ขันธ์ 5 และอาการ 32

27389

ขันธ์ 5 หมายถึง องค์ของร่างกายกาย และจิตใจ ที่รวมอาศัยซึ่งกันและกัน จนทำให้เกิดชีวิต โดยแบ่งเป็นส่วนรูปธรรมที่จับต้องได้ คือ 1. รูป ที่ถือเป็นส่วนกาย ส่วนนามธรรม ประกอบด้วย 4 ประการทีเหลือ คือ 2. เวทนา 3. สัญญา 4.สังขาร และ5. วิญญาณ ที่ถือเป็นส่วนใจ

รูปธรรม
รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่สามารถรับรู้ด้วยกายสัมผัสจากกายสัมผัส คือ จับต้องได้ ตาสัมผัส คือ รูป หูสัมผัส คือ เสียง จมูกสัมผัส คือ กลิ่น และลิ้นสัมผัส คือ รส ตามลักษณะที่เป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติ มักเรียกกันทั่วไปว่า “ร่างกาย” หรือ “วัตถุ” และเป็นสิ่งที่คู่กับคำว่า นามธรรม

นามธรรม
นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่สามารถจับต้องหรือรับรู้ด้วยกายสัมผัสได้ แต่สามารถรับรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น โดยนามธรรมนี้ มักใช้คู่กับ รูปธรรม

สิ่งต่างๆบนโลกเรานั้น ท่านผู้รู้ทางธรรมทั้งหลายมักจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ส่วนที่เป็นวัตถุ สามารถรับรู้หรือจับต้องได้ เรียกว่า รูปธรรม และอีกส่วน คือ ส่วนที่ไม่ใช่วัตถุ ไม่สามารถรับรู้หรือจับต้องได้ เรียกว่า นามธรรม และเพื่อให้เข้าใจถึงนามธรรมมากยิ่งขึ้น ท่านผู้รู้จึงแยกย่อยออกเป็น 4 ส่วน คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ขันธ์5

ขันธ์ทั้ง 5
ขันธ์ที่ 1 รูป
รูปทุกรูปคือส่วนหนึ่งแห่งขันธ์ 5 ที่ประกอบ ด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ประกอบขึ้นมาจนเป็นร่างกาย ซึ่งเมื่อรูปนั้นหรือกายนั้นมีนามธรรมทั้ง 4 จึงจะเรียกว่า มีชีวิต แต่หากรูปนั้นหรือกายนั้นไร้ซึ่งนามธรรมทั้ง 4 แล้ว ย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า รูปนั้น กายนั้นไม่มีชีวิต หรือ ตายแล้ว จึงนำรูปนั้นไปเผาตามพิธีกรรมจนเหลือเพียงเถ้ากระดูกที่กลับไปเป็นธาตุดินเหมือนเดิม ทั้งนี้ ธาตุดิน และธาตุน้ำ ยังแบ่งย่อยด้วยอาการทั้ง 32

รูป

อาการ 32 คือ ส่วนของอวัยวะที่ประกอบขึ้นจนกลายเป็นรูป หรือ กาย ซึ่งถูกกล่าวไว้ในบทสวดมนต์ กายะคะตาสะติภาวนา อันเป็นบทสวดสำหรับพิจารณากาย มาแต่สมัยพุทธกาล ประกอบด้วยส่วนของร่างกาย 32 อย่าง ได้แก่
1. ผม ภาษาบาลี : เกสา
2. ขน ภาษาบาลี : โลมา
3. เล็บ ภาษาบาลี : นะขา
4. ฟัน ภาษาบาลี : ทันตา
5. หนัง ภาษาบาลี : ตะโจ
6. เนื้อ ภาษาบาลี : มังสัง
7. เอ็น ภาษาบาลี : นะหารู
8. กระดูก ภาษาบาลี : อัฏฐี
9. เยื่อในกระดูก ภาษาบาลี : อัฏฐิมิญชัง
10. ม้าม ภาษาบาลี : วักกัง
11. หัวใจ ภาษาบาลี : หะทะยัง
12. ตับ ภาษาบาลี : ยะกะนัง
13. ผังผืด ภาษาบาลี : กิโลมะกัง
14. ไต ภาษาบาลี : ปิหะกัง
15. ปอด ภาษาบาลี : ปัปผาสัง
16. ไส้ใหญ่ ภาษาบาลี : อันตัง
17. ไส้น้อย ภาษาบาลี : อันตะคุณัง
18. อาหารใหม่ ภาษาบาลี : อุทะริยัง
19. อาหารเก่า ภาษาบาลี : กะรีสัง
20. เยื่อในสมอง ภาษาบาลี : มัตถะเก มัตถะลุง
21. น้ำดี ภาษาบาลี : ปิตตัง
22. น้ำเสลด ภาษาบาลี : เสมหัง
23. น้ำเหลือง ภาษาบาลี : ปุพโพ
24. น้ำเลือด ภาษาบาลี : โลหิตัง
25. น้ำเหงื่อ ภาษาบาลี : เสโท
26. น้ำมันข้น ภาษาบาลี : เมโท
27. น้ำตา ภาษาบาลี : อัฐสุ
28. น้ำมันเหลว ภาษาบาลี : วะสา
29. น้ำลาย ภาษาบาลี : เขโฬ
30. น้ำมูกจมูก ภาษาบาลี : สิงฆาณิกา
31. น้ำในไขข้อ ภาษาบาลี : ละสิกา
32. น้ำมูตร (ปัสสาวะ) ภาษาบาลี : มุตตัง

