ระบบน้ำตา (Lacrimal system)
ระบบน้ำตา เป็นระบบที่เกี่ยวกับการผลิตน้ำตา และการระบายออก โดยผ่านทางเดินของน้ำตา (Laorimal passage) ไปยังโพรงจมูก ระบบนี้ ประกอบด้วย
1. ต่อมน้ำตา (Lacrimal gland)
ต่อมน้ำตา เป็นต่อมที่มีท่อ เป็นแหล่งผลิตน้ำตาที่สำคัญที่สุดอยู่ในเบ้าตาใต้หางคิ้ว ต่อมน้ำตาแต่ละข้างมีขนยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเอ็นของกล้ามเนื้อลิเวเทอร์ (Levator muscle) ติดต่อมน้ำตาบนและต่อมน้ำตาล่าง
ต่อมน้ำตา มีหน้าที่สร้างน้ำตาซึ่งเมื่อออกจากต่อมแล้วจะไหลผ่านทางท่อหลั่งน้ำตา ซึ่งเป็นท่อเล็กๆ และสั้นๆ จำนวน 6 – 10 ท่อ เข้าสู่ถุงเยื่อบุตา
2. รูน้ำตา หรือ ทางเดินของน้ำตา (Punotum)
รูน้ำตามี 2 รู อยู่สุดขอบหนังตาบนและล่างด้านจมูก เป็นทางเข้าของน้ำตาไปยังท่อน้ำตาฝอย 2 ท่อเล็กๆ ซึ่งจะรวมกันเป็นท่อก่อนเปิดเข้าสู่ถุงน้ำตา
3. ถุงน้ำตา (Lacrimal sao) และท่อน้ำตา (Nasolacrimal duct)
ถุงน้ำตา เป็นส่วนบนของต่อมน้ำตา มีรูปร่างลักษณะตอนบนพอง ตอนล่างเรียวเล็กเหมือนรูปกรวยลงสู่ท่อน้ำตาซึ่งเป็นท่อขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ท่อนี้ จะทอดลงตามผนังด้านขางของจมูก เปิดเข้าโพรงจมูกด้านล่าง (Inferior nasal meatus) ที่ปลายท่อน้ำตามีลิ้นปิดเปิดไม่ให้อากาศเข้าไปในทางเดินน้ำตา ทั้งถุงน้ำตา และท่อน้ำตามีลักษณะเป็นเยื่อบุ มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากมาย
น้ำตา และสรีรวิทยาของน้ำตา
น้ำตา มีความสำคัญต่อความปลอดภัย และการทำงานของตามให้เป็นไปได้อย่างปกติ น้ำตามีคุณสมบัติคล้ายกับพลาสมา (Plasma)ซึ่งมีปริมาณความเป็นกรดหรือด่าง (PH) 7.4 ประกอบด้วยกลูโคส โปแตสเซียม คลอไรด์ และโปรตีน ได้แก่ อัลบูมิน (Albumin) กลอบบิวลิน (Globulin) 20% และไลโซไซม์ (Lysozyme)
น้ำตา ทำหน้าที่เหมือนเป็นเกราะป้องกันตา หรือ เรียกว่า เกราะน้ำตาใส ซึ่งดาดอยู่บนกระจกตา มีหน้าที่ คือ
1. ทำให้ผิวกระจกตาคงไว้ซึ่งความเรียบตลอดเวลา มีผลให้การมองเห็นภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
2. ชะล้างสิ่งแปลกปลอมจากเยื่อบุตา และกระจกตา
3. ช่วยหล่อลื่นลูกตา
4. ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
5. เป็นแหล่งให้อาหารแก่กระจกตา
เกราะน้ำตาใส ประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำมากที่สุดซึ่งส่วนใหญ่ถูกผลิตจากต่อมน้ำตา มีเพียงส่วนน้อยที่ผลิตจากต่อมน้ำตาย่อย ซึ่งอยู่บริเวณใต้เยื่อบุตา นอกจากนั้น ยังประกอบด้วยน้ำมัน และน้ำเมือกปนด้วย ผลิตจากต่อมไขมัน (Meibomianglan) และต่อมขับเมือกในเยื่อบุตา
ชั้นเกราะน้ำตาใส
1. ชั้นนอกสุดเป็นน้ำมัน จะป้องกันการระเหยน้ำตาและกันไม่ให้น้ำตาไหลล้นผ่านขอบตามาถูกผิวหนัง
2. ชั้นกลางเป็นน้ำ เป็นชั้นที่หนาที่สุด ให้ความชุ่มชื่นแก่ตา และเพื่อให้ออกซิเจนแก่กระจกตา
