อดทนไม่กินอาหาร เพราะโดนพ่อแม่ดุด่า
– ฯลฯ

ความสำคัญของขันติ
ขันติความอดทน เป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญพื้นฐานของการดำเนินชีวิตเพื่อที่จะให้มนุษย์เรามีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมได้ รวมทั้งเป็นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองไปสู้เป้าหมายสูงสุดในชีวิต โดยความสำคัญแบ่งได้ ดังนี้
1. ความสำคัญในระดับบุคคล
ปุถุชนเราจำเป็นต้องใช้ขันติ เป็นพื้นฐานในการพัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน เพราะถ้าขาดขันติ ความอดทนแล้ว การพัฒนาจะไม่มีทางสำเร็จได้ แม้แต่ผู้ที่พัฒนาตนเองจนได้รับการยกย่องว่า เป็นมหาบุรุษ ยังต้องมีขันติ เป็นคุณธรรมประจำตัว 10 ประการ คือ
1. ทมะ คือ การฝึกฝนตนให้อยู่ในธรรมอยู่เสมอ
2. สังยมะ คือ การสำรวมระวังกาย วาจา ใจ ให้ประพฤติอยู่ในธรรมเสมอ
3. ขันติ คือ ความอดทน
4. สังวร คือ การสำรวมกาย วาจา และใจ ไม่ให้คล้อยตามในสิ่งที่เป็นอปมงคล
5. นิยมะ คือ การเห็นชอบในบุญกุศล
6. อโกธะ คือ การหักห้ามความโกรธ
7. อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
8. สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ทั้งกาย วาจา และใจ
9. โสเจยยะ คือ การมั่นรักษากาย วาจา และใจให้สะอาด บริสุทธิ์
10. เมตเตยยะ คือ การยึดมั่นในเมตตา

2. ความสำคัญในระดับครอบครัว และสังคม
ไสว ได้อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นฆราวาส คือ เป็นบุคคลผู้มีเหย้ามีเรือน มีครอบครัว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คฤหัสถ์นั้น จะเป็นคนมีฐานะมั่นคง เป็นฝั่งเป็นฝา มีครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขตามวิสัยของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งจะต้องเรียนรู้ และปรับปรุงตัวเองด้วยการปลูกฝังคุณธรรมในจิตใจ พร้อมยึดมั่น และถือปฏิบัติตามธรรมของฆราวาสมั่นคง คือ มีคุณธรรมสำหรับการครองเรือน หรือที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม 4 ประการ คือ
– สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน
– ทมะ คือ การรู้จักข่มจิตหรืออารมณ์ของตน
– ขันติ คือ ความอดทน
– จาคะ คือ การรู้จักสละหรือบริจาคสิ่งของหรือทรัพย์สินของตนแก่ผู้อื่น

3. ความสำคัญในระดับประเทศชาติ
3.1 ทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง
ขันติความอดทนนี้สามารถทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเป็นเอกราชได้ เพราะว่า ขันติ ความอดทน เป็นหัวใจสำคัญของรั้วของชาติ คือ ทหารผู้ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติให้ปลอดภัยจากอริ ราชศัตรู

โชติ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ได้อธิบายไว้ดังนี้
ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญของทหาร เพราะกองทัพประกอบขึ้นกับทหารเป็นบุคคลก่อน แล้วจึงจัดขึ้นเป็นพวก เป็นหมู เป็นหมวด ซึ่งรวมเป็นหน่วยทหารขนาดใหญ่ขึ้นตามลา ดับ ความทรหด อดทนของทหารทุกๆ คน ย่อมนา มาซึ่งความเข้มแข็งของกองทัพ

ฉะนั้น ทหารทุกคนจึงต้องมีร่างกายแข็งแรงสามารถทนต่อความยากลำบากได้ทุกชนิดสามารถทนความตรากตรำ คือ อดทนต่ออากาศหนาว อากาศร้อน เหลือบ ยุง อดทนต่อการบุกรุกป่า ปืนเขา อดทนต่อการเดิน การวิ่ง การเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดาร อดทนต่อการยกขนแบกของหนัก อดทนต่อการยิงต่อสู้กับข้าศึก ตลอดจนการปะทะต่อสู้กันในระยะประชิดชนิดต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าทหารในกองทัพขาดความอดทน ร่างกายไม่สมบูรณ์ ทนทานต่อสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ หรือเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น เพราะร่างกายอ่อนแอเสียแต่แรก กองทัพนั้นก็กลายเป็นกองทัพที่อ่อนแอไม่มีสมรรถภาพที่จะสู้รบกับข้าศึกได้ โดยเหตุนี้ความอดทนจึงเป็นสิ่งสำคัญของทหาร และจำเป็นจะต้องมีการฝึกความอดทนไว้ตั้งแต่ในยามปกติ จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้บรรลุผลสำเร็จได้