อาการ 32 ข้างต้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. อวัยวะที่เป็นธาตุดิน ประกอบด้วยอาการ 20 อย่าง คือ ลำดับที่ 1-20
2. อวัยวะที่เป็นธาตุน้ำ ประกอบด้วยอาการ 12 อย่าง คือ ลำดับที่ 21-32

ทั้งนี้ รูป หรือ รูปธรรม ในความหายของร่างกายมนุษย์จะมีลักษณะ 3 อย่าง คือ
1. รูปที่มีความยาว 1 วา
2. รูปที่ความกว้าง 1 ศอก
3. รูปที่ความหนา 1 คืบ

ลักษณะของรูปทั้ง 3 ข้างต้นบ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และยังรวมถึงอาการทั้ง 32

ลักษณะรูปหรือกายที่มีชีวิต แห่งขันธ์ 5 ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ
– ธาตุดิน : ประกอบด้วยอวัยวะ 20 อย่าง ที่จับต้องได้ รวมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขน ขา เป็นต้น
– ธาตุน้ำ : ประกอบด้วยอวัยวะ 12 อย่าง ที่จับต้องได้ รวมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น เลือด และน้ำเหลือง เป็นต้น
– ธาตุลม : คือ มีลำหายใจเข้า-ออก อย่างต่อเนื่อง ที่บ่งบอกถึงร่างกายที่มีชีวิตด้วยการหายใจ
– ธาตุไฟ : คือ ความร้อนของร่างกาย ที่บอกด้วยระดับอุณหภูมิ คือ ร่างกายมนุษย์ขณะมีชีวิตปกติจะอยู่ที่ 37 °C แต่หากเป็นไข้จะเพิ่มเป็น 38-40 °C
– จิตเกิดเวทนา : จิตเกิดความรู้สึก
– จิตเกิดสัญญา : จิตเกิดความรู้ตัวหรือจำได้
– จิตเกิดสังขาร : จิตเกิดกระบวนการความคิด
– จิตเกิดวิญญาณ : อวัยวะรับสัมผัส และจิตเกิดการรับรู้หรือการสนองสนองต่อสิ่งเร้า

ขันธ์ที่ 2 เวทนา
เวทนา แห่งขันธ์ 5 หมายถึง ความรู้สึก 3 ประการ คือ สุขใจหนึ่ง ทุกข์ใจหนึ่ง และรู้สึกเฉยๆ อีกอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้น และดับไปตามปัจจัยที่เข้ามากระทบ หากเป็นปัจจัยในทางลบก็จะทำให้รู้สึกทุกข์ใจหรือไม่พอใจ แต่หากเป็นปัจจัยทางลบก็มักทำให้รู้สึกสุขใจ ความรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบนี้ เรียกว่า เวทนา หรือ เวทนาขันธ์

เวทนา

ขันธ์ที่ 3 สัญญา
สัญญา แห่งขันธ์ 5 หมายถึง การรู้ตัวหรือการระลึกจำได้ เป็นสภาวะจิตที่สามารถรับรู้ต่อร่างกายของตนในปัจจุบัน หรือ จิตที่ระลึกจำได้ถึงความหมายของสิ่งที่เข้ามากระตุ้นหรือเร้าร่างกาย และจิตใจ เช่น เมื่อเดินอยู่ก็รับรู้ว่าตนกำลังเดินอยู่ อันนี้ เรียกว่า เป็นการรู้ตัว เมื่อได้ยินเสียงร้องจิ๊บๆมาจากต้นไม้ จิตแปลความหมาย และระลึกได้ว่า เสียงนั้นก็คือเสียงนก อย่างนี้เรียกว่า เป็นการระลึกได้หรือจำได้

ขันธ์ที่ 4 สังขาร
สังขาร แห่งขันธ์ 5 หมายถึง กระบวนการคิดหรือความคิดเห็น (การปรุงแต่ง) ที่มีต่อสิ่งเร้านั้นๆ อาทิ คิดว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว คิดว่าสิ่งนั้นสวยงามหรือไม่สวยงาม รวมถึงการคิดหรือจินตนาการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น คิดที่จะพูดหรือทำออกมา เป็นต้น การรู้จักคิดนี้ เรียกว่า สังขาร ซึ่งแตกต่างจากความหมายของสังขารในบทอื่นที่หมายถึง ร่างกายหรือโครงร่างที่มีจิตใจครอง แต่งก็มีความหมายในทางเดียวกัน คือ การปรุงแต่ง

ขันธ์ที่ 5 วิญญาณ
วิญญาณ แห่งขันธ์ 5 หมายถึง การรับรู้หรือการสนองสนองต่อสิ่งเร้าของตาที่ได้เห็น หูที่ได้ยิน จมูกที่ได้กลิ่น ลิ้นที่รับรส และกายที่สัมผัส รวมถึงจิตใจที่มีความรู้สึก ทั้งนี้ คำว่า วิญญาณ ตามรากศัพท์ แปลว่า รู้แจ้ง แต่รู้แจ้งในขอบเขตของขันธ์ทั้ง 5 นี้ มิได้หมายความรวมถึงความรู้ ความรอบรู้ไปในทุกเรื่อง และมิได้หมายครอบคลุมถึง การรู้แจ้งด้วยการเป็นอรหันต์ แต่เป็นเพียงวิญญาณรู้แจ้งที่หมายถึงการรู้หรือรับรู้ต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบต่อร่างกาย และจิตใจ เท่านั้น ได้แก่
– ตามองเห็นดอกไม้
– หูได้ยินเสียงนกร้อง
– จมูกได้กลิ่นกระเทียม
– ลิ้นรับรสเค็มของอาหาร
– ร่างกายสัมผัสได้ถึงความร้อนของแสงแดด
– จิตมีความรับรู้หรือรู้สึก

ลักษณะการเกิดขึ้นของนามธรรม จะเกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กัน และรวดเร็ว แทบจะแยกไม่ไม่ทันรู้ว่าเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสามารถสังเกตได้ เช่น เมื่อตื่นขึ้นในขณะที่ยังนอนอยู่บนเตียง หูได้ยินเสียงไก่ขันหรือเสียงนาฬิกาปลุก (เป็นวิญญาณ) การได้ยินด้วยหูนั้นเป็นเพียงวิญญาณ แต่เมื่อมีการแปลผลของเสียง และรับรู้ว่าเสียงนั้นคือเสียงไก่ หรือ เสียงนาฬิกาปลุก ก็แสดงว่า จิตเกิดสัญญา คือ ระลึกจำได้ว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร และในขณะเดียวกันหากรู้สึกนอนยังไม่อิ่ม และยังอยากนอนต่ออีก ก็รู้สึกรำคาญต่อเสียงไก่หรือเสียงนาฬิกาปลุกนั้น ความรู้สึกรำคาญนี้เรียกว่า เวทนา ส่วนการปรุงแต่งหรือลักษณะผลกระทบที่มีต่อจิตใจ คือ ความรำคาญ เรียกว่า สังขาร

การอุบัติขึ้นของวิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร นั้น เป็นการอุบัติขึ้นอย่างเป็นนามธรรมซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ส่วนที่มองเห็นเป็นรูป นั้นคือ ตัวไก่ และ เรือนนาฬิกา

ดังนั้น ลักษณะการเกิดขึ้นของนามธรรม มักไม่เรียงตามลักษณะข้างต้น แต่อาจมีสิ่งใดเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นหลัง ไม่เป็นที่แน่นอน แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะพบว่า “วิญญาณ” จะเกิดขึ้นก่อน จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ร่างที่ไร้วิญญาณ” ซึ่งหมายถึง คนตาย คนที่ไม่มีชีวิต นั่นเอง และตามปกติแล้ว การเกิดขึ้นของนามธรรมจะเริ่มจากการรับสัมผัสของสัมผัส 6 อย่าง หรือ อายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สัมผัส 6 อย่างนี้ จะถูกกระทบหรือสัมผัสกับปัจจัยภายนอก 6 อย่าง ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส กาย และใจ จนนำมาซึ่งการรับรู้ (วิญญาณ) แล้วคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามสัญญา (การรู้ตัวหรือการระลึกจำได้) และเสวยอารมณ์สุข/ทุกข์/เฉยๆ (เวทนา)