3. ชั้นในสุด เป็นชั้นของน้ำเมือก ติดอยู่กับเยื่อบุนอกของกระจกตา ช่วยทำให้ผิวของกระจกตาคงไว้ ซึ่งความชุ่มชื้น
น้ำตา นับว่าเป็นเกราะกันภัยที่สำคัญด่านหนึ่ง กระจกตา และเยื่อบุตาจึงมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอจากการผลิตน้ำตา ซึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อัตราการผลิตน้ำตามากที่สุดในขณะตื่นประมาณ 1 กรัม/วัน เมื่ออายุมากขึ้นอัตราดังกล่าวจะลดลง คนหนุ่มสาวจึงมีมากกว่าคนสูงอายุ ปริมาณของน้ำตาค่อนข้างจะคงที่เนื่องจาก มีการระบายออกตลอดเวลา โดยผ่านทางเดินของน้ำตาและผลิตขึ้นมาใหม่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้เรื่อยไป
การระบายออกของน้ำตา
น้ำตาที่ออกจากท่อน้ำตาเล็กๆ จะไปเคลือบบนลูกตา โดยไหลผ่านกระจกตาและเยื่อบุตา เพื่อทำหน้าที่เป็นเกราะใสดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งของน้ำตาที่รวมกันอยู่บริเวณแอ่งหรือรอยพับของเยื่อบุตาทั้งด้านบน และด้านล่าง ลักษณะเป็นทางเดินเล็กๆ ของน้ำตา
โดยปกติแล้วน้ำตาจะระเหยไป 25% ส่วนที่เหลือขจัดทางระบบทางเดินของน้ำตา กล่าวคือ ทางเดินเล็กๆ ของน้ำตาที่รอยพับเยื่อบุตาด้านบนมีส่วนหนึ่งจะระบายเข้าสูทางรูน้ำตาบน แต่อีกส่วนหนึ่งจะตกลงไปในรอยพับของเยื่อบุตาด้านล่าง เนื่องจาก แรงศูนย์ถ่วงของโลก ดังนั้น รูน้ำตา และท่อน้ำตาฝอยด้านล่างจะทำหน้าที่มากกว่า 4 เท่า
น้ำตา จะไหลเข้ารูน้ำตา และท่อน้ำตาฝอยโดยแรงดูดของรูน้ำตา และท่อน้ำตาฝอยในแนวตั้ง หลังจากนั้น จะมีการเคลื่อนต่อไปโดยอาศัยกลไกการทำงานของหนังตา เนื่องจาก หนังตา และอวัยวะทางเดินของน้ำตา ยกเว้นท่อน้ำตา มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยส่วนของกล้ามเนื้อออบิคูลารีส (orbioularis) และเทนเซอร์ ทาร์ซัส (Tensor Tarsus) ดังนั้น การทำงานของหนังตา และทางเดินของของน้ำตาจึงมีความสัมพันธ์กัน ทำให้น้ำตามีการระบายออก
ขณะลืมตา ท่อน้ำตาฝอยส่วนแนวตั้งจะหดสั้น ส่วนแนวราบจะยืดยาวออกบรรจุเต็มไปด้วยน้ำตา ท่อรวมระหว่างท่อน้ำตาฝอยบน และล่างจะโปร่งออก เมื่อหนังตาปิดขณะกระพริบตา ทางเดินเล็กๆ ของน้ำตาบน และล่างรวมเป็นทางเดียวกัน เกิดแรงดัน (Positive Pressure) ในระยะแรกของการปิดตา
ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการหดตัวของกล้ามเนื้อออบิคูลาริส และเทนเซอร์ ทาร์ซัสทำให้รูน้ำตาถูกดึงไปทางด้านจมูก ท่อน้ำตาฝอยแนวราบหดสั้น ท่อรวมถูกกดให้แบนลงเกิดแรงดันน้ำเข้าไปในถุงน้ำตา ซึ่งในขณะนั้นถูกดึงให้โป่งออกไปทางด้านข้างตรงข้ามจมูก เกิดแรงดูด (Negative Pressure) น้ำตาเข้าถุงน้ำตาด้วย เมื่อลืมตาทุกอย่างกลับกันทำให้ท่อน้ำตาฝอยเกิดแรงดูดขึ้น และถุงน้ำตาก็จะกลับที่เดิม บีบน้ำตาเข้าท่อน้ำตาต่อไปยังทางเปิดของโพรงจมูกด้านล่าง ดังนั้น การกระพริบตาเป็นกลไกที่สำคัญในการระบายออกของน้ำตา