3.2 ทำให้สังคมประเทศชาติสงบสุข
นอกจากขันติความอดทนจะเป็นคุณธรรมสำหรับครอบครัว และรั้วของชาติแล้ว ขันติความอดทนยังเป็นคุณธรรมที่ทำให้สังคมส่วนรวมภายในประเทศมีความสงบสุขอีกด้วย เพราะขันติ ความอดทนเป็นองค์ประกอบในราชธรรม

สำหรับขันติที่มีต่อพระราชาหรือผู้นำ ถูกกล่าวถึงใน ทศพิธราชธรรม 10 ประการ คือ
1. ทาน คือ การให้หรือการบริจาคทรัพย์สิน
2. ศีล คือ การประพฤติด้วยความดีงาม
3. ปริจจาคะ คือ ความสละในความต้องการทางอารมณ์ของตน ด้วยการสละกำลัง และความรู้เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก
4. อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ทั้งต่อผู้อื่น และหน้าที่การงาน
5. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน ด้วยความีอัธยาศัยที่ดีต่อผู้อื่น
6. ตบะ คือ คือ การบำเพ็ญเพียรในธรรมเพื่อละซึ่งกิเลส
7. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธหรือโมโหร้าย
8. อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
9. ขันติ คือ ความอดทน
10. อวิโรธนะ คือ การไม่ประพฤติผิดในธรรมทั้งทางกาย วาจา และใจ

4. ความสำคัญในระดับมนุษยชาติ
ขันติความอดทน เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งชาวโลก เพราะเป็นก่อเกิดของคำ ว่า “มหาสันติภาพ” ทำให้ชาวโลกได้พบสัจจธรรมแห่งชีวิต และได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง กล่าวคือ ขันติ ความอดทนนี้ เป็นหนึ่งในบารมี 10 ที่พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีความดีอันยิ่งยวด 10 ประการ

ประโยชน์ของขันติ
ขันติ ความอดทน เป็นคุณธรรมที่ประเสริฐสูงส่ง และทรงคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ผู้มีขันติ ความอดทนเป็นคุณธรรมประจำใจ หรือมีขันติเป็นคุณสมบัติบุคลิกภาพเฉพาะตัว ย่อมได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์ มีประโยชน์ คือ มีความอดทนต่อความลำบากทั้งทางจิตใจ และร่างกาย ทั้งนี้ ความอดทน หรือขันติย่อมเป็นปัจจัยให้การทำงาน การดำเนินชีวิตให้สำเร็จ ไม่เสียสติสัมปชัญญะ และยังเป็นปัจจัยไม่ให้ประพฤติผิดพลาดด้วยอำนาจแห่งกิเลส

คุณค่า และประโยชน์ของขันติในมงคล 38 ประการ
– เป็นมหากุศลให้แก่ตนเอง และผู้อื่น
– เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
– ผู้คนรักใคร่ เอ็นดู
– ไม่มีภัยหรือศัตรูมาย่ำกราย
– ชีวิตประจำวันอยู่เย็นเป็นสุข
– ยังผลประโยชน์ต่างๆให้แก่ตน (ปรากฏผลเลิศ)
– ได้ขึ้นชื่อว่า บัณฑิต
– จิตใจมีความตั้งมั่นต่อสิ่งที่กระทำ
– เกิดความขยัน จิตมีความเยือกเย็น สุขุม
– เป็นพรหมวิหาร
– ถึงนิพพานสุดท้าย

เทคนิคการสร้างขันติ
– ปิดหูซ้ายขวา
– ปิดตาซ้ายขวา
– เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา
– พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
– เอาหูไปนา เอาตาไปไร่

เพิ่มเติมจาก : พระมหานพดล สีทอง (2554) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(1)

เอกสารอ้างอิง